จัดประชุมนานาชาติช่วยฟื้นภาพประเทศไทย
สยามรัฐ วันที่ 7-8 มิถุนายน 2553 หน้า 16
ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA)
ทุกวันนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยอยู่ในสภาพเหมือนผีซ้ำด้ามพลอย นอกจากจะตกต่ำตามฤดูกาลในไตรมาส 2 ของทุกปีแล้ว ยังมีภาวะวิกฤติการเมืองที่สาหัสในรอบสิบ ๆ ปี แล้วอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นตัวได้อย่างไร
ประเด็นสำคัญหนึ่งก็คือการสร้างบรรยากาศและภาพพจน์ที่ดีต่อนักลงทุนจากทั่วโลก เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการมาลงทุนและ (บอกต่อ) ให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย
เมื่อวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2553 ผมได้ไปประชุมประจำปีสมาคมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ ซึ่งมีชื่อย่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า FIABCI ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะที่ผม เป็นผู้แทน FIABCI ในองค์การสหประชาชาติในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (UN ESCAP) นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและกรรมการของสมาคม FIABCI ในประเทศไทยอีกด้วย
อินโดนีเซียเคยจะจัดประชุมนานาชาติ FIABCI ในปี 2541 แต่ไม่อาจจัดได้เนื่องจากเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองในขณะนั้น แต่ในปี 2553 ก็สามารถจัดได้อีกครั้งหนึ่ง โดยในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมถึง 1,400 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก ผมเคยเป็นประธานกรรมการการประชุมของการจัดงาน FIABCI นานาชาติในประเทศไทยเมื่อปี 2549 ในขณะนั้นประเทศไทยกำลังมีปัญหาทางการเมือง แต่ก็ยังมีผู้เข้าร่วมจากทั่วโลกถึง 800 คน
การจัดประชุมที่อินโดนีเซียครั้งนี้ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากจากทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในท้องถิ่นบาหลีเป็นอย่างมาก เพราะผู้เข้าร่วมเป็นผู้มีฐานะ ไม่ใช่ “ฉิ่งฉาบทัวร์” นอกจากนี้ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพพจน์ของประเทศไปยังต่างประเทศอีกด้วย ในงานนี้อินโดนีเซียดำเนินการได้เป็นอย่างดี เป็นที่ประทับใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนาทั่วโลก
ปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ก็คือ ปัญหาทางการเมือง ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวหดหายไปเป็นอย่างมาก ผู้ที่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการสูญเสียของประเทศไทยก็คือ แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะบาหลี ดังนั้นปรากฏว่าผู้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ของอินโดนีเซียกล่าวว่า นักท่องเที่ยวในบาหลีมีมากกว่าปกติในปีที่แล้วถึง 30% ซึ่งก็คือเหล่านักท่องเที่ยวที่วางแผนจะมาประเทศไทยนั่นเอง
จากสถิติพบว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปภูเก็ตมีปีละ 4 ล้านคน ในขณะที่บาหลีมีเพียง 2 ล้านคน แต่ภูเก็ตกำลังลดลง ในขณะที่บาหลีกำลังเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บาหลีมีโอกาสการขยายตัวที่จำกัด ผมเคยได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของกระทรวงการคลัง อินโดนีเซีย ให้ทำการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ที่เกาะลอมบอก ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นเกาะพี่เกาะน้องกับบาหลี ที่การขยายตัวมีโอกาสน้อยลงในอนาคต ในขณะที่ภูเก็ตยังมีกระบี่ พังงา รวมทั้งตรัง และสตูลที่สามารถขยายได้อีก
ผมจึงอยากเสนอแนะรัฐบาลให้ส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย เพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้รู้ในวงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกได้มาพบกัน และช่วยนำพาผู้ติดตามและนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศได้อีกเป็นจำนวนมาก และเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศชาติ |