ท่องยุทธภพอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ
กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2551 หน้า 34
ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการบริหาร บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) <2>
นักอสังหาริมทรัพย์ชั้นยอดต้องมีหูตากว้างไกล การติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศยังเป็นการเพิ่มเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ถ้าเรามุ่งแต่ทำตาม ๆ กันไปโดยไม่ออกไปเปิดหูเปิดตา เราก็คงรู้อนาคตของเราเองอยู่แก่ใจ ในวันนี้ผมขอเขียนจากประสบการณ์ดูงานทั่วโลกมาให้พิจารณาครับ
เรียนรู้จากเพื่อนบ้าน
อย่างเวียดนามและกัมพูชาน่าไปดูที่สุดในแง่มุมของการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม ซึ่งกำลังก้าวกระโดด โดยในไม่ช้านี้เวียดนามอาจเตือนเราทัน ผมเคยเขียนบทความเตือนมา 2 ปีแล้ว ในฐานะที่ผมเคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังเวียดนามด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน ผมเชื่อว่าเวียดนามตามเราอยู่ไม่ห่างนัก
ผมไม่ได้ส่งเสริมให้พวกเราไปลงทุนเวียดนามและกัมพูชาโดยตรง แต่ควรไปเรียนรู้ นักอสังหาริมทรัพย์ไทยยังดูแคลนประเทศเหล่านี้พอสมควรโดยไม่เปิดตาศึกษาให้ถ่องแท้ ผมอยากบอกว่าในภูมิภาคอาเซียนยังมีอีก 2 ประเทศที่น่าสนใจลงทุนพัฒนาที่ดินสูงที่สุด (แต่ขออุบให้งงเล่นไปก่อน) นอกจากนี้ เรายังควรไปดูมาเลเซียและฟิลิปปินส์ โดยเข้าร่วมประชุมหรืองานเลี้ยงของสมาคมอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเหล่านี้
สูงสุดคือเอเซียตะวันออก
การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจีนน่าทึ่งที่สุดในโลกก็ว่าได้ ไม่ใช่เพราะพอเขามีเงินก็พัฒนากันใหญ่โตแบบตะวันออกกลาง แต่เขามีการวางผังเมืองอย่างดี ไม่ใช่ปล่อยให้อาคารสร้างกันส่งเดชแบบเมืองไทย นักผังเมืองควรไปเรียนที่นี่แทนยุโรปและสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำไป
ในอนาคตประเทศไทยจะต้องเน้นการพัฒนาแต่อาคารชุดเป็นหลัก การทำเมืองให้หนาแน่นแต่น่าอยู่ควรเรียนรู้เป็นอย่างมากจากไต้หวัน เกาหลีและญี่ปุ่น ไม่ต้องไปดูอื่นไกลแถบตะวันตกแต่อย่างใด เดี๋ยวนี้ญี่ปุ่นพัฒนาจนส่งออกความรู้การพัฒนาเมืองโดยภาคเอกชนไปยังประเทศต่าง ๆ แล้ว
ประเทศที่ควรเมิน
แม้จีนจะเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก แต่ใช่ว่าคนไทยควรไปลงทุนทำอสังหาริมทรัพย์ที่นั่น ที่นั่นแม้แต่นักลงทุนฮ่องกงยังสู้นักลงทุนท้องถิ่นไม่ได้มาแล้ว เพียงเพราะความประมาทที่คิดว่าตนแน่จากประสบการณ์ยาวนานนับครึ่งศตวรรษในฮ่องกง แต่ประสบการณ์ในเกาะกระจิดริดอย่างฮ่องกงก็เป็นแค่เพียงสระน้ำเมื่อเทียบกับทะเลจีน!
บางคนอยากไปอินเดีย ผมก็ได้แต่บอกว่า ไปดูเล่น เที่ยวเล่นน่ะได้ แต่ไปลงทุนทำอสังหาริมทรัพย์น่ะ อย่าดีกว่า ลักษณะความต้องการที่อยู่อาศัยของอินเดียและเวียดนามคล้ายกันคือต้องขึ้นแนวสูงสถานเดียว และเรื่องเอกสารสิทธิก็เป็นเรื่องชวนปวดหัวเป็นอย่างยิ่ง
ประเทศยอดฮิตที่มีคนมองมากก็คือประเทศแถบตะวันออกกลาง ประเทศเหล่านี้ไม่ต้องใช้ทฤษฎีอสังหาริมทรัพย์ใด ๆ เพราะทำอะไรก็ทำได้หมด ไม่ต้องคิดถึงสูตรทางการเงินใด ๆ เพราะเขามีเงินมากมาย ทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด แต่ถ้าหวังจะไปพัฒนาที่ดินที่นั่น ก็คงไม่รอด ยกเว้นไปเป็นผู้รับเหมา หรือเป็นนักวิชาชีพ เช่น สถาปนิก วิศวกร เป็นต้น
เจาะตลาดที่ไหนดี
ประเทศในอาเซียนที่สมควรพิจารณาไปลงทุนก็คือฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงไทยที่สุด แต่เจริญช้ากว่าไทย ถ้าเราไปลงทุนในประเทศเหล่านี้ เราก็ปรับตัวไม่มากนัก และยังสามารถหาพันธมิตรได้ไม่ยาก
สำหรับประเทศอื่นที่ควรพิจารณาได้แก่ อาฟริกาใต้ ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบคล้ายไทย และมีกำลังซื้อที่สูงกว่าแต่ก่อน นอกจากนี้ยังมีประเทศในแถบหมู่เกาะมหาสมุทธแปซิฟิกอีกบางประเทศที่พึงพิจารณาเช่นกัน
ไปร่วมงานนานาชาติอะไรดี
ในทุกเดือนมีนาคมของแต่ละปี มีงาน MIPIM ซึ่งจัด ณ เมืองคานส์ ฝรั่งเศส ผมเคยไปร่วมแทบทุกปี มีบูธนับพันบูธ และมีคนไปร่วมงานหลายหมื่นคน มีโอกาสพบปะนักลงทุนมากที่สุด ในเดือนมิถุนายนของทุกปียังมีงาน Real Estate Investment World Asia จัดที่สิงคโปร์ มีคนไปร่วมงานนับพันคน นอกจากนี้นับแต่ปีที่แล้ว ยังมีงาน MIPIM Asia จัด ณ ฮ่องกง ในทุกเดือนกันยายน รวมทั้งงานแสดงอสังหาริมทรัพย์แห่งนครรัฐดูไบในทุกเดือนธันวาคมอีกด้วย
งานของสมาคมอสังหาริมทรัพย์โลกที่ควรไปดูได้แก่ FIABCI ซึ่งจัดขึ้นทุกปี ในเดือนมิถุนายน ผมก็เคยไปบรรยายและไปร่วมงานมาหลายครั้ง เป็นที่ชุมนุมของนักอสังหาริมทรัพย์หลากหลายสาขาวิชาชีพ นอกจากนี้ในแต่ละทวีปยังมีสมาคมอสังหาริมทรัพย์เช่น Asian Real Estate Society ที่จัดงานประจำปีอยู่เสมอ ๆ (ลองหาเว็บไซต์ของสมาคมเหล่านี้ใน google) ก็เป็นกิจกรรมที่น่าไปเปิดหูเปิดตาเช่นเดียวกัน
อย่าลืมนะครับ เราต้องลงทุน ลงแรง ลงเวลาเพื่อเปิดโลกทัศน์นานาชาติ เพื่อเอาประสบการณ์มารับใช้การทำงานของเราในบ้านเรา เพื่อพัฒนาวิสาหกิจของเรา พัฒนาวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ และพัฒนาประเทศโดยรวม
หมายเหตุ |
|
<1> |
ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ยังเป็นกรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ ที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย กรรมการบริหาร ASEAN Valuers Association และ ASEAN Association for Planning and Housing และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@thaiappraisal.org |
<2> |
Agency for Real Estate Affairs (AREA) เป็นวิสาหกิจของคนไทยที่เป็นศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินที่ให้บริการทั่วราชอาณาจักรและเอเซียอาคเนย์ สำหรับในด้านข้อมูลถือเป็นศูนย์ข้อมูลที่มีข้อมูลภาคสนามที่ใหญ่และปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.area.co.th |
|