Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 623 คน
CSR กับสถาบันการเงินไทย
ประชาชาติธุรกิจ 10-12 และ 17-19 สิงหาคม 2552 หน้า 30

ดร.โสภณ พรโชคชัย *

           ในประชาชาติฉบับวันที่ 22-24 มิถุนายน 2552 มีบทความ 2 บทเขียนถึงความรับผิดชอบ (ที่แท้) ของสถาบันการเงินไทย ซึ่งออกไปในทางชื่นชมการทำดีของสถาบันการเงินเป็นหลัก แต่ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม 2552 ผมก็ได้พบข่าวพาดหัวหลักหน้าหนึ่งของกรุงเทพธุรกิจว่า “(ชื่อธนาคาร) ป่วนสหภาพฟ้อง” โดยมีโปรยหัวข่าวว่า “ พนักงาน 400 คนเดินขบวน - ไม่พอใจถูกสั่งโอนไปบริษัทลูก หวั่นกระทบสวัสดิการ อีกทั้งผู้บริหารขู่ปลดหากไม่ปฏิบัติตาม”
          ในฐานะที่ผมเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินโดยเป็นกรรมการที่ปรึกษาสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยมานับสิบปีจนถึงปัจจุบัน เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินให้กับสถาบันการเงินทุกแห่ง และสอนการเงินเคหะการของสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ผมขออนุญาตให้ความเห็น (ต่าง) ต่อบทความดังอ้าง
          การเห็นต่างนั้น พึงถือเป็นเรื่องดีเพื่อให้เกิดบรรยากาศการอภิปราย เพื่อร่วมกันสร้าง ‘สังคมอุดมปัญญา’ จากมุมมองที่หลากหลาย ผู้สนใจย่อมได้เลือกคิด เลือกใช้ได้ตามวิจารณญาณโดยเสรี
          ประเด็นสำคัญคือเรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงานทางเลือกนั้น แทบไม่ได้เกี่ยวกับธนาคาร ซึ่งเป็นธุรกิจบริการ ผิดกับโรงงานที่มีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่า แม้ทุกฝ่ายควรทำดีด้วยการประหยัดพลังงานหรือร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดี แต่กิจกรรมดังว่าก็ไม่ได้แสดงถึงความรับผิดชอบโดยตรงของธนาคาร และไม่ได้มีผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับธนาคารหรือ Sustainable Banking อย่างแท้จริง
          ที่ผ่านมาธนาคารในยุโรปที่มีชื่อเสียงด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นเจ๊งไปหลายแห่งแล้ว มีอยู่แห่งหนึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ในสก็อตแลนด์ ธนาคารดังกล่าวมักป่าวประกาศว่าตนเองสุดโดดเด่นด้าน CSR เพราะมุ่งอำนวยสินเชื่อให้เฉพาะวิสาหกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อต้นปี 2552 นี้เอง ธนาคารดังกล่าวต้องเข้ารับการฟื้นฟูเพราะการบริหารผิดพลาดและเรื่องอื้อฉาวของผู้บริหาร นี่แสดงให้เห็นว่าการ “ลูบหน้าปะจมูก” ทำดีโดยอ้างว่าตนมี CSR นั้น ช่วยอะไรไม่ได้เลย หากขาดความรับผิดชอบอย่างแท้จริงต่อธุรกิจของตนเอง
           วิกฤติการเงินของสหรัฐอเมริกานั้น เกิดจากการขาดความรับผิดชอบของธนาคาร จากผลการประชุมของกลุ่มประเทศชั้นนำที่เรียกว่า G20 พบข้อสรุปว่า ในอนาคตวิกฤติจะป้องกันได้ก็ต่อเมื่อธนาคารมีความโปร่งใส มีความสุจริต และมีกฎระเบียบที่ดีขึ้น ซึ่งก็แสดงว่าที่ผ่านมาธนาคารเหล่านี้อาศัยแต่ชื่อเสียงจอมปลอมไปปั่นเงินจนเศรษฐกิจโลกเสียหายมหาศาล กิจกรรม CSR ของธนาคารเหล่านี้จึงกลายเป็นเพียงเครื่องมือที่มีไว้ปกปิดอาชญากรรมและอาชญากรที่เกิดจากความฟอนเฟะของตนนั่นเอง

เรามาลองดูว่าธนาคารไทยในอดีต ขาด Sustainable Banking โดยพิจารณาจากข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์
ดังต่อไปนี้:
4   กองปราบฯ ดำเนินคดีหนุ่ม (ชื่อธนาคาร) โกง 400 ล้านฐานร่วมกันฟอกเงิน
8   พนักงาน (ชื่อธนาคาร) โกงเงินลูกค้าเกือบ 3 ล้านบาท
12 คดีตัวอย่างคนแบงก์ โกงลูกค้าจำคุก 492 ปี
14 ผช.ผจก.สาว (ชื่อธนาคาร) โกง 200 ล้าน - ตร.ประกาศจับทั่วประเทศ
16 “(ชื่อนายธนาคาร)” ติดคุกโกง (ชื่อธนาคาร) อีกคดีรวม 70 ปี
22 เชือดบิ๊ก (ชื่อนายธนาคาร) ปปช. ลงดาบโกง 600 ล้าน ปล่อยกู้สูงเกินจริง ฟันฉับวินัย-อาญา
25 (ชื่อธนาคาร) เตรียมขึ้นแท่นอันดับ 2 บี้เพิ่มค่าต๋ง – รีดพนักงานเครียด
28 แบงก์รีดลูกค้า! ขึ้นค่าดูแลบัญชี

           เราคงเคยได้ยินว่า ในอดีตที่ผ่านมา ธนาคารหลายแห่งเจ๊งไปเพราะการปล่อยกู้อย่างขาดความรับผิดชอบให้เครือญาติโดยขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ ธนาคารหลายแห่งขโมยโครงการที่มีแนวคิดการตลาดดี ๆ ไปทำเสียเอง หรือกว่าจะกู้เงินได้ ก็ต้องจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ผู้จัดการสาขา และผู้จัดการเขต เป็นต้น
           ในอดีตผู้บริหารธนาคารบางแห่ง บ้างก็โกงธนาคารของตนเอง จัดตั้งบริษัทลูกมาให้บริการแก่บริษัทแม่ที่เป็นธนาคารโดยไม่มีแข่งขันอย่างเท่าเทียมทำให้ผู้ถือหุ้นเสียหาย ผู้ใช้บริการต้องเสียประโยชน์ หรือผู้บริหารใช้จ่ายเงินของธนาคารไปอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อบำรุงความสุขสบายของตน เป็นต้น
           ธนาคารหลายแห่งเป็นผู้อุปถัมภ์งานอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมาย แต่กลับขูดรีดบีบคั้นแรงงานกับพนักงานอย่างรุนแรง และการปรับเพิ่มเงินเดือนก็ต้องอาศัยการเรียกร้องอย่างเอาเป็นเอาตายของพนักงาน กรณีเช่นนี้เป็นภาพที่ขัดแย้งกันเองอย่างชัดแจ้ง
           ธนาคารที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อให้ตนมีความยั่งยืนนั้น ต้องเริ่มที่การ ‘กวาดบ้าน’ ตัวเองก่อน ปิดโอกาสทุจริต ด้วยการสร้างระบบตรวจสอบที่ดีและโปร่งใส และสามารถสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้า เพราะการรับผิดชอบต่อลูกค้ามีความสำคัญอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่มาฝากเงินหรือที่มากู้เงิน
           นอกจากนี้ยังรวมถึงการจัดการบุคลากร ด้วยการฝึกอบรม การทดสอบ การให้ขวัญและกำลังใจที่เพียงพอที่จะปิดเงื่อนไขความเสี่ยงต่อการทุจริต ทั้งนี้ถือเป็นการสร้างมาตรฐานและจรรยาบรรณ (Soft Laws) ของนักการธนาคารหรือนักวิชาชีพ ที่สังคมจะยังความมั่นใจแก่ระบบการจัดการบุคลากรของสถาบันการเงินได้
           และเมื่อมีระบบและการจัดการบุคลากรที่ดีแล้ว ธนาคารใดจะไปบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมก็ค่อยว่ากันไปตามความเหมาะสม ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีรายได้รวม 604,771 ล้านบาท กำไรสุทธิ 98,896 ล้านบาทในปี 2551 ถ้าแต่ละธนาคารบริจาคเป็นเงิน 2.6% ของรายได้ เช่นที่ประชาชนทั่วไปบริจาคกันตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ป่านนี้บ้านเมืองคงเจริญขึ้นอย่างผิดหูผิดตาแล้ว แต่ในความเป็นจริงธนาคารคงไม่ได้บริจาคมากมายนัก ดังนั้นโภคผลจริงที่ธนาคารช่วยเหลือสังคม จึงมีไม่มากนัก
           ยิ่งกว่านั้นธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย เป็นกิจการกึ่งผูกขาดที่มีผู้แข่งขันน้อย ทำให้ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปเสียเปรียบ จะสังเกตได้ว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงมาก ถ้ามีการแข่งขันที่สมบูรณ์ภายใต้การควบคุมระบบการโกงที่ดี ผลประโยชน์มหาศาลย่อมจะตกแก่สังคมมากเสียกว่าที่ธนาคารเจียดเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ มาบำเพ็ญประโยชน์เสียอีก ดังนั้นหากธนาคารใด สามารถบริหารดีจนกระทั่งให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่า คาดว่าธนาคารดังกล่าวย่อมได้รับการต้อนรับจากผู้ใช้บริการมาก ทำให้กิจการเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจในขณะนี้ได้
           ประเด็นสุดท้ายที่พึงพิจารณาก็คือ วิสาหกิจจะไม่โกง ก็ต่อเมื่อผู้บริหารไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง อย่างที่เรียกว่า ‘หัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก’ เป็นต้น ดังนั้นผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินจะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นบุคคลที่สามารถตรวจสอบได้ และพร้อมที่จะรับผิดชอบหากเกิดกรณีการโกงภายในธนาคาร
           โดยสรุปแล้ว ธนาคารที่จะมีความยั่งยืนได้ ต้องประกวดประชันให้สังคมประจักษ์ว่า ตนเองมีระบบตรวจสอบที่ดีว่าเงินทองไม่รั่วไหล มีต้นทุนค่าบริการที่ต่ำกว่าจนสามารถให้บริการลูกค้าได้ถูกกว่า มีพนักงานที่มีจิตใจบริการ (Service Mind) อย่างเด่นชัดกว่าเป็นสำคัญ เมื่อธนาคารมีความยั่งยืนเพราะคุณภาพ ก็จะช่วยพัฒนาสังคมให้ยั่งยืนต่อไป

           ถ้ามีระบบและการควบคุมระบบที่ดี สถาบันการเงินหรือสถาบันใด ๆ ก็จะดำรงอยู่อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้อง ‘อมพระมาพูด’ แต่อย่างใด

* ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ขณะนี้เป็นประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (www.thaiappraisal.org) ผู้เขียนหนังสือ ‘CSR ที่แท้’ ซึ่งอ่านได้ฟรีที่ http://csr.igetweb.com และยังเป็นกรรมการหอการค้าสาขาเศรษฐกิจพอเพียง และสาขาอสังหาริมทรัพย์ และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@thaiappraisal.org

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่