ธอส.ยอมรับเอ็นพีแอลพุ่งสวนทางสินเชื่อที่ลดลง
คมชัดลึก 24 เมษายน 2550
   
 
สรุปสาระข่าว
 
        ธอส. ระบุว่า ยอดเอ็นพีแอลเริ่มขยับขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน เร่งผู้จัดการสาขาหาสาเหตุและร่วมแก้ไขกับลูกค้าอย่างเร่งด่วน ขณะที่ยอดสินเชื่อก็ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้มีกำไรต่ำกว่าหลายปีที่ผ่านมา เตรียมเสนอหลายมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง 2 พ.ค.นี้
 
ข้อคิดเห็น
 
        การที่ NPL ขยับขึ้นก็คือการแสดงสัญญาณเตือนความเปราะบางของระบบการเงินที่อยู่อาศัยที่พึงระวัง โปรดสังเกตเนื้อข่าวที่ว่า โครงการ กบข. ของรัฐบาลที่แล้ว ทำให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ขาดทุน ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่รัฐบาลใช้ในการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อระบบสถาบันการเงิน
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 

        ธอส. ระบุว่า ยอดเอ็นพีแอลเริ่มขยับขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน เร่งผู้จัดการสาขาหาสาเหตุและร่วมแก้ไขกับลูกค้าอย่างเร่งด่วน ขณะที่ยอดสินเชื่อก็ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้มีกำไรต่ำกว่าหลายปีที่ผ่านมา เตรียมเสนอหลายมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง 2 พ.ค.นี้

        กรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ และอนุกรรมาธิการติดตามการใช้งบประมาณของรัฐวิสาหกิจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยนายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า การดำเนินการในปี 2550 ได้ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อประมาณ 90,000 ล้านบาท ต่ำกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ที่มียอดสินเชื่อกว่า 100,000 ล้านบาท เนื่องจากได้ประเมินจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง และ ธอส.ต้องการทำงานแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และดูแลลูกค้าเก่ามากขึ้น โดยสำหรับเอ็นพีแอล ยอมรับว่า มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ล่าสุดขยับมาอยู่ที่ 33,189 ล้านบาท โดยเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น จากการตรวจสอบพบว่า มาจากกลุ่มลูกค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด และกำลังให้ผู้จัดการสาขาตรวจสอบว่า เกิดจากสาเหตุใดเป็นหลัก โดยต้องยอมรับว่า จากนโยบายประชานิยมที่ถูกยกเลิกไป ทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบในภาคอีสานลดลง ซึ่งการให้ตรวจสอบเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งให้ดูว่า ปัญหามาจากรายได้ที่ลดลง หรือการตกงานเป็นหลัก โดยให้ผู้จัดการสาขาหาทางร่วมแก้ไขกับลูกค้าให้มากที่สุด

        ส่วนผลการดำเนินงานของ ธอส. จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2550 ธนาคารฯ มีกำไร 309 ล้านบาทเท่านั้น โดยยอมรับว่า เป็นกำไรที่ต่ำกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับมาตรฐานทางบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก

        นายขรรค์ กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วันที่ 2 พฤษภาคมนี้ ซึ่งกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้หน่วยงานและธนาคารในสังกัด เร่งหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ธอส.จะเสนอหลายมาตรการ เช่น โครงการสินเชื่อบ้านพอเพียง ที่ ธอส.จะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดหาที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านและจำหน่ายให้กับประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้ทำโครงการนำร่องที่ อบต.ทับกวาง จ.สระบุรี โดยมีสินเชื่อที่ ธอส.ร่วมปล่อยกู้ 30 ล้านบาท คาดว่าจะปล่อยกู้ได้ 120 หลังคาเรือน โดยโครงการนี้จะมีการปล่อยกู้ประมาณ 250,000-350,000 บาท/ราย เป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และจะได้ที่ดินประมาณ 40 ตารางวา มีเป้าหมายช่วยผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัดเป็นหลัก

        ขณะเดียวกันก็จะเสนอโครงการสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อยอื่น ๆ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี และอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจากอัตราคงที่ โดยแต่ละกลุ่มจะมีการจัดกลุ่มในการปล่อยสินเชื่อและแต่ละวงเงินสินเชื่อ โดยสำหรับอัตราดอกเบี้ยคงที่ จะให้สำหรับผู้กู้ไม่เกิน 500,000 บาท และ 500,000-1,000,000 บาท ส่วนผู้กู้มากกว่า 1,000,000 บาท จะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของดอกเบี้ยกำลังรอการหารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ว่าจะอนุมัติให้ออกพันธบัตรที่รัฐบาลค้ำประกัน เพื่อนำมาปล่อยกู้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ หากได้รับอนุมัติ ดอกเบี้ยก็จะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยต่ำสุดร้อยละ 4.75 แต่หาก สบน.ไม่อนุมัติการออกพันธบัตร คาดว่า อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี จะอยู่ที่ร้อยละ 6 ส่วนดอกเบี้ยที่ลดลงจากอัตราดอกเบี้ยคงที่ อยู่ที่ร้อยละ 5.5 และอัตราดอกเบี้ยบ้านพอเพียง อยู่ที่ร้อยละ 6

        "วงเงินที่จะมาปล่อยกู้ช่วยผู้มีรายได้น้อย ยังไม่ได้กำหนดวงเงิน ซึ่ง ธอส.เห็นว่า การช่วยเหลือดังกล่าวจะมีเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น เพราะหากโครงการอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว ก็จะมีเงินเข้าระบบมากขึ้น แต่ส่วนตัวเห็นว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ยังควรใช้มาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียมมาประกอบด้วย" นายขรรค์ กล่าว

        นายขรรค์ กล่าวด้วยว่า กำลังพิจารณาจะเสนอกระทรวงการคลัง ให้ใช้งบประมาณช่วย ธอส. ในการดำเนินโครงการ ธอส.-กบข. 1 เพราะโครงการดังกล่าว ธอส.ประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากเป็นอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐ ที่ให้กำหนดดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี และปีที่ 4 เป็นต้นไปจะลอยตัว โดยอิงกับเงินฝากธนาคารกรุงไทย บวกร้อยละ 0.75 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาขาดทุน โดยโครงการนี้มีการปล่อยสินเชื่อทั้งสิ้น 23,000 ล้านบาท แต่จะขาดทุนเท่าใดกำลังพิจารณา ซึ่งการเสนอของบประมาณช่วยเหลือจากกระทรวงการคลัง ก็เป็นไปตามนโยบายที่ต้องการให้แยกบัญชีโครงการเพื่อสังคม (PSA) ออกมาให้ชัดเจนว่า หากเป็นโครงการเพื่อสังคม ธอส.จะได้รับการชดเชยหากเกิดปัญหาขาดทุน