Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 573 คน
CSR ไม่ใช่เรื่องศาสนา คุณธรรม หรือเศรษฐกิจพอเพียง
สยามธุรกิจ วันที่ 26-29 มิถุนายน 2553 หน้า 24
สยามธุรกิจ วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2553 หน้า 24 (ต่อ)

ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

          CSR หรือ Corporate Social Responsibility ซึ่งแปลไทยว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ ได้รับการกล่าวถึงมานานพอสมควร แต่ได้ถูกตีความไปต่าง ๆ นานา จนเข้าขั้นบิดเบือนไปเลยก็มี

ความพยายามบิดเบือน CSR
          ในปัจจุบัน มีความพยายามในการเบี่ยงเบน CSR ไปในรูปแบบอื่น:
          1. ศาสนา ศีลธรรม หรือธรรมะ โดยหลายคนตีความ CSR โดยเอาความเชื่อทางศาสนามาอ้างอิง ทั้ง ๆ ที่สามารถอธิบายได้ทั่วไป เช่น ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้านั้นไม่ใช่การทำดีตามที่บัญญัติในหลักศาสนา แต่เป็นวิสัยที่ต้องทำในภาคบังคับตามกฎหมาย คือหากไม่ซื่อสัตย์ ฉ้อโกงลูกค้า ก็เท่ากับละเมิดและผิดกฎหมาย เป็นต้น การเอาศาสนาเข้า "ขย่ม" อาจทำให้แตกแยก เพราะคนก็นับถือศาสนาต่างกัน
          2. คุณธรรมและจรรยาบรรณ ถือเป็น “ข้อกฎหมายอย่างอ่อน” (Soft Laws) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ CSR แต่ไม่ใช่มีเพียงเท่านี้ ยังต้องปฏิบัติให้เคร่งครัดตามกฎหมายในฐานะพลเมืองดีด้วย หรือบางกลุ่มอาจมุ่งพิจารณาเป็นเฉพาะเรื่องภายในวิสาหกิจ เช่น ธรรมาภิบาล (Good Governance) เป็นต้น
          3. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ปรัชญาข้อนี้ของในหลวงเป็นสิ่งที่ดี เป็นมงคลต่อชีวิต แต่ CSR เป็นเรื่องที่เราต้องแยกออกต่างหาก แต่จะสังเกตได้ว่ามีหลายฝ่ายพยายามนำมาเกี่ยวข้องกัน ไม่พยายามอธิบาย CSR ตามฐานานุรูป แต่กลับพยายามนำไปผนวกเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญานี้ นอกจากนี้ยังอาจผนวกเข้ากับปรัชญาใกล้เคียงอื่น ๆ เช่น การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นต้น
          4. การตลาดและการโฆษณา โดยถือว่าผู้ที่ทำงาน CSR ก็คือนักประชาสัมพันธ์ในอีกรูปแบบหนึ่ง หรือกิจกรรม CSR เป็นเพียงการสร้างภาพในรูปแบบ “การคืนกำไรสู่สังคม” เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของวิสาหกิจต่อสังคม เป็นต้น
          5. การบริจาคหรือการให้ในรูปแบบต่าง ๆ กิจกรรมเหล่านี้เป็นการกุศลที่พึงส่งเสริมและยกย่อง แต่ไม่ใช่กิจกรรมหลักของ CSR เครือข่ายใดได้ดำเนินการตามนี้ก็พึงอนุโมทนา แต่ไม่ควรถือเป็น กิจกรรมหลักของ CSR
          6. การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมหรืออาสาสมัคร มีกลุ่มผู้ สนใจ CSR จำนวนไม่น้อยที่เน้นไปที่การปลูกป่า การอาสาสมัครทำดี การให้พนักงานหยุดงานไปช่วยเหลือสังคมโดยไม่ถือเป็นวันลา กิจกรรมเหล่านี้อาจถือเป็นส่วนหนึ่งของ CSR กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ปฏิบัติ แต่ที่ผ่านมาเครือข่าย CSR มักจะเป็นกลุ่มที่เน้นกิจกรรมเหล่านี้
          7. ในช่วงที่ผ่านมา NGO จำนวนหนึ่งได้กลายมาเป็น “ญาติ” กับ CSR โดยปริยาย ทั้งนี้ เป็น “แฟชั่น” ที่มาจากต่างประเทศ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ NGO รู้วิธีและช่องทางการทำประโยชน์ต่อสังคม และอีกส่วนหนึ่งวิสาหกิจข้ามชาติก็คงอยาก “ญาติดี” กับ NGO ไว้บ้าง เผื่อว่าตนจะได้ไม่ถูกโจมตี กิจกรรมกลุ่มนี้มีการจับคู่ทำดีระหว่างธุรกิจกับ NGO เป็นต้น
          ในแง่หนึ่ง การเบี่ยงตีความ CSR ไปในทางข้างต้นเหล่านี้ อาจเป็นการทำให้ CSR มีลักษณะที่ “นุ่มนวล” (soft) ลงโดยหวังให้มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก แต่ในอีกแง่หนึ่ง ในหลาย ๆ กรณีก็ถือเป็นการ บิดเบือน CSR และทำลายพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติในฐานะวิสาหกิจที่รับ-ผิดชอบต่อสังคม อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจ CSR ก็อาจเข้าร่วมกับองค์กรเหล่านี้ เพื่อศึกษาเรียนรู้ในแง่มุมเพิ่มเติม และถือเป็นการสร้างเครือข่ายที่น่าสนใจเช่นกัน

CSR ที่แท้
          อาจกล่าวได้ว่า CSR แบ่งออกเป็น 3 ระดับสำคัญดังนี้:
          1. ระดับที่กำหนดตามกฎหมาย เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายอาคารและผังเมือง ฯลฯ การไม่ทำตามถือเป็นการละเมิดต่อปัจเจกบุคคล กลุ่ม ชุมชนหรือความสงบสุขของสังคม ถือเป็นอาชญากรรม องค์กรที่มี CSR ต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด
          2. ระดับที่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณหรือจริยธรรม ซึ่งถือเป็น “ข้อกฎหมายอย่างอ่อน (Soft Laws) เช่น ข้อนี้หากไม่ปฏิบัติ อาจไม่ถึงขนาดติดคุก หรือถูกศาลสั่งปรับ แต่อาจถูกพักใบอนุญาตหรือกระทั่งถูกไล่ออกจากวงการ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เช่น วงการผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน วงการแพทย์ วงการวิศวกร และวงการนายหน้า ฯลฯ
          3. ระดับอาสาสมัคร เช่น เป็นผู้อุปถัมภ์ ผู้บริจาค ผู้อาสาทำดีในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งต่อบุคคล กลุ่ม ชุมชนหรือสังคมโดยรวม สิ่งเหล่านี้จะทำหรือไม่ก็ได้ ไม่ได้มีกำหนดไว้ แต่หากทำดี สังคมก็จะยกย่องและชื่นชม
          ธุรกิจที่มี CSR จึงขาดเสียมิได้ที่ต้องดำเนินการตามข้อ 1 เพื่อคุ้มครองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะผู้บริโภคตามกฎหมายอย่าง เคร่งครัด ต้องทำตามข้อ 2 เพื่อการเป็นวิสาหกิจที่มีการกำกับดูแล กิจการที่ดี สร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตรายี่ห้อสินค้าเพื่อเพิ่มความ น่าเชื่อถือ และควรทำตามข้อ 3 ซึ่งถือเป็นการตลาดอย่างอ่อน ๆ (Soft Marketing) เพื่อการสร้างภาพลักษณ์ และถือเป็นมงคลต่อวิสาหกิจและผู้เกี่ยวข้องในการทำดีนั้น

ความครอบคลุมของ CSR
          ดังนั้น CSR ที่แท้ย่อมหมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ โดยนัยนี้
          1. ความรับผิดชอบ (responsibility) ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ทำย่อมหมายถึงการละเมิดกฎหมาย
          2. ความรับผิดชอบนี้ต้องดำเนินการต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย ตั้งแต่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน ลูกจ้าง คู่ค้า ลูกค้า ชุมชนที่วิสาหกิจนั้นตั้งอยู่ สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรวมทั้งหมด
          3. ประเด็นหลักเกี่ยวกับ CSR ได้แก่ ธรรมาภิบาล การจัดการสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาตรฐานด้านแรงงาน แรงงานสัมพันธ์ ชุมชนสัมพันธ์ ความเท่าเทียมทางสังคม สิทธิมนุษยชน การต่อต้าน และไม่ร่วมกับการติดสินบนหรือทุจริต เป็นต้น
          4. ส่วนที่วิสาหกิจใดจะทำบุญ ทำดีเกินหน้าที่รับผิดชอบ ถือเป็นอาสาสมัคร การบำเพ็ญประโยชน์ เป็นกิจที่สมควรดำเนินการเพื่อแสดงความใจกว้างและทำให้สังคมชื่นชม ส่งผลดีต่อธุรกิจ ถือเป็นการตลาดอย่างอ่อน ๆ
          5. แต่หากมุ่งเน้นการทำดี (เอาหน้า) แต่ขาดความรับผิดชอบ ละเมิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย ไม่พึงถือเป็น CSR แต่ถือเป็นการหลอกลวง และตบตาประชาชน
          6. วิสาหกิจจำเป็นต้องมี CSR ทำให้การค้าดีขึ้น เพราะ CSR นำมาซึ่งความสามารถในการแข่งขัน และลดความเสี่ยงทางธุรกิจ เพื่อให้วิสาหกิจยั่งยืน ดังนั้น CSR จึงไม่ใช่เน้นที่การให้หรือการบริจาค แต่เป็นการลงทุนที่วิสาหกิจนั้น ๆ พึงกระทำนั่นเอง
          วิสาหกิจใดจะเริ่มทำ CSR ก็ควรทำให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ใช่ทำเพียงตามกระแส หรือทำในลักษณะที่หลอกลวง

บทสรุป
          ในสังคมอารยะยุคใหม่เช่นทุกวันนี้ น่าจะถือว่าหมดยุคของการทำธุรกิจแบบ “ด้านได้-อายอด” แล้ว การเอาเปรียบคนอื่นจนร่ำรวยแล้วยังมีหน้ามาชูคอในสังคม ไม่สมควรได้รับการยกย่อง แต่เราก็คงไม่ไปประณามใคร เพราะคงไม่ใช่แนวทางการสร้างสรรค์
          เราควรทำธุรกิจแบบตระหนักรู้ถึงคติที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” คนทำชั่ว ทำธุรกิจเอาเปรียบคนอื่น ฉกชิงผลประโยชน์ของคนอื่นโดยมิชอบ ย่อมถือว่าผิดกฎหมาย
          อย่าลืมว่า “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” เพราะการคดโกงนั้นย่อมเท่ากับการละเมิดต่อลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ และจะถูกลงโทษในที่สุด ทำให้เสียชื่อเสียง จนอยู่ในธุรกิจนั้น ๆ ไม่ได้อีกต่อไป
          เราต้องเคารพพลังประชาชนผู้บริโภค และเชื่อมั่นในหลักการศักดิ์สิทธิ์ที่ว่า “ความดีย่อมชนะความชั่ว” “คนดีผีคุ้ม” เมื่อเราซื่อ เราก็ย่อมต้องมีกินโดยไม่หมด เมื่อเราทำดี เราก็จะได้รับผลดี ๆ เป็นสิ่งตอบแทนอย่างแน่นอน
          ในทางการตลาดและการขายสมัยใหม่ เราเรียกว่าการสร้างยี่ห้อสินค้า หรือ Brand นั่นเอง และนี่แหละคือการทำธุรกิจให้ยั่งยืนอย่างแท้จริงด้วยการสร้าง Brand จากการสั่งสมความดี มีคุณภาพและที่สำคัญมีหลักประกันจนได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภค
          ที่ว่ามานี้ไม่ใช่เรื่อง “คุณธรรม” หรือ “มรรยาท” ที่มักอยู่ที่การ “สมควร” ทำตาม “ใจสมัคร” แต่เป็นเรื่องของความจำเป็นทางข้อกฎหมายที่เราควรอยู่ในทำนองคลองธรรมโดยไม่ละเมิดผู้อื่น ดังนั้นเราจึงไม่ควรอธิบาย CSR ด้วยหลักศาสนา แต่ว่ากันตามความเป็นจริงของโลกที่เราต้องทำตามหน้าที่ละเลยไม่ได้
          เราพึงตระหนักในเบื้องต้นว่า การทำ CSR อยู่ที่การเปลี่ยนแนวคิด (mind set) ของเรา เปลี่ยนจากการทำธุรกิจแบบ “ตีหัวเข้าบ้าน” หรือแบบโจร (ด้านได้ อายอด) เป็นการทำธุรกิจแบบวิญญูชน (ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน) ต่อมาจึงวางแผน ปฏิบัติการ และจัดทำรายงาน CSR เพื่อประกาศให้โลกรู้และรณรงค์ให้เกิด CSR ในสังคมธุรกิจอย่างแท้จริง และเมื่อเราได้ทำดีตามหน้าที่พลเมืองดีแล้ว ใครจะอาสาทำดีเพิ่มเติมก็เป็นสิ่งที่พึงชื่นชม
          อย่าลืมนะครับ “ยิ่งให้ ยิ่งได้” คนเราเกิดมาต้องสร้างสรรค์ ไม่ก่ออาชญากรรม ไม่เอาเปรียบใคร จะได้มีเกียรติเก็บไว้ให้ลูกหลานภูมิใจ

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่