Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 639 คน
     ความเห็นทางวิชาการ: คุณจินตนา แก้วขาว กับกฎหมู่
25 ตุลาคม 2554

ดร.โสภณ พรโชคชัย
http://www.facebook.com/dr.sopon

          ไม่มีใครปฏิเสธว่าการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดี แต่การต่อสู้ของกลุ่มคุณจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด และพวกจนถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 4 เดือนนั้นแสดงให้เห็นชัดว่าเป็นการใช้สิทธิเกินขอบเขตจนละเมิดอาญาแผ่นดิน ความผิดเช่นนี้ควรได้รับการน้อมตระหนัก
          อนุสนธิจากมูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้เขียนบทความ “ความเห็นทางวิชาการคดีจินตนา แก้วขาว” ใน ‘ประชาไท’ ยกย่องการทำดีเพื่อสิ่งแวดล้อมจนติดคุก โดยได้ตั้งคำถามว่าการตัดสินนี้ถือเป็น “การขัดกันของการบังคับใช้กฎหมาย (อาญา) กับหลักสิทธิมนุษยชน (ตามรัฐธรรมนูญ)” <1> หรือไม่ ผมเห็นว่านี่เป็นการบิดเบือนความจริง ไม่มีกลุ่มหรือบุคคลใดสามารถใช้สิทธิชุมชนหรือสิทธิมนุษยชนจนผิดอาญาแผ่นดินได้ การใช้กฎหมู่และความรุนแรงเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับไม่ได้ ผมจึงขอมองต่างมุม แต่ไม่ได้มุ่งหวังหาเรื่องหรือขุดคุ้ยใคร แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการโฆษณาชวนเชื่อยกย่องเกินจริง

ศาลฎีกาจำคุกคุณจินตนา
          เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกคุณจินตนาในข้อหาบุกรุกและรบกวนการครอบครองที่ดินของเอกชน และนำของโสโครกเปรอะเปื้อนบุคคลและทรัพย์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หลังจากคุณจินตนาได้นำชาวบ้านกลุ่มเสื้อเขียวบุกรุกเข้าไปในงานเลี้ยงโต๊ะจีน จำนวน 2,000 โต๊ะ ของบริษัท ยูเนี่ยน พาวเวอร์ ดีวีลอปเม้นท์ จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2544 ทำให้ทรัพย์สินเสียหายและบริษัทต้องยกเลิกการจัดงานดังกล่าว <2>
          ก่อนหน้าศาลฎีกาตัดสินเพียงไม่กี่วัน (5 ตุลาคม 2554) ยังมีการจัดอภิปรายเรื่อง “เป็นอาชญากร หรือนักสู้เพื่อชุมชน” ในงานมีนักวิชาการมาให้กำลังใจและสนับสนุนคุณจินตนาด้วยการอ้างสิทธิชุมชน โดยไม่คำนึงถึงความผิดที่คุณจินตนาก่อไว้ข้างต้น คุณจินตนายังกล่าวด้วยว่า (หากตัดสินว่าตนผิด) “ชาวบ้านจะใช้วิธีตาต่อตาฟันต่อฟันหรือเปล่า ถ้ากระบวนการยุติธรรมมันไม่ได้เป็นที่พึ่งที่แท้จริง” <3>
          ปรากฏว่าหลังจากคำตัดสิน กรรมการสิทธิมนุษยชนยังนำคณะไปเยี่ยมคุณจินตนา <4> และได้ให้สัมภาษณ์ในว่า “ . . . ต้องหาเหตุผลมาอธิบายให้คนในสังคมเข้าใจ สำหรับการใช้ศาลสิ่งแวดล้อมเข้ามาพิจารณาคดี แต่ประเด็นที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาลได้เข้าใจคือการบังคับใช้กฎหมายเชิงเดี่ยวที่มองเฉพาะมิติของกฎหมายแพ่งหรือกฎหมายอาญา แต่ทุกฝ่ายควรจะมองถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของกฎหมายเชิงซ้อนที่มองว่าคดีแพ่งและคดีอาญาที่เกิดขึ้น” การมองในแง่นี้ก็เท่ากับการไม่ได้สำนึกถึงความผิดที่เกิดขึ้น

รู้ให้ชัดว่าผิดอย่างไร
          สำหรับคำพิพากษาของศาลฎีกา <5> ระบุว่า ในวันเกิดเหตุ “จำเลยกับพวกรวม 100 คน ได้เดินเข้าไปในบริเวณที่จัดงานแล้วพูดว่า พวกเราเอาน้ำปลาวาฬใส่เลย จากนั้นชี้นิ้วไปตามโต๊ะอาหารของพวกจำเลยประมาณ 50 คน ต่างแยกย้ายกันนำถุงน้ำปลาวาฬไปบีบใส่โต๊ะอาหาร ถังน้ำแข็ง และขว้างไข่เน่าใส่เวที” แต่คุณจินตนากลับให้การว่า “วันเกิดเหตุจำเลยกับพวกรวมประมาณ 30 คน พากันไปที่สำนักงานของผู้เสียหายเพื่อยื่นหนังสือคัดค้าน เมื่อไปถึงพบกลุ่มชายฉกรรจ์รวมประมาณ 50 คน จำเลยกับพวกเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยจึงพากันเดินเลี่ยงขอผ่านไปหน้าเวทีงาน เห็นชาวบ้านทะเลาะกับผู้จัดเวทีจำเลยจึงเข้าไปห้ามปราม จากนั้นจำเลยกับพวกดังกล่าวพากันกลับบ้าน”
          ศาลพิเคราะห์จากหลักฐานแล้วไม่เชื่อคำให้การของจำเลย แต่เห็นพ้องตามโจทย์ รวมทั้งพยานก็ให้การตรงกัน เหตุเกิดเวลากลางวัน จึงเห็นได้ชัด และพยานโจทก์ก็รู้จักและจดจำจำเลยได้ และไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์เหล่านั้นเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุชวนให้ปรักปรำโจทก์ ศาลยังระบุว่า “. . .ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่าธรรมชาติของคดีที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดมิใช่การกระทำความผิดอย่างคดีอาญาสามัญ การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ไม่เป็นสาระแก่คดี”

สิทธิชุมชนหรือกฎหมู่
          จากคำพิพากษาข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการใช้หรือการอ้างสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถนำมาหักล้างความผิดที่ได้ก่อไว้อันเป็นอาญาแผ่นดิน ไม่เช่นนั้นประเทศชาติก็คงไร้ขื่อแป เพราะถือตนว่ากระทำการเพื่อพิทักษ์สิทธิของชุมชน ก็สามารถละเมิดหรือทำร้ายผู้อื่นได้อย่างอุกอาจ แม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ก็ไม่อาจอ้างเพื่อละเมิดต่อสิทธิของผู้ใดได้
          หากประชาชนในแต่ละพื้นที่ของประเทศพากันจับจองทรัพยากรของส่วนรวม เช่น ทะเล ลำคลอง หรือป่าเขา มาเป็นของตนด้วยถือว่าตนอยู่ใกล้และได้ใช้ประโยชน์มานาน ประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรเหล่านี้ก็คงกลายเป็นผู้ด้อยโอกาส ถ้าการปฏิบัติเช่นนี้กลายเป็นบรรทัดฐาน ก็คงทำให้ประเทศแตกแยกกันไปหมด และเกิดความวุ่นวายแย่งชิงทรัพยากรของส่วนรวมไม่มีที่สิ้นสุด บรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องนี้จะพันธนาการประเทศของเราให้ถอยหลังเข้าคลอง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหรือทั่วโลกต่างพัฒนาไปไกลโดยไม่ติดกับปัญหานี้เพราะต่างยอมรับในสิทธิของชาติเหนือสิทธิส่วนบุคคล กลุ่มหรือชุมชน
          ในการลงทุนโรงไฟฟ้าในพื้นที่บ่อนอกนั้น หากแม้รัฐบาลมาลงทุนเองโดยไม่มีภาคเอกชน บางท่านก็ยังคงไม่ยินดี บางครั้งอาจมีข้อคำนึงว่า การดำเนินโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่อาจเป็นการเปิดโอกาสการฉ้อราษฎร์บังหลวง ข้อนี้คงต้องอาศัยการตรวจสอบอย่างจริงจังของทุกฝ่ายโดยเฉพาะภาคประชาชนที่มุ่งหวังจะสอดส่องเพื่อประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามเราคงไม่สามารถอาศัยข้ออ้างเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงนี้ มาถือครองทรัพยากรของประเทศเป็นของตนเองหรือกลุ่มชน

การใช้ความรุนแรง
          ที่ผ่านมาการต่อสู้ของกลุ่มมักเกิดเหตุรุนแรงจนบาดเจ็บ เสียทรัพย์และเสียชีวิต เช่น เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2548 ศาลอาญาพิพากษาคดีที่ฟ้องคุณเจริญ วัดอักษร จำเลยที่ 1 คุณวิลัย สัตย์ซื่อ จำเลยที่ 2 คุณลัดดา สิงห์เล็ก จำเลยที่ 3 คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย จำเลยที่ 4 และคุณชัยยศ แก่นทอง เป็นจำเลยที่ 5 ในความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังร่วมกันทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพ และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ บ.กัลฟ์ เพาเวอร์ จำกัด จนได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2544. . . <6> และต่อมา เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553  ศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 3, 4 มีความผิด . . . ลงโทษจำคุก เป็นเวลา 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 2 ปี . . .  <7>
          แม้แต่กับชาวบ้านกันเองแต่เป็นกลุ่มที่เห็นต่างก็ได้รับความรุนแรงเช่นกัน โดยคุณณรงค์ พุกจันทร์ ตัวแทนฝ่ายสนับสนุนโรงไฟฟ้า กล่าวว่า “. . . มีการสร้างภาพให้เห็นว่าเกิดความรุนแรงขึ้น เพื่อให้รัฐบาลลงมาดูแล และผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมคนเราต้องทำร้ายกัน . . . และที่เริ่มรุนแรงกันหนักๆ ก็คือช่วงประชาพิจารณ์นี้เอง” ในขณะที่คุณจินตนา แก้ว่า “. . . ชาวบ้านที่นี่ก็เริ่มต้นเรียกร้องตั้งแต่ ยื่นหนังสือ ก่อนทั้งนั้น ไม่มีชาวบ้านที่ไหนหรอกค่ะ ที่อยู่ๆ ก็ลุกขึ้นมาทุบตีกัน” <8> แต่การทำร้ายร่างกายกันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอาญาอย่างปฏิเสธไม่ได้ และไม่อาจนำสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาแก้ต่างได้
          อีกตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 คุณนาวิน อายุ 16 ปี ก็ถูกระเบิดปิงปองได้รับบาดเจ็บ คุณมานิตย์ (บิดาคุณนาวิน) กล่าวว่า “ตนเคยเป็นแกนนำฝ่ายอนุรักษ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม แต่ภายหลังเหตุการณ์ปะทะเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีพนักงานโรงงานสหวิริยาถูกยิงเสียชีวิต <9> ตนก็ขอถอยออกมา เพราะเริ่มรู้สึกรับไม่ได้กับแนวทางที่มีลักษณะของการปลุกระดม กดดันมากกว่าการอนุรักษ์และในบางครั้งที่ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพก็ถูกโจมตี . . .” <10>
          และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 “นางธัญญาพร หรือปลิว จันทร์พิทักษ์ อายุ 60 ปี . . . ได้เข้าแจ้งความว่า ถูกนางสุธาทิพย์ คชชา . . . ซึ่งเป็นกลุ่มคัดค้านโรงถลุงเหล็ก ทำร้ายร่างกายจนไหล่หลุดทั้ง 2 ข้าง และกระดูกแขนด้านซ้ายร้าว . . . . ด้านนางสุธาทิพย์ กล่าวยอมรับมีการทำร้ายร่างกายจริง แต่ไม่เชื่อว่านางธัญญาพรจะไหล่หลุด เพราะยังสามารถถือมีดออกมาท้าทายตนหลังเกิดเหตุได้ . . . นางธัญญาพรเคยร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด และมีความสนิทสนมกับนางจินตนา แก้วขาว . . .” <11> อย่างไรก็ตามการเกิดความรุนแรงเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดีกับกลุ่มอนุรักษ์เอง เพราะแม้แต่คุณเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก (ขณะยังมีชีวิตอยู่) ยังได้ออกมาชี้แจงว่า “ผมเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านหินกรูด ติดลบต่อสายตาสาธารณชนทั่วไปมากที่ใช้ความรุนแรงในครั้งนี้ . . .” <12>

การสร้างภาพเพื่อสร้างความยอมรับ
          ที่ผ่านมามีการยกย่องคุณจินตนาถึงขนาดแต่งเพลงสรรเสริญความดี และเมื่อได้เข้ารับพระราชทานรางวัล “แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่น” จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ คุณจินตนาให้สัมภาษณ์ว่า “ได้เลี้ยงดูปลูกฝังลูกๆ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยสั่งสอนให้ตระหนักถึงปัญหาของทรัพยากรที่ลดลงเพราะระบบทุนนิยมได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มของประชากรอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังปลูกฝังให้ลูกรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ให้เป็นนักต่อสู้ โดยจะพาลูกไปสัมผัสจากสถานการณ์จริง เช่นการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าหินกรูด เพื่อเป็นแบบอย่าง และเข้าใจการทำงาน” <13>
          แต่ในเวลาไล่เลี่ยกัน ลูกชายของคุณจินตนา ก็ถูกจับพร้อมยาบ้า 17 เม็ด จึงถูกตั้งข้อหาว่ามียาเสพติด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย <14> และต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552 ศาลจังหวัดเพชรบุรีได้พิพากษารับโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสนบาทโดยรับโทษทันทีไม่รอลงอาญา <15> กรณีนี้เป็นเรื่องส่วนตัวก็จริง แต่ก็เป็นข้อคิดให้เห็นถึงความพยายามในการยกย่องคุณจินตนาในทางส่วนตัวจนเกินจริงเพื่อหวังผลในการสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหว

คัดค้านเพื่อใคร
          บางคนตั้งข้อสังเกตว่าการคัดค้านอาจเป็นเพื่อผลประโยชน์ของแกนนำที่เป็นนายทุนท้องถิ่นที่ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา แต่ประกอบกิจการร้านอาหารและรีสอร์ตตากอากาศอยู่ในพื้นที่ซึ่งเกรงจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า กลุ่มท้องถิ่นก็มีปัญหาการนำเอาสมบัติของส่วนรวมมาใช้ประโยชน์ ดังที่ “. . . เทศบาลตำบลบ้านกรูด ได้ฟ้องร้องนายอิศรา แก้วขาว สามีนางจินตนา ตามคดีดำเลขที่ 2767/50 ข้อหาบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ บริเวณชุมชนดอนศาลเจ้า ซึ่งล่าสุดนางจินตนา ร่วมกับชาวบ้านประมาณ 30 ครัวเรือนที่บุกรุกที่ดินดังกล่าว . . . นายจีรวุฒิ เคยแสดงความเห็นคัดค้านการเช่าที่ดังกล่าว เนื่องจากการบุกรุกสร้างชุมชนกีดขวางการไหลของน้ำในฤดูน้ำหลากและเป็นสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่” <16>
          มีความเป็นไปได้ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านโรงไฟฟ้า โดยสังเกตได้จากการที่บริษัทโรงไฟฟ้าจัดงานเลี้ยงถึง 2,000 โต๊ะ สำหรับผู้รับเชิญราว 20,000 คนที่คงเห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าจึงมาร่วมงาน  แต่ถูกคุณจินตนาทำลายงานเลี้ยงเสียก่อน นอกจากนี้คำสัมภาษณ์ของคุณณรงค์ พุกจันทร์ ข้างต้นยังระบุว่าความรุนแรงมักเริ่มหนักข้อขึ้นในช่วงการทำประชาพิจารณ์ หากให้มีการทำประชาพิจารณ์หรือทำประชามติกับชาวบ้านทุกคนในพื้นที่ ก็เป็นไปได้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่สนับสนุนโรงไฟฟ้า นี่จึงคงเป็นสาเหตุที่มีการใช้ความรุนแรงหรือความพยายามในการไม่ยอมรับผลการประชาพิจารณ์หรือไม่
          บางคนอาจอ้างว่าการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ด้วยกำลัง ก็คล้ายกับคณะราษฎรหรือพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่ใช้กำลังอาวุธปฏิวัติโค่นล้มอำนาจรัฐเช่นกัน แต่กรณีกลุ่มอนุรักษ์นี้ต่างกันโดยสิ้นเชิงเพราะเป็นการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์เฉพาะตน กลุ่มหรือชุมชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวม

          ประชาชนจึงควรได้มีโอกาสไตร่ตรองด้วยข้อมูลหลาย ๆ ด้านเพื่อไม่ตกอยู่ในภวังค์ของการโฆษณาชวนเชื่อ และอย่าให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย เพื่อความผาสุกของสังคมโดยปราศจากความรุนแรงและการใช้อำนาจในทางมิชอบจากทุกฝ่าย

อ้างอิง  
<1> มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน. ความเห็นทางวิชาการคดีจินตนา แก้วขาว http://www.prachatai3.info/journal/2011/10/37509
<2> ข่าว “สั่งจำคุก ‘จินตนา แก้วขาว ปธ.อนุรักษ์บ้านกรูด’ 4 เดือน คดีบุกรุกงานเลี้ยงโรงไฟฟ้า” http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1318334223&grpid=00&catid=&subcatid=
<3> โปรดดูคลิปงานสัมมนา “อาชญากรหรือนักสู้ชุมชน?.wmv” ที่ http://www.youtube.com/watch?v=seYwz8Z2nBM (นาทีที่ 2:55 – 3:00) และดูข่าว “เป็นอาชญากร หรือนักสู้เพื่อชุมชน” http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNekE1TVRBMU5BPT0=
<4> ข่าว “กสม.รุดเยี่ยม ‘จินตนาแก้วขาว’” http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01EVXdOREl4TVRBMU5BPT0=&sectionid=TURNek5RPT0=&day=TWpBeE1TMHhNQzB5TVE9PQ==
<5> คำพิพากษาศาลฎีกา กรณีคุณจินตนา แก้วขาว ข้อหาบุกรุก http://www.enlawthai.org/data/decision/Jintana%20Baangrood_SupremeCourtDecision.pdf
<6> ข่าว “บ่อนอกเฮ! ศาลสั่งรอลงอาญา คดีแกนนำทำร้ายนายทุน” http://mgr.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9480000110978
<7> ข่าว “พิพากษาแก้ลดโทษบ่อนอก-หินกรูดชน บ.กัลฟ์ฯ” http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/life/20100917/353481/พิพากษาแก้ลดโทษบ่อนอก-หินกรูดชนบ.กัลฟ์ฯ.html
<8> ทีมงาน ThaiNGO “บทบาทความรุนแรงในการแก้ไขข้อขัดแย้ง” http://www.thaingo.org/story3/news_volunteer_23945.html
<9> คุณรักศักดิ์ คงตระกูล พนักงานสหวิริยาถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2551 ต่อมา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2552 ศาลสั่งฟ้องคุณบำรุง สุดสวาท แกนนำกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง โดยฝ่ายจำเลยมีพยาน 10 ปาก เช่น คุณวิฑูรย์ บัวโรย คุณกรณ์อุมา รักษ์อักษร (ภรรยาคุณเจริญ วัดอักษร) ระหว่างที่ศาลเปิดพิจารณาคดีได้มีแกนนำพาชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ประมาณ 40 คนเดินทางมาให้กำลังใจผู้ต้องหาด้วย ทั้งนี้ผู้ต้องหาอยู่ระหว่างประกันตัว โดยนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ใช้ตำแหน่ง ส.ส.ประกันตัวออกมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 http://www.innnews.co.th/เปิดคดีแกนนำม็อบประจวบฯยิงคนงานสหวิริยา--163442_06.html
<10> ข่าว “เหยื่อม็อบค้านโรงเหล็กพ้อถูกทำร้ายกลายเป็นฝ่ายผิด” http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9510000071722
<11> ข่าว “กลุ่มต่อต้านโรงถลุงเหล็กดุทำร้ายม็อบกลับใจจนไหล่หลุด” http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9510000090470
<12> ทีมงาน ThaiNGO “‘แกนนำหินกรูด-บ่อนอก’ ยันชาวบ้านกดดันมานาน” http://www.thaingo.org/story/news_hingrood_181044.htm
<13> ข่าว “สอนลูกให้รัก ‘ธรรมชาติ’ อีกหน้าที่ของแม่ดีเด่น” จากมติชนรายวันออนไลน์ ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2550 หน้า 35 http://www.dmh.go.th/sty_libnews/news/view.asp?id=7547
<14> ข่าว “จับลูกชายแกนนำบ้านกรูดพร้อมยาบ้า” http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9510000023622
<15> ข่าว “ศาลสั่งจำคุก2ปีลูกชาย ‘จินตนา แก้วขาว’ คดีซื้อยาบ้า” http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1249457082&grpid=03&catid=03
<16> ข่าว "จินตนา" ร้อง ป.ป.ช. หวั่น "จีรวุฒิ" คืนเก้าอี้ ส.ท.บ้านกรูด http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9510000147423


เหยื่อม็อบค้านโรงเหล็กพ้อถูกทำร้ายกลายเป็นฝ่ายผิด http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9510000071722

กลุ่มต่อต้านโรงถลุงเหล็กดุทำร้ายม็อบกลับใจจนไหล่หลุด http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9510000090470

หัวอกเมียครอบครัว"คงตระกูล" http://www.oknation.net/blog/olympic2549/2009/11/28/entry-1

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่