Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 717 คน
     ไฮไลท์อสังหาริมทรัพย์นานาชาติ
กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2556 หน้า 11

ดร.โสภณ พรโชคชัย
sopon@area.co.th  www.facebook.com/dr.sopon

          วันนี้ขอฉายภาพหลายกรณีศึกษาอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศที่พึงศึกษาไว้ เพื่อพัฒนาประเทศชาติของเราเอง ตั้งแต่ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาล่าสุด การล่มสลายของนครดีทรอยท์ การพัฒนาปากแม่น้ำสิงคโปร์ให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ และท่าเรือน้ำลึกมาเลเซียที่มุ่งแข่งกับสิงคโปร์

ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกา
          ราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งเป็นเดือนล่าสุดที่สำรวจ เพิ่มขึ้น 0.7% และเดือนเมษายน ก็เพิ่มขึ้น 0.5% ทั้งนี้ราคาบ้านเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 15 เดือนติดต่อกันแล้ว แสดงชัดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว ซึ่งมีปัจจัยมาจากเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว จึงมีกำลังซื้อบ้านกลับเข้ามาใหม่ จนดันราคาบ้านเพิ่มขึ้น
          อาจกล่าวได้ว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พฤษภาคม 2555-2556 ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 7.3% ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาบ้านในกรุงเทพมหานครที่ประมาณ 5% เสียอีก อย่างไรก็ตามราคาบ้าน ณ เดือนเมษายน 2556 หรือเดือนล่าสุดนี้ ยังต่ำกว่าราคาที่เคยขึ้นสูงสุด ณ เดือนเมษายน 2550 อยู่ประมาณ 11.2% ราคาบ้านล่าสุดนี้เท่ากับราคาบ้านเมื่อเดือนมกราคม 2548 หรือ 27 เดือนก่อนที่ราคาบ้านจะขึ้นสูงสุดและดิ่งเหวลงมา
          การตกต่ำของราคาบ้านในสหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550 ที่ราคาบ้านสูงสุด จนถึงเดือนมีนาคม 2554 เป็นเวลารวมกันถึงเกือบ 4 ปี (46 เดือน) นับแต่เดือนพฤษภาคม 2550 แล้ว ราคาบ้านก็ทรง ๆ ต่อมาจนถึงเดือนมกราคม 2555 เป็นเวลา 7 เดือน และหลังจากนั้น ราคาบ้านก็เริ่มเพิ่มสูงขึ้นจนถึงเดือนพฤษภาคม 2556 ที่สำรวจล่าสุด
          โดยที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาฟื้นตัว ก็น่าจะส่งผลดีต่อโลก ทำให้มีกำลังในการซื้อสินค้าและบริการจากทั่วโลก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ได้รับอานิสงส์ไปด้วย  คาดว่าประเทศไทยจะได้รับผลดีตามไปด้วยในอนาคต และประเทศไทยควรรณรงค์เชิญชวนนักลงทุนและนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศให้มากขึ้น

การล้มละลายของนครดีทรอยต์
          ไม่กี่วันที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ลงข่าวกันพอสมควรถึงการล้มละลายของนครดีทรอยต์ที่เคยเป็นมหานครใหญ่อันดับหนึ่งในห้าของสหรัฐอเมริกาที่เป็นศูนย์รวมผลิตรถยนต์ของประเทศ แต่ขณะนี้ ตกต่ำอย่างหนักจนนครแห่งนี้มีหนี้ท่วมถึง 450,000 ล้านบาท บริการสาธารณะต่าง ๆ ก็ต้องปิดไป หรือไม่ก็มีบริการที่ไม่เพียงพอ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็ด้อยลงอย่างมาก เดือนหน้าผมจะไปถ่ายรูปมาให้ดูครับ เพราะผมมีคิวไปบรรยายในนครใกล้ ๆ
          นครแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2353 หรือ 202 ปีก่อน มีอายุน้อยกว่ากรุงเทพมหานครเล็กน้อย ปีที่มีประชากรสูงสุดคือปี พ.ศ.2503 โดยในเขตนครมีประชากรถึง 1,670,144 คน ณ ขนาดเมืองที่ 359 ตารางกิโลเมตร แต่ลดลงเหลือเพียง 713,777 คนในการสัมโนล่าสุด พ.ศ.2553 และล่าสุดเหลือประมาณ 700,000 คน เท่านั้น  การที่ประชากรลดก็เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ย่ำแย่ลง คนจึงย้ายออก อย่างไรก็ตามในภูมิภาคมหานครและปริมณฑล ประชากรกลับพอ ๆ กันเมื่อเทียบกับ 40 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้แสดงว่าประชากรย้ายออกชานเมือง ซึ่งยิ่งทำให้เมืองมีปัญหาในทุกวันนี้ ด้วยสาธารณูปโภคไม่สามารถขยายตัวได้ทั่วถึงตามงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด
          กรุงเทพมหานครที่เคยได้ชื่อว่าเป็น "ดีทรอยต์แห่งเอเซีย" ก็ต้องสำเหนียกไว้เช่นกัน เพราะหากประเทศเพื่อนบ้านเติบใหญ่  ท่าเรือหลักอยู่ที่โฮชิมินห์ซิตี้ สิงคโปร์และทะวาย  ประเทศต่าง ๆ บินติดต่อกันเองโดยไม่พึ่งพิงกรุงเทพมหานครเป็นตัวเชื่อม โรงงานหลักๆ ย้ายออกไปตั้งอยู่ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ประกอบกับความไม่สงบภายในประเทศ ก็อาจทำให้กรุงเทพมหานครของเราหงอยไปถนัดตาก็ได้  หวังว่าฝันนี้จะไม่เป็นจริง

ท่าเรือน้ำลึกจาฮอร์
          พอดีเร็ว ๆ นี้ผมมีคิวไปบรรยายในการสัมมนานานาชาติด้านที่อยู่อาศัย ที่รัฐจาฮอร์ มาเลเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกในเขตเศรษฐกิจพิเศษชื่อ Iskandar Malaysia หรือชื่อเดิมว่า Iskandar Region ซึ่งเพิ่งพัฒนาเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อปี พ.ศ.2549 ที่ผ่านมานี้เอง เพราะมาเลเซียต้องการแข่งขันด้านการท่าเรือแข่งกับสิงคโปร์ โดยมีการจัดตั้งองค์กรใหม่ชื่อ Iskandar Regional Development Authority เป็นผู้ดำเนินการพัฒนา
          ขนาดของเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ใหญ่ถึง 2,217 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่นี้มีการก่อสร้างศูนย์ธุรกิจใจกลางเมืองขึ้นมาใหม่ มีเขตที่อยู่อาศัย เขตอุตสาหกรรม เขตท่าเรือน้ำลึก โดยมุ่งหวังให้พื้นที่นี้เป็นศูนย์สุขภาพของโลก เพราะมีโรงพยาบาลดี ๆ เป็นเมืองการศึกษาโดยให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จัดตั้งในพื้นที่นี้ ที่พิเศษและน่าสนใจยิ่งก็คือในพื้นที่พิเศษนี้ชาวสิงคโปร์ สามารถเข้ามาทำงานได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตใด ๆ ถือว่าเป็นประชากรของพื้นทื่นี้เพื่อจูงใจให้ความเจริญไหลมาที่มาเลเซียบ้าง
          มาเลเซียลงทุนเต็มที่ ชวนบริษัทเดินเรืออันดับหนึ่งให้ทิ้งสิงคโปร์มาใช้ที่นี่ จูงใจประชาชน ทำให้ชาวสิงคโปร์มาซื้อบ้านในที่นี้เป็นบ้านหลังที่สอง และต้อนรับนักลงทุนจากทุกชาติ มีการเดินสายแนะนำโครงการโดยตลอด ข้างฝ่ายสิงคโปร์ก็รุกรับกันน่าดู จนขณะนี้สิงคโปร์ก็เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาโครงการนี้แล้ว  นึกแล้วทำให้ท้อใจเพราะในกรณีประเทศไทย การคิดนอกกรอบและคิดการใหญ่เช่นนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้น แล้วต่อไปไทยก็คงแข่งกับชาติอื่นได้ยาก

อ่างเก็บน้ำจืดปากแม่น้ำสิงคโปร์
          ในที่นี้หมายถึง the Marina Reservoir ซึ่งเป็นพื้นที่ปากแม่น้ำสิงคโปร์ เริ่มดำเนินการในวันที่ 30 ตุลาคม 2551 และเริ่มเปลี่ยนเป็นน้ำจืดในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 พื้นที่แห่งนี้สามารถเก็บน้ำไว้ผลิตประปาให้ใช้ได้ประมาณ 10% ของความต้องการใช้น้ำในสิงคโปร์ การที่สิงคโปร์จำเป็นต้องพึ่งตนเองเรื่องน้ำเพราะที่ผ่านมาซื้อน้ำมาจากมาเลเซีย ทำให้ต้องขึ้นต่อมาเลเซียเป็นอย่างมาก
          ลองนึกถึงประเทศไทย หากปิดแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นปากอ่าวไทยเพื่อเก็บเป็นน้ำจืด คงแทบนึกไม่ออก เพราะในความเป็นจริง ประเทศไทยไม่ขาดแคลนน้ำจืด แต่ในอีกแง่หนึ่งสิงคโปร์สามารถจัดการไม่ให้ชาวบ้าน โรงงานหรือใครก็ตามปล่อยน้ำเสียลงไปในแม่น้ำอย่างเด็ดขาด จึงทำให้สามารถกั้นปากอ่าวให้กลายเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ นี่คือความยิ่งใหญ่ของผู้บริหารผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลบนเกาะกะจิดริดอย่างสิงคโปร์ที่ไทยพึงเรียนรู้
          ทุกวันนี้ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำดังกล่าวยังใช้เล่นกีฬาพายเรือ แต่ไม่อนุญาตให้ว่ายน้ำ เพราะจะเก็บน้ำไว้ทำประปา แต่แม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานครนั้น สกปรกลงทุกวัน ใช้เพื่อการขนส่งสินค้าและระบายน้ำเสียจากในเมืองเป็นสำคัญ นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าไทยควรพัฒนาไปกว่านี้

          อย่าลืมเอาเยี่ยงกา แต่ใช้ต้องเอาอย่างกาไปเสียทุกอย่าง

ขออนุญาตประชาสัมพันธ์หน่อยครับ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กำลังจัดประกวดเรียงความชิงโล่รางวัลพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “อย่าซื้อที่ดิน สปก.4-01 ภบท.5 ผิดกฎหมายและทำลายป่า” ดูรายละเอียดที่ www.thaiappraisal.org นะครับ

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่