ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เรื่อง "อย่าให้รัฐประหารสูญเปล่า" โดย คุณพรเทพ เฮง ใน Post Today {1} เมื่อวานนี้ ผมเห็นต่างมุมกับ ดร.สมคิด จึงขอนำเสนอความเห็นเพื่อส่งเสริม "สังคมอุดมปัญญา" ดังนี้:
ดร.สมคิด ยืนยันว่าตน "ไม่เคยสนับสนุนรัฐประหารมาตั้งแต่ต้น ไม่เคยเห็นว่ารัฐประหารดี และไม่เคยบอกว่าช่วยทำรัฐประหาร" ถ้าเช่นนั้น ดร.สมคิดก็ควรพูดตามหลักวิชาว่ารัฐประหารสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ศาลอาญายังเคยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า "ปราศรัยให้ประชาชนออกมาต่อต้านรัฐประหาร เป็นสิ่งที่กระทำได้ เพราะการทำรัฐประหารถือว่าผิดกฎหมายอยู่แล้ว" {2} เราในฐานะผู้สูงวัยและปัญญาชน คงไม่ไปต่อสู้ขัดขวางอำนาจปืน แต่ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน
คำกล่าวของ ดร.สมคิด ที่ว่า "ถ้าไปคัดค้านก็เป็นการเสียโอกาส คิดว่าเราควรต้องมองไปข้างหน้าบ้างว่า จะพัฒนาไปในทิศทางใดได้บ้าง มีอะไรบ้างที่จะช่วยประเทศให้พัฒนาไปได้ ดีกว่าที่จะไปคิดว่า ควรหรือไม่ควร ไม่ควรทำอย่างนี้เลย ไม่ควรทำอย่างนั้นเลย" ถือเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ รัฐประหารแต่ละครั้งไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติ เหมือนเช่นการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็ผิดไปตลอด
ดร.สมคิดไม่เห็นหรือว่ารัฐประหารและกระบวนการเตรียมสร้างสถานการณ์ปูทางสู่รัฐประหารที่กินเวลานานหลายเดือนมานี้ ทำให้ไทยถอยหลังเข้าคลอง เกิดความเสียหายอย่างมากมายเพียงใดต่อเกียรติภูมิของชาติ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ต่อโอกาสความก้าวหน้าของไทย ต่อความทุกข์ยากของประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ชีวิต รวมทั้งต่อความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในเหตุการณ์รุนแรงต่าง ๆ จนยากจะประเมินค่าได้
ใครๆ ก็พูดให้ตนดูดีได้เช่น ดร.สมคิด แต่พฤติกรรมของ ดร.สมคิด ก็รับใช้รัฐประหารอย่างชัดเจน เช่น เมื่อคราวรัฐประหาร พ.ศ.2549 ดร.สมคิดก็ไปทำงาน และคงได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ซึ่งคาดว่าคงมีมูลค่ามหาศาล แต่ก็ไม่อาจเปิดเผยตัวเลขได้ ถ้าเราเห็นว่ารัฐประหารไม่ถูกต้อง เราต้องไม่รับใช้คณะรัฐประหาร ส่วนใครจะไปรับใช้เพราะเห็นด้วย เราก็คงไม่สามารถไปทัดทานได้
ยิ่งกว่านั้น ดร.สมคิดยัง "เชื่ออย่างที่หลายคนเชื่อว่าถ้าวันนั้นรัฐบาลลาออกจากตำแหน่ง รัฐประหารก็คงไม่เกิดขึ้น" ตามหลักการแล้วรัฐบาลได้ยุบสภา ลาออกไปแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ แต่มีบุคคลกลุ่มหนึ่งขัดขวางการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้มีรัฐบาลใหม่ แล้วยังจะพยายามให้รัฐบาลรักษาการลาออกหรือสิ้นสภาพด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้เสียอีก คนหลายคนที่ ดร.สมคิด อ้างนั้น คงเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ
ที่ ดร.สมคิดว่า "เดี๋ยวก็จะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว ต้องมีรัฐบาลชั่วคราว . . . เดี๋ยวก็มีการเลือกตั้ง" นั้น รัฐบาลที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารก็คือคณะรัฐประหาร จะไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ ไปขอกู้เงินทำโครงการก็คงไม่ได้ ที่สำคัญรัฐธรรมนูญที่จะออกมาซึ่งอาจเป็นฉบับ พ.ศ.2560 ก็อาจจะแย่กว่าเดิมอีก ฉบับ พ.ศ.2540 ที่ประชาชนต่อสู้ได้มา ให้ประชาชนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด แต่ฉบับ พ.ศ.2550 ที่มาจากรัฐประหารกลับให้สรรหาครึ่งหนึ่งโดยคณะสรรหาที่เป็นข้าราชการประจำฝ่ายตุลาการเป็นส่วนใหญ่
ส่วนที่ ดร.สมคิดกล่าวว่า "(คสช.) ก็ทำได้ดี เรื่องจำนำข้าวก็แก้ปัญหาได้ฉับไว เรื่องบีโอไอการลงทุนอะไรต่างๆ เหล่านี้" ข้อนี้อาจเลื่อนลอย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ทำเรื่องจำนำข้าวให้ได้ดี อีกทั้งยังเป็นผู้คิดนโยบายนี้อีกด้วย เพียงแต่ถูกขัดขวางจากฝ่ายตรงข้าม จึงสะดุด รัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็อาจทำได้ดีเช่นกันหากได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ส่วนเรื่องบีโอไอ คสช.ก็ยังไม่ได้ทำอะไร นอกจากการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่มาอนุมัติโครงการที่ขอไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้วเท่านั้น
ดร.สมคิดเข้าใจผิดอย่างยิ่งที่เข้าใจว่า "อาจารย์หมอประเวศ วะสี อดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน หลายคนที่นำเสนอความคิดเรื่องปฏิรูปมาก่อนหน้านี้ก็มีไอเดียและความเห็นดีๆ ทั้งสิ้น" ทั้งสองท่านนี้ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ให้เป็นคณะกรรมการปฏิรูป ทำงานอยู่ตั้งนาน กลับได้ข้อสรุปผิดๆ มาว่าที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรปฏิรูปเหนือปัญหาค่าจ้าง หนี้สิน การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ อิทธิพลเถื่อน ฯลฯ ความจริงสลัมลดจนแทบไม่เหลือ คุณภาพการอยู่อาศัยดีขึ้น ประชาชนซื้อบ้านได้สบายๆ {3}
คณะกรรมการปฏิรูปยังใช้เงินไปถึง 1,187 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาจากการใช้เงินเฉพาะในห้วงปีแรก ใช้ไปเพื่อเป็นเบี้ยประชุมคณะกรรมการ 80 ครั้ง 7,200,000 บาท ค่าคนไปประชุมได้คนละ 2,000- 5,000 บาท ค่าจัดพิมพ์เอกสาร 25 เรื่องๆละ 200,000 บาท รวม 5,000,000 บาท ค่าพัฒนาข้อเสนอ 26,000,000 บาท ค่างบวิชาการ 10,000,000 บาท ค่าสื่อสารสังคม 14,480,000 บาท ฯลฯ {4}
สุดท้ายนี้ ที่ ดร.สมคิดกล่าวว่า "คสช.ก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง" นั้น ผมเห็นว่าเป็นการจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว โดย คสช. คอยพิทักษ์การเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุด และไม่ถูกกลุ่มการเมืองใด ๆ ขัดขวาง โดยไม่ต้องไปทำงานบริหารงบประมาณและโครงการใหญ่ๆ ให้แปดเปื้อนเป็นข้อครหาเช่นคณะรัฐประหารชุดก่อนๆ เท่านี้ คสช. ก็จะได้รับการสรรเสริญจากประชาชน หัวหน้า คสช. ก็คงได้รับการยกย่องเป็นถึงรัฐบุรุษของชาติอย่างแน่นอน
อ้างอิง
{1} โปรดดู http://goo.gl/VUEjyo
{2} โปรดดู http://goo.gl/XEW6p9
{3} AREA แถลง ฉบับที่ 75/2557: 10 มิถุนายน 2557 ที่อยู่อาศัยไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนตามคณะกรรมการปฏิรูปอ้าง www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement692.htm
{4} โปรดดูรายละเอียดที่ www.thaipost.net/node/31358 www.thaihospital.org/board/index.php?topic=1752.0