Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 690 คน
ตั้งสภาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน
สยามรัฐ 26-27 เมษายน 2553 หน้า 17

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

          เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เราต้องตั้งสภาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน จะปล่อยให้คุมกันเองไม่ได้ รัฐต้องยื่นมือเข้ามาหาไม่ก็เท่ากับเปิดช่องโหว่ให้มีการโกงกิน

ไปให้ไกลกว่าสมาคม
          สมาคมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นในวิชาชีพหรือวงการใดก็ตาม แม้เป็น “ผู้แทน” ของสมาชิกนั้นจริง แต่วัตถุประสงค์หลักสำคัญคือ การจัดสรรประโยชน์ระหว่างสมาชิก และการล็อบบี้เพื่อประโยชน์ของนักวิชาชีพที่เป็นสมาชิก ลองนึกดูสมาคมผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน สมาคมพ่อค้าผ้า สมาคมบริษัทกิจการโทรคมนาคม ฯลฯ
          สมาคมอาจมีวัตถุประสงค์รองในการพัฒนามวลสมาชิก สงเคราะห์ หรือสันทนาการบ้างก็ได้ แต่สมาคมทั้งหลายไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องประโยชน์ของผู้บริโภคหรือสาธารณชน เพราะตนเองก็เป็น “คู่ค้า” กับประชาชนหรือสังคม จึงไม่มีหน้าที่ แต่อาจทำในฐานะ “NGO - อาสาสมัคร” เพื่อ “บำเพ็ญกุศล” หรือให้ “ได้หน้า” หรือให้ “ดูดี” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
          อีกบทบาทหนึ่งก็คือการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้แก่สมาชิก แต่เดิมในหลายวงการ สมาคมก็ทำหน้าที่นี้ แต่การที่สมาชิกทุกคนมีฐานะเท่ากัน การให้ “คู่แข่ง” มากำหนดกะเกณฑ์ต่าง ๆ สมาชิกอื่นอาจรู้สึกไม่เป็นธรรม และสุดท้ายก็หนีไม้พ้น “วงแตก”

สภาคือคำตอบสุดท้าย
          เมื่อวิชาชีพเจริญถึงระดับหนึ่ง ก็ต้องมีสภาวิชาชีพมาทำหน้าที่นี้ ในวงการสถาปนิก วิศวกรและแพทย์ แต่เดิมเรามีสมาคมสถาปนิกสยามฯ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เป็นสมาคมหลักโดยไม่มีสมาคมคู่แข่ง นอกจากนี้ทั้งสามแห่งก็ยังเป็นสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์เสียด้วย
          เป้าหมายสำคัญในการควบคุมนักวิชาชีพและพัฒนาวิชาชีพก็คือ การคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งก็คือสาธารณชน หรือยึดถือประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ซึ่งรวมไปถึงตั้งแต่ ประชาชนธรรมดาที่ต้องใช้บริการประเมินค่าทรัพย์สิน สถาบันการเงิน หน่วยราชการ ฯลฯ
          การจะควบคุมนักวิชาชีพได้นั้น รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล ผมเองก็เคยเชื่อว่า เราน่าจะดูแลกันเองได้ แต่โดยหลักการแล้ว เราต้องทำให้โปร่งใส การให้ “คู่แข่ง” รายใหญ่ดูแลรายเล็ก ก็อาจเกิดการครอบงำรายเล็ก อาจมีการเล่นพรรคเล่นพวก เลือกที่รักมักที่ชัง ความโปร่งใสยังรวมถึงการควบคุมตัวนักวิชาชีพ ไม่ใช่ให้บริษัทควบคุมอย่างเดียว เพราะบริษัทนั้นอาจจะ “ถูกซื้อ” ได้เช่นกัน ทำให้นักประเมินขาดอิสระทางวิชาชีพ

ผู้ประเมินฯ หนุนสภาวิชาชีพ
          ผมเคยทำการสำรวจความเห็นต่อวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน ปรากฏว่าผู้ประเมินค่าทรัพย์สินส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการตั้งสภาวิชาชีพ โดยเห็นว่าแนวทางการควบคุมวิชาชีพควรเป็นการตั้งสภามาควบคุมถึง 70% ที่ให้หน่วยราชการควบคุมโดยตรง มีเพียง 14% และที่ให้สมาคมควบคุมกันเองมีเพียง 16% เท่านั้น ทั้งนี้เป็นผลจากการสำรวจเมื่อปลายปี 2551
          ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินต้องเป็นอิสระ ในอินโดนีเซีย เขาให้ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินสามารถตั้งเป็นหุ้นส่วนหรือเป็นบุคคลมาดำเนินการ “ปลดแอก” จากบริษัทที่อาจสั่งให้ซ้ายหันขวาหันได้ ในมาเลเซีย เขาตั้งคณะกรรมการควบคุมวิชาชีพโดยมีหลายภาคส่วนมาร่วม ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเขารับตีทะเบียนผู้ประเมินเป็นรายบุคคลโดยรัฐ ไม่ใช่ให้สมาคมว่ากันเอง

ทำสภาแบบใดดี
          แต่การที่รัฐจะเข้ามาควบคุมนั้น ก็ต้องไม่ให้เหมือน กรณีสำนักงานช่างรังวัดเอกชนภายใต้กรมที่ดิน (ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด) แต่โอกาสที่วิชาชีพจะโต (เป็นอิสระ มีพัฒนาการทางวิชาการ-วิชาชีพ) กลับไม่เป็นดังหวัง บางคนกลับต้องเลิกอาชีพนี้ ช่างรังวัดรัฐกลับกลายเป็นคู่แข่งเสียเอง
สภาวิชาชีพที่คาดหวังนั้น รัฐเป็นผู้ควบคุม โดยควรจะมี
          1. รัฐบาลส่งผู้แทนเป็นประธานเพราะรัฐบาลถือเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชน จึงควรเป็นผู้ควบคุมสภาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินนี้
          2. ผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นผู้คอยสอดส่องดูแลนักวิชาชีพ ได้แก่ ผู้แทนกรมธนารักษ์ ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง และอื่น ๆ
          3. ผู้ใช้บริการรายสำคัญ ได้แก่ ผู้แทนของสมาคมผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน ผู้แทนสมาคมธนาคาร เป็นต้น
          4. นักวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนสภานักบัญชี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ สมาคมสถาปนิกสยามฯ สมาคมนักผังเมือง เป็นต้น
          5. ผู้แทนผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ทั้งในส่วนที่เป็นเจ้าของกิจการบริษัทประเมิน และผู้แทนผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่ไม่ใช่เจ้าของกิจการ
          6. ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีทั้งผู้แทนสถาบันการศึกษา หรืออาจารย์ที่สอนวิชาที่เกี่ยวข้องและไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทประเมินค่าทรัพย์สินทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือผู้ทรงคุณวุฒิอื่น เป็นต้น

บทบาทของสภาวิชาชีพ
          สภาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินนี้ ควรเป็นผู้รับผิดชอบการให้ความเห็นชอบ การสอบผู้ประเมินค่าทรัพย์สินโดยตรง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเป็นกลางโดยยึดถือประโยชน์ของผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคหรือประชาชนเป็นที่ตั้ง
          สำหรับการจัดสอบผู้ประเมินค่าทรัพย์สินนั้น สภาควรกำหนดให้ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน และผู้ที่ตรวจงานประเมินค่าทรัพย์สินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันการเงิน หน่วยราชการ เป็นผู้ที่ผ่านการสอบด้วยเช่นกัน โดยมุ่งเน้นให้ผู้ที่ผ่านการสอบมีความรู้ ความสามารถจริง นอกจากนี้ สภาควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสอบ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าสอบกันมาก และเป็นการเผยแพร่วิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินออกไปสู่วงกว้างเพื่อประโยชน์ของสังคมและผู้ใช้บริการต่อไป
          ยิ่งกว่านั้นควรจัดให้มีการประกันภัยวิชาชีพ กล่าวคือหากผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ประเมินผิดพลาดจนสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ผู้ใช้บริการ ก็ต้องมีการจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ใช้บริการโดยบริษัทประกันภัยที่ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินซื้อประกันภัยวิชาชีพไว้ แต่ถ้าผู้ประเมินค่าทรัพย์สินฉ้อฉลหรือร่วมมือกันโกง ก็ต้องถูกฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาตามสมควรแก่เหตุต่อไป

          มาร่วมกันรณรงค์ให้เกิดสภาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อสังคมอารยะกันเถิด

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่