Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 718 คน
วงการประเมินค่าทรัพย์สินเวียดนามนำไทยซะแล้ว

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>

            คงต้องแสดงความยินดีกับเวียดนามและแสดงความเสียใจกับไทย ที่วงการประเมินค่าทรัพย์สินของเวียดนามมีความเจริญก้าวล้ำนำไทยไปแล้ว ไม่ใช่ก้าวล้ำไปเสียทุกด้าน แต่ประเด็นชี้ขาดก็คือ โครงสร้างพื้นฐานของวงการประเมินค่าทรัพย์สินได้รับการพัฒนาอย่างขนาดใหญ่ แต่ประเทศไทยกลับย่ำอยู่กับที่มาเป็นเวลานับสิบปี เราจะทำอย่างไรดี หรือจะปล่อยให้ประเทศไทยถอยหลัง

            การพัฒนาวิชาชีพในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ เป็นเครื่องชี้สำคัญว่า รัฐบาลใส่ใจประชาชนจริงเพียงใด ประชาชนได้รับการคุ้มครองเพียงใด วงการอสังหาริมทรัพย์มีวุฒิภาวะเพียงใด และประเทศจะมีการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนเพียงใด เพราะนักวิชาชีพเป็นผู้ให้บริการแก่ผู้บริโภค ที่พึงได้รับการคุ้มครองและตรวจสอบในเวลาเดียวกัน
            เมื่อปี 2548-2549 ผมได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลัง เวียดนาม ทำการศึกษาถึงแนวทางการยกระดับวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินที่นั่น ผมได้เสนอแนะลู่ทางการพัฒนาวิชาชีพหลายรายการ ไม่น่าเชื่อว่าแทบทุกข้อเสนอได้รับการตอบสนองและทำให้วิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินได้รับการพัฒนาอย่างขนานใหญ่
            แน่นอนว่าทุกวันนี้ผมยังบรรยายหรือจัดการสอนให้กับผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเวียดนาม ผมบินไปสอนที่นั่น หรืออาจารย์และนักวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินบินมาให้ผมสอนที่ประเทศไทย ความรู้ของผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเวียดนาม ยังควรได้รับการพัฒนาต่อเนื่องและพวกเขาก็ยินดีที่จะศึกษาอย่างแข็งขัน อย่างไรก็ตามโครงสร้างพื้นฐานของวงวิชาชีพนี้ กลับได้รับการพัฒนาอย่างเข้มแข็งกว่าไทย จนประเทศไทยต้องศึกษาว่าเวียดนามช่างทำได้อย่างน่าสนใจจริง ๆ

            1. รัฐบาลออกมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สิน ทั้งนี้ดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง มีการประกาศมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สินออกมาเป็นระยะ ๆ ได้ 6 มาตรฐานแล้ว ในปี 2551 จะออกอีก 3 มาตรฐาน มาตรฐานเหล่านี้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะทำงานของกระทรวง
            ในขณะที่ของไทย มีเพียงมาตรฐานที่ทางสมาคมของผู้ประเมินกำหนดขึ้นร่วมกับทางสำนักงานคณะกรรมการ กลต. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ นี่แสดงว่าในประเทศไทย ยังขาดหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพ ข้าราชการที่เกี่ยวข้องคงไม่อยากทำงานนี้

            2. ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินต้องจดทะเบียน โดยต้องผ่านการสอบโดยทางราชการ ขณะนี้มีผู้ผ่านการสอบแล้วประมาณ 200 คน บริษัทประเมินจากประเทศไหนก็ตามจะมาทำวิชาชีพประเมินได้ ต้องมีผู้ประเมินที่สอบและจดทะเบียนแล้วในเวียดนามจำนวน 3 คนเป็นอย่างน้อยต่อหนึ่งบริษัท ค่าสอบเป็นเงินคนละ 3,200 บาท (100 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการสอบ 8 วิชา
            สำหรับในประเทศไทย แต่เดิม กลต. ทำการสอบ และเริ่มจะมอบหมายให้สมาคมของผู้ประเมินดำเนินการ ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของทางราชการ เพราะสมาคมซึ่งก็ล้วนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพก็อาจไม่เป็นกลาง นอกจากนี้ค่าสอนยังแพงกว่านักวิชาชีพอื่นไม่ว่าจะเป็นทนาย นักบัญชี สถาปนิก วิศวกร และนายหน้า เป็นต้น

            3. ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสมาคม ก็สามารถประเมินได้ เพียงแต่ต้องผ่านการสอบและจดทะเบียนกับทางราชการ เขาถือว่าสมาคมเป็นกลุ่มผลประโยชน์ของนักวิชาชีพ ไม่ว่าจะบำเพ็ญประโยชน์อย่างไร ก็ยังต้องถือประโยชน์ของผู้ประกอบวิชาชีพเป็นสำคัญ ไม่ใช่ประโยชน์ของสังคม ในสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน ตราบที่ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินผ่านการสอบของแต่ละมลรัฐ ก็สามารถประกอบวิชาชีพได้
            ในประเทศไทยซึ่งรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการอะไรเท่าที่ควร ทิ้งภาระให้สมาคมดูแลกันเองตามมีตามเกิด ทั้งที่สมาคมก็มีสถานะเป็นกลุ่มผลประโยชน์ของเจ้าของบริษัทประเมิน หรือของผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเอง ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก

            4. เวียดนามมีการเชื่อมโยงกับนานาชาติอย่างจริงจัง รัฐบาลและสมาคมประเมินของเวียดนามเล็งเห็นความสำคัญของการสานความสัมพันธ์และความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศ โดยเข้าเป็นสมาชิกและร่วมกิจกรรมต่อเนื่องกับ International Valuation Standards Committee (IVSC) และได้รับความช่วยเหลือจากทั้ง Appraisal Institute จากสหรัฐอเมริกา และ Royal Institution of Chartered Surveyors จากสหราชอาณาจักร
            ในประเทศไทย มีเพียงสมาคมขนาดเล็กของวงการที่เป็นสมาชิก IVSC แต่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เรายังขาดการเรียนรู้จากต่างประเทศเท่าที่ควร ทั้งนี้คงเป็นเพราะผู้เกี่ยวข้องบางส่วนอาจไม่เล็งเห็นความจำเป็น

            เมื่อไม่ถึง 5 ปีมานี้ เวียดนามยังไม่มีวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินอย่างจริงจัง แต่ในขณะนี้มีผู้ทำงานประเมินนับพัน มีผู้ผ่านการสอบ 200 คน มีบริษัทประเมินราว 30 แห่ง แต่ที่ยังไม่มีผู้ประเมินที่ได้รับอนุญาตครบ 3 คน ยังมีอีกนับร้อย มีสมาชิกสมาคมของผู้ประเมินประมาณ 150 คน ในอนาคต วิชาชีพนี้ยังจะพัฒนาอีกมากในประเทศนี้

            การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในวิชาชีพนี้เป็นเพราะผู้เกี่ยวข้องในภาครัฐ และนักวิชาชีพ มีความตั้งใจ มีวิสัยทัศน์ และมีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาเพื่อวิชาชีพและประเทศชาติเป็นสำคัญ

หมายเหตุ
<1> ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นกรรมการที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย และกรรมการสภาที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งก่อตั้งโดยสภาคองเกรสเพื่อการควบคุมการประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org
<2> มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaiappraisal.org/
Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่