ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ธุรกิจจึงจะรอด
Make Money ฉบับเดือนมิถุนายน 2552 หน้า 72-73
ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA)
ที่ปรึกษารัฐบาลในอาเซียน-วิจัยอสังหาริมทรัพย์ทั่วไทยและอาเซียน
“การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน... หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง” {1}
ข้างต้นนี้เป็นพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง พระราชทานแก่พสกนิกรเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ซึ่งผมอัญเชิญมาเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่า ในการบริโภคใด ๆ ก็ตาม เราควรประหยัด ไม่ควรฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ใช่ว่ามีเงินก็จะใช้สอยตามอำเภอใจ เพราะทรัพยากรทั้งหลายเป็นของทุกคนโดยเฉพาะลูกหลานของเราในอนาคต จึงเอามาใช้โดยไม่ยั้งคิดไม่ได้
ในยามเศรษฐกิจตกต่ำ เราต้องกำเงินสดไว้ แต่รัฐบาลจะส่งเสริมให้คนไปซื้อบ้าน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ขายสินค้าได้ อันนี้ผู้บริโภคพึงระวังเป็นอย่างยิ่ง อย่างฝรั่งเช่นเลแมนบราเธอร์ที่มาลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือหนี้ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำนั้น เขาซื้อกันที่ 16-30% ของมูลหนี้หรือราคาเดิม อย่างนั้นถึงน่าซื้อ
ทุกวันนี้ถ้าเราดูโฆษณาทางจอทีวี ก็มักพบการจูงใจให้ใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั้งคิด เช่น การส่งเสริมให้กู้เงิน (ด่วน) ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าคนเรามีความจำเป็นอะไรในการใช้เงินด่วนกันนักหนา (ถ้าไม่ใช่ในทางหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย) จึงต้องโฆษณาให้กู้เงินกันมากมายและดูเป็นอาจิณเช่นนี้
ในแง่การเงินเคหะการของภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น เรามีข้อคิดสำหรับการเป็นหนี้ คือ:
1. ไม่มีความจำเป็นอย่ากู้ (โดยเฉพาะอย่ากู้มาเสพสุข ต้องเพื่อการลงทุนเป็นสำคัญ)
2. ถ้าต้องกู้ ก็อย่าสร้างหนี้หลายทาง (ตามความอยาก)
3. กู้ให้กู้แต่น้อย (อย่าเชื่อมั่นตัวเองจนเกินไป)
4. ผ่อนให้เสร็จเร็วที่สุด (เพราะการผ่อนช่วงแรก ๆ คือดอกเบี้ยทั้งนั้น)
แต่ทุกวันนี้เรากลับยุยงส่งเสริมให้กู้หนี้ยืมสินโดยไม่สนใจว่า เป็นการลงทุนหรือเพื่อการบริโภคกันแน่ บางคนมีบัตรเครดิตนับสิบใบ
การยินดีเป็นหนี้เพื่อซื้อความสบายเฉพาะหน้านั้น ไม่น่าจะมีบั้นปลายที่ดีงาม ผู้ชมชอบการเสพสุขมาก ๆ อาจยอมเสียศักดิ์ศรี-เกียรติภูมิ หรือกระทั่งยอมทรยศต่อชาติเพื่อตนเองในวันหน้าได้
การโฆษณา ‘ยุยง’ ให้ใช้โทรศัพท์มือถือนาน ๆ ถือ เป็นการสร้างนิสัยฟุ่มเฟือยให้กับประชาชนอีกเช่นกัน ถ้ามักง่าย-ฟุ่มเฟือยในเรื่องหนึ่งได้ เรื่องอื่นก็จะตามมา
จากประสบการณ์ศึกษาเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติอส้งหาริมทรัพย์ของผม พบว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะเจ๊งก็เพราะการขาดการศึกษาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจพัฒนาที่ดินประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็คือการลงทุนเกินตัว
จะสังเกตได้ว่า โครงการใดที่ขาดการลงทุนอย่างเพียงพอในกระบวนการสำรวจวิจัยล่วงหน้า มักจะล้มเหลว นี่แสดงถึงภาวะ ‘ฆ่าควาย เสียดายเกลือ’ หรือ ‘เสียน้อย เสียมาก เสียยาก เสียง่าย’ ถือเป็นการขาดวิสัยทัศน์สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจ
ในทางตรงกันข้าม การลงทุนเกินตัว แสดงถึงการขาดความยั้งคิด การละโมบ มุ่งฟุ้งเฟื่องโดยขาดปัจจัยพื้นฐานที่ดี หรือการขาดความตระหนักรู้ถึงความพอเพียงนั่นเอง
การเก็งกำไรก็เป็นความคาดหวังที่มุ่งลงทุนแต่น้อย แต่หวังผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะการเก็งกำไรในอส้งหาริมทรัพย์ ทองและหุ้นในระยะสั้น เป็นต้น การนี้อาจส่งผลให้นักเก็งกำไร ‘มืดบอด’ จน ‘มองโลกในแง่ดี’ (เกินจริง) และขาดความรอบคอบในการลงทุน
อย่างไรก็ตามการคุ้มครองผู้บริโภคถือเป็นหนทางหนึ่งของการช่วยยับยั้งความร้อนแรงของการเก็งกำไร หรือการสิ้นเปลืองทรัพยากรจากการเก็งกำไร ในอีกทางหนึ่งก็จะช่วยส่งเสริมให้มีการซื้อขายทรัพย์สินมากขึ้น เพราะผู้ซื้อที่แท้จริงเกิดความมั่นใจในตลาด นอกจากนี้ยังจะช่วยคัดสรรผู้ซื้อที่มีคุณภาพให้กับผู้ประกอบการอีกด้วย
ในการทำธุรกิจ SMEs เราจึงต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ยิ่งมีทุนน้อย ยิ่งต้องรอบคอบ เพราะการก้าวพลาดย่อมยังความเสียหายมาก โดยเฉพาะการก้าวพลาดที่ไม่สมควร อันเกิดมาจากความฟุ้งเฟ้อนั่นเอง
สุดท้ายนี้ ผมขอยกคำสอนของท่านพุทธทาสมาฝากไว้บทหนึ่งว่า
“อันบุคคล กตัญญู รู้คุณโลก
อุปโภค บริโภค มิให้หลาย
ข้าวหรือเกลือ ผักหรือหญ้า ปลาหรือไม้ ฯลฯ
รู้จักใช้ อย่าทำลาย ให้หายไป” {2}
อย่าลืมนะครับ ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ย่อมไม่มีปัจจุบันที่สงบสุขและไม่มีบั้นปลายที่ดีงาม
|