สลัม... ความจริงที่ถูกปิดบัง
อาคารที่ดิน
อัพเกรด วันอังคารที่ 22-29 พฤศจิกายน 2548 หน้า
81
ดร.โสภณ พรโชคชัย(sopon@thaiappraisal.org) <1>
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>
เมื่อเอ่ยถึงสลัมหรือชุมชนแออัด
เรามักจะนึกถึงภาพคนจน คนอพยพ คนด้อยโอกาส และการขยายตัวดั่งเชื้อร้าย
ความจริงต่อไปนี้ บางท่านอาจช็อคเพราะหักล้างกับความเชื่อเดิม
ๆ ซึ่งมีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังได้พยายามปกปิด
บิดเบือนไม่ให้สาธารณะชนได้รู้ความจริง
สลัมลดน้อยลง
ตอนที่ผมซึ่งเป็นคนแรกที่ค้นพบสลัม 1,020 แห่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
(กทป.) เมื่อปี 2528 นั้น ไทยรัฐลงหน้าหนึ่งเลย <3> เพราะผู้คนตกใจที่ทำไมมีสลัมมากมายโดยที่ทางการไม่เคยสำรวจพบมาก่อน
แต่ความจริง นั่นเป็นเพียง 27% ของบ้านทั้งหมดใน กทป. ณ เวลานั้น เมื่อย้อนกลับไปเมื่อปี
2501 เฉพาะในกรุงเทพฯ มีบ้านที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (สมควรรื้อทิ้ง) หรืออนุมานว่าเป็นสลัมอยู่ถึง
43% ของบ้านทั้งหมดด้วยซ้ำ <4> และ ณ ปี 2543 สลัมเหลือเพียง
5.8% ใน กทป. (191,090 หน่วย <5> จากที่อยู่อาศัย 3,292,442
หน่วยทั่ว กทป. <6>) และ ณ ปี 2548 สัดส่วนของสลัมต่อที่อยู่อาศัยทั้งหมดใน
กทป. ก็คงลดน้อยไปกว่านี้อีกเนื่องจากการรื้อถอนสวนทางกับการเพิ่มขึ้นของบ้านจัดสรร
และอาคารชุดทั้งหลาย <7>
ความจริงแล้วผมค้นพบว่าสลัมใน กทป. ลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี
2536 <8> จนกระทั่งทางสหประชาชาติโดย ILO ได้เผยแพร่ให้เป็นกรณีศึกษาของโลกที่ประสบความสำเร็จในการลดปริมาณสลัมลงได้
แต่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์นี้ได้รับการเผยแพร่เพียงน้อยนิดทั้งในระดับสากลและโดยเฉพาะในประเทศไทย
เนื่องจากกระแสหลักก็คือการพยายามทำให้สังคมเชื่อว่าสลัมมีแต่จะเพิ่มขึ้น เพื่อที่
นายหน้าค้าความจน ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย จะได้ใช้เป็นเครื่องมือหางบประมาณมาสร้างผลงาน
มาหาเลี้ยงชีพส่วนตัว หรือมาโกงกินกันต่อไป
คนสลัมไม่ใช่คนจน
ในประเทศไทยมีคนจน (บุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน <9>)
อยู่ประมาณ 10% <10> หรือประมาณ 6.2 ล้านคน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท
ดังนั้นสัดส่วนของคนจนใน กทป. จึงน่าจะมีน้อยกว่า 10% หากประมาณการว่าเป็นแค่ 5%
กทป. ที่มีประชากร 9,636,541 คน <11> ก็จะมีคนจนเพียง
481,827 คน ในขณะที่คนสลัมใน กทป. มี 1,486,700 คน <12> ยิ่งกว่านั้นคนจนใน
กทป. จำนวน 481,827 คนดังกล่าว ก็หาได้อยู่เพียงในสลัมไม่ พวกเขายังอาจเร่ร่อนอยู่ทั่วไป
อยู่ในหอพักคนงาน เป็นคนใช้ตามบ้าน เป็นแรงงานก่อสร้าง ฯลฯ ดังนั้นอาจอนุมานได้ว่า
คนสลัมที่จนจริง ๆ นั้นมีเพียงน้อยนิด
ความจริงข้างต้นอาจดูน่าฉงน ลองมาตรองดู คนสลัมส่วนมากมีบ้านเป็นของตนเองบนที่ดินเช่า
(เป็นส่วนใหญ่) ในราคาแสนถูก หรือไม่ก็บุกรุกที่ดินคนอื่นฟรี ๆ แล้วสร้างบ้าน (เป็นส่วนน้อย)
การมีบ้านสะท้อนฐานะที่ชัดเจน เพราะถ้าต้องเช่าบ้าน ค่าเช่าอย่างน้อยก็เป็นเงิน
1,500 บาทต่อห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่ง ถ้าเช่าบ้านสลัมทั้งหลังคงไม่ต่ำกว่า 2,500 บาท
ถ้าเราเอาค่าเช่ามาแปลงเป็นมูลค่า ณ อัตราผลตอบแทน 8% ต่อปี ก็จะเป็นเงิน 375,000
บาทต่อหลัง (2,500 x 12 / 8%) นี่คือเครื่องแสดงฐานะของชาวสลัมโดยเฉลี่ย
ดังนั้นที่อ้างกันอย่างไม่ลืมหูลืมตาว่าชาวสลัมยากจนนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีมูล
อาจถือเป็นคน อยากจน เพื่อผลประโยชน์บางอย่างมากกว่า
คนสลัมไม่ใช่ผลพวงของการย้ายถิ่น
เราเข้าใจผิดว่า
คนจนในชนบทย้ายมาอยู่ กทป. โดยเฉพาะสลัม ผมเคยค้นพบไว้เมื่อปี
2536 ว่า ณ ปี 2533 <13> การย้ายถิ่นส่วนใหญ่
ย้ายระหว่างชนบทสู่ชนบท ไม่ใช่เข้าเมือง ที่ย้ายเข้าเมืองเป็นเพียงส่วนน้อย
(22%) โดยสรุปแล้วอาจกล่าวได้ว่า
1.
ผู้ที่ย้ายถิ่นส่วนใหญ่ย้ายระหว่างชนบทสู่ชนบท
ไม่ใช่เข้าเมืองอย่างที่เข้าใจกัน
2.
เฉพาะผู้ที่ย้ายเข้าเมือง ก็ไม่ใช่ว่ามา กทป.
เป็นส่วนใหญ่
3.
เฉพาะผู้ที่เข้ามา กทป. ก็ไม่ใช่มีแต่คนยากจน
กลุ่มอื่นที่ย้ายก็ได้แก่ผู้ที่มาศึกษาต่อ เป็นข้าราชการ
ฯลฯ
4.
เฉพาะคนจนที่ย้ายเข้า กทป. ก็ใช่มาอยู่แต่ในสลัม
ยังมีบ้านเช่าราคาถูกนอกสลัมอยู่มากมาย หรือบ้างก็เป็นคนรับใช้ในบ้าน
เป็นสาวโรงงาน ฯลฯ
5.
เฉพาะคนจนที่ย้ายเข้าในสลัม ส่วนมากก็เพียงมาอยู่ชั่วคราว
ไม่คิดปักหลักแต่อย่างใด <14>
ท่านเชื่อหรือไม่ว่าความเข้าใจผิดนี้เกิดขึ้นจากความผิดพลาดแบบ
เส้นผมบังภูเขา กล่าวคือ ในการสำรวจทางสังคมศาสตร์
เรามักจะหาข้อมูลจากแต่หัวหน้าครัวเรือน ในปี
2528 ทางราชการได้สำรวจครัวเรือนสลัมถึง 3,594
ครัวเรือนใน กทป. แล้วพบว่า 59% ของหัวหน้าครัวเรือนเกิดต่างจังหวัด
แต่เมื่อผมได้มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบแบบสอบถามดังกล่าว
กลับพบว่า ส่วนใหญ่ (65%) ของประชากรสลัม (หัวหน้า
คู่ครองและสมาชิกครัวเรือนด้วย) เกิดใน กทป.เอง <15>
คนจะดีอยู่ที่ตัวเอง
สาเหตุที่สลัมลดลงเพราะเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ประชากรมีรายได้มากขึ้น
มีบ้านในตลาดเปิดให้ซื้อหาในราคาย่อมเยา ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงจากประเทศเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมแล้ว
เศรษฐกิจของไทย ณ ปี 2494 มีฐานจากเกษตรกรรมถึง 38% แต่ปัจจุบันนี้เหลือเพียงประมาณ
10% กลับกันภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจาก 13% เป็นประมาณเกือบ 40% ในปัจจุบัน <16>
ในประเทศอินเดีย มีสลัมอยู่ทั่วไป ผู้คนนอนข้างถนนก็ยังมี
ที่เมืองกัลกัตตา (Kolkata) มีแม่ชีเทเรซ่า <17> อุทิศตนช่วยเหลือชาวสลัมจนชีวิตหาไม่
ท่านเป็นผู้สูงส่งโดยแท้ แต่ผมก็ขออนุญาตแสดงความเห็นด้วยความเคารพว่า ต่อให้มีแม่ชีเทเรซ่านับพันท่าน
ก็ทำให้สลัมในอินเดียลดน้อยถอยลงไปได้ เพราะสลัมไม่ได้ลดเพราะการช่วยเหลือเหล่านี้
เราจึงควรพิจารณาให้ดีว่าการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ผ่านมาต่อชาวสลัม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพียงการช่วยให้ใครบางคนได้มีโอกาสทำงานไต่เต้า
(แทนที่ต้องไปทำงานอื่น) หรือได้มีโอกาสโกงกินมากกว่าหรือไม่
คนที่พอใจกับการอยู่สลัมนั้นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอยู่มานานจึงเคยชิน
แต่คนสลัมปกติอยากย้ายออกเมื่อมีโอกาส เพื่อให้ลูกหลานมีสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม
อย่างสลัมคลองเตย ยิ่งพัฒนา ยาเสพติดยิ่งมาก ลองคิดดูว่า ถ้าคนเราอยู่ในสลัมมา 20-30
ปีโดยไม่ย้ายออกไปเลย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะโชคชะตาอาภัพ ทำดีไม่ได้ดี แต่อีกด้านหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ
หลายคนอาจขาดความตั้งใจที่จะดี มีเงินก็เอาไปทางอบายมุขหมด
อย่างไรก็ตามควรบันทึกไว้ว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา
มีชาวสลัม 2 คนที่เด่นล้ำเหนือคนไทยเกือบทั้งหมด คนหนึ่งคือ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม
ท่านสมาชิกวุฒิสภา อีกคนหนึ่งคือ นายภาพ 70 ไร่ <18> ผู้ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติด
ทั้งสองท่านนี้มีฐานะดีขึ้นอย่างชัดเจนและสามารถย้ายออกจากสลัมได้ในที่สุด
ข้อสังเกตส่งท้ายเรื่องข้อมูล
มีสิ่งที่พึงสังเกตประการหนึ่งก็คือ มีการพยายามเอาข้อมูลมาบิดเบือนเพื่อประโยชน์บางประการ
เช่นเมื่อจะหาเหตุสร้างบ้านมั่นคง และบ้านเอื้ออาทร ทางราชการก็อ้างว่า ในประเทศไทยมีการบุกรุกที่ดินถึง
5,000 ชุมชน รวม 1.6 ล้านครอบครัว<19> เพื่อให้เห็นว่า
มีความต้องการบ้านเป็นจำนวนมาก (ซึ่งไม่จริง) ผมเคยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่
17 มกราคม 2546 ว่า (ผมได้พบโดยการทำการสำรวจทั่วประเทศว่า) มีสลัมทั้งหมด 1,589
ชุมชน มีประชากร 1.8 ล้านคน หรือราว 3% ของคนไทยเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นชุมชนเช่าที่ปลูกบ้านและชุมชนเจ้าของบ้านพร้อมที่ดิน
ชุมชนบุกรุกมีเพียงส่วนน้อยมาก <20>
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ในช่วงระยะ 20 ปีที่ผ่านมา
มีการสำรวจสลัมและเผยแพร่น้อยมาก แสดงว่าเราไม่ได้บริหารงานด้วยข้อมูล โดยหลักแล้วก่อนจะทำอะไรอย่างมืออาชีพต้องศึกษาให้ละเอียด
ชัดเจน ดังนั้นการไม่ใช้ข้อมูลที่เป็นจริงในการบริหารหรือวางนโยบายและแผนอย่างเหมาะสม
อาจสะท้อนความไม่ชอบมาพากลบางประการ ซึ่งควรได้รับการตรวจสอบ่
ประเทศไทยจะเจริญอย่างยั่งยืนได้ต้องสำรวจวิจัยและเผยแพร่ให้การศึกษาแก่ประชาชน
ได้รู้ความจริงอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ปิดหูปิดตาประชาชนเพื่อประโยชน์อันมิชอบ
หมายเหต |
|
<1> |
เป็นนักวิจัย-ประเมินค่าทรัพย์สินในประเทศไทย
ขณะนี้ยังเป็นประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
AREA.co.th กรรมการสมาคมการวางแผนและเคหะแห่งอาเซียน
ผู้แทนสมาคมอสังหาริมทรัพย์โลก (FIABCI)
ประจำ ESCAP และผู้แทนของสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน
IAAO ประจำประเทศไทย Email: sopon@thaiappraisal.org |
<2> |
มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน
อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ
FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรด้านเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ
โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaiappraisal.org |
<3> |
ค้นหาเอกสารไม่พบแต่เป็นในช่วงเดียวกับที่ลงฉบับภาษาอังกฤษ
1020 Bangkok Slums: A New Survey ซึ่งลงใน
Bangkok Post และ The Nation Review, 9 มิถุนายน
2528 หน้า 2 |
<4> |
จากการศึกษาของคณะผู้เชี่ยวชาญอเมริกันในการวางผังเมืองฉบับแรกของกรุงเทพมหานคร
Litchfield Whiting Browne and Associates
et.al. (1960). Greater Bangkok Plan B.E.
2533 (1990). Bangkok: Department of Town
and Country Planning หน้า 84 |
<5> |
Global Report on Human Settlements
2003, City Report: Bangkok ซึ่งผู้เขียนได้รับการมอบหมายจากองค์การสหประชาชาติ
(UNCHS) ทำการศึกษาไว้ |
<6> |
ข้อมูลจากกรมการปกครอง http://www.dopa.go.th/xstat/pop43_1.html |
<7> |
หากตั้งสมมติฐานว่าสลัมไม่มีเพิ่มแต่ลดลงอีก
10% เพราะการไล่รื้อ ในขณะที่ที่อยู่อาศัยทั้งหมดใน
กทม.และปริมณฑลมีอยู่ 3,722,364 หน่วย (มากกว่าปี
2547 อีก 2%) สัดส่วนของสลัมจะเหลือเพียง
4.8% เท่านั้น |
<8> |
Pornchokchai, Sopon (1998). "The
future of slums and their employment implications:
the case of Bangkok (conducted in 1993)" in
Tatsuru Akimoto (1998). Shrinkage of Urban
Slums in Asia and Their Employment Aspects.
Bangkok: ILO Regional Office for Asia and
the Pacific. |
<9> |
โปรดดูคำอธิบายและการอภิปรายเกี่ยวกับเส้นความยากจนได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Poverty_line |
<10> |
จากข้อมูลที่รวบรวมโดยซีไอเอ http://www.cia.gov/cia/publications/factbook/geos/th.html#Eco |
<11> |
ข้อมูลจากกรมการปกครอง http://isc.dopa.go.th/xstat/pop47_1.html |
<12> |
รายงานฉบับเดียวกันที่อ้างตาม
ข้อ <5> |
<13> |
รายงานฉบับเดียวกันที่อ้างตาม
ข้อ <8> หน้า
427 |
<14> |
เป็นผลการศึกษาตั้งแต่ปี
2522 และ 2525 แล้ว แต่ไม่ได้รับการเผยแพร่เท่าที่ควร
ผู้เขียนได้อ้างอิงการศึกษาไว้หลายชิ้นใน
Pornchokchai, Sopon (1992). Bangkok Slums:
Review and Recommendations. Bangkok: Agency
for Real Estate Affairs หน้า 79 |
<15> |
Pornchokchai, Sopon (1992).
Bangkok Slums: Review and Recommendations.
Bangkok: Agency for Real Estate Affairs
หน้า 80 |
<16> |
โปรดดูรายละเอียดเกี่ยวกับบัญชีประชาชาติที่ http://www.nesdb.go.th/econSocial/macro/nad.htm |
<17> |
รายละเอียดเกี่ยวกับแม่ชีชาวอิตาลีผู้อุทิศตนแก่ชาวสลัมในกัลกัตตา
ดูได้ที่ http://www.motherteresacause.info |
<18> |
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับนายสยาม
ทรัพย์วรสิทธิ์ หรือสุภาพ สีแดง อายุ 36
ปี หรือรู้จักกันในนาม "ภาพ 70 ไร่" ได้ที่ http://www.thairath.co.th/thairath1/2548/page1/sep/14/p1_7.php |
<19> |
กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่
7 มกราคม 2546 หน้า 10 |
<20> |
จดหมายถึงนายกรัฐมนตรีดูได้ที่ http://www.thaiappraisal.org/thai/letter/letter06.htm |
|