Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 554 คน
ถึงเวลาตั้งสภาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน

ดร.โสภณ พรโชคชัย *
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

          กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสมาคมนักวิชาชีพ แม้จะปกป้องประโยชน์ของนักวิชาชีพ แต่ไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องประโยชน์ผู้บริโภค ดังนั้น เพื่อสังคมโดยรวม เราจึงควรมีสภาวิชาชีพ สมาคมสถาปนิกสยาม  วิศวกรรรมสถานแห่งประเทศไทย ล้วนเป็นสมาคมใหญ่เพียงสมาคมเดียวก็ยังต้องตั้งสภาเพื่อจัดการสอบ-ควบคุมวิชาชีพอย่างโปร่งใส สมาคมนักบัญชีถึงขนาดยุบสมาคมทิ้ง ใช้สภาแทน
          การคุ้มครองผู้บริโภคต้องเป็นสภาวิชาชีพเท่านั้น การเอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ทำให้เราได้พัฒนาวิชาชีพบนพื้นฐานที่เป็นจริง  ยิ่งคุ้มครองผู้บริโภค ยิ่งทำให้วิชาชีพได้รับความเชื่อถือจากสังคม อาจกล่าวได้ว่าภาระหน้าที่ของสภาวิชาชีพก็คือเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ควบคุมนักวิชาชีพ ป้องกันการแทรกแซงวิชาชีพและให้การศึกษาแก่สาธารณชนนั่นเอง

องค์กรในวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน
          หน่วยงานที่เป็น “ตัวแทน” ของผู้ประเมินค่าทรัพย์สินก็คือ สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักและมีสมาชิกอยู่รวมกันถึง 2,000 คนจากบริษัทประเมินเกือบ 200 แห่ง หน่วยราชการ สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา ฯลฯ นอกจากนี้เรายังมีสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย ซึ่งเป็นสมาคมที่ตั้งขึ้นมาภายหลังและมีสมาชิกอยู่ประมาณ 60 บริษัท นอกจากนี้ยังมีสมาคมอื่นอีกบางแห่ง
          สำหรับมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยนี้ ไม่ได้เป็นผู้แทนของใคร แต่เป็นองค์กรอิสระที่มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์แก่สังคม สาธารณชน และผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิชาชีพอื่น
          นอกจากนี้เรายังมีชมรมศิษย์เก่าจากสถาบันที่สอนประเมินหลายแห่ง ซึ่งต่อไปอาจพัฒนาเป็นสมาคม ในอนาคตยังอาจมีสหภาพแรงงานผู้ประเมินฯ เพื่อปกป้องคุ้มครองนักวิชาชีพจากนายจ้างเจ้าของบริษัทประเมิน

ธรรมชาติของสมาคม
          สมาคมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นในวิชาชีพหรือวงการใดก็ตาม แม้เป็น “ผู้แทน” ของสมาชิก แต่วัตถุประสงค์หลักสำคัญคือ การดูแลผลประโยชน์ระหว่างสมาชิก และการปกป้องนักวิชาชีพที่เป็นสมาชิก ท่านลองนึกดูสมาคมผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน สมาคมพ่อค้าผ้า สมาคมบริษัทกิจการโทรคมนาคม ฯลฯ
          สมาคมอาจมีวัตถุประสงค์รองในการพัฒนามวลสมาชิก สงเคราะห์ หรือสันทนาการบ้างก็ได้ แต่สมาคมทั้งหลายไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องประโยชน์ของผู้บริโภคหรือสาธารณชน เพราะตนเองก็เป็น “คู่ค้า” กับประชาชนหรือสังคม จึงไม่มีหน้าที่ แต่อาจทำในฐานะ “NGO - อาสาสมัคร” เพื่อ “บำเพ็ญกุศล” หรือให้ “ได้หน้า” หรือให้ “ดูดี” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
          อีกบทบาทหนึ่งก็คือการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้แก่สมาชิก แต่เดิมในหลายวงการ สมาคมก็ทำหน้าที่นี้ แต่การที่สมาชิกทุกคนมีฐานะเท่ากัน การให้ “คู่แข่ง” มากำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ สมาชิกอื่นอาจรู้สึกไม่เป็นธรรม และสุดท้ายก็หนีไม้พ้น “วงแตก”
          นึ่จึงเป็นข้ออ่อนของสมาคมต่อบทบาทรับใช้ประโยชน์สาธารณะ

สภาวิชาชีพ คือ คำตอบสุดท้าย
          เมื่อวิชาชีพเจริญถึงระดับหนึ่งก็ต้องมีสภาวิชาชีพมาทำหน้าที่นี้ ในวงการสถาปนิก วิศวกรและแพทย์ แต่เดิมเรามีสมาคมสถาปนิกสยามฯ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เป็นสมาคมหลักโดยไม่มีสมาคมคู่แข่ง นอกจากนี้ทั้งสามแห่งก็ยังเป็นสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์เสียด้วย
          เป้าหมายสำคัญในการควบคุมนักวิชาชีพและพัฒนาวิชาชีพก็คือ การคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งก็คือสาธารณชน หรือยึดถือประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ซึ่งรวมไปถึงตั้งแต่ ประชาชนธรรมดาที่ต้องใช้บริการประเมินค่าทรัพย์สิน สถาบันการเงิน หน่วยราชการ ฯลฯ
          การจะควบคุมนักวิชาชีพได้นั้น รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล ผมเองก็เคยเชื่อว่า เราน่าจะดูแลกันเองได้ แต่โดยหลักการแล้ว เราต้องทำให้โปร่งใส การให้ “คู่แข่ง” รายใหญ่ดูแลรายเล็ก ก็อาจเกิดการครอบงำรายเล็ก อาจมีการเล่นพรรคเล่นพวก เลือกที่รักมักที่ชัง
          ความโปร่งใสยังรวมถึงการควบคุมตัวนักวิชาชีพ ไม่ใช่ให้บริษัทควบคุมอย่างเดียว เพราะบริษัทนั้นอาจจะ “ถูกซื้อ” ได้เช่นกัน ทำให้นักประเมินขาดอิสระทางวิชาชีพ

ทำสภาผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแบบใดดี
          แต่การที่รัฐจะเข้ามาควบคุมนั้น ก็ต้องไม่ให้เหมือน กรณีสำนักงานช่างรังวัดเอกชนภายใต้กรมที่ดิน (ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด) แต่โอกาสที่วิชาชีพจะโต (เป็นอิสระ มีพัฒนาการทางวิชาการ-วิชาชีพ) กลับไม่เป็นดังหวัง บางคนกลับต้องเลิกอาชีพนี้ ช่างรังวัดรัฐกลับกลายเป็นคู่แข่งเสียเอง
          สภาการควบคุมวิชาชีพที่คาดหวังนั้น รัฐเป็นผู้ควบคุมโดยจะมี
          1. ผู้แทนราชการในฐานะผู้ดูแลประโยชน์ของประชาชน
          2. ผู้แทนนักวิชาชีพซึ่งประกอบด้วยบริษัทประเมินและนักวิชาชีพประเมิน
          3. ผู้ใช้บริการสำคัญ เช่น สถาบันการเงิน หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และ
          4. ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและนอกวงการ

          มาร่วมกันรณรงค์ให้เกิดสภาผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเถิด
          มาร่วมกันรณรงค์ให้เกิดสภาผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเถิด
          มาร่วมกันรณรงค์ให้เกิดสภาผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเถิด

* ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (sopon@thaiappraisal.org) อดีตกรรมการสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย  ปัจจุบันยังเป็นที่ปรึกษา the Appraisal Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยสภาคองเกรสเพื่อควบคุมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินในประเทศไทย และยังเป็นผู้แทนในประเทศไทยของ International Association of Assessing Officers

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่