แม่น้ำท่าจีน: แก้สิ่งแวดล้อมเพิ่มมูลค่าอสังหาริมทรัพย์
หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 19-20 กันยายน 2554 หน้า 16
ดร.โสภณ พรโชคชัย
http://www.facebook.com/dr.sopon
สิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทำลายกัดกร่อนประเทศชาติ และรูปธรรมที่เห็นชัดก็คือ มูลค่าของทรัพย์สิน รวมทั้งคุณค่าของชีวิตของเราเองก็จะด้อยค่าลงเรื่อยหากสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย มีแต่การรื้อระบบอุปถัมภ์ที่เป็นบ่อเกิดของการทุจริตประพฤติมิชอบ จึงจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริงจัง
เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ผมในฐานะนักศึกษาตามโครงการนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและการปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการ ปปช. ได้ไปดูงานของชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน จังหวัดนครปฐม ได้พบปะกับ ผศ.เด่นศิริ ทองนพคุณและผู้นำชุมชนท่านอื่น และได้เห็นสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงนำมาเผยแพร่เพื่อสนับสนุนกิจกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ภูมิปัญญาชาวบ้าน
ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ชาวบ้านได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามภูมิปัญญาของชาวบ้านเองในช่วงที่ผ่านมา เช่น
1. พอมีปัญหาผักตบชวาลอยเต็มแม่น้ำราว 2 กิโลเมตร ชาวบ้านก็จัดการเตะตะกร้อโชว์ มีโทรทัศน์มาทำข่าวกันครึกโครม ทำให้รัฐมนตรีถึง 3 ท่านมาดูแล และสุดท้ายหน่วยราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต่างระดมกำลังกันแก้ปัญหาได้เสร็จสิ้นใน 10 วัน
2. ชาวบ้านร่วมใจกันจนประสบความสำเร็จในการปิดท่าเรือแห่งหนึ่งที่ขนถ่ายถ่านหิน โดยความพยายามนี้ชาวบ้านได้ผลักดันจนได้รับความสนใจจากคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
3. ชาวบ้านยังได้รับการสนับสนุนในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีนมีงบประมาณปีละประมาณ 0.5 ล้านบาท สภาลุ่มน้ำท่าจีน นครปฐม ได้รับเงินสนับสนุนปีละประมาณ 1.8 ล้านบาท ส่วนมูลนิธิลุ่มน้ำท่าจีน นครปฐม ได้รับเงินสนับสนุนปีละประมาณ 1.5 ล้านบาท เป็นต้น
ชื่อเสียงและแบบจำลองการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของแม่น้ำท่าจีน ได้รับการกล่าวขวัญถึงไปในระดับประเทศเลยทีเดียว
แต่ปัญหาหลักก็ยังอยู่
ทุกวันนี้ปัญหาหลัก ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชนริมแม่น้ำท่าจีนก็ยังอยู่ ได้แก่:
1. โรงงานยังคงปล่อยน้ำเสีย โดยในวันที่ไปดูงานซึ่งเป็นช่วงหน้าฝน ก็ยังมีปรากฏการณ์ “แม่น้ำสองสี” คือสีน้ำขุ่นข้นจากโรงงาน กับสีของน้ำตามปกติ
2. กลิ่นควันพิษเหม็นคลุ้งจากโรงงานหลายแห่งยังปรากฏอยู่ทั่วไป
3. เรือบรรทุกขนาดใหญ่ก็ยังจอดเรียงหน้ากระดานขวางลำแม่น้ำจนบางครั้งแทบไม่มีทางน้ำให้สัญจร
4. ผักตบชวาก็ยังมีให้เห็นอยู่มากมาย
5. ชาวบ้านยังคงปลูกบ้านรุกล้ำที่สาธารณะอยู่ทุกวัน
6. แพขายอาหารของคนท้องถิ่นกันเอง ก็ต่อออกมารุกล้ำแม่น้ำ
7. พ่อค้าที่ขายปลาทู ปลาตะเพียนต้มเค็มจนกระดูกป่น ต่างก็ยังเทน้ำเสียลงสู่แม่น้ำทุกวัน
8. เกษตรกรปลูกผักบุ้งก็ยังใส่ยาฆ่าแมลงให้สารพิษไหลลงแม่น้ำ โดยใช้คนงานพม่าดำเนินการเพื่อว่าตัวเองจะไม่รับพิษ ส่วนผักที่ปลูกไว้กินเองกลับลงทุนกางมุ้งให้เติบโต แปลงผักบุ้งขนาดใหญ่ที่ใช้ไม่ได้แล้วก็ปล่อยให้ลอยเป็นแพไปอย่างไม่รับผิดชอบ แทนที่จะลากขึ้นฝั่งเพื่อทำลาย
จะเห็นได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมหลัก ๆ ในพื้นที่ก็ยังอยู่ เหมือนเมื่อครั้งยังไม่มีชมรม มูลนิธิหรือสภาลุ่มน้ำท่าจีนแต่อย่างใด แทบจะไม่ได้มีอะไรแก้ไขในเชิงโครงสร้างแต่อย่างใด
ปมปัญหาอยู่ที่ไหน
ผู้นำชุมชนบอกว่า หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบการก่อสร้างรุกล้ำแม่น้ำ และตรวจสอบการปล่อยมลพิษของโรงงาน แต่ก็ยังมีการทำผิดกฎหมาย ค่าปรับก็เป็นเงินไม่มาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่จัดการกับชาวบ้านที่สร้างมลพิษทำลายลำน้ำด้วยอ้างว่าเห็นใจการทำกินที่สุจริต และคงกลัวเสียคะแนนเสียง ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่การไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเสมอหน้าทั้งต่อทุกภาคส่วน
ส่วนสาเหตุที่ส่วนราชการไม่ (ตั้งใจ) ทำงาน หรือขาดแผนระยะยาวในการแก้ไขปัญหาที่ไม่ยากจะแก้ไข แต่กลับแก้ปัญหาแบบ ‘ไฟไหม้ฟาง’ ก็คงเป็นเพราะข้าราชการไม่ได้เจริญด้วยการวัดผลการทำงาน-ทำดี แต่เจริญด้วยระบบเส้นสายและการไต่เต้ากับศูนย์อำนาจส่วนกลาง ยิ่งกว่านั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังถูกครอบงำโดยผู้มีอิทธิพล แทนที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง
นางฟ้ากับซาตาน
ในระบบสังคมปัจจุบัน เหล่า ‘ซาตาน’ ซึ่งเป็นที่มาของการทุจริตประพฤติมิชอบ ยังไม่ได้รับการปราบปรามอย่างเด็ดขาดจริงจัง พวกเขาก็ยังเจริญรุ่งเรืองในการประกอบอาชีพที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดต่อประชาชน ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมในรูปแบบหนึ่ง มิหนำซ้ำพวกเขายังอยู่อย่างมีหน้ามีตาในสังคมที่นับถือกันที่เปลือกนอกในฐานะผู้บริจาคหรือผู้อุปถัมภ์กิจกรรมเพื่อส่วนรวมรายใหญ่
ในทางตรงกันข้าม เหล่า ‘นางฟ้า’ หรือผู้ทำดี ก็มีเส้นทางได้ดีของตนเอง เช่น ผู้นำชุมชนที่โดดเด่น ก็มักได้รับการปูนบำเหน็จให้เป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรีหรือองค์กรอิสระ หรือเป็นกรรมการระดับชาติหลายต่อหลายแห่ง บางครั้งยังได้รับการเสนอชื่อให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียเอง ดังนั้นเวลาที่จะไปช่วยชุมชนตามปณิธานแต่แรกจึงหดหายไป ระบบยศถาบรรดาศักดิ์จึงกัดกร่อนการรวมกลุ่มทำดีของประชาชน
น่าแปลกไหมที่ ‘นางฟ้า’ และ ‘ซาตาน’ อยู่ร่วมโลกกันได้ ต่างคนต่างอยู่ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน ต่างคนต่างเจริญในธรรมของตนเอง ต่างคนต่างได้ดีในขณะที่สิ่งแวดล้อมและสังคมส่วนรวมได้รับความเสียหายเช่นเดิม
ผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สิน
ถ้าสิ่งแวดล้อมเสียหายรุนแรง สิ่งที่จะเป็นปัญหาตามมาสำหรับอสังหาริมทรัพย์ก็คือ
1. บ้านเรือนเป็นจำนวนมากจะด้อยค่าลง เพราะไม่สามารถอยู่อาศัยได้อย่างเป็นปกติสุข
2. ถ้าบ้านเรือนมีอันต้องเสียหาย ทำให้ประชากรย้ายออกไป การค้าต่าง ๆ ในพื้นที่ก็จะลดลงตามลำดับ ทำให้อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ได้รับผลกระทบไปด้วย
3. อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักผ่อน เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ รีสอร์ตที่ใช้แม่น้ำเป็นจุดดึงดูดความสนใจก็จะขาดกิจกรรมไป
4. แม้แต่อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมที่มีมลพิษ มากก็มีต้นทุนสูงขึ้น อาจต้องย้ายออกเนื่องจากกำลังแรงงานไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ การเปิดกิจการใหม่ก็อาจได้รับการจำกัด ทำให้ศักยภาพของทำเลลดลง
5. ราคาที่ดินโดยรวมก็จะลดลงไปด้วย เพราะศักยภาพในการพัฒนาเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงมีผลกระทบต่ออสังหาริมทรัพย์โดยตรง และควรได้รับการแก้ไขก่อนที่สิ่งต่าง ๆ จะสายเกินไป
ทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์
ปัญหาต่าง ๆ ดูเหมือนแก้ไม่ตกก็เพราะความเห็นแก่พวกพ้อง กฏหมู่นั่นเอง ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ มีการบังคับใช้กฎหมายให้เสมอหน้ากันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ (แทบ) เป็นไปไม่ได้ เพราะหากในชุมชนนี้ดำเนินการ แต่ชุมชนอื่น อำเภออื่น จังหวัดอื่น ไม่เอาด้วย ก็ไร้ผลหรือได้ผลแค่ระดับ ‘จุดพลุ’ ดังนั้นจึงต้องอาศัยอำนาจจากฝ่ายบริหารประเทศให้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด
แต่การบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ย่อมทำให้อภิสิทธิชนกลุ่มต่าง ๆ เสียหาย อภิสิทธิ์และความได้เปรียบที่เคยได้ก็จะมลายหายไป ฝ่ายบริหารประเทศที่คิดจะบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ก็คงอาจอยู่ได้ไม่นาน ข้าราชการระดับเล็ก ๆ ที่คิดจะบังคับใช้กฎหมาย ก็อาจถูกกลั่นแกล้งหรือขั้นถึงฆาต เช่นเดียวกับชาวบ้านที่คัดค้านถ่านหินหรือการบุกรุกทำลายป่าของนายทุนใหญ่ เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว ระบบการทุจริตที่หยั่งรากลึกจนยากแก้ไข ก็เพราะคนรับราชการยังไม่ได้เติบโตเพราะการวัดผลจากการทำงาน-ทำดี แต่เติบโตเพราะการ ‘ตบเท้า’ อวยพรวันเกิดคนใหญ่คนโตกันอย่างตะพึดตะพือ ดังนั้นบ่อเกิดของการทุจริตก็จะยังไม่เหือดแห้ง ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงคงต้องสังคายนาระบบอุปถัมภ์ ปฏิวัติสังคมด้วยการบังคับใช้กฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์เพื่อปราบปรามการทุจริตที่เป็นต้นตอปัญหาสิ่งแวดล้อม
แต่สงสัยอยู่ว่าพิธีปลุกเสกอาจเป็นวิธีสุดท้ายที่จะทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์!! |