Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 595 คน
การเวนคืนขยายถนนที่ทุกคนชอบ-ทำได้จริง
สยามรัฐ วันที่ 13-14 กันยายน 2553 หน้า 16

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

          เมื่อนึกถึงการเวนคืน คนที่มีบ้านอยู่ในแนวเวนคืนคงสะดุ้ง การเวนคืนก็ใช่ง่าย ยิ่งหากเป็นในเขตใจกลางเมือง ก็ยิ่งต้องเสียต้นทุนค่าทดแทนการเวนคืนที่สูงมาก อย่างไรก็ตามในพื้นที่ใจกลางเมือง มีถนนหลายสายที่มีความคับแคบ สมควรได้รับการขยายแต่ก็ไม่สามารถขยายได้เพราะปัญหาข้างต้น ทำให้ชุมชน สังคมและประเทศชาติโดยรวม ได้รับความยากลำบาก ทำให้คุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัยต่ำ
          ยกตัวอย่าง ในกรณีถนนจันทน์ หรือ “ตรอกจันทน์” ในอดีต ถนนนี้มีความกว้างที่จำกัดเพียงประมาณ 18-20 เมตร หากสามารถขยายถนนได้อีกข้างละ 16 เมตรตามแนวอาคารพาณิชย์ริมถนนปัจจุบัน ก็จะทำให้ถนนมีความกว้างมากขึ้น การจราจรก็จะสะดวกยิ่งขึ้น ทำให้มูลค่าทรัพย์สินโดยรวมในย่านนี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
          หากมีการเวนคืนที่ดินระยะ 16 เมตรแรกเป็นความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร 2 ฝั่ง หากสมมติให้เป็นอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นทั้งหมด ก็จะมีจำนวน 2,000 หน่วย ตึกแถวหน่วยหนึ่งมีราคาประมาณ 7.15 ล้านบาท โดยมีค่าที่ดิน 4 ล้านบาท (16 ตร.ว. ๆ ละ 250,000 บาท) ค่าก่อสร้างใหม่ 1.0 ล้านบาท และ Soft Costs (ค่าดำเนินการ ภาษี กำไร ดอกเบี้ยและอื่น ๆ) อีก 30% ของค่าที่ดินและค่าก่อสร้าง ดังนั้นเงินค่าเวนคืนจึงเป็นเงินประมาณ 14,300 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมาก ผู้ที่ไม่ต้องการถูกเวนคืนก็คือเจ้าของตึกแถวด้านหน้า ส่วนผู้ที่อยู่ด้านหลังก็เสมือน “ถูกหวย” เพราะอยู่ดี ๆ ที่ตาบอดหรือที่ ๆ มีทางเข้าออกที่จำกัด ก็กลับอยู่ติดถนนใหญ่
          ในกรณีนี้ จึงเสนอให้เวนคืนที่ดิน ถัดไปอีก 16 เมตร ซึ่งสมมติให้ที่ดินด้านหลังยังคงเป็นอาคารพาณิชย์แถวหลัง ราคาเฉลี่ยหน่วยละ 3 ล้านบาท โดยเมื่อหัก Soft Cost 70% แล้วจะเป็นเงิน 2.1 ล้านบาท ซึ่งแยกเป็นค่าก่อสร้าง 0.7 ล้านบาท (สมมติว่ามีเพียง 2 ชั้น) ก็จะเป็นค่าที่ดิน 1.4 ล้านบาท หรือ 90,000 บาท/ตร.ว. ดังนั้นค่าเวนคืนส่วนเพิ่มเติมจึงเป็นเงินอีก 6,000 ล้านบาท รวมกับตึกแถวส่วนหน้าก็จะเป็นเงินถึง 20,300 ล้านบาท
          อย่างไรก็ตาม หากมีการขยายถนนและก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ขึ้นใหม่ ราคาก็จะสูงขึ้น โดยคาดว่าจะเป็นเงินหน่วยละ 11 ล้านบาท แยกเป็น Soft Costs 3.3 ล้านบาท (30%) และที่เหลือ 7.7 ล้านบาท จะเป็นค่าก่อสร้าง 1.5 ล้านบาท ส่วนที่เป็นที่ดินจึงเป็นเงิน 6.2 ล้านบาท หรือ ประมาณ 390,000 บาท/ตร.ว. หรือเพิ่มขึ้น 300,000 บาท/ตร.ว. จากแต่เดิม 90,000 บาท/ตร.ว.
          โดยที่ที่ดินที่อยู่ในแนวเวนคืนด้านหลังมีความกว้าง 4,000 เมตร ลึก 16 เมตร 2 ฝั่งถนน หรือประมาณ 32,000 ตร.ว. ดังนั้นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจึงเป็น 9,600 ล้านบาท เงินจำนวนนี้สามารถนำมาชดเชยค่าทดแทนการเวนคืน 14,300 ล้านบาท ให้เหลือค่าทดแทนเพียง 4,700 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้มีความเป็นไปได้ทางการเงินในการนี้มากยิ่งขึ้น
          อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง พื้นที่บางส่วนรัฐบาลอาจกันมาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและเพิ่มมูลค่าที่ดินได้อีกโดยไม่จำเป็นต้องขายหรือให้เช่าที่ดินทั้งหมด นอกจากนี้ที่ดินเอกชนที่อยู่ถัดออกไปอีก ยังอาจยินดีจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อจดภาระจำยอมเพื่อใช้ที่ดินส่วนที่เวนคืนนี้มาเพื่อให้มีทางออกด้านหลังอีกด้วย
          เห็นไหมครับ ถ้าคิดใหม่ทำใหม่ การเวนคืนก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่