Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 1,165 คน
สนทนาเรื่องรัฐสวัสดิการกับอาจารย์บุญส่ง ชเลธร

ดร.โสภณ พรโชคชัย *


            ผมได้พบกับอาจารย์บุญส่งเมื่อคราวไปออกบูธอสังหาริมทรัพย์ในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ ผมเป็นคนพานักพัฒนาที่ดินและอาคารชุดไทย ไปขายสินค้าให้กับคนสวีเดน เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2552
            อาจารย์บุญส่งเป็นผู้ประสานงานที่แข็งขันอย่างยิ่งของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหน้าที่ประสานงานด้านการศึกษาทางไกลให้กับคนไทยในต่างประเทศที่สนใจศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งในอนาคตก็จะมีถึงระดับปริญญาเอกด้วย แต่ในอดีตเมื่อ 30 ปีก่อน อาจารย์บุญส่งเป็นผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นหนึ่งใน 13 กบฎเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกจับในระหว่างการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสมัยที่จอมพลถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อาจารย์บุญส่งจึงนับเป็นคนเดือนตุลาคนหนึ่ง

รัฐสวัสดิการในสวีเดน
            อาจารย์บุญส่งเล่าให้ฟังถึงสวัสดิการสังคมที่ประเทศสวีเดนจัดให้ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายประการ ดังเช่น:
            1. เด็กนักเรียน สามารถเข้าโรงเรียนได้ฟรี อุปกรณ์การเรียนฟรี โดยส่งให้เรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงปริญญาเอกตามกำลังความสามารถของนักเรียนเอง
            2. เด็กทุกคนมีเงินเดือนให้ใช้ เทียบเป็นเงินไทยคงเป็นเงินเดือนละประมาณ 4,000 บาท โดยทุกคนได้รับเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นลูกตาสีตาสาหรือลูกนายกรัฐมนตรีก็ตาม
            3. ผู้หญิงสามารถลาคลอดได้ยาวนานเป็นปี แถมยังได้รับรายได้เกือบเท่าเงินเดือนที่รับอยู่ก่อนคลอดเสียอีก
            4. สำหรับคนทำงาน จะได้รับเงินเดือนตามลักษณะงานที่ทำ ไม่ใช่ตามวุฒิ เช่น ถ้าทำงานขับรถประจำทาง ไม่ว่าจะจบระดับไหน ก็เริ่มต้นด้วยเงินเดือนที่เท่ากัน และในระยะยาว คนขับรถประจำทางอาจมีรายได้มากกว่าคนจบปริญญาโทที่ทำงานตรงสาขาแต่ยังทำงานไม่นาน เป็นต้น
            5. ผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือไม่ก็ตาม ต่างก็ได้รับบำนาญ  โดยอาจารย์บุญส่งเล่าว่า ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนในโลกก็จะได้รับเงินนี้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้สูงอายุส่วนหนึ่งจึงนิยมมาอยู่ในประเทศไทยหรือประเทศอื่น ๆ เพราะค่าครองชีพถูกกว่า ด้วยบำนาญที่ได้ จึงสามารถอยู่ได้อย่างสบาย
            เท่าที่ผมพอจำได้ก็คงมีเท่านี้ แต่นี่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบอย่างสูงที่รัฐบาลมีให้กับประชาชนของตนเอง  ถ้าประเทศไทยเราทำได้บ้าง ก็คงจะดียิ่ง

ความสำเร็จมาจากภาษีโหด-เหี้ยม
            การที่ประเทศสวีเดนสามารถจัดสวัสดิการได้อย่าง “เหลือเชื่อ” เช่นนี้ ไม่ใช่ของฟรี ไม่ใช่อยู่ดี ๆ รัฐบาลนึกจะทำก็ทำได้  แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากภาษีอากรที่เก็บจากประชาชน และรัฐบาลของเขาโหด-เหี้ยมกับการเก็บภาษีเป็นอย่างยิ่ง ข้อนี้อาจต่างจากเรามาก เราอาจเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ต่าง ๆ นานา แต่คนไทยเรากลับพยายามเลี่ยงภาษี ในกรณีสวีเดน ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของเขาเก็บ 25% ภาษีรายได้บุคคลธรรมเก็บระหว่าง 30-62% ของรายได้สุทธิ 
            อย่างกรณีร้านอาหารที่มักมีโอกาสที่ภาษีรั่วไหล เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจะมีสมุดบันทึกให้พนักงานลงชื่อเข้าทำงาน เพื่อป้องกันการ “มั่ว” จ้างแรงงานโดยไม่มีตัวตน หากวันใดที่เจ้าหน้าที่มาตรวจ ต้องมีจำนวนพนักงานครบตามที่ลงชื่อ บางครั้งมีกรณีที่พนักงานคนหนึ่งคนใดลืมลงชื่อ แต่มาทำงาน  เจ้าของร้านก็จะถูกปรับ “อาน” ไปเลย คือเป็นเงินราว 100,000 บาทนั่นเอง พนักงานที่ไม่ลงชื่อก็ยังถูกปรับเช่นกัน นอกจากนี้กรมสรรพากรยังส่งเจ้าหน้าที่มานับจำนวนขวดเบียร์ นับปริมาณขยะหลังร้านอีกต่างหาก

การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง
            นี่แสดงให้เห็นว่ากฎหมายของสวีเดนมีความโหด-เหี้ยมมาก ผู้คนจึงไม่กล้าเลี่ยงกฎหมาย และรู้สึกเข็ดหลาบที่จะละเมิดกฎหมาย คนสวีเดนกลัวกฎหมาย แต่ไม่กลัวตำรวจ  ผิดกับคนไทย กลัวตำรวจ แต่ไม่กลัวกฎหมาย
            แน่นอนว่าการโกง การฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็มีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา แต่กระบวนการปราบปรามการโกงก็มีพัฒนาไปอย่างทันท่วงทีเช่นกัน ดังนั้นโอกาสที่ใครจะคิดติดสินบนข้าราชการ จึงมีได้ยากยิ่ง  และถือเป็นการ “ฆ่าตัวตาย” มากกว่า เพราะต้นทุนการทำผิดกฎหมาย แพงกว่าการปฏิบัติตามกฎหมายมากมายนัก
            ในส่วนของข้าราชการเอง ระบบได้ทำให้เกิดความเข้มงวดมาก แม้แต่ประมุขของประเทศ หากได้รับของขวัญจากพระราชอาคันตุกะ ก็ยังต้องมอบของขวัญเหล่านั้นให้กับทางราชการ จะเก็บไว้ใช้สอยส่วนตัวไม่ได้

การเมืองที่เอื้ออำนวย
            อาจารย์บุญส่งเล่าให้ฟังว่า รัฐบาลที่เข้มแข็งของสวีเดนนั้น ในช่วงหนึ่งพรรคสังคมประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งทุกๆ 3 ปีจนสามารถบริหารงานต่อเนื่องได้ถึง 44 ปี (1932-1976) ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์สำคัญของพรรครัฐบาลรังสรรค์ระบบสวัสดิการสังคมที่ดีให้กับประเทศชาติได้ ดังนั้นการเมืองที่เข้มแข็งจึงเป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จประการหนึ่ง  อีกประการหนึ่งก็คือการมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ตามหลักการที่ว่า สิทธิที่พึงมีพึงได้ ย่อมมาจากการเรียกร้องที่เป็นธรรม ไม่ใช่ได้มาจากการร้องขอแต่อย่างใด
            ปัจจัยแห่งความสำเร็จอีกประการหนึ่งของการสถาปนารัฐสวัสดิการก็คือ การที่ประชาชนได้รับการศึกษาดี มีความรู้ มีจิตสำนึก ทำให้การพัฒนาของสังคมเป็นไปในแนวทางที่ก้าวหน้า ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือของนักการเมือง
            อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลของประเทศสวีเดนมีการตอบสนองสูงต่อสังคม เช่น ในคราวเกิดสึนามิเมื่อปลายปี 2547 ชาวสวีเดนเสียชีวิตในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เด็กกำพร้าขาดพ่อแม่ และยังต้องเสียภาษีมรดก รัฐบาลจึงออกกฎหมายยกเลิกภาษีมรดก  โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิดังกล่าวตามหลักการที่ว่ากฎหมายจะมีผลย้อนหลังได้หากเป็นคุณ

หนทางสู่แบบอย่างสวีเดน
            มีโอกาสหรือไม่ที่ไทยจะมีรัฐสวัสดิการเช่นสวีเดน ข้อนี้คงต้องเปรียบเทียบประเทศทั้งสองในแง่มุมต่าง ๆ ดังตารางต่อไปนี้:

            หากเปรียบเทียบสวีเดนกับไทยจะพบว่า ประเทศทั้งสองมีขนาดใกล้เคียงกันมาก โดยไทยมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย แต่ประชากรไทยที่ 65.493 ล้านคนนั้นมากกว่าสวีเดนถึง 7.24 เท่า ทำให้ความหนาแน่นของประชากรไทยสูงกว่าสวีเดนมาก ขนาดเศรษฐกิจไทยใหญ่กว่าสวีเดน 59%  อย่างไรก็ตามหากพิจารณารายได้ต่อหัวจะพบว่าสวีเดนมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าถึง 4.55 เท่า
            ในกรณีการจัดเก็บภาษีนั้น สวีเดนจัดเก็บได้มากกว่าไทยถึง 5.48 เท่า และงบประมาณแผ่นดินสูงถึง 4.76 เท่า และหากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า คนไทยเสียภาษีโดยเฉลี่ยปีละ 26,384 บาท ในขณะที่ชาวสวีเดนเสียภาษีปีละ 1,046,667 ล้านบาท ปมตรงนี้เองที่ชี้ให้เห็นว่า ระบบสวัสดิการสังคมที่แสนดีนั้นมีต้นทุนมหาศาลที่ทุกคนต้องช่วยกันจ่าย ถ้าเราจะมีรัฐสวัสดิการที่รับผิดชอบต่อประชาชนทุกคน ผู้เสียภาษีต้องพร้อมใจกันเสียภาษีให้มากกว่านี้

          แต่ปัญหาก็คือคนจำนวนมากไม่เสียภาษี ไม่ยอมเสียภาษี และคนอีกจำนวนมาก อ้างว่าเสียภาษีไปก็จะถูกนักการเมืองหรือข้าราชการนำไปโกงกินกัน ผมเชื่อว่านี่คงเป็นข้ออ้าง  เราต้องแยกกันระหว่างการที่พลเมืองไทยต้องมีหน้าที่เสียภาษี กับการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง

* ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ขณะนี้เป็นประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (www.thaiappraisal.org) และยังเป็นกรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@thaiappraisal.org

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่