เอกชนรับลูก บสท. อุ้ม 5 เซ็คเตอร์ มั่นใจหนุนศก.
ขาขึ้น-ไม่มีวิ่งล็อบบี้

กรุงเทพธุรกิจ, 18 กันยายน 2545 หน้า 1
 
สรุปสาระข่าว
 
        เอกชนหนุน "บสท." อุ้ม 5 อุตสาหกรรม สอท. ชี้เป็นอุตสาหกรรมหลัก ที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจในภาพรวม เชื่อไม่มีการวิ่งล็อบบี้ จากผู้ประกอบการ เพราะมีกระบวนการตรวจสอบรัดกุม "สมเจตน์" ยันหลักการยึดหลักโปร่งใส มีคณะกรรมการหลายชุด กลั่นกรองเลือกบริษัทเข้าร่วมทุน
 
ข้อคิดเห็น
 
        ข่าวนี้คงสอดรับกับข่าวที่ว่า "เผยจีดีพีไตรมาส 2/45 พุ่งสูงขึ้น 5.1% ผลจากการขยายตัวของภาคก่อสร้างและอุตสาหกรรมทำให้ สศช.ต้องปรับประมาณการตลอดทั้งปีใหม" แต่ก็มีข่าวในทางตรงกันข้ามเสียแล้วว่า "อุตฯเหล็กค้าน'บสท.'เข้าถือหุ้น50%"
        อสังหาริมทรัพย์เป็นเพียงภาพลวงตาหนึ่ง ที่ถูกเสกสรรขึ้นมาจากความพยายามกระตุ้นการซื้อด้วยการลดดอกเบี้ย ผ่อนยาว ดาวน์ต่ำ ฯลฯ อสังหาริมทรัพย์เป็นเหมือนทองหยองที่คนจะซื้อก็ต่อเมื่อมีกินมีใช้ดีแล้ว จึงควรปล่อยไปตามกลไกตลาดมากกว่า
        ท่านนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า "สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) นั้น จะต้องแยกกลุ่มลูกหนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และปรับโครงสร้างกิจการ... เพื่อไม่ทำให้ลูกหนี้ที่ดีในปัจจุบัน อยากเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือรู้สึกว่าเสียเปรียบลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลที่ได้รับการฟื้นฟู... "
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
        เอกชนหนุน "บสท." อุ้ม 5 อุตสาหกรรม สอท. ชี้เป็นอุตสาหกรรมหลัก ที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจในภาพรวม เชื่อไม่มีการวิ่งล็อบบี้ จากผู้ประกอบการ เพราะมีกระบวนการตรวจสอบรัดกุม "สมเจตน์" ยันหลักการยึดหลักโปร่งใส มีคณะกรรมการหลายชุด กลั่นกรองเลือกบริษัทเข้าร่วมทุน
        นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า สอท. สนับสนุนแนวทางของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ในการจัดอันดับอุตสาหกรรมที่จะให้การช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างกิจการ เข้าถือหุ้นใหญ่ โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนใน 5 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมเหล็ก วัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ อาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งทอ
        ในความเห็นของประธานสภาอุตสาหกรรม ทั้ง 5 อุตสาหกรรม ที่ บสท. เลือกขึ้นมาล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่มีภาระหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลจำนวนมาก จากขนาดของธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และเห็นว่าหากอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ จะมีส่วนสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ
        "ผมเห็นด้วยกับ บสท. ทุกวันนี้ภาคธุรกิจเหมือนเดินสะดุด เพราะไม่มีกำลังในการขับเคลื่อน เนื่องจากยังเป็นเอ็นพีแอล หากเคลียร์หนี้ไม่เสร็จ ก็ยากที่สถาบันการเงินจะปล่อยกู้ใหม่ให้ จึงเหมาะสมแล้วที่ทีเอเอ็มซี จะเข้ามาช่วยให้ฐานะทางการเงินในอุตสาหกรรมเหล่านี้ดีขึ้น" นายประพัฒน์ กล่าว
        นอกจากนั้นทั้ง 5 อุตสาหกรรม ยังถือเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของอุตสาหกรรมทั่วไป ดังนั้น หากอุตสาหกรรมเหล็กยังไม่ฟื้นตัว ก็จะเป็นตัวฉุดสำคัญให้อุตสาหกรรมอื่นฟื้นตัวเข้าไปด้วย
        ส่วนอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างถือเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ที่รองรับการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกำลังมีทิศทางฟื้นตัวเป็นลำดับ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้
        เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอและอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศเป็นลำดับต้นๆ และยังมีมูลค่าของสินค้าสูง แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการบางรายที่เป็นเอ็นพีแอล จึงต้องได้รับความช่วยเหลือจาก บสท. เพื่อให้การส่งออกไม่สะดุด
        "สิ่งที่ สอท. อยากเห็นการทำงานของคณะกรรมการ บสท. อย่าไปเอาหัวใจของนักการเงิน การธนาคารเป็นที่ตั้งในการแก้ไขปัญหาเอ็นพีแอล คงไม่ต้องมาพูดว่า ใครถูกใครผิดอีกต่อไป คนนั้นใช้ไม่ได้ คนนี้ขี้โกง และต้องมีมุมมองในการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง" นายประพัฒน์ กล่าว
        นายประพัฒน์ยังเชื่อว่า การพิจารณาในการช่วยเหลือ 5 อุตสาหกรรมเป็นอันดับแรก เป็นการพิจารณาที่โปร่งใส โดยไม่มีการวิ่งเต้นจากฟากของผู้ประกอบการ และเห็นว่าควรให้อิสระแก่คณะกรรมการทีเอเอ็มซีในการตัดสินใจ และเชื่อว่าทีเอเอ็มซีเอง ก็มีมาตรการในการตรวจสอบเรื่องเหล่านี้เช่นกัน

ชี้ต้องประคองอุตสาหกรรมพื้นฐาน
        ด้านนายบดินทร์ อัศวาณิชย์ เลขาธิการ สอท. และคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การที่ บสท. ประกาศที่จะเข้าไปช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ใน 5 อุตสาหกรรม ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เนื่องจากทั้ง 5 อุตสาหกรรม เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและเป็นพื้นฐานอุตสาหกรรมของประเทศ
        "โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก ที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ หากช่วยอุตสาหกรรมเหล็กก็ต้องช่วยเหลือไปให้ครบวงจรธุรกิจ ซึ่งหมายถึง วัสดุก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ และแท้ที่จริงแล้วอุตสาหกรรมเหล็กก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศเช่นกัน" นายบดินทร์ กล่าว
        ส่วนอุตสาหกรรมอาหารและสิ่งทอ เป็นสองอุตสาหกรรมที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลืออยู่แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศนโยบายชัดเจน อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ในการส่งออกอย่างมาก และมีมูลค่าเพิ่มสูง จากการได้วัตถุดิบในประเทศ
    "อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน หากรัฐไม่ช่วยก็รอดยาก จะเห็นได้ว่าในทุกประเทศที่มีอุตสาหกรรมเหล็ก จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล รองรับภาวะขาขึ้นของเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นต้องนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ" นายบดินทร์กล่าว

เชื่อเอกชนไม่ได้วิ่งล็อบบี้
        นายเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ ประธานคณะกรรมการสายงานพัฒนาอุตสาหกรรม สอท. กล่าวว่า เห็นด้วยที่ทีเอเอ็มซี จัดอันดับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ใน 5 อุตสาหกรรม เพราะจากการทำงานสายงานพัฒนาอุตสาหกรรม เห็นว่า ทั้ง 5 อุตสาหกรรม มีส่วนผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเชื่อว่าจะไม่มีการล็อบบี้ของผู้ประกอบการอย่างที่หลายฝ่ายเป็นกังวล
        เขายังให้ความเห็นด้วยว่าเหตุผลหนึ่งที่ทีเอเอ็มซีเลือกปรับโครงสร้างกิจการของ 5 อุตสาหกรรมดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีหนี้เอ็นพีแอลเป็นจำนวนมาก และทีเอเอ็มซีอาจจะจัดลำดับความช่วยเหลือโดยจัดอันดับจากอุตสาหกรรมที่มีมูลหนี้เอ็นพีแอลสูงไปหาน้อย และพิจารณาร่วมไปกับการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ และธุรกิจ ตามดำริของนายกรัฐมนตรี นอกเหนือจากการพิจารณาในแง่ของการแก้ไขปัญหาทางการเงิน
    "ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีเอ็นพีแอลมากที่สุดในระบบ รองลงมาคืออุตสาหกรรมเหล็ก ผมเข้าใจว่าทีเอเอ็มซีคงจะพิจารณาช่วยเหลือตามลำดับของมูลหนี้ ที่เป็นเอ็นพีแอลมาก" นายเกียรติพงศ์กล่าว

หอการค้าหนุนอุ้ม 5 เซ็คเตอร์
        นายวัชระ พรรณเชษฐ์ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวเห็นด้วยกับแนวทางการปรับโครงสร้างกิจการเพื่อให้ธุรกิจกลับสู่ปกติ ของทีเอเอ็มซี โดยให้ความสำคัญกับ 5 อุตสาหกรรมหลัก
        "5 ธุรกิจหลักที่ถูกเลือกขึ้นมา ถูกต้องและเหมาะสมดีอยู่แล้ว เมื่อคำนึงถึงปัจจัยการต่อยอดของธุรกิจ และมีผลต่อการผลักดันให้ธุรกิจอื่นเดินหน้าต่อไปได้ ลำพัง บสท. เองจะเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจทุกประเภทในเวลาเดียวกันคงเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับเราส่งสินค้าออกนอกประเทศ ศักยภาพของสินค้าแต่ละตัวไม่เหมือนกัน เราก็ต้องจัดลำดับความสำคัญของมันก่อน" นายวัชระ กล่าว
        กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่าทั้ง 5 ธุรกิจที่ บสท. เลือกขึ้นมาเพื่อปรับโครงสร้างกิจการเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตและเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นถ้า บสท. สามารถเข้าไปปรับโครงสร้างได้สำเร็จจะส่งผลต่อธุรกิจอื่นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการจ้างงาน และการส่งออก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
        สภาพหนี้มันมีหลายแบบ ดูแต่ตัวเลขมูลค่าของมันไม่ได้ ต้องมาดูปัญหาที่ก่อให้เกิดหนี้ด้วยว่าเป็นเพราะอะไร ทาง บสท. อาจจะเห็นว่าถ้าส่วนนี้ฟื้นแล้ว จะมีโอกาสสร้างงานต่อยอดได้ทันที ก็เลยเร่งปรับโครงสร้างไปก่อน แต่ในบางธุรกิจปรับแล้วก็ยังไม่สามารถแข่งขันต่อได้ หรือยังอยู่นิ่งๆ แบบนี้อาจจะต้องรอเวลาสักนิด แต่คาดว่าทางบรรษัทฯ จะได้ทยอยใช้นโยบายนี้กับธุรกิจอื่นๆ อีกในอนาคตอันใกล้ นายวัชระ กล่าว

บสท.แจงยึดหลักโปร่งใส อุ้มลูกหนี้
        นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการ บสท. กล่าวว่า บสท. ยึดหลักให้ลูกค้ากลับมาทำธุรกิจและเติบต่อไปได้ โดย บสท. ต้องหาแหล่งเงิน เทคโนโลยีมาทำให้ลูกหนี้เขาฟื้นตัวไปได้ ส่วนการเลือก 5 อุตสาหกรรมหลักนั้นรัฐบาลเป็นห่วง จึงได้ดูเป็นรายอุตสาหกรรม ถึงความจำเป็นในอนาคต จึงได้มีการวางแนว ถ้าเป็นอุตสาหกรรมเดียวกัน ก็จะมีมาตรฐานการปรับโครงสร้างหนี้ที่ใกล้เคียงกัน
        ทั้งนี้ในการคัดเลือก จะยึดหลักความโปร่งใส เพราะ 1.กระบวนการจะมีขั้นตอนการอนุมัติเป็นคณะกรรมการ 2.มีเจ้าหนี้และลูกหนี้ร่วมพิจารณา 3. การอนุมัติจะมีคณะอนุกรรมการรัฐ-เอกชน ร่วมกันตัดสิน 4.จะมีคณะกรรมการอีกชุดที่มีมืออาชีพ มีชื่อเสียง และรับประกันความสะอาดมาพิจารณาอีกรอบ
        ตามยุทธศาสตร์รัฐบาลมี 13 อุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ แต่เลือก 5 กลุ่ม เพราะเป็นอุตสาหกรรมหลัก อย่างไรก็ตามไม่ได้เจาะจงเฉพาะ 5 รายอุตสาหกรรมนี้เท่านั้น" นายสมเจตน์ กล่าว

ตลาดฯ ขานรับนโยบาย บสท. หนุนปรับหนี้ บจ.
        นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย ประธานศูนย์ระดมทุนและรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา คณะทำงานของตลาดหลักทรัพย์ได้เข้าไปหารือกับคณะผู้บริหารของ บสท. ถึงเงื่อนไขและหลักเกณฑ์และการจัดกลุ่มธุรกิจเป้าหมายในการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างกิจการของลูกหนี้ บสท. ในยุคใหม่ ที่เน้นการจัดการกับลูกหนี้ในเชิงรุก
        เพื่อช่วยในการประสานงานและให้คำแนะนำกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์หลักในการฟื้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลให้นโยบายไว้
        นางสาวโสภาวดีกล่าวว่า จากการหารือร่วมกับ บสท. พบว่ากลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่ บสท. จะเร่งในการปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างกิจการเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง ซึ่งตรงกับเป้าหมายของตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการเข้าไปช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจาและประสานงานให้บริษัทที่มีปัญหาทางด้านการเงิน โดยหลังจากที่ตลาดรับรู้เงื่อนไขและกฎเกณฑ์ของ บสท. ก็จะไปให้ข้อมูลและคำปรึกษากับบริษัทจดทะเบียนถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งการลดทุน การตัดยอดหนี้หรือการหาพันธมิตรเข้ามาช่วยเพิ่มทุนใส่เม็ดเงินใหม่ให้กิจการ