Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 608 คน
     สหภาพแรงงานผู้ประเมินค่าทรัพย์สินไทย
หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 25-26 เมษายน 2554 หน้า 16

ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

          วันนี้ผมขออนุญาตมาเสนอแนวคิดการตั้งสหภาพแรงงานในหมู่ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินในประเทศไทยครับ ไม่รู้ว่าเพื่อนนายจ้างบริษัทประเมิน และเพื่อนลูกจ้างในวงการประเมินค่าทรัพย์สินจะคิดอย่างไร ลองพิจารณาดูนะครับ
          ผมมีสถานะเป็นนายจ้างในวงการประเมินค่าทรัพย์สินไทย เพราะเป็นประธานกรรมการบริหาร บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ผมก็เชื่อว่าผมเป็นนายจ้างที่ดี ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานโดยเคร่งครัด ยิ่งกว่านั้นยังจัดหาสวัสดิการให้อย่างดี เช่น การให้เงินฝากให้พนักงาน (3% ของเงินเดือน) การบริการเครื่องดื่ม ชา กาแฟ โอวัลตินและเครื่องสันทนาการฟรี เป็นเงินปีละ 240,000 บาท เงินช่วยเหลือคลอดบุตร แต่งงาน บวช คนละ 4,000 บาท การให้ทุนการศึกษาบุตรเพื่อนร่วมงานคนละ 5,000 บาท การจัดงานวันเกิด เสียเงินปีละ 96,000 บาท การให้รางวัลพนักงานดีเด่นรายเดือนและรายปี ปีละ 64,000 บาท และจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้เสียเงินปีละ 500,000 บาท นอกจากนี้ยังจัดท่องเที่ยว ดูงานต่างประเทศและอื่น ๆ อีกหลายแสนบาทต่อปี รวมมูลค่าปีละหลายล้านบาทที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
          อย่างไรก็ตามความกรุณาของผมก็เป็นเรื่องหนึ่ง สิทธิของลูกจ้างก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง วันหนึ่งผมอาจกลายเป็นคนไม่ดี สั่งผู้ประเมินของผมให้ประเมินสูง ๆ ต่ำ ๆ ตามใจก็ได้ ผมอาจพยายามไล่เพื่อนร่วมงานที่ไม่ถูกโฉลกออกไปก็ได้ ถ้าผมดูแลผู้ประเมินค่าทรัพย์สินไม่ดีพอ พวกเขาก็อาจอดอยากจนต้องไปหาเศษหาเลยกับลูกค้าก็เป็นได้ เราจะฝากความเชื่อ ความหวังไว้กับบุคคลโดยขาดการตรวจสอบ คงไม่ได้
          ดังนั้นในการปกป้องสิทธิของลูกจ้าง ลูกจ้างจำเป็นต้องรวมตัวกัน คนที่เข้าใจลูกจ้างได้ดีที่สุด ก็คือลูกจ้างกันเอง ผมก็เห็นใจลูกจ้างและเคยเป็นลูกจ้าง แต่ ‘เวลาเปลี่ยน สถานะเปลี่ยน คนก็อาจเปลี่ยนได้’ เราไม่ได้อยู่ในนิยายสมัยพ่อขุนรามฯ แบบ ‘พ่อปกครองลูก’ เราควรอยู่ในสังคมอารยะแบบที่สามารถต่อรองกันตามสมควร โดยไม่ต้องเกรงใจเพราะ ‘ข้าวแดงแกงร้อน’ หรือ ‘ถูกเอาเงินฟาดหัว’ หรืออะไรทำนองนั้น
          การตั้งสหภาพแรงงานผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ยังจะช่วยทำให้มาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สินมีความเป็นสากลยิ่งขึ้น เพราะมีการตรวจสอบคานอำนาจกัน หากวันใดผมในฐานะนายจ้างบริษัทประเมินต้องการให้ประเมินผิดไปจากความเป็นจริง เสี่ยงต่อการที่ลูกจ้างจะถูกถอดถอนจากการเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ลูกจ้างจะได้สามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้ โดยมีสหภาพแรงงานเป็นผู้คอยพิทักษ์สิทธิของตนเอง การมีมาตรฐานและจรรยาบรรณสูงขึ้น ยังถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้สังคมมีมาตรฐานน่าอยู่ยิ่งขึ้น วิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินนี้ก็จะได้รับการยอมรับยิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป
          ในต่างประเทศ เช่น Korean Appraisal Board ซึ่งมีพนักงานนับพันคน ก็ยังมีสหภาพแรงงานเป็นของตนเอง แต่จะเป็นธุรกิจบริการ ไม่ใช่ลูกจ้างประเภทโรงงานอุตสาหกรรมก็ตาม แม้แต่ที่ Valuation Office Agency ซึ่งเป็นหน่วยราชการที่ทำงานด้านการประเมินค่าทรัพย์สินให้กับรัฐบาลอังกฤษในด้านต่าง ๆ ก็ยังมีสหภาพแรงงาน โดยผู้บริหารหน่วยงานกับสหภาพแรงงานได้ทำงานประสานกันโดยใกล้ชิดเพื่อสวัสดิภาพแรงงานของลูกจ้างตามที่เหมาะสม
          ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจยิ่งก็คือ สหภาพแรงงานผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่สามารถจัดตั้งขึ้นนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานในบริษัทเดียวกัน แต่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานโดยรวมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่เป็นลูกจ้างจากทุกบริษัทประเมินเข้าร่วมกันจัดตั้งได อาจจัดตั้งมากกว่า 1 สหภาพก็ได้ เพราะใช่ว่าลูกจ้างทุกคนจะถูกชะตากันหมด ก็เหมือนในวงการนายจ้าง ก็มีสมาคมได้มากกว่า 1 สมาคม เป็นต้น
          หากลูกจ้างผู้ประเมินค่าทรัพย์สินต้องการตั้งสหภาพแรงงานขึ้น ผมก็คงให้ข้อมูลได้ แต่คงไม่อยู่ในฐานะที่จะ ‘จูงมือ’ ไปจดทะเบียนได้เพราะผมก็ยังมีสถานะเป็นนายจ้าง ลูกจ้างสามารถไปจดทะเบียนสหภาพแรงงานได้ที่ กลุ่มงานทะเบียนกลาง สำนักแรงงานสัมพันธ์ (http://relation.labour.go.th) ชั้น 2 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน โทร. 02 246 8993 หรือหากต้องการปรึกษากับฝ่ายลูกจ้างด้วยกัน ก็มีสภาแรงงานหลายแห่งที่ขอรับคำปรึกษาได้ เช่น สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย 25/59 ซ.วิภาวิลล์แมนชั่น ถ.สุขุมวิท ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 10270 โทร.02 755 2165 Email: ctl_manas@hotmail.com  http://www.ctl.or.th
          เพื่อเป็นการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ผมก็ได้ไปก่อตั้งสมาคมนายจ้างบริษัทประเมินค่าทรัพย์สิน เพื่อเป็นศูนย์กลางของนายจ้างในด้านนี้ และจึงพยายามจะให้สอดรับกับการจัดตั้งสหภาพแรงงานของผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่เป็นลูกจ้าง เพื่อพัฒนาวงการในอีกมิติหนึ่งที่เราอาจมองไม่เห็น
          เราทำมาหาเลี้ยงชีพ อยู่ในแวดวงการประเมินค่าทรัพย์สิน ก็ต้องช่วยกันสร้างสรรค์ครับ ในบางครั้ง การแรงงานอาจทำให้ ‘นายจ้าง’ หงุดหงิดบ้าง แต่เราต้องตระหนักในศักดิ์และสิทธิ์ของลูกจ้าง สิทธิ์ต่าง ๆ เกิดจากการเจรจา ไม่ใช่เฉพาะความใจกว้างของนายจ้างเพียงอย่างเดียว
          นายจ้างและลูกจ้างวงการประเมินค่าทรัพย์สินต้องช่วยกันสร้างสรรค์วิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นที่ยอมรับในสังคมครับ

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่