AVM / CAMA
นวัตกรรมการประเมินค่าทรัพย์สินสำหรับประเทศไทย
ดร.โสภณ พรโชคชัย(sopon@area.co.th)
ประธานกรรมการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ AREA
ในระหว่างวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน ศกนี้ ผมได้ทำหน้าที่ในอีกฐานะหนึ่งคือผู้แทน IAAO (International Association of Assessing Officers) ประจำประเทศไทย พาคณะข้าราชการและภาคเอกชนรวม 10 คนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมธนารักษ์ สนง.แปลงสินทรัพย์เป็นทุน ธ.อาคารสงเคราะห์ ธ.กรุงเทพ ธ.พัฒนาวิสาหกิจ และภาคเอกชน ไปร่วมประชุมประจำปี ณ นครบอสตัน สหรัฐอเมริกา
สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยก็คือ นวัตกรรมการประเมินค่าทรัพย์สินด้วย แบบจำลองการประเมินค่าทรัพย์สินอัตโนมัติ หรือ CAMA (computer-assisted mass appraisal) หรือ AVM (Automated Valuation Method) ซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน
ทำไมต้อง ประเมินค่าทรัพย์สิน
บางท่านอาจไม่รู้จักบริการวิชาชีพนี้และอาจไม่แลเห็นความจำเป็นเพราะเชื่อว่าเราเองก็คงพอรู้มูลค่าทรัพย์สินของตนดีอยู่แล้ว แต่บางครั้งสิ่งที่เราเชื่ออาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง (หากไม่ผ่านการศึกษา วิจัยเพื่อการประเมินค่ามาก่อน) อันจะก่อผลเสียต่อการซื้อ-ขาย ร่วมทุน ลงทุน หรือแม้กระทั่งการแบ่งแยกมรดกอย่างเป็นธรรมของตนเองหรือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้
และแม้มูลค่าที่เจ้าของทรัพย์เองเข้าใจอาจถูกต้อง แต่คนอื่นก็อาจไม่เชื่อถือ ดังนั้นจึงควรมีนักวิชาชีพมาประเมินให้อย่างเป็นกลาง เช่นในการจำนองกับธนาคาร การจ่ายค่าทดแทนจากการเวนคืน ฯลฯ เป็นต้น ในปัจจุบันจะสังเกตได้ว่า หากเราไปกู้เงินธนาคาร เราก็จะต้องให้บริษัทประเมินไปวิเคราะห์หามูลค่าเสียก่อนเพื่อให้ลูกค้าสบายใจได้ว่าทางธนาคารจะไม่ประเมินเองตามอำเภอใจ
ความจริงแล้ว ทุกอย่าง ทางโลก (ไม่ใช่ ทางธรรม) ล้วนมีมูลค่าเป็นตัวเงินทั้งสิ้น แม้แต่บ้านทรุดโทรมหลังหนึ่งในสลัมก็ตาม เพราะสามารถปล่อยเช่าหารายได้หรือขายต่อได้ เป็นต้น ดังนั้นในยามถูกไล่รื้อ หรือเวนคืน ก็ต้องพิจารณาให้มูลค่าที่เหมาะสม
การประเมินค่าทรัพย์สินอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง จึงถือเป็นวิชาชีพหนึ่งที่แสดงถึงความมีอารยะในสังคม ที่การตัดสินใจประกอบธุรกิจหรือทำธุรกรรมใด ๆ ก็เริ่มต้นกันที่การศึกษา ประเมินมูลค่าที่เหมาะสม ไม่ใช่เริ่มต้นที่อำนาจหรือลูกปืน!
ความจำเป็นในการใช้ CAMA
CAMA ใช้สำหรับการประเมินทรัพย์สินนับร้อยนับพันแปลง เช่น ทั้งหมู่บ้านหรือตำบล ซึ่งจะกระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชนในระดับกว้างโดยเฉพาะในกรณีการกำหนดค่าทดแทนจากการเวนคืน หรือเพื่อการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาเมือง เป็นต้น
หลักการของ CAMA ก็อาศัยแก่นความรู้ของอสังหาริมทรัพย์ที่ว่า บ้านหรืออสังหาริมทรัพย์เป็น ตัวแปรตาม ที่มูลค่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ และถ้าเราสามารถระบุปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในมูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าวได้ เราก็จะสามารถคำนวณมูลค่าทรัพย์สินได้
ตัวอย่างเช่น ราคาต่อตารางวาของที่ดินแต่ละแปลงในบริเวณหนึ่งขึ้นอยู่กับ ขนาด หน้ากว้างของแปลงที่ดินติดถนน ความกว้างของถนน สภาพถนน แปลงหัวมุม สภาพการใช้ที่ดิน ผังเมือง การเข้าถึงสาธารณูปโภคหรือไม่ ฯลฯ
ในทางวิชาการ เราสามารถใช้เทคนิคการสร้างสมการหา ค่า ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรได้ด้วยแบบจำลองการวิเคราะห์พหุคุณถดถอย (multiple regression analysis) จนสามารถคำนวณได้อย่างถูกต้อง อธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้
ตัวอย่างเช่น เราจะสามารถประมาณการได้ว่า ราคาที่ดินแต่ละแปลงที่มีหน้ากว้างลดหลั่นกันแปลงละ 1 เมตร, มีขนาดลดหลั่นกันแปลงละ 1 ตารางวา หรือมีระยะห่างจากถนนใหญ่ลดหลั่นกันไปแปลงละ 20 เมตร จะมีราคาต่างกันเท่าใดต่อตารางวา
ดังนั้นกรณีมีที่ดินนับร้อยนับพันแปลงตั้งอยู่ติดกัน การประเมินทีละแปลงตามปกติคงเสียเวลาและงบประมาณมาก นอกจากนี้ยังอาจเกิดความไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของที่ดิน และยังอธิบายราคาที่เปลี่ยนไปตามลักษณะของทรัพย์สินแต่ละแปลงได้ยาก
พัฒนาการ CAMA ในประเทศไทย
CAMA เริ่มมีพัฒนาการมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 (2513-2522) แต่กว่าที่เมืองไทยจะได้ศึกษากันก็ล่วงไปปี 2532 เมื่อทาง Lincoln Institute of Land Policy แห่งนครบอสตัน จัดสอนเรื่องนี้ ผมเป็นคนแรกที่ได้สร้างแบบจำลอง CAMA เพื่อการประเมินค่าทรัพย์สินในประเทศไทยตามโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาเมืองของสภาพัฒน์เมื่อปี 2533 หลังจากนั้นยังได้ทำให้กับทางสำนักผังเมือง (มท.) JICA, กรมการผังเมืองและอื่น ๆ รวมประมาณ 6 ครั้งจนถึงปัจจุบัน
แนวทางการสร้างแบบจำลองก็ได้แก่:
1. เริ่มต้นที่การจัดทำฐานข้อมูลที่ดินหรือทรัพย์สินในบริเวณที่เราต้องการประเมินโดยให้มีรายละเอียดตัวแปรที่ต้องการศึกษาอย่างครบถ้วน
2. สำรวจการซื้อขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการสร้างแบบจำลอง โดยจำนวนที่ควรเก็บได้ก็ไม่ควรต่ำกว่า 50 กรณีหรือนับร้อยกรณีก็ยิ่งดี
3.ทำความสะอาดข้อมูลคัดสรรเฉพาะที่มีเหตุผลและไม่มีลักษณะพิสดารจนไม่อาจอธิบายได้ (เดี๋ยวนี้มีโปรแกรมช่วยคัดสรรมากมายแต่ผู้ประเมินก็ควรตรวจสอบเองในรายละเอียดด้วย จะได้สามารถอธิบายตัวเลขได้อย่างเป็นรูปธรรม)
4. การวิเคราะห์ด้วย MRA โดยในระยะแรก ความสำคัญเชิงตัวแปรอาจจะเป็นในรูปแบบเส้นตรง แบบหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง แต่ในหลาย
กรณีความสัมพันธ์อาจเป็นในรูปเส้นโค้ง เช่น กรณีดอกเบี้ยทบต้น (ทวีคูณ), ค่าเสื่อมอาคาร (รูปหลังคาโค้ง) หรือระยะห่างจากถนน
(ยิ่งห่างราคายิ่งถูกลงเป็นแบบรูประฆังคว่ำ) เป็นต้น
5. การปรับใช้กับแปลงทรัพย์สินตามตัวแปรต่าง ๆ และสุ่มทดสอบกับการซื้อขายจริงว่ามีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด
6.ย้อนกลับไปพัฒนาแบบจำลองให้สอดคล้องกับความเป็นจริงยิ่งขึ้นจากบทเรียนตามข้อบกพร่องที่ค้นพบ ในระยะหลังมานี้ยังมีการพัฒนาเพิ่มเติมด้วยการใช้ระบบการวิเคราะห์ที่ซับซ้อนขึ้นเช่น neural networking การนำเสนอที่ง่ายต่อการใช้โดยเขียนโปรแกรมบน visual basic และโปรแกรมอื่น และที่สำคัญคือการประสานเทคโนโลยีระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS, geographical information system) เข้าไว้ด้วย
ข้อจำกัดของประเทศไทย
ในต่างประเทศมีพัฒนาการมากกว่าไทย ไม่ใช่เพราะเขามีความรู้หรือเทคโนโลยีที่เหนือกว่านัก แต่เพราะเขามี infrastructure ที่ดี นั่นก็คือ มีฐานข้อมูลทรัพย์สิน บันทึกการซื้อ-ขาย และภาพถ่ายทางอากาศ/ดาวเทียมที่ทันสมัย สามารถนำเสนอผ่านอินเตอร์เน็ท กระทั่งว่าแม้แต่ชาวบ้านทั่วไปก็เข้าถึงข้อมูลได้ และนำข้อมูลมาวิเคราะห์-ประเมินค่าทรัพย์สินเองได้แล้ว
เมืองไทยยังไม่มีสิ่งเหล่านี้ แล้วไง? เราจะงอมืองอเท้าเอาแต่ เย้ว ๆ ขอให้มีการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ก่อนก็คงไม่ได้ เพราะ กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ เราก็ต้องหาทางพัฒนาตามเงื่อนไขที่มีอยู่ ซึ่งผมเชื่อว่าเราทำได้ดีแม้ในเงื่อนไขข้อจำกัดปัจจุบัน
ถึงเมืองนอกมีข้อมูลมากมาย แต่ก็มีผู้รู้บอกไว้ - Detail does not make vision เราต้องใช้วิจารณญาณในการสังเคราะห์ข้อมูล ยึดถือหลักการสำคัญของการวิจัยที่ว่าด้วยการ ทำซ้ำ-ทดสอบซ้ำ นอกจากนี้การวิจัยยังมีทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ที่จะช่วยให้เราค้นหาความจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่งเสริมการประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อสังคม
จะเห็นได้ว่านวัตกรรมการประเมินค่าทรัพย์สินได้พัฒนาไปมากแล้ว สาธารณชนก็ควรมีความรอบรู้ ได้ศึกษาถึงวิชาชีพ-วิชาการด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน เพื่อให้การตัดสินใจต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างรอบรู้ เป็นธรรม เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย อย่าลืมว่า ไม่ว่ายาจกหรือคหบดีล้วนมีทรัพย์สินในครอบครองไม่มากก็น้อย การประเมินค่าทรัพย์สินจึงเป็นความรู้ที่ควรส่งเสริมให้ประชาชนอย่างกว้างขวางเพื่อความเป็นธรรมในสังคม |