โวยสร้างบ้านเอื้ออาทร 'ผนังแตกร้าว-สีหลุดล่อน'
กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม 2547 หน้า 1
 
สรุปสาระข่าว
 
          เจ้าของบ้านในโครงการบ้านเอื้ออาทรโวยผู้รับเหมา เร่งรีบก่อสร้างเพื่อให้ทันส่งมอบ ทำให้พบบ้านแตกร้าว-ฉาบผนังไม่เรียบ-สีหลุดล่อนมีจุดด่าง พบทุกหลังล้วนมีปัญหา แจ้งร้องทุกข์แล้วกลับไม่ยอมรับซ่อมแซมให้ ขณะที่การเคหะแห่งชาติวุ่นรับรายการแจ้งซ่อมแซมอื้อ ขู่รับเหมาต้องรับผิดชอบตามสัญญา 1 ปี
 
ข้อคิดเห็น
 
          การเคหะแห่งชาติแม้จะพยายามสร้างบ้านเอื้ออาทรเพื่อประชาชน แต่ตามประวัติเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา สร้างบ้านได้เพียง 130,000 หน่วย นี่จะสร้าง 600,000 หน่วยใน 5 ปี จะทำได้อย่างไร และนี่เป็นเพียงโครงการแรกประมาณ 477 หน่วยเท่านั้น ที่เหลือจะมีปัญหาอะไรบ้าง
         โปรดดูหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีจากดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/letter/letter06.htm

         ซึ่งมีเนื้อความสรุปดังนี้:
         ฯพณฯ มีดำริเรื่องนี้ (บ้านเอื้ออาทร) จากการไปดูงาน ณ กรุงมอสโกเมื่อ 3 เดือนก่อน และพบว่าเขาสร้างที่อยู่ให้ประชาชน 4 ล้านตารางเมตรนั้น<1> กระผมขอกราบเรียนข้อเท็จจริงเพื่อ ฯพณฯ ทราบว่า ที่นั่นภาคเอกชนอ่อนแอจนรัฐบาลต้องแบกรับภาระไว้เอง แต่ที่ประเทศไทยของเรา ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลแทบไม่ต้องสร้างบ้านคนจนเลย กระผมได้ค้นพบว่า เฉพาะในช่วงปี 2533-2541 ภาคเอกชนไทยได้สร้างทาวน์เฮาส์และอาคารชุดราคาถูก (หน่วยละไม่เกินสี่แสนบาท) ถึง 226,810 หน่วย รวมพื้นที่ 6-7 ล้านตารางเมตรในเขต กทม.และปริมณฑล<2> การผลิตที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนไทยมีประสิทธิผลสูง จนกระทั่งทำให้ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการลดปัญหาสลัม<3> นอกจากนี้ค่าเช่าบ้านก็ต่ำมาก เช่น ห้องชุดที่ขายไม่ออกย่านชานเมืองได้ถูกดัดแปลงให้เช่าในอัตราเดือนละ 500-2,000 บาท ซึ่งถูกกว่าค่าเช่าห้องในสลัมย่านใจกลางเมือง<4>
         ดังนั้นการลงทุนของภาครัฐนี้จึง 1. เป็นการใช้เงินงบประมาณโดยผลที่ได้รับอาจไม่คุ้มค่า เนื่องจากเฉพาะในเขต กทม.และปริมณฑล ยังมีบ้านที่สร้างเสร็จแต่ไม่มีผู้เข้าอยู่อาศัยในตลาดถึง 340,000 หน่วย 2. ทำลายระบบตลาดและทำลายผู้ประกอบการรายย่อยที่สามารถตอบสนองต่อตลาดด้วยดีอยู่แล้ว และ 3. ขัดต่อ พรบ.จัดสรรที่ดิน เพราะลดคุณภาพ-มาตรฐานการอยู่อาศัยลง ซึ่งเป็นการสวนทางกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน<5>
         การออกมาตรการนี้อาจเป็นเพราะได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อน เช่นว่า ในประเทศไทยมีการบุกรุกที่ดินถึง 5,000 ชุมชน รวม 1.6 ล้านครอบครัว<6> กระผมเป็นผู้สำรวจสลัมทั่วประเทศและพบว่า เรามีสลัมทั้งหมด 1,589 ชุมชน มีประชากร 1.8 ล้านคน หรือราว 3% ของคนไทยเท่านั้น<7> และส่วนใหญ่เป็นชุมชนเช่าที่ปลูกบ้านและชุมชนเจ้าของบ้านพร้อมที่ดิน ชุมชนบุกรุกมีเพียงส่วนน้อยมาก ยิ่งกว่านั้นประชากรสลัมส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจน ในประเทศไทยมีคนจน (ผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนและแทบทั้งหมดอยู่ในชนบท) เพียง 12.5% ซึ่งใกล้เคียงกับในสหรัฐอเมริกา (12.7%)<8> การนำเสนอตัวเลขที่สูงผิดปกติ อาจเพราะนับรวมชาวเขา สมัชชาคนจน ผู้บุกรุกป่า ฯลฯ เข้าไว้ด้วย จึงทำให้เกิดความสับสน
         ความจริงแล้วนโยบายนี้ได้ใช้ดำเนินการสำหรับชาวสลัมไล่รื้อมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ประสบความสำเร็จ เพราะชาวสลัมส่วนนี้มักจะนำบ้าน ที่ดิน ห้องชุดที่ได้รับไปขายต่อหรือให้เช่าช่วงทั้งเปิดเผยหรือปิดลับ เพื่อทำกำไร และที่ยังไม่ขายก็มีจำนวนมากที่ไม่ยอมผ่อนชำระต่อ กลายเป็นหนี้เสียไปทั้งชุมชนก็มีหลายต่อหลายแห่ง ดังนั้นการขยายมาตรการนี้ออกสู่ตลาดที่อยู่อาศัยทั่วไปอาจจะสร้างผลกระทบทางลบได้เป็นอย่างมาก

 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
         เจ้าของบ้านในโครงการบ้านเอื้ออาทรโวยผู้รับเหมา เร่งรีบก่อสร้างเพื่อให้ทันส่งมอบ ทำให้พบบ้านแตกร้าว-ฉาบผนังไม่เรียบ-สีหลุดล่อนมีจุดด่าง พบทุกหลังล้วนมีปัญหา แจ้งร้องทุกข์แล้วกลับไม่ยอมรับซ่อมแซมให้ ขณะที่การเคหะแห่งชาติวุ่นรับรายการแจ้งซ่อมแซมอื้อ ขู่รับเหมาต้องรับผิดชอบตามสัญญา 1 ปี
         ระหว่างที่ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานรับมอบโครงการบ้านเอื้ออาทร รังสิตคลอง 3 ระยะ 2 จำนวน 365 ยูนิต ให้กับประชาชนผู้ได้สิทธิ วานนี้ (8 พ.ค.47) ปรากฏว่าได้มีประชาชนจำนวนมากได้ติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เพื่อรับแบบฟอร์มร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพของบ้าน ซึ่งกคช.ได้จัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยบริการ
         โดยรายการซ่อมแซมที่ประชาชนร้องเรียนมากที่สุด คือ บ้านแตกร้าว บันไดบ้านไม่เรียบ หรือมีรอยนูน บางส่วน บานเกล็ดเกลียวหวาน และ ทาสีไม่เรียบและมีสีล่อน เป็นต้น ซึ่งผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการดังกล่าว คือ บริษัท สยาม ซินเท็คคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่างานก่อสร้างรวมกว่า 119 ล้านบาท เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2546 กำหนดแล้วเสร็จและส่งมอบให้กคช.วันที่ 7 เม.ย.47 แบ่งการก่อสร้างและส่งมอบเป็น 2 ระยะ ระยะแรก จำนวน 112 ยูนิต ได้ทำพิธีส่งมอบกุญแจบ้านไปเมื่อ 12 สิงหาคม 2546 ส่วนระยะที่ 2 จำนวน 365 ยูนิต รับมอบบ้านไปเมื่อวานนี้
         น.ส.มหิศร นันตโลหิต เจ้าของบ้านเลขที่ 33/28 ซึ่งรับมอบบ้านวานนี้ กล่าวว่า มีหลายจุดที่ต้องซ่อมแซม เช่น บันไดบ้านที่ไม่เรียบ สีที่ทาบ้านมีจุดด่างเหมือนเป็นเชื้อรา รวมทั้งรอยฉาบของผนังก็ไม่ค่อยเรียบ ซึ่งตนต้องทำรายการต่างๆ เพื่อแจ้งให้กคช.ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็จะเป็นตัวกลางประสานงานไปยังผู้รับเหมา
         ขณะเดียวกันนางอำพร ภูสะอาด เจ้าของบ้านเลขที่ 33/177 ซึ่งรับมอบบ้านในระยะแรก เมื่อวันที่ 12 ส.ค.2546 กล่าวว่า เท่าที่พบคุณภาพการฉาบปูนของผู้รับเหมาที่มีปัญหาผนังบ้านแตกร้าว สีหลุดล่อน ฯลฯ ซึ่งงานในรายละเอียดที่ไม่เรียบร้อยและเกิดปัญหานั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้รับเหมาต้องเร่งก่อสร้างที่จะต้องทันตามกำหนด ใช้เวลาสร้างแค่ 3 เดือนเศษ ถือว่าเร็วมาก ขณะเดียวกันก็อาจเกิดจากการเลือกใช้วัสดุในเกรดที่ต่ำ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะต้องการลดต้นทุน
         เท่าที่ทราบ 112 หลัง ที่รับโอนไปครั้งแรกมีปัญหาเกือบทั้งหมดอยู่ได้ไม่ถึง 2 เดือน สีหลุดออกมาเป็นแผง นี่ก็แจ้งไปแล้ว 7 เดือน ยังไม่ได้เข้ามาแก้ไขเลย? นางอำพร กล่าว
         ด้านนางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ผู้ว่าฯ กคช.กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะความเร่งรีบด้านงานก่อสร้างของผู้รับเหมา ซึ่งกคช.ก็พร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือประชาชน และตามสัญญาว่าจ้างนั้นผู้รับเหมาก่อสร้างจะต้องรับผิดชอบหลังส่งมอบบ้านไปอีก 1 ปี แต่หากไม่เข้ามาช่วยแก้ไขกคช.ก็พร้อมที่จะซ่อมแซมให้ประชาชน
         ทั้งนี้ หลังจากที่ทำพิธีรับมอบบ้านในโครงการเอื้ออาทรที่รังสิตคลอง 3 แล้ว ต่อไปน่าจะทำพิธีรับมอบได้ที่โครงการบางโฉลงระยะ 1 ประมาณ 836 หน่วย แต่คาดว่า 5 โครงการนำร่องในโครงการบ้านเอื้ออาทรกว่า 4 พันหน่วย กคช.จะเร่งดำเนินการส่งมอบให้ประชาชนให้หมดในปี 2547 นี้
         ส่วนนายสรอรรถ กล่าวว่า จากการตรวจสอบประชาชนที่ขึ้นทะเบียนคนจนไว้แล้ว พบว่ายังมีความต้องการที่อยู่อาศัย 1.2 ล้านยูนิต ซึ่งถือว่าปริมาณความต้องการมีสูงมาก ดังนั้น ในการผลิตบ้านภายใต้โครงการบ้านเอื้ออาทรในระยะต่อๆ ไป จะต้องให้สิทธิกับประชาชนที่ขึ้นทะเบียนคนจนไว้ ซึ่งคงต้องหารือกับทางกคช.ว่า จะมีวิธีการหรือแนวทางใดเพื่อให้สิทธิกับประชาชนเหล่านี้