Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 498 คน
ภาคธุรกิจโปร่งใส ต้านภัยคอร์รัปชั่น
กรุงเทพธุรกิจ 31 กรกฎาคม 2551 คอลัมน์ CEO Blog

ดร.โสภณ พรโชคชัย *
ประธานกรรมการ ศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA
28 กรกฎาคม 2551

          เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม ศกนี้ ผมได้รับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ให้ไปบรรยายเรื่องข้างต้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะกรรมการหอการค้าไทย สาขาจรรยาบรรณ ผมได้มีโอกาสพบคุณปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ท่านประธาน ป.ป.ช. ศาสตราจารย์ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. คุณศราวุธ เมนะเศวต ท่านเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และท่านผู้ทรงคุณวุฒิอื่น
          การเดินสายจัดงานสัมมนาเรื่องนี้จะจัดขึ้นใน 8 จังหวัดนำร่อง ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ศกนี้ ซึ่งนับเป็นความตั้งใจอย่างแรงกล้าของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการรณรงค์ความโปร่งใส ผมก็ได้รับเชิญไป “เดินสาย” อีกหลายจังหวัด จึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ 

เอกชนไม่คิดจ่ายสินบน ถ้า. . .
          ในความเป็นจริง ไม่มีภาคเอกชนใดประสงค์จะจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเพราะถือเป็นการเพิ่มภาระและเสียเวลาของภาคเอกชน ซึ่งย่อมต้องผลักภาระต่อไปยังผู้บริโภค ทำให้สินค้าและบริการมีราคาแพงเกินความเป็นจริง ส่งผลเสียต่อธุรกิจของภาคเอกชน
          อย่างไรก็ตาม บางครั้งภาคเอกชนก็จำเป็นต้องจ่ายสินบน เพราะหาไม่อาจไม่ได้รับความสะดวก ถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งยิ่งทำให้ธุรกิจประสบปัญหาจนอาจต้องปิดกิจการไปในที่สุด
          ในความเป็นจริง กิจการบางแห่งอาจจงใจจ่ายสินบนเพื่อชิงความได้เปรียบต่อคู่แข่ง กิจการเหล่านี้อาจมีความสนิทสนมกับผู้บริหารระดับสูงภาครัฐ หรือผู้บริหารเหล่านั้นอาจเป็นผู้ถือหุ้นแบบ “นอมินี” ก็ได้
          ยิ่งกว่านั้นในบางครั้ง ภาคเอกชนอาจประกอบ “อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ” โดยที่ภาครัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ เช่นกรณีการ “ฮั้ว” หรือการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างวิสาหกิจที่ร่วมกันประมูลงานจากภาครัฐ ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องเสียค่าจ้างในราคาแพงเกินควร และค่าจ้างเหล่านี้ย่อมมาจากภาษีอากรของประชาชน 

ปัญหาโลกแตกที่เกาะกินมานาน
          ผมเคยอ่านหนังสือพุทธประวัติที่เขียนโดยภิกษุติช นัท ฮันห์ และแปลโดย ท่าน สว. รสนา โตสิตระกูล ได้ความว่าเจ้าชายสิทธัตถะไม่ประสงค์จะเป็นมหาจักรพรรดิอันยิ่งใหญ่เพราะเล็งเห็นว่า แม้แต่พระราชบิดาของพระองค์ก็ยังไม่สามารถมีอำนาจปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงของบรรดาขุนนางได้ และยังต้องอาศัยขุนนางเหล่านั้นในการค้ำจุนบัลลังก์อีกต่างหาก พระองค์จึงเลือกการเสด็จออกผนวช
          บางครั้งการแก้ไขปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น ก็เป็นแค่ “พิธีการ” ที่ไม่ได้ตั้งใจจะดำเนินการจริง แต่เป็นแค่การเล่น “ปาหี่” เท่านั้น
          ความร้ายแรงของปัญหานี้มีมากเพียงใด ดูได้จากประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีความเจริญแตกต่างกัน ผมเชื่อว่าคนไทยโดยเฉพาะคนธรรมดา ชาวนา ชาวไร่ พ่อค้า ประชาชน ล้วนทำงานหนักพอ ๆ กันทุกประเทศ น่าจะได้ผลิตผลต่อคนพอ ๆ กัน แต่ทำไมบางประเทศเจริญกว่า บางประเทศยังด้อยกว่ามาก สาเหตุสำคัญก็คือการฉ้อราษฎร์บ้งหลวง โดยผู้มีอำนาจส่วนน้อยนิดเท่านั้น ที่เบียดบังเอาทรัพยากรปริมาณมหาศาลไปจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

แต่ก็ปราบปรามได้ไม่ยาก
          อย่างไรก็ตามการฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็สามารถแก้ไขได้ หากรัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจัง แต่ก็ไม่แน่ว่าหากผู้นำรัฐบาลคนใดเอาจริง ผู้นำคนนั้นอาจไม่รอดชีวิตจากผู้มีอิทธิพลก็ได้! แต่หากสามารถรอดพ้น “ปากเหยี่ยวปากกา” ไปได้ การแก้ไขปัญหานี้จะลุล่วงเป็นแน่
          มาตรการที่ได้ผลควรดำเนินการดังนี้:
          1. การส่งเสริมการเก็บภาษีทรัพย์สิน ทุกวันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับงบประมาณมาจากส่วนกลาง จึงมักเกิดปัญหา “วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง” แต่หากทุกบ้านต้องเสียภาษี เช่น ในอัตราร้อยละ 1 เพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่นโดยตรง ทุกคนก็ย่อมจะหวงแหนสิทธิและช่วยกันดูแลภาษีอากรของตนเอง ช่องทางการทุจริตก็จะน้อยลง
          2. การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการให้เพียงพอแก่การยังชีพ เพราะที่ผ่านมารายได้อาจต่ำเกินไปจนต้องไปเที่ยว “รีดไถ” แต่แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้เท่ากับความตะกละตะกลามแต่ต้องเท่ากับความต้องการจำเป็น
          3. การตรวจสอบการทุจริตอย่างจริงจังและที่สำคัญต้องต่อเนื่อง ไม่ใช่แบบ “ไฟไหม้ฟาง” “ปาหี่” หรือ “เล่นเถิดเทิง” หรือ แค่ “สร้างภาพ” เช่นที่ผ่านมา
          4. การลงโทษอย่างจริงจัง ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เช่น ในเวียดนาม ที่ผมเคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังที่นั่น ทราบว่านักฟุตบอลที่ “ล้มบอล” มีโทษถึงติดคุก และขณะนี้ยังไม่ได้ออกมาเลย และยังมีกรณีกัปตันสายการบินแห่งชาติของเขาถูกไล่ออกเพียงเพราะซื้อเครื่องเสียงราคาเรือนแสนเข้าประเทศ ในจีน มีการยิงเป้า ข้าราชการทุจริต ในอินโดนีเซีย ข้าราชการระดับสูงที่โกงกิน ถูกไล่ออกไปหลายรายแล้ว เรื่องเช่นนี้คงเกิดขึ้นยากในประเทศไทย แต่ถ้าเกิดขึ้น รับรองว่าปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงคงเบาบางลงมาก 

บรรษัทภิบาลและ CSR
          การมีระบบบรรษัทภิบาล (Corporate Governance หรือ CG) ที่เน้นการบริหารองค์กรอย่างโปร่งใส และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) จะสามารถลดทอนการทุจริตในภาคเอกชนได้ด้วย เป็นการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน
          ในทางหนึ่ง การมี CG และ CSR ย่อมลดความเสี่ยงของธุรกิจในอันที่จะถูกจับ ถูกปรับ จากการร่วมทุจริตหรือฉ้อราษฎร์บังหลวง ในอีกทางหนึ่ง ก็เป็นการช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพขององค์กร ความสามารถในการแข่งขัน และช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน เพราะสถาบันการเงินที่ดีก็ย่อมต้องการลูกค้าที่น่าเชื่อถือ
          และที่สำคัญที่สุด การมี CG และ CSR ย่อมเป็นการสร้างและทำนุบำรุงยี่ห้อของสินค้าและบริการของเราให้ดี เป็นที่เชื่อถือว่าเราจะไม่ข้อแวะกับทุจริต
          ในข้อกำหนดของ UN Global Compact มีระบุไว้ชัดเจนว่า ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ควรดำเนินไปโดยปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกรูปแบบ รวมทั้งการบังคับ ขูดรีด และการติดสินบน ทั้งนี้อาจพิจารณาทั้งในกรณีภายในวิสาหกิจ และการให้สินบนอันเป็นการทุจริตในวงราชการ ก็เป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง
          มาร่วมกัน ทำให้ “ภาคธุรกิจโปร่งใส ต้านภัยคอร์รัปชั่น” กันเถอะครับ 

* ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นประธานกรรมการศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA (www.area.co.th) ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลที่มีฐานข้อมูลที่กว้างขวางที่สุดในไทยและเริ่มสำรวจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 ขณะนี้ยังเป็นประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@area.co.th

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่