Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 517 คน
อำนาจบาตรใหญ่ในการบังคับใช้ที่ดิน
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 24 ฉบับที่ 1,891 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2547 หน้า 41-42

ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

        เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (thaiappraisal.org) ได้จัด "วิวาทะ" พิเศษเรื่อง "(ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร" ซึ่งก็มีผู้สนใจเข้าร่วมนับร้อยท่าน สาระสำคัญในทางวิชาการก็คือการตรวจสอบความเป็นไปได้และความเหมาะสมในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติของแนวคิดเรื่องผังเมือง

รูปแบบการ "วิวาทะ" เพื่อสังคม
        เราพยายามทำ "วิวาทะ" นี้ให้เป็นในรูปแบบของการแสวงหาความจริง โดยเชิญ รศ.มานพ พงศทัต ที่ปรึกษาการวางผังเมืองครั้งนี้มานำเสนอ เชิญ ผศ.อัศวิน พิชญโยธิน สถาปนิกผู้ออกแบบชื่อก้องมาวิพากษ์ เชิญ ศ.คัมมัยเยอร์ จากเยอรมนี มาเสนอมุมมองจากต่างประเทศ และเชิญ คุณวสันต์ คงจันทร์ ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินคนสำคัญ มาให้ความเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินจากผังเมืองรวม และทุกท่านนี้ก็เป็นกรรมการของโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย (trebs.ac.th)
        ในวันนั้นผมได้เชิญนักผังเมืองจากกรุงเทพมหานครถึง 10 ท่านไปเข้ารับฟังความเห็นจากภาคเอกชนและภาคประชาชนด้วย เพื่อให้การวิวาทะทางวิชาการนี้มีผลในภาคปฏิบัติ และไม่ใช่การ "บ่นลับหลัง"
        ประเด็นเรื่องผังเมืองที่มีผู้สนใจมากขึ้นนี้ ถือเป็นการแสดงความตื่นตัวเรื่อง "สิทธิ" และ "หน้าที่" ของประชาชนในฐานะพลเมืองของประเทศมากขึ้น ไม่ใช่สักแต่ว่าทางราชการจะวางผังเมืองโดยหลักวิชาการซึ่งอาจมีบางส่วนที่อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
        ผมก็เชื่อว่าทางราชการก็พยายามวางผังเมืองให้ดีที่สุด ที่ผมมั่นใจในเจตนาเช่นนั้น ก็เพราะผู้ที่วางกรอบแนวคิดการทำผังเมืองนี้ คือดอกเตอร์ด้านผังเมือง (เป็นนักวิชาการขนานแท้ที่ไม่ชอบ "ออกงาน") ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่ผมรู้จักดี ท่านบอกว่า ผังเมืองนั้นวางเพื่อทำประเทศชาติ ทำเผื่ออนาคต คำนึงถึงทั้งภัยธรรมชาติและภัยพิบัติอื่น ๆ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของนายทุนเอกชนคนใดโดยเฉพาะ

การวาง "อำนาจบาตรใหญ่"
        แต่ก็ยังมีความจริงในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็คือ การวางผัง "ตามอำเภอใจ" หรือใช้ "อำนาจบาตรใหญ่" ในฐานะ "เจ้าหน้าที่" ได้มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนกลายเป็น "ฝุ่นเมือง" เป็นวัตถุที่ถูกกระทำถ่ายเดียว
        ตัวอย่างมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผมยกมานี้ แสดงการวาง "อำนาจบาตรใหญ่" อย่างชัดเจน คือ เพียง "เพื่อเสริมสร้างความสวยงามแก่ถนนอุทยานและพุทธมณฑล" ถึงกับกำหนดให้การสร้างบ้านของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงต้อง "เป็นหลังคาทรงจั่ว ทรงปั้นหยา หรือทรงสถาปัตยกรรมไทย สีหลังคาให้ใช้สีในกลุ่มสีส้มอิฐ หรือส้มกระเบื้องดินเผา สีแดงอิฐหรือสีน้ำตาล" เท่านั้น!! (โปรดดู มติ ครม. ที่ล้อมกรอบ)
        ผมถามอาจารย์มานพเหมือนกัน ท่านก็ว่า ในเมืองนอกการทำเช่นนั้น จะต้องมีสิ่งสมนาคุณ (incentive) แก่เจ้าของที่ดิน เช่น ลดภาษี ผมเองก็ว่า จริง ๆ แล้วควรมีเงินชดเชยให้ เพื่อให้ผู้ "เสียหาย" ได้ยินยอม "บูชายัญ" ตัวเอง เพื่อชาติ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ปัจเจกบุคคลคนอื่น ๆ ที่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชาติ
        การสักแต่ถือเอาตาม "อำเภอใจ" โดย "อำนาจบาตรใหญ่" ตามความเคยชินที่เคยออกผังเมือง หรือข้อกำหนดเช่นนี้ ถือเป็นลักษณะ "ศักดินา" ไม่ใช่ในฐานะข้าราชการที่พึง "รับใช้ประชาชน"
        ยังมีกรณีที่คล้ายคลึงอื่น ๆ อีกเช่น การกำหนดห้ามก่อสร้างระยะ 15 เมตร ริมถนนสายต่าง ๆ หลายสาย การจำกัดความสูง การจำกัดพื้นที่ก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งถือได้ว่า เป็นการรอนสิทธิที่มีอยู่ของชาวบ้านผู้มีที่ดินในบริเวณดังกล่าว
        ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ควรมีการสะสาง และประชาชนเจ้าของทรัพย์สินควรรู้จัก "สิทธิ" และ "หน้าที่" ของตนเองตามผังเมืองมากขึ้น

ควรมีการชดเชย
        ผมเองไม่ได้คัดค้านการวางผังเมือง แต่กรณีที่แต่เดิมชาวบ้านมี "สิทธิ" ถ้าไป "รอนสิทธิ" ก็ควรจะมีการชดเชยหรือมีการสมนาคุณกันตามควร การถือเอาตาม "อำเภอใจ" จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรดำเนินการในสังคมอารยะ
        และนี่จึงเป็นทางออกของผังเมืองไทยที่กำลัง "ฟัง" เสียงประชาชนอยู่ โดยควรถือหลักเอาว่า ถ้าในพื้นที่ใดที่ชาวบ้านมีสิทธิอยู่เพียงใดตามกติกาปัจจุบัน ให้ถือตามนั้น และถ้าตามผังเมืองใหม่ "รอนสิทธิ" ลงและกระทบต่อการปลูกสร้างเพื่อประโยชน์ของเจ้าของที่ดิน รัฐบาลต้องชดเชยให้ จะเพิกเฉยไม่ได้
        การชดเชยไม่ใช่ต้องจ่ายเป็นเงิน อาจเป็นการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีการค้า การค้า ภาษีรายได้ หรือให้สิทธิพิเศษในการลงทุนบางประการ เป็นต้น

ความตื่นตัวของประชาชน
        ผมเชื่อว่า ถ้าประชาชนได้รับความรู้ด้านผังเมืองมากขึ้น นอกจากจะ "ทวง" สิทธิของตนเองแล้ว ยังจะรู้ "หน้าที่" อันควรของตนเองด้วย และเมื่อนั้น ความผาสุกจากการรู้จักแบ่งปันทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งมักมีจำกัดในเมือง ก็จะมีการแบ่งปันยิ่งขึ้น ความผาสุกก็จะเกิดขึ้น

สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2547
http://www.thaigov.go.th/news/cab/47/cab17feb47-1.doc

        เรื่องที่ 2: ร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในพื้นที่บางส่วนในท้องที่อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ….
        คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
        ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ได้กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และเขตทวีวัฒนากรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมสร้างความสวยงามแก่ถนนอุทยานและพุทธมณฑลอันเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา รวมทั้งยังเป็นการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร
        ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้

 1. กำหนดพื้นที่ในตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี ตำบลบางเตย ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และแขวงศาลาธรรมสพน์ แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ออกเป็น 4 บริเวณ และในแต่ละบริเวณได้ห้ามก่อสร้างอาคารในบางประเภท
 2.   อาคารที่ก่อสร้างภายในบริเวณที่ 3 และบริเวณที่ 4 ต้องมีระยะห่างระหว่างอาคารไม่น้อยกว่า 4 เมตร และห่างจากเขตที่ดินผู้อื่นไม่น้อยกว่า 2 เมตร และต้องเป็นอาคารที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นหลังคาทรงจั่ว ทรงปั้นหยา หรือทรงสถาปัตยกรรมไทย สีหลังคาให้ใช้สีในกลุ่มสีส้มอิฐ หรือส้มกระเบื้องดินเผา สีแดงอิฐหรือสีน้ำตาล
3.  กฎกระทรวงนี้ไม่ใช้บังคับแก่การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารชนิดและประเภท ดังนี้
3.1 อาคารหรือสถานที่ของทางราชการ
3.2 อาคารหรือสถานที่ขององค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายที่ใช้ในกิจการขององค์การหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์
3.3  เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ทางหรือท่อระบายน้ำ กำแพง และประตู
4. กฎกระทรวงนี้ไม่ใช้บังคับกับอาคารที่มีอยู่ก่อนหรือได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างฯ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ก่อนกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
     
Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่