ไฟเขียว รฟม.ลุยรถไฟฟ้าสายสีม่วง
 
สรุปสาระข่าว
 
        สภาพัฒน์พิจารณาเห็นชอบรถไฟฟ้าสายสีม่วง
 
ข้อคิดเห็น
 
        โถ อ่านพาดหัวน่าตื่นเต้น ที่แท้ก็แค่สภาพัฒน์ เห็นชอบ ยังไม่รู้ต้องไปเห็นชอบอีกกี่บอร์ด (บอด) ชาติหน้าจะได้สร้างหรือไม่ยังไม่รู้เลย (หลอกให้ดีใจอีกแล้ว)
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 

        นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ สศช.นัดพิเศษเพื่อพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ระยะทาง 23 กม. มูลค่า 55,997 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ได้เห็นชอบรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชน โดยรัฐบาลจะลงทุนงานโยธา โครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าจัดหาขบวนรถ บริหารจัดการเดินรถและซ่อมบำรุง เพราะจะไม่สร้างภาระให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มากเกินไป จะได้นำเงินไปลงทุนระบบรถไฟฟ้าเส้นอื่นได้ต่อเนื่อง โดยจะนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในวันที่ 2 ต.ค.นี้

        โดยประเด็นที่จะนำเสนอ ครม. ประกอบด้วยการให้รัฐเดินหน้าก่อสร้างงานโยธาและโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 31,217 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 1,248 ล้านบาทไปก่อน ซึ่งปรับลดลงจากที่ รฟม.เสนอมา 2,223 ล้านบาท เพราะเห็นว่าควรผันแปรกับมูลค่าโครงการที่อนุมัติ โดยจะใช้เวลาทั้งหมด 3 ปี และระหว่างนั้นจะพิจารณาหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในส่วนของการจัดหาขบวนรถและการเดินรถมูลค่า 13,243 ล้านบาท โดยบอร์ด สศช.ให้ รฟม.กลับไปทำรายละเอียดรูปแบบการลงทุนของเอกชนโดยเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียกลับมาเสนอเพิ่มเติม 

        ส่วนค่ากรรมสิทธิ์ที่ดินและเวนคืนที่ รฟม. เสนอมา 9,314 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าเท่าตัวจากเดิมที่เคยเสนอในปี 2548 วงเงิน 4,177 ล้านบาทนั้น กระทรวงคมนาคมได้ขอให้กรมธนารักษ์พิจารณา ความเหมาะสม จึงต้องรอผลการพิจารณากลับมาก่อน แต่ในเบื้องต้นสำนักงบประมาณตั้งงบประมาณ ไว้ให้แล้วในวงเงินเดิม หากจะต้องเพิ่มขึ้นจริงทางสำนักงบประมาณคงมีปัญหาเช่นกัน "บอร์ด สศช. มีความเห็นว่าโครงการนี้ล่าช้ามานาน และภาวะการลงทุนของประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัว ดังนั้น การลงทุนรถไฟฟ้าจึงมีความจำเป็นในเวลานี้ที่ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาครัฐและให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และ รฟม.ก็มีความพร้อมเตรียมงานก่อสร้าง จึงน่าเดินหน้างานโครงสร้างพื้นฐานไปก่อนได้ ส่วนแหล่งเงินนั้นกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณา หาก ครม.อนุมัติทั้งกระบวนการน่าจะได้ผู้รับเหมางานโยธาในเดือน มี.ค.ปีหน้า" 

        ทั้งนี้ ความเห็นที่ให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในระบบขบวนรถและการเดินรถ เป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับเอกชน และรัฐบาลจะประหยัดเงินในการวางระบบรถไฟฟ้า เมื่อรวมทั้ง 5 สาย คือ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีแดง สายสีเขียวอ่อน และสายสีเขียวเข้ม จะประหยัดได้ 54,000 ล้านบาท ช่วยลดค่าใช้จ่ายภาครัฐรวมถึงลดภาระหนี้สาธารณะได้.