Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 640 คน
CSR สำหรับวงการอสังหาริมทรัพย์
สยามรัฐ วันที่ 5 กรกฎาคม 2553 หน้า 16

ดร.โสภณ พรโชคชัย *

          เรื่อง In Trend สำหรับทุกวงการรวมทั้งวงการอสังหาริมทรัพย์ก็คือ CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบของวิสาหกิจต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders: ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนและสังคม) CSR เป็นสิ่งที่วิสาหกิจอสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่ต้องเชิดชูให้เป็นที่ประจักษ์ การมี CSR ในวิสาหกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น สามารถทำได้ง่ายโดยแสดงให้เห็นว่า การรับผิดชอบต่อสังคมและต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย

นักพัฒนาที่ดิน
          เราคงเคยได้ยินสังคมรู้สึก “แหยง” กับการซื้อบ้านแต่ได้เสา หรือได้แต่สัญญาซื้อขาย นักพัฒนาที่ดินไม่สามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามกำหนด หรือซื้อแล้วได้ที่อยู่อาศัยที่ผิดจากที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือนักพัฒนาที่ดินทำผิดสัญญาสารพัด ปัญหาเหล่านี้สร้างความหวาดหวั่นแก่ผู้ซื้อ หรือผู้บริโภคไม่น้อย การซื้อบ้านจึงกลายเป็นความเสี่ยงหรือเรื่องอกสั่นขวัญแขวนกับการที่จะมีโอกาสถูกโกง
          นักพัฒนาที่ดินมืออาชีพ จึงควรมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าเป็นอย่างดี ไม่ละเมิดกฎหมาย ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค และหากนักพัฒนาที่ดินสามารถทำได้เช่นนี้ ก็จะสร้าง “แบรนด์” ได้อย่างเอนกอนันต์ อาจเติบโตสวนกระแสในภาวะที่ผู้ซื้อบ้านเกิดความไม่มั่นใจในสินค้าอสังหาริมทรัพย์ของนักพัฒนาที่ดินรายอื่น ๆ

ธุรกิจ SME
          เราคงเคยได้ยินว่า แม่ค้าขายขนมจีน เอากระดาษทิชชูมาผสมในน้ำยา นัยว่าเพื่อลดต้นทุนให้ขายได้ราคาถูก ช่วยให้ขายได้ดีขึ้น หรือใส่ผงชูรสมากมายเพียงเพื่อให้คนติดใจในรสชาติโดยขาดความรับผิดชอบ หรือนำอาหารที่เสื่อมคุณภาพมาขายจนกระทั่งเด็กนักเรียนกินแล้วอาเจียนกันทั้งโรงเรียน เป็นต้น
          ในวงการอสังหาริมทรัพย์ มี SME มากมาย ตั้งแต่ผู้รับเหมา ผู้รับเหมาช่วง ทะเบียนพาณิชย์ขนาดเล็ก ๆ ที่เป็นผู้จัดหาสินค้าและบริการ (Suppliers) อันที่จริงแม้แต่นักพัฒนที่ดินก็ยังถือว่าเป็น SME เช่นกัน บริษัทพัฒนาที่ดินมหาชนขนาดใหญ่อาจเป็นเพียงส่วนน้อยการที่ผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ ไม่ “ด้านได้ อายอด” รักษาสัญญากับลูกค้า ไม่ทิ้งงาน ย่อมยังความน่าเชื่อถือและทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างยั่งยืน

บริษัทมหาชน
          ก่อนหน้านี้ การขาด CSR อาจเห็นได้จากการที่เจ้าของเดิมของบริษัทมหาชนเดิม ทิ้งกิจการของตนเองหลังจากเข้าระดมเงินในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว โกงบริษัทของตนเอง จัดตั้งบริษัทลูกมาให้บริการแก่บริษัทแม่ที่เป็นบริษัทมหาชนโดยไม่ต้องแข่งขันอย่างเท่าเทียม หรือใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยเพื่อบำรุงความสุขสบายของผู้บริหาร เป็นต้น
          อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ ตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต) ต่างมี มาตรการควบคุมบริษัทมหาชนรัดกุมกว่าแต่ก่อน และถือเป็นมาตรฐานที่ดีสำหรับวิสาหกิจอื่น ๆ นอกตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดความ โปร่งใส เป็นธรรม และปิดโอกาสการทุจริต
          บริษัทพัฒนาที่ดินมหาชนน่าเชื่อถือว่าบริษัทนอกตลาดหรือไม่ เรื่องนี้อาจไม่แน่เสนอไป เพราะบริษัททั้งใหญ่และเล็กต่างยังไม่มีหลักประกันที่ดีพอสำหรับผู้บริโภค หากบริษัทมหาชนสามารถสร้างความน่าเชื่อถือตามกฎหมาย เช่น การใช้ Escrow Accounts (การคุ้มครองคู่สัญญา) บริษัทมหาชนเหล่านั้นก็จะมีความน่าเชื่อถือว่าจริง

นายธนาคาร
          ฝ่ายจัดซื้อของธนาคารบางแห่งเรียกเก็บค่าต๋งจากการผู้ขายสินค้าและบริการ เช่น ถ้าจะบริษัทประเมินจะได้รับงาน ก็ต้องจ่ายให้ผู้จัดการสาขาหรือภาค 20% ของค่างานเป็นต้น ใครไม่จ่ายก็ไม่ได้งาน อย่างนี้ก็ไม่เกิดการแข่งขันเสรี ธนาคารเองก็จะเสียหายเพราะไม่ได้รับคุณภาพของสินค้าและบริการ
          เราคงเคยได้ยินว่า ธนาคารหลายแห่งที่เจ๊งไปนั้น เป็นเพราะการปล่อยกู้อย่างขาดความรับผิดชอบให้เครือญาติโดยขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ ธนาคารหลายแห่งขโมยโครงการที่มีแนวคิดการตลาดดี ๆ ไปทำเสียเอง หรือกว่าจะกู้เงินมาทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้ ก็ต้องจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ผู้จัดการสาขา และผู้จัดการเขต เป็นต้น
          ธนาคารที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ก็คือการรับผิดชอบต่อลูกค้าเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่มาฝากเงินหรือที่มากู้เงิน โดยการ “กวาดบ้าน” ตัวเองก่อน ปิดโอกาสที่จะเกิดทุจริต ทำให้ลูกค้าไว้วางใจ เป็นต้น ถ้าธนาคารใดสร้างความแตกต่างในกรณีความโปร่งใสนี้ได้ดี  ก็จะสามารถได้ลูกค้าดี ๆ โดยทำให้ความเสี่ยงทางธุรกิจของธนาคารเองลดลง
                ธนาคารหลายแห่งเป็นผู้อุปถัมภ์งานอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมาย แต่กลับขูดรีดบีบคั้นแรงงานกับพนักงานอย่างรุนแรงและการปรับเพิ่มเงินเดือนก็ต้องอาศัยการเรียกร้องอย่างเอาเป็นเอาตายของพนักงาน กรณีเช่นนี้เป็นภาพที่ขัดแย้งกันเองอย่างชัดแจ้ง

สื่อมวลชน
          สื่อมวลชนไทย โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น อาจต้องใกล้ชิดกับนักพัฒนาที่ดินมากเป็นพิเศษ การลงข่าว การสัมภาษณ์ ก็จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง ความเป็นกลางทางการนำเสนอข่าวอาจเป็นประเด็นที่ผู้อ่านหรือผู้บริโภคอาจเคลือบแคลงได้ จะสังเกตได้ว่าข่าวคราวประเภทที่นักพัฒนาที่ดินโกงผู้บริโภค มักไม่ค่อยเห็นในสื่อต่าง ๆ
          สื่อมวลชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมจึงไม่ควรเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของนักพัฒนาที่ดินรายใหญ่ และควรมีความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวโดยไม่นำพาต่อการลงโฆษณาหรือไม่ของนักพัฒนาที่ดิน แต่การนี้อาจทำได้ยาก เพราะรายได้หลักของหนังสือพิมพ์มาจากการโฆษณามากกว่าจากผู้อ่าน ผู้บริโภคเองจึงต้องพยายามใช้วิจารณญาณประกอบในการเสพสื่อสารมวลชนด้วย

นักวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์
          เราคงเคยได้ยินบริษัทบัญชี หรือผู้ตรวจสอบบัญชีบางราย ฉ้อฉลด้วยการลงลายมือชื่อตรวจสอบบริษัทนับแสนรายต่อปี บริษัทที่ปรึกษา เช่น ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินบางแห่งไม่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงผู้ประกอบวิชาชีพเรียกรับเงินจากลูกค้า หรือร่วมกับ ลูกค้าออกรายงานประเมินโกงธนาคาร หรือร่วมมือกับผู้บริหารธนาคารโกงธนาคารที่ตนบริหารอยู่ เป็นต้น ดังนั้น นักวิชาชีพที่ดีต้องไม่ “พาย-เรือให้โจรนั่ง” แต่ควรดำเนินวิชาชีพตามกฎหมาย ไม่ละเมิดจรรยาบรรณของวิชาชีพเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
          การควบคุมวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน นายหน้า ผู้บริหารทรัพย์สิน สถาปนิก วิศวกร ฯลฯ นั้นรัฐบาลควรเป็นผู้ดำเนินการควบคุมโดยตั้งเป็นสภาวิชาชีพ อาจกล่าวได้ว่าในประเทศที่ไม่ค่อยพัฒนา ยังไม่มีระบบควบคุมนักวิชาชีพที่ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพพอ ทำให้เกิดช่องโหว่ในการโกงกินต่าง ๆ โดยใช้นักวิชาชีพเป็นตรายาง (rubber stamp) ต่อไป

บทสรุป
          อาจกล่าวได้ว่า การทำ CSR ที่แท้นั้น เนื้อหาสำคัญประการแรกก็คือ การทำให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ละเมิดหรือทำร้ายผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลายเสียก่อน เรียกว่าเป็นการปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของกฎหมายโดยเคร่งครัด ขาดเสียมิได้ ประการต่อมาจึงเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างอ่อน (Soft Laws) เช่น จรรยาบรรณวิชาชีพ กติกาของสังคมที่ถือเป็นมรรยาทที่วิสาหกิจที่ดีพึงยึดถือ ส่วนประการสุดท้ายก็คือการอาสาทำดี การบริจาคในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำหรือไม่ก็ได้ ถ้าทำ ก็จะได้ชื่อเสียง ได้รับความนิยม เป็นผลดีต่อวิสาหกิจเอง

          หากในวงการอสังหาริมทรัพย์มี CSR ย่อมทำให้วงการนี้ได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภค ส่งผลให้การประกอบกิจการเจริญงอกงาม แต่ถ้าเราทำธุรกิจแบบ “โกงไปโกงมา” แทนที่จะ “ตรงไปตรงมา” ความวิบัติย่อมมาเยือน

* ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นประธานกรรมการ ศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สิน AREA (www.area.co.th) ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลที่มีฐานข้อมูลภาคสนามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยทำการสำรวจโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดใหม่ทุกเดือน และสำรวจภาวะการซื้อขายในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทุก 6 เดือน และนับเป็นศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในประเทศไทย  Email: sopon@area.co.th

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่