ไทยได้รางวัล ITU & ประธาน G77 ไม่ใช่เพราะบิ๊กตู่
วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558
ดร.โสภณ พรโชคชัย
sopon@thaiappraisal.org www.facebook.com/dr.sopon4
เป็นสิ่งที่น่ายินดีที่ไทยได้รางวัลการพัฒนาที่ยั่งยืนของ ITU และไทยยังได้เป็นประธานกลุ่มประเทศ G77 แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เป็นเพราะ "บิ๊กตู่" หรือนายกฯ ประยุทธ์แต่อย่างใด
กรณีรางวัลการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหภาพการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) นั้น ในคำประกาศเกียรติคุณนั้น เขากล่าวถึงผลงานของรัฐบาลไทยชุดก่อนๆ ตั้งแต่ปี 2544 - 2556 คาบเกี่ยวระหว่างสมัยนายกฯ ทักษิณ เรื่อยมาจนถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ผู้รับรางวัลในปีนี้มี 9 ท่าน แต่มีผู้นำอยู่ 5 ประเทศที่ ITU ยกย่องจากผลงานของตัวผู้นำเอง ได้แก่ผู้นำของประเทศกาบอง บังคลาเทศ มาเลเซีย รวันดาและอุรุกวัย (http://bit.ly/1MAbp1h และ http://bit.ly/1NYsLGB)
ส่วนกรณีประเทศไทยเป็นเพราะนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลในอดีตหลายๆ ชุดรวมกันเป็นสำคัญ ไม่ได้กล่าวถึงนายกฯ ประยุทธ์เลย เพียงแต่ท่านเป็นตัวแทนประเทศไทยไปรับรางวัลเนื่องจากประมุขของฝ่ายบริหารของแทบทุกประเทศไปชุมนุมกันในที่ประชุมสหประชาชาตินั่นเอง แต่ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดีที่ไทยได้รับรางวัล
สำหรับกรณีที่ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่มประเทศ G77 ซึ่งมีสมาชิก 134 ประเทศนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเช่นกัน แต่ไม่ใช่ว่านายกฯ ประยุทธ์ได้รับเกียรติยกมือเลือกจาก 133 ประเทศในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติตามที่เป็นข่าว ในความเป็นจริง ตำแหน่งนี้หมุนเวียนใน 3 ภูมิภาค ปีนี้เป็นของภาคเอเชียแปซิฟิกที่เลือกไทย จึงเสนอให้ที่ประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกลุ่มประเทศ G77 รับรองในวันแรกของการประชุมเท่านั้น (http://goo.gl/E0VulA)
นอกจากนั้นประเทศฟิจิที่มีขนาดเท่าจังหวัดตาก มีประชากรไม่ถึง 900,000 คน ในสมัยที่มีรัฐบาลจากรัฐประหารเช่นเดียวกับไทย ก็เคยได้รับเลือกเป็นประธานในปี 2556 เช่นกัน (http://goo.gl/w777m8) สรุปว่าไม่ได้เกี่ยวกับนายกฯ ประยุทธ์ ตำแหน่งประธานก็ไม่ใช่เป็นตำแหน่งของประมุขฝ่ายบริหารของแต่ละประเทศ เป็นในระดับรัฐมนตรีและทูตเป็นหลัก และประเทศใหญ่น้อยก็หมุนเวียนกันไป (http://goo.gl/IrBpXq) อันที่จริงเมื่อปี 2557 สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไทยก็เคยเป็นประธาน G77 ในที่ประชุมกรุงไนโรบีมาแล้วเช่นกัน (http://bit.ly/1MCubFh)
การทำความจริงให้ปรากฏนี้ไม่ได้มุ่งให้ร้ายนายกฯ ประยุทธ์ ท่านเป็นผู้แทนสูงสุดของประเทศไทยย่อมสมควรไปรับรางวัลในนามประเทศไทยอยู่แล้ว เพียงแต่รางวัล ITU และตำแหน่งประธาน G77 ไม่ได้เกี่ยวกับท่านโดยตรง ผมจึงเขียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเท่านั้น ผมเองก็เห็นใจรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และยังมีข่าวละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นระยะๆ แต่ท่านก็พยายามสร้างความเข้าใจอยู่ในขณะนี้
สิ่งที่จะชี้ขัดว่าประเทศไทยจะได้รับการยอมรับในทางสากลหรือไม่ ก็คือการรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ถ้ามีการเลือกตั้งกันแล้วไทยได้รับเลือกตั้ง ก็อาจถือได้ว่าทั่วโลกคงไม่รังเกียจรัฐประหารของไทย แต่ถ้าไม่ได้รับเลือกตั้ง ก็อาจตีความไปอีกทางหนึ่ง และการนี้ไทยใช้งบประมาณในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งถึง 600 ล้านบาท (http://bit.ly/1FyDdU2) นี่ถ้าแพ้ขึ้นมาก็คงน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
|