Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 478 คน
CSR แท้ ๆ นั้นทำง่าย ทุกคนทำได้

ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินไทย

          CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบของวิสาหกิจต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders: ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนและสังคม) เป็นสิ่งที่วิสาหกิจในยุคใหม่ต้องเชิดชูให้เป็นที่ประจักษ์ การมี CSR ในวิสาหกิจนั้น ไม่ใช่เฉพาะวิสาหกิจขนาดใหญ่ วิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ หรือวิสาหกิจข้ามชาติ ธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม ซึ่งรู้จักกันในนาม SME (Small and Medium Enterprises) ก็ต้องมี CSR และสามารถทำได้ง่ายโดยแสดงให้เห็นว่า การรับผิดชอบต่อสังคมและต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย ควรเป็นอย่างไร

ธุรกิจ SME
          เราคงเคยได้ยินว่า แม่ค้าขายขนมจีน เอากระดาษทิชชูมาผสมในน้ำยา นัยว่าเพื่อลดต้นทุนให้ขายได้ราคาถูก ช่วยให้ขายได้ดีขึ้น หรือใส่ผงชูรสมากมายเพียงเพื่อให้คนติดใจในรสชาติโดยขาดความรับผิดชอบ หรือนำอาหารที่เสื่อมคุณภาพมาขายจนกระทั่งเด็กนักเรียนกินแล้วอาเจียนกันทั้งโรงเรียน เป็นต้น
          ในธุรกิจไม่ว่าระดับ SME หรือธุรกิจขนาดใหญ่ มีคติชั่วร้ายอยู่อย่างหนึ่งก็คือ “ด้านได้-อายอด” กล่าวคือ ทำอะไรก็ได้ที่ขอเพียงให้ได้ผลตอบแทนงดงามในวันนี้โดยไม่รับผิดชอบ การทำธุรกิจเช่นนี้ย่อมไม่ยั่งยืนและยังเสี่ยงกับการถูกสั่งปิด เราจึงควรส่งเสริมธุรกิจให้รับผิดชอบ หาไม่ถือเป็นการละเมิด เป็นการกระทำผิดกฎหมาย เป็นอาชญากรรมที่ต้องถูกลงโทษ

บริษัทมหาชน
          ก่อนหน้านี้ การขาด CSR อาจเห็นได้จากการที่เจ้าของเดิมของบริษัทมหาชนเดิม ทิ้งกิจการของตนเองหลังจากเข้าระดมเงินในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว โกงบริษัทของตนเอง จัดตั้งบริษัทลูกมาให้บริการแก่บริษัทแม่ที่เป็นบริษัทมหาชนโดยไม่ต้องแข่งขันอย่างเท่าเทียม หรือใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยเพื่อบำรุงความสุขสบายของผู้บริหาร เป็นต้น
          อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ ตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต) ต่างมี มาตรการควบคุมบริษัทมหาชนรัดกุมกว่าแต่ก่อน และถือเป็นมาตรฐานที่ดีสำหรับวิสาหกิจอื่น ๆ นอกตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดความ โปร่งใส เป็นธรรม และปิดโอกาสการทุจริต

นายธนาคาร
          เราคงเคยได้ยินว่า ธนาคารหลายแห่งที่เจ๊งไปนั้น เป็นเพราะการปล่อยกู้อย่างขาดความรับผิดชอบให้เครือญาติโดยขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ ธนาคารหลายแห่งขโมยโครงการที่มีแนวคิดการตลาดดี ๆ ไปทำเสียเอง หรือกว่าจะกู้เงินได้ ก็ต้องจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ผู้จัดการสาขา และผู้จัดการเขต เป็นต้น
          ธนาคารที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ก็คือการรับผิดชอบต่อลูกค้าเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่มาฝากเงินหรือที่มากู้เงิน โดยการ “กวาดบ้าน” ตัวเองก่อน ปิดโอกาสที่จะเกิดทุจริต ทำให้ลูกค้าไว้วางใจ เป็นต้น
          ธนาคารหลายแห่งเป็นผู้อุปถัมภ์งานอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมาย แต่กลับขูดรีดบีบคั้นแรงงานกับพนักงานอย่างรุนแรงและการปรับเพิ่มเงินเดือนก็ต้องอาศัยการเรียกร้องอย่างเอาเป็นเอาตายของพนักงาน กรณีเช่นนี้เป็นภาพที่ขัดแย้งกันเองอย่างชัดแจ้ง

สื่อมวลชน
          เราได้ยินปัญหาของสื่อมวลชนอยู่เนือง ๆ เช่น การเขียนเชียร์ดารา หรือผู้มีอุปการะคุณที่ลงโฆษณา หรือที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือการใช้ปากกาเป็นอาวุธในการทำร้ายคนอื่น ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์มักเป็นข่าวที่ได้จากการแถลงข่าวของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเสนอข่าวอาจคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคน้อยกว่าผู้จ่ายเงินโฆษณาที่ทำให้สื่อมวลชนอยู่ได้ หนังสือพิมพ์จึงอาจเป็นเพียง “กระบอกเสียง” หรือเป็นเพียง “กระดาษเปื้อนหมึก” ไปในบางคราว
          สื่อมวลชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมจึงไม่ควรเป็นเครื่องมือของประเทศมหาอำนาจ นายทุนข้ามชาติ หรือนายทุนในประเทศรายใหญ่ ๆ ที่มุ่งการเสนอข่าวเฉพาะบางมุมบางด้านอันถือเป็นการ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” และเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อโดยไม่รับผิดชอบ
          เราอาจเคยได้ยินสำนักข่าวใหญ่ข้ามชาติบางราย ทำดีด้วยการอนุญาตให้พนักงานไป “ออกค่าย” ทำงานช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสโดยไม่ถือเป็นวันลา นี่ช่างเป็นกิจกรรมที่น่าซึ้งใจจริง ๆ แต่บทบาทหลักสื่อมวลชนก็คือการนำเสนอข่าวที่เที่ยงตรงต่างหาก

นักวิชาการ
          คนไทยถือว่านักวิชาการเป็นครูบาอาจารย์ แต่ก็ควรตรวจสอบในด้านความรับผิดชอบเช่นกัน เพราะเราคงเคยได้ยินนักวิชาการประเภทใช้เกรดแลกกับของขวัญราคาแพงหรือความสัมพันธ์ฉันชู้สาว การไต่เต้าโดยมิชอบโดยอาศัยความเป็นนักวิชาการ หรือการโกงเวลานักศึกษาไปรับงานนอก ไปหากิน และหาชื่อเสียงส่วนตัว เป็นต้น
          ในต่างประเทศ คนมีอาชีพวิชาการหรือรับราชการ จะเอาเวลาราชการไปทำมาหากินทางอื่นไม่ได้ เคยมีกรณีถูกไล่ออกจากราชการเพราะเอาเวลางานมาเขียนพ็อกเก็ตบุคมาแล้ว อาจารย์หรือนักวิชาการที่ดีต้องปฏิบัติต่อนักศึกษาเสมือนลูกค้าที่มีคุณ จะละเมิดไม่ได้ และไม่ทำตัวเป็นเจ้ากู เจ้าสำนัก เห็นลูกศิษย์เป็นแค่เบี้ย

ฝ่ายจัดซื้อ
          ฝ่ายจัดซื้อหรือฝ่ายอนุมัติต่าง ๆ มักมีความเสี่ยงที่จะทำลายเกียรติภูมิของวิสาหกิจหรือทำให้วิสาหกิจขาด CSR เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อมักจะรับสินบนจากคู่ค้าที่เสนอวัตถุดิบ สินค้า และบริการแก่วิสาหกิจดังกล่าว ผู้บริหารสูงสุดหรือผู้บริหารฝ่ายจัดซื้อที่ฉ้อฉล มักอาศัยตำแหน่งหน้าที่เป็นช่องทางโกงกิน จะสังเกตได้ว่า ฝ่ายจัดซื้อที่ ฉ้อโกงมักจะทำตัวทรงอิทธิพลอย่างชัดเจน และมักมีคู่ค้ามา “ติดพัน” ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ
          วิสาหกิจที่มี CSR ต้องมีระบบการตรวจสอบที่ดี รู้จัก “กวาดบ้าน” ตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อปิดโอกาสการทุจริตและประพฤติ มิชอบ วิสาหกิจที่ดียังควรมีนโยบายและจัดทำคู่มือให้คู่ค้า ลูกค้า และสังคมได้ทราบอย่างโปร่งใสว่า ธุรกิจของตนได้ดำเนินการจัดซื้ออย่างโปร่งใสและเป็นธรรมตามขั้นตอนอย่างไร และควรมีแผนกการรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่เป็นอิสระ

นักวิชาชีพ
          เราคงเคยได้ยินบริษัทบัญชี หรือผู้ตรวจสอบบัญชีบางราย ฉ้อฉลด้วยการลงลายมือชื่อตรวจสอบบริษัทนับแสนรายต่อปี บริษัทที่ปรึกษา เช่น ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินบางแห่งไม่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงผู้ประกอบวิชาชีพเรียกรับเงินจากลูกค้า หรือร่วมกับ ลูกค้าออกรายงานประเมินโกงธนาคาร หรือร่วมมือกับผู้บริหารธนาคารโกงธนาคารที่ตนบริหารอยู่ เป็นต้น ดังนั้น นักวิชาชีพที่ดีต้องไม่ “พาย-เรือให้โจรนั่ง” แต่ควรดำเนินวิชาชีพตามกฎหมาย ไม่ละเมิดจรรยาบรรณของวิชาชีพเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
          การควบคุมวิชาชีพนั้น รัฐบาลมักเป็นผู้ดำเนินการควบคุมโดยตั้งเป็นสภาวิชาชีพ เช่น แพทยสภา สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก ในประเทศไทยยังมีวิชาชีพอีกหลายแขนงที่ยังไม่มีสภาวิชาชีพ อาจกล่าวได้ว่าในประเทศที่ไม่ค่อยพัฒนา ยังไม่มีระบบควบคุมนักวิชาชีพ เพื่อให้ความไม่มีระบบและขาดการควบคุมนี้ เป็นช่องทางการโกงกินต่าง ๆ โดยใช้นักวิชาชีพเป็นตรายาง (rubber stamp) ต่อไป

บทสรุป
          อาจกล่าวได้ว่า การทำ CSR ที่แท้นั้น เนื้อหาสำคัญประการแรกก็คือ การทำให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ละเมิดหรือทำร้ายผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลายเสียก่อน เรียกว่าเป็นการปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของกฎหมายโดยเคร่งครัด ขาดเสียมิได้ ประการต่อมาจึงเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างอ่อน (Soft Laws) เช่น จรรยาบรรณวิชาชีพ กติการของสังคมที่ถือเป็นมรรยาทที่วิสาหกิจที่ดีพึงยึดถือ ส่วนประการสุดท้ายก็คือการอาสาทำดี การบริจาคในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำหรือไม่ก็ได้ ถ้าทำ ก็จะได้ชื่อเสียง ได้รับความนิยม เป็นผลดีต่อวิสาหกิจเอง

          เห็นไหมครับ การทำ CSR ที่แท้นั้น ทำได้ไม่ยาก สาระมีอยู่แล้วแบบตรง ๆ ทุกธุรกิจในขนาดใดก็ตามที่มุ่งหวังจะยั่งยืน ต้องมี CSR และทำได้โดยไม่ยาก โดยไม่ต้องลูบหน้าปะจมูก ไม่ต้องทำแบบผักชีโรยหน้า หรือทำดีเอาหน้าแต่อย่างใด

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่