แรงงานหญิงในวงการอสังหาริมทรัพย์
นิตยสารไฮคลาส ปีที่ 28 ฉบับที่ 283 พ.ศ.2553 หน้า 50-51
Make Money, March 2011 p.84-85
ดร.โสภณ พรโชคชัย *
8 มีนาคมเป็นวันสตรีสากล ผมจึงขออนุญาตเขียนเรื่องแรงงานหญิงในวงการอสังหาริมทรัพย์ในวารสาร Make Money ที่คุณมนตรี ฐิรโฆไท เป็นบรรณาธิการ และกัลยาณมิตรของผม ซึ่งได้มอบหมายให้ผมเขียนบทความในวารสารของท่านอยู่เสมอ
ในวงการอสังหาริมทรัพย์ อาจมีแรงงานหญิงไม่มากนักโดยเฉพาะในวงการก่อสร้าง แม้แต่ผมทำงานประเมินค่าทรัพย์สิน มีเพื่อนร่วมงาน 150 คน ก็ใช้แรงงานหญิงน้อยกว่าแรงงานชาย แต่ในส่วนงานอื่น เช่น บัญชี การตลาด แรงงานชายมีน้อยกว่าแรงงานหญิงเช่นกัน เราจึงควรมาเรียนรู้การใช้แรงงานหญิงที่ถูกต้องตามกฎหมายในวงการอสังหาริมทรัพย์
แรงงานหญิง
แรงงานหญิงมีบทบาทอยู่ในแทบทุกสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่อสังหาริมทรัพย์ แต่เพราะความแข็งแรงของสรีระต่อการทำงานหนักที่อาจแตกต่างจากชาย และการมีครรภ์ของหญิง ประเทศไทจึงออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานหญิงเป็นกรณีพิเศษ เพื่อไม่ให้ต้องทำงานหนักเกินกำลัง และมีความปลอดภัยในการทำงาน
อย่างไรก็ตามในบางกรณีหญิงอาจมีความแข็งแรง และทนความเจ็บปวดได้มากกว่าชายโดยเฉพาะในกรณีการคลอดบุตรที่เจ็บปวดมาก ซึ่งจากการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ หากเป็นชายก็คงเสียชีวิตไปแล้ว แต่หญิงทนได้ นอกจากนั้นหญิงที่เป็น “ทอม” ตามกฎหมายยังถือเป็นหญิงอยู่ จะปฏิบัติเช่นชายไม่ได้ ผมเองก็มีแรงงานหญิงประเภทนี้ทำงานในการสำรวจภาคสนามเช่นกัน
งานที่ห้ามหญิงทำ
ในการใช้แรงงานหญิงในวงการอสังหาริมทรัพย์นั้น งานก่อสร้างหรืองานเหมืองแร่ที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ หรือปล่องในภูเขา นั้นห้ามแรงงานหญิงทำ นอกจากนี้ยังมีงานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดินตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป และสำหรับในวงการอื่น ยังรวมถึงงานผลิตหรือขนส่งวัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ
ถ้าแรงงานหญิงในวงการอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะการก่อสร้างที่ต้องเร่งรัด หากพบว่าแรงงานหญิงที่ทำงานในช่วง 24:00 - 06.00 น. และพนักงานตรวจแรงงานตรวจพบว่างานนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของหญิงนั้นให้รายงานต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อพิจารณา และสามารถมีคำสั่งให้เปลี่ยนเวลาทำงานหรือลดชั่วโมงทำงานได้ ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวจึงไม่ควรใช้แรงงานหญิง
ความเท่าเทียมทางเพศ
ในวงการอสังหาริมทรัพย์ หรือทุกวงการ ตามกฎหมาย นายจ้างต้องปฏิบัติต่อแรงงานชายหญิงเท่าเทียมกันในการจ้างงาน แต่ไม่ใช่หมายความว่าทุกตำแหน่งงานต้องรับชายหญิงเท่า ๆ กัน เช่น ผมทำประเมินค่าทรัพย์สิน ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินส่วนมากจะเป็นชาย ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการไปตรวจสภาพบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ของลูกค้า ดังนั้นตามกฎหมายจึงมีข้อเว้นตามลักษณะของงาน
ผมสั่งนักประเมินค่าทรัพย์สิน “ทอม” ไว้ว่า ก่อนออกไปทำงาน ก็ต้องสอบถามลูกค้าให้ชัดเจนก่อนว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นอย่างไร ปลอดภัยในการเข้าทำการสำรวจหรือไม่ ถ้าไปพบบ้านลูกค้าที่มีแต่ชายฉกรรจ์ ก็ไม่ต้องเข้าไป! หรือไปพบเป็นบ้านร้าง ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ก็ไม่ต้องไปสำรวจ นำงานกลับคืนมา เพื่อส่งผู้ประเมินค่าทรัพย์สินชายฉกรรจ์ ไปแทน เป็นต้น
ตามกฎหมายแรงงาน ในด้านความเท่าเทียมยังกำหนดให้งานมีลักษณะและคุณภาพอย่างเดียวกัน และปริมาณเท่ากัน นายจ้างจะต้องกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดให้ผู้ใช้แรงงานเท่าเทียมกันไม่ว่าผู้ใช้แรงงานนั้นจะเป็นชายหรือหญิงอีกด้วย อย่างไรก็ตามในกรณีเป็นสาว Pretty แนะนำสินค้าตามบูธของโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ก็สมควรที่จะจ่าย “ค่าความสวย” เพิ่มเติมกว่านักขายชายทั่วไปได้!!
โดยสรุปแล้วในงานวิชาชีพหรือวิชาการเช่นที่ผมทำงานประเมินค่าทรัพย์สิน และงานเกี่ยวกับการสำรวจ การขุดเจาะ การกลั่นแยกและการผลิตผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม หรือปิโตรเคมี แรงงานหญิงก็มีสิทธิทำงานเหล่านี้ได้ จะกีดกันไม่ได้ ถ้าสภาพหรือลักษณะของงานนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือต่อร่างกายของแรงงานหญิง
การจ้างหญิงมีครรภ์
นายจ้างในวงการอสังหาริมทรัพย์หรืออื่นใด พึงทราบว่า กฎหมายได้ห้ามแรงงานซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในช่วง 22:00 - 06:00 น. โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักร หรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน หรืองานที่เกี่ยวกับการยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม ทั้งนี้ในวงการอื่นยังรวมถึงงานที่ทำในเรือ งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ และงานอื่น ๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ที่สำคัญที่สุดก็คือ นายจ้างจะเลิกจ้างแรงงานหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ไม่ได้เด็ดขาด และหญิงมีสิทธิการลาคลอดและการทำหมัน โดยลาคลอดก่อนและหลังคลอดได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน และถ้ามีใบรับรองแพทย์ แสดงว่าทำงานในหน้าที่เดิมต่อไม่ได้ แรงงานหญิงมีสิทธิขอให้นายจ้างพิจารณาเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้เป็นการชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ด้วย
อย่างไรก็ตามหญิงมีครรภ์สามารถทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร งานวิชาการ งานธุรการ รวมทั้งงานเกี่ยวกับการเงินหรือบัญชี รวมทั้งยังสามารถทำงานล่วงเวลาในวันทำงานได้ ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นงานวิชาชีพและไม่ได้ใช้แรงงานหนัก (ทางกาย)
การล่วงเกินทางเพศ
กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้นายจ้างหรือผู้ซึ่งเป็นหัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงานกระทำการล่วงเกินทางเพศต่อแรงงานหญิง” แรงงานหญิงในวงการอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยงในกรณีนี้ ตั้งแต่กรรมกรก่อสร้างหญิงในสถานที่ทำงาน และสถานที่พักอาศัยที่นายจ้างจัดให้ ดังนั้นนายจ้างในวงการอสังหาริมทรัพย์จึงต้องให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ
ในส่วนของนักวิชาชีพอาจไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศที่เด่นชัดนัก ยกเว้นแรงงานหญิง (ที่โชคร้าย) บังเอิญไปทำงานกับนายจ้างชาย (หื่น) เข้า! แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาย การแนะนำสินค้า ที่อาจต้องใช้แรงงานหญิงที่มีหน้าตาดีเป็นพิเศษ อาจมีกรณีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้น แต่มักไม่เป็นปัญหาทางด้านแรงงาน แต่เป็นปัญหาครอบครัว (แตกแยก) มากกว่า (ไม่รู้จะ “ฮา” หรือ “ฮือ” ดี)
ประเด็นสำคัญของการล่วงละเมิดทางเพศนั้น นายจ้างชายในวงการอสังหาริมทรัพย์หรือวงการอื่นใดก็ตาม ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดเรื่อง “ผิดลูกเมียคนอื่น” ขึ้นมา ก็จะเสียชื่อเสียง เสีย “แบรนด์” ที่ได้สั่งสมมาได้ แต่บางทีก็เป็นเรื่อง “หน้ามืด” ที่อดใจยาก ผมเองก็ชักไม่มั่นใจในตนเองเสียแล้ว (ฮา)
ขอฝากกลอนบทหนึ่งเกี่ยวกับสตรีไว้ดังนี้ (จากวงดนตรีไทยต้นกล้า)
“หญิงงามใช่ว่างามเรือนร่าง นวลนางมิใช่นวลหน้ามน
หญิงงามต้องงามอย่างคน กล้าผจญสรรค์สร้างเคียงร่างเคียงไหลกัน
สู้ด้วยกันตายด้วยกัน ไม่มีชั้นมาแบ่งชน
หญิงเอยเจ้าเกิดเป็นคน ทุกข์ทนทำไมให้เขาเอาเปรียบแรง
หญิงเอยเจ้าจงสำแดง สองมือคือแรงเลี้ยงโลกตลอดมา”
* ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นประธานกรรมการ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย AREA (area.co.th) ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลที่มีฐานข้อมูลที่กว้างขวางที่สุดในไทยและเริ่มสำรวจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 ขณะนี้ยังเป็นประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@area.co.th facebook.com/pornchokchai
นิตยสารไฮคลาส ปีที่ 28 ฉบับที่ 283 พ.ศ.2553 หน้า 50-51
|