Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 780 คน
Smart Growth: วาทกรรมใหม่ในการผังเมือง?

ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th)
ประธานกรรมการ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย AREA
2 มิถุนายน 2552

            คำว่า “Smart Growth” ว่ากันว่าเป็นแนวคิดใหม่ในการผังเมือง เรามาทำความรู้จักกันว่านี่จะเป็นแนวคิดใหม่หรือเพียง ‘วาทกรรม’ หรือ ‘ของเล่น’ ใหม่กันแน่
            เมื่อวานนี้ ผมได้รับเชิญในฐานะภาคเอกชนให้ไปฟังและแสดงความเห็นต่อการนำเสนอแนวคิดใหม่นี้โดยผู้เชี่ยวชาญชาวสหรัฐอเมริกา Ms.Julia A. Demichelis ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานครโดยการสนับสนุนของสถานทูตอเมริกันประจำประเทศไทย  และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ผมเคยได้ยินคำนี้

ว่าด้วย ‘Smart Growth’
            ผมได้ไปค้นใน google พบว่าแนวคิดนี้คือการพัฒนาเมืองโดยรวมศูนย์ความเจริญอยู่ภายในเมืองเพื่อป้องกันปัญหาการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดไปสู่ชานเมือง (Urban Sprawl) และยังพบเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นเครือข่ายแนวคิดนี้ของทั่วโลก <1> แนวคิดนี้จะมีองค์ประกอบเกี่ยวกับ คุณภาพชีวิตของชุมชน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ที่อยู่อาศัยและการคมนาคมขนส่ง  อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ยังได้รับการต่อเติมให้ดูร่วมสมัยด้วยการพูดถึงการประหยัดพลังงาน การแก้ปัญหาโลกร้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน
            หลักการ 10 ประการสำคัญของแนวคิดนี้คือ การสร้างโอกาสที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย การสร้างชุมชนที่เดินถึงกันได้ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน การสร้างอัตลักษณ์ของท้องที่ การตัดสินใจพัฒนาที่คาดการณ์ได้เป็นธรรมและคุ้มค่า การใช้ที่ดินแบบผสมผสาน การรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี การมีทางเลือกการคมนาคมขนส่งที่หลากหลาย การพัฒนาชุมชนที่มีอยู่แล้ว (ไม่ใช่สร้างชุมชนใหม่) และการออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพแต่ไม่หนาแน่นเกินไป

เขามุ่งทำเมืองให้แน่น
            บางท่านอาจสนับสนุนแนวคิด ‘Smart Growth’ เพราะเข้าใจว่าจะทำให้กรุงเทพมหานครมีที่ว่างมาก ๆ เรามักมีแนวคิดว่าเราควรทำกรุงเทพมหานครให้มีพื้นที่ว่างเก็บไว้เพื่อลูกหลานในวันหน้า แต่แท้จริงแล้วแนวคิดนี้เน้นการพัฒนาพื้นที่ในเมืองให้มีประสิทธิภาพ ไม่ได้มุ่งส่งผู้มีร่ายได้น้อยหรือผู้มีรายได้ปานกลางออกไปอยู่นอกเมือง เช่น นนทบุรี สมุทรปราการหรือจังหวัดอื่นในเขตปริมณฑล
            การทำบ้านเมืองให้ดูสบายตา โล่งและมีพื้นที่สีเขียว สามารถที่จะทำร่วมกับการจัดที่อยู่อาศัยให้เกิดความหนาแน่นสูงได้เช่นกัน บางคนมักอ้างว่ากรุงเทพมหานครหนาแน่นเหลือเกินเพราะมีความหนาแน่นของประชากรสูงถึง 4,000 คนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่ประเทศไทยโดยรวมมีความหนาแน่นเพียง 129 คนต่อตารางกิโลเมตร จึงเสนอแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงให้ชะลอการเติบโตของกรุงเทพมหานคร โดยไม่ฉุกคิดว่า สิงคโปร์มีความหนาแน่นของประชากรเกือบ 7,000 คน หรือมากกว่ากรุงเทพมหานครถึงเกือบ 2 เท่า <2> แต่กลับดูโล่งโปร่งสบายกว่า
            ท่านทราบหรือไม่เกาะแมนฮันตันในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีประชากร 1,634,795 คน แต่มีขนาดที่ดินเพียง 59.5 ตร.กม. หรือมีความหนาแน่นสูงถึง 27,476 โปรดดูรายละเอียดได้ที่  ดังนั้นแนวคิดที่ตั้งใจทำกรุงเทพมหานครให้โล่งจึงควรได้รับการทบทวนเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นแนวคิดที่จะมุ่งเก็บรักษาที่ดินในเมือง ซึ่งมักเป็นของผู้มีอันจะกินในวันนี้ไว้ และให้ผู้มีรายได้น้อยหรือรายได้ปานกลางจำต้องไปซื้อบ้านอยู่นอกเขตผังเมืองที่ไม่อำนวยให้สร้างอาคารชุดหรือสร้างได้ในความสูงที่จำกัด

เหล้าเก่าในขวดใหม่
            ทำไมที่สหรัฐอเมริกากำลัง ‘ฮือฮา’ กับแนวคิดนี้ เหตุผลก็คือตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา อเมริกาสร้างแต่บ้านแนวราบกินพื้นที่ออกไปนอกเมืองมากที่สุด ทรัพยากรถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลืองที่สุด จนใครต่อใครทราบดีว่าในอเมริกา หากใครไม่มีรถ ย่อมเหมือนคนพิการ ไปไหนไม่ได้ เพราะแต่ละที่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า สำนักงาน หรืออื่น ๆ ล้วนแต่ห่างไกลจากบ้านทั้งนั้น แต่อเมริกาก็พัฒนาอย่างสูญเปล่านี้ได้มานานเพราะมีเงินมาก จะบันดาลอะไรก็ทำได้นั่นเอง
            ในระยะหลังมานี้อเมริกาจึงค่อยสำนึกได้ว่านี่เป็นการพัฒนาที่ทำร้ายตัวเองเป็นอย่างมาก จึงเกิดแนวคิด Smart Growth นี้ขึ้น ข้อนี้ไทยและประเทศในเอเชียจึงไม่ต้องตื่นเต้นมากนัก เพราะเมืองไทยเราดีกว่ามากในแง่นี้ ขนาดเวียดนามที่ผมเคยเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังที่นั่นมาระยะหนึ่ง ก็ยังมีละแวกบ้านแบบพึ่งตนเองได้ จะซื้อหาอะไรก็มีอยู่แถวนั้น ไม่ต้องถ่อไปซื้อไกลถึงใจกลางเมือง ดังนั้นแม้แนวคิดนี้จะเพิ่งได้รับการโฆษณา แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหม่เสียทีเดียว ผมเชื่อว่านี่เป็นเพียงการ ‘import’ วิธีการแบบตะวันออกไปใช้ในอเมริกา แล้ว ‘export’ ออกมาให้ชาวโลกได้ชื่นชมกันอีกคำรบหนึ่ง

ทำไมจึงเป็นไปได้
            ทำไมในสหรัฐอเมริกาทำอะไรก็มักได้ ส่วนหนึ่งก็คือเขามีเงิน ประชากรมีรายได้มากกว่า จึงเก็บภาษีได้มากกว่า และเก็บในสัดส่วนที่มากกว่าไทย ของไทยเราภาษีท้องถิ่น ภาษีทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่มี ชุมชนหรือท้องถิ่นก็มีรายได้จำกัด โอกาสที่จะทำอะไรมากจึงจำกัด การนำแนวคิดนี้มาใช้ก็คง ‘เลียนแบบ’ มาได้บางส่วน และทำตามกำลัง
            ในสหรัฐอเมริกา บ้านทุกหลังต้องเสียภาษีทรัพย์สินปีละ 1-2% ของมูลค่าตลาด ไม่ใช่ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของทางราชการไทย ซึ่งมักจะต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อนำเงินเหล่านี้มาใช้พัฒนาท้องถิ่น การนี้ท้องถิ่นก็มีเงินเพียงพอที่จะพัฒนา ลำพังการอาศัยการบริจาคจากภาคเอกชนหรือชุมชน ก็คงได้ทำอะไรเพียงเล็กน้อยแบบ ‘ลูบหน้าปะจมูก’ หรือ ‘ไฟไหมฟาง’ ดังนั้นการหวังให้ประชาคม บริษัทห้างร้าน มูลนิธิ ฯลฯ เข้าช่วยผลักดันแนวคิด ‘Smart Growth’ จึงมีความเป็นไปได้ที่จำกัด

ทำอย่างไรกับการมีส่วนร่วม
            ตามเรื่องภาษีทรัพย์สินข้างต้น ถ้าประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าว รายได้ของท้องถิ่นก็จะมากขึ้น ผมเคยประเมินไว้ว่าน่าจะได้ถึง 300,000 ล้านบาท หากจัดเก็บเฉพาะที่อยู่อาศัยและที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม <4> ถ้าทำได้เช่นนี้ โอกาสการทุจริตและประพฤติมิชอบก็จะหมดไป ประชาชนจะมีส่วนร่วม มีความรู้สึกเป็นเจ้าของภาษีเช่นเดียวกับแนวคิด ‘Smart Growth’ และจะได้คนดี ๆ มาทำงานการเมืองท้องถิ่น อย่างในสหรัฐอเมริกา แม้แต่หัวหน้าฝ่ายการศึกษา ฝ่ายพัฒนาชุมชน ฝ่ายการโยธา และอื่น ๆ ล้วนมาจากการเลือกตั้ง โดยข้าราชการประจำเป็นผู้ปฏิบัติงานเป็นสำคัญ ในการนี้การมีส่วนร่วมของประชาชน จึงไม่ใช่แค่เรื่อง ‘ปาหี่’ แต่เป็นของจริงที่ทุกคนแสดงความหวงแหนทรัพยากรของท้องถิ่น ระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วม (ไม่ใช่แค่ร่วมออกเสียงเลือกตั้ง) ก็จะเป็นจริงได้ในที่สุด
            ผมขอยกตัวอย่าง ‘เกาะปอ’ ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในหมู่เกาะลันตาซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมไปเที่ยว บนเกาะนี้ประชาคมเข้มแข็ง จนสามารถออกระเบียบเกี่ยวกับการห้ามแก้ผ้าอาบแดด การปลูกสร้างอาคารที่ควรได้รับความเห็นชอบจากชุมชน ตลอดจนการป้องกันการรุกของกลุ่มทุนที่หวังจะกว้านซื้อที่สร้างโรงแรมขนาดใหญ่ ด้วยการออกระเบียบเกี่ยวกับการสูบน้ำบาดาล เป็นต้น

ทำอย่างไรให้สำเร็จ
            แนวคิดการพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้วยวาทกรรมใหม่หรือเก่าใด ๆ นั้น จะเป็นจริงได้ ก็อยู่ที่ผู้บริหาร เช่น นายกเทศมนตรี ผู้นำชุมชน ผู้ว่าราชการ ตลอดจนผู้นำรัฐบาล หาไม่แนวคิดดี ๆ ก็จะเพียง ‘ขึ้นหิ้ง’ หรือไม่ก็แค่อยู่ในตำรา หรืออย่างดีก็ได้รับการดำเนินการแบบ ‘ไฟไหม้ฟาง’ หรือ ‘ผักชีโรยหน้า’ ในที่สุด 
            ถ้าผู้บริหารยอมรับหรือได้รับการปรับทัศนคติ (Mindset) แนวคิดก็จะได้รับการยอมรับ สานต่อและทำให้เป็นจริงขึ้น เราจึงต้องขายความคิดให้กับผู้บริหาร แต่ลำพังผู้บริหารนั้น บางครั้งเวลาฟังให้ได้ศัพท์ยังไม่มี ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องจึงต้องพยายามให้การศึกษาแก่ประชาชนในวงกว้างด้วย เพื่อให้ช่วยกันผลักดันให้ผู้บริหารได้ตระหนักถึงความสำคัญและปรับทัศนคติต่อแนวคิดใหม่ ๆ ต่อไป

อ้างอิง  
{1} โปรดดูสารานุกรมที่แสดงแนวคิดนี้ได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Smart_growth  สำหรับเครือข่ายสำคัญของแนวคิดนี้คือ http://www.smartgrowth.org/about/default.asp  สำหรับกรณีตัวอย่างดูได้ที่ http://smartgrowthplanning.org/index.html
{2} โปรดดูเอกสารของ CIA ได้ที่ http://www.cia.gov/cia/publications/factbook
{3} กรณีเกาะแมนฮัตตัน มีประชากร 1,634,795 คน แต่มีขนาดที่ดินเพียง 59.5 ตร.กม. หรือมีความหนาแน่นสูงถึง 27,476 โปรดดูรายละเอียดได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Manhattan
{4} โปรดอ่าน จดหมายถึงนายกรัฐมนตรี (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เรื่อง ฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติด้วยวิธีการเพิ่มมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ ลว.12 พฤษภาคม 2552 ที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/letter/letter16.htm
{2} โปรดอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเกาะปอได้ในบทความ ‘เกาะปอ....ฤาภายหน้าจะไร้ที่เกาะ’ ที่ http://www.codi.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=1064&Itemid=2

 

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่