Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 1,195 คน
เล่ห์กลหาประโยชน์จากเรื่องโลกร้อน
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ : จุดประกาย วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 หน้า 4

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>

          โลกร้อนขึ้นคงไม่มีใครสงสัย การรักษาสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่ดี แต่การรณรงค์เรื่องโลกร้อนทำให้ใครได้ ใครเสียประโยชน์ ประเด็นนี้เป็นกรณีศึกษาของการโฆษณาชวนเชื่อในการทำให้ประชาชนมืดบอดหรือไม่ และถือเป็น “เครื่องมือทำมาหากิน” สำหรับใครบางคนหรือไม่
          ทุกวันนี้ แทบทุกคนคงได้ยินเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และเชื่อว่าทุกคนที่ได้ฟังคงชักห่วงใยต่อโลกในประเด็นนี้เช่นกัน แต่เมื่อนายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการรณรงค์เรื่องโลกร้อน <3> ผมกลับเริ่มสงสัยว่าสันติภาพไม่น่าจะเกี่ยวกับโลกร้อนโดยตรง ที่ผ่านมาคนอื่นที่โด่งดังเช่นท่านติช นัท ฮันห์ <4> ผู้นำพระสงฆ์ในสมัยสงครามเวียดนาม ก็ยังพลาดรางวัลนี้มาแล้ว ผมเชื่อว่าทุกวันนี้ผู้คนมักเชื่อไปในแนวทางเดียวกันโดยไม่มีโอกาสไตร่ตรองด้วยเหตุผล ผมจึงขอเสนอบทความนี้เพื่อต่อกรกับการครอบงำ และการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง

An Inconvenient Truth: เท็จหลายเรื่อง
          ท่านที่อ่านหนังสือหรือชมภาพยนตร์เรื่อง An Inconvenient Truth (AIT) <5> “คงรู้สึกตรงกันอย่างหนึ่งว่า อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน . . . คงจะไม่เป็นการเกินเลยไปนัก หากจะเรียกขบวนการดังกล่าวว่าเป็นภารกิจกู้โลก เพราะวิกฤตการณ์เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนนั้นเกิดขึ้นแล้วจริงๆ และกำลังส่งผลกระทบอย่างกว้างไกลเกินจินตนาการ” <6> วลีที่อ้างถึงนี้สะท้อน “อารมณ์” ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม AIT เป็นการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง และยังแสดงข้อมูลที่เป็นเท็จหลายเรื่อง <7> ซึ่งสังคมมักไม่มีโอกาสรับรู้ เช่น:
          1. การมองด้านเดียว: AIT ไม่เคยมองถึงบทบาทที่จำเป็นของน้ำมัน ก๊าซและถ่านหิน (Hydrocarbon) ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจน ช่วยเพิ่มอายุขัยของประชากร ฯลฯ AIT ละเลยอัตราการตายที่สูงขึ้นในยามที่โลกเย็นลงในอดีตที่ผ่านมา
          2. ความเข้าใจผิด: สาเหตุหลักของการตายของมนุษย์ปัจจุบันไม่ใช่เป็นเพราะภัยธรรมชาติ คล้ายกับการตื่นกลัวไข้หวัดนกจนเกินเหตุทั้งที่โรคปอดบวมทำคนไทยตายมากมาย โดยในปี 2550 ไม่พบคนป่วยและตายด้วยไข้หวัดนกในประเทศไทย แต่คนไทยป่วยด้วยโรคปอดบวมจนต้องนอนโรงพยาบาลถึง 88,841 ราย และตาย 765 รายในปี 2549 <8> นอกจากนี้ AIT ยังอ้างทำนองว่านักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกับตน แต่ความจริงเสียงส่วนใหญ่เห็นตรงข้ามกับ AIT
          3. การพูด “ใส่ไข่” จับเอาปรากฏการณ์ครั้งคราวมาเป็นสรณะ: การอ้างว่าหมีขั้วโลกจมน้ำตายเพราะน้ำแข็งละลายทั้งที่เป็นเพราะพายุ การกล่าวถึงฝนตกหนักถึง 37 นิ้วในนครมุมไบในปี 2548 ทั้งที่ตลอด 45 ปี ไม่พบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นเลย การโยงเรื่องโลกร้อนกับอุทกภัยในจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทั้งที่ใน 1-2 ศตวรรษก่อนมีอุทกภัยที่รุนแรงยิ่งกว่านี้มากมาย การโทษว่าโลกร้อนทำให้แนวปะการังเสียหายทั้งที่เป็นเพราะปัจจัยทางเฉพาะภูมิภาค ปัจจัยทางสังคมและอื่น ๆ การกล่าวว่าธารน้ำแข็งเกาะกรีนแลนด์จะเลื่อนลงสู่ทะเลทั้งที่ตั้งอยู่ในแอ่งที่ไม่มีทางออก
          4. การพูดผิดความจริง เช่น การอ้างว่าโลกร้อนในอดีตเป็นเพียงระยะสั้น ทั้งที่มีระยะเวลานับร้อยปีในอดีตที่เคยร้อนกว่าปัจจุบัน จนทำให้ครั้งหนึ่งชาวไวกิ้งสามารถไปตั้งถิ่นฐานในเกาะกรีนแลนด์ที่หนาวเย็นในขณะนี้ได้ การอ้างว่าโลกร้อนขึ้นมากทั้งที่เพิ่มเพียง 0.17 องศาเซลเซียสในรอบ 30 ปีล่าสุด และร้อนขึ้น 0.5 องศาเซลเซียสในรอบ 100 ปี และที่ผ่านมาก็มีลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ การอ้างว่าคลื่นร้อนยุโรปที่ทำให้คนตายมากมายเป็นผลจากโลกร้อนทั้งที่เป็นเพราะสาเหตุอื่น
          ในประเทศอังกฤษ มีการฟ้องศาลให้ห้ามฉาย AIT ในโรงเรียนมัธยม ศาลเห็นว่า AIT มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดไปถึง 9 ประการ แต่ให้ฉายได้โดยต้องเพิ่มเติมข้อมูลที่ถูกต้อง และให้ครูที่จัดฉายต้องชี้ให้นักเรียนเข้าใจถึงข้อผิดพลาดของ AIT ด้วย <9> แต่ในประเทศไทย เรากลับปล่อยให้ฉายหลอกลวงประชาชนอย่างหน้าตาเฉย ตัวอย่างความผิดพลาดสำคัญ ได้แก่ การกล่าวว่าหิมะบนยอดเขาคิลิมันจาโรซึ่งสูงถึง 6 กิโลเมตร ละลายเพราะภาวะโลกร้อน แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นแย้ง สาเหตุการละลายคงเป็นเพราะแสงอาทิตย์ การใช้ที่ดินโดยรอบตลอดจนความร้อนใต้พิภพหรืออื่น ๆ เพราะหากแม้ผิวโลกจะร้อนขึ้น อุณหภูมิบนยอดเขาก็ยังต่ำกว่าจุดเยือกแข็งอยู่ดี

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นแย้ง
          กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ 19,000 คนได้ร่วมกันลงชื่อใน The Petition Project <10> ว่า จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าการใช้ Hydrocarbon เพิ่มขึ้นทำให้เกิดภาวะโลกร้อนหรือภาวะเรือนกระจกแต่อย่างใด แม้โลกได้ร้อนขึ้นเล็กน้อย ก็ไม่ได้มีผลเสียหายร้ายแรง (อาจมีไวรัสบางชนิดเกิดขึ้น แต่ในช่วงโลกเย็นก็อาจเกิดโรคอื่น) แต่กลับเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในเขตอบอุ่น การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นผลดีต่อชีวิตสัตว์และทำให้การเพาะปลูกพืชผลได้มากขึ้น นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้จึงหนุนให้สหรัฐอเมริกาไม่ลงนามในพิธีสารเกียวโต <11> ซึ่งได้กำหนดข้อผูกพันทางกฎหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศภาคี
          บทวิพากษ์ของ The Petition Project ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า
          1. การกลับหนาว-ร้อนของโลกมีลักษณะที่เป็นวัฏจักร ไม่ใช่มีแต่ร้อนขึ้นอย่างเดียว ที่ผ่านมามียุคน้ำท่วมโลก และยุคน้ำแข็งสลับกันมาหลายครั้งแล้ว
          2. ธารน้ำแข็งเริ่มละลายมานานก่อนการใช้ Hydrocarbon เสียอีก และละลายเร็วในอัตราเดียวกันมาตลอด 150 ปีแล้ว
          3. อากาศที่ร้อนขึ้นเกิดจากสาเหตุหลายอย่าง ภาวะเรือนกระจกอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีสาเหตุอื่นอีกมาก เช่น แสงแดด เมฆ ความชื้น การเปลี่ยนแปลงของผิวน้ำในมหาสมุทร ความร้อนใต้พิภพ ฯลฯ
          4. พายุทอร์นาโดมีแนวโน้มลดลง ส่วนพายุเฮอริเคนจากมหาสมุทรแอตแลนติก ก็มีแนวโน้มคงที่ พายุขนาดใหญ่ เช่น Katrina <12> ในปี 2548 อาจเกิดได้เป็นครั้งคราว เราจึงไม่ควรถือเอาปรากฏการณ์ชั่วคราว มาทึกทักปะติดปะต่อกับภาวะโลกร้อน
          5. ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 7 นิ้วในรอบศตวรรษแต่เพิ่มมาก่อนยุคที่ใช้ Hydrocarbon ด้วยซ้ำไป     
          6. ป่าไม้ (ไม่ใช่สวนป่า) ในสหรัฐอเมริกาได้รับการปลูกเพิ่มขึ้น 40% ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการปลูกป่าก็อาจไม่ได้ช่วยแก้ไขโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญนัก <13>

อย่าให้ใครลวงให้ตื่นตูม
          มีอยู่ภาพหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นภาพทะเลสาบ Aral Sea ในคาซัคสถาน <14> ซึ่งแต่เดิมมีขนาดใหญ่มาก แต่กลับแห้งไป มีเรือจอดอยู่บนพื้นคล้ายทะเลทราย ภาพดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ห่วงใยโลกเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นภาพแห่งการโกหกอย่างร้ายกาจ เพราะการเหือดหายไปของทะเลสาบนี้ เป็นผลมาจากการสูบน้ำและเป็นที่คาดหมายมานานแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนแม้แต่น้อย


ที่มา: http://unimaps.com/aral-sea/aral-pic.gif

          ถ้าวันนี้เกิดการระเบิดของภูเขาไฟ ระดับเดียวกับ “กรากะตัว” ในอินโดนีเซียเมื่อปี 2426 เราคงลืมเรื่องโรคร้อนในบัดดล และนึกว่าโลกต้องแตกแน่แล้ว เพราะ “แรงระเบิดนั้นคร่าชีวิตทุกคนที่ยังอยู่บนเกาะ พื้นที่ร้อยละ 65.52 ของเกาะกลายเป็นเถ้าธุลีลอยสูงขึ้นไปถึง 80 กิโลเมตร ในรัศมี 240 กิโลเมตร เถ้าธุลีบดบังแสงอาทิตย์จนมืดมิดคล้ายตอนกลางคืน . . . อยู่ห่างถึง 4,776 กิโลเมตรก็ได้ยิน (เสียงระเบิด) . . . เกิดคลื่นสึนามิ สูงกว่า 30 เมตร . . . แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตรวจจับได้แม้แต่ที่สหราชอาณาจักร (อากาศยังเย็นลง 1.2 องศาทั่วโลกเป็นเวลาถึง 5 ปี)” <15>
          ท่านทราบหรือไม่ว่าแรงระเบิดของภูเขาไฟที่ร้ายแรงที่สุดก็คือภูเขาไฟ Tambora ในอินโดนีเซียเมื่อปี 2358 ในครั้งนั้นประมาณกันว่ามีขนาดเท่ากับระเบิดปรมาณู 60,000 ลูกรวมกัน ทำให้ท้องฟ้ามืดมิด ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมถึงอังกฤษ <16> แต่โลกเราก็รอดมาแล้ว และกลายเป็นปรากฎการณ์ที่คนส่วนใหญ่ลืมไปหมดแล้วในเวลาอันสั้น ดังนั้นเราจึงไม่ควรปริวิตกกับปรากฏการณ์ชั่วคราวจนเกินเหตุุ

กรณีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในไทย
          หลายคนเน้นใช้ความรู้สึกมาบอกว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ รุนแรงขึ้น แต่ความจริงก็คือ พายุหมุนเขตร้อนที่เข้ามาในประเทศไทยมีปริมาณลดลงตลอดในช่วงปี 2494-2549 รวมทั้งอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง พ.ศ.2539-2549 ก็ไม่แตกต่างกันเลย <17> ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยกลับลดลงนับแต่ปี 2483 ที่สำรวจ <18> ความรู้สึกที่ไม่อิงข้อมูล มักทำให้คิดตรงข้ามกับความจริง และมักจะรีบเชื่อเมื่อมีผู้ทำให้ตกใจ

            ส่วนที่เห็นน้ำท่วมโบสถ์วัดขุนสมุทร <19> นั้น คงเป็นเพราะการทรุดตัวของดินจากผลของการสูบน้ำบาดาลเกินขนาด การทำลายป่าชายเลน การพังทลายของตลิ่งและอื่น ๆ ซึ่งเป็นมาโดยตลอด ไม่ใช่เพราะภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด เป็นธรรมชาติรอบอ่าวไทย ที่บางส่วนของพื้นที่อาจถูกกัดเซาะ บางบริเวณก็กำลังเกิดที่งอก ในสมัยโบราณ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาแต่เดิมเป็นทะเลทั้งหมด ทุกวันนี้ใต้ท้องนาในจังหวัดอยุธยา ยังขุดทรายมาขายกันได้เป็นล่ำเป็นสัน วัดเจดีย์หอยที่อำเภอลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี ก็ยังพบเปลือกหอยทะเลมากมาย แค่น้ำทะเลกัดเซาะวัดขุนสมุทรและบริเวณใกล้เคียงเพียงเท่านี้ ยังเทียบอะไรไม่ได้กับการเกิดภาคกลางของประเทศไทยแต่อย่างใด

            ในประเทศไทยของเรา การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศยังเป็นเพราะปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา และเอ็นโซ ตามกระแสน้ำอุ่น <20> แต่กลับมีการกล่าวอ้างว่าเป็นเพราะภาวะโลกร้อนเป็นสำคัญ

สิ่งที่ต้องคิดทบทวน
          โปรดอย่าไพล่เข้าใจผิดว่า เราไม่ควรใส่ใจกับเรื่องโลกร้อนและพาลเข้าใจว่า เราละเลยการรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน บทความนี้เพียงมุ่งตรวจสอบการโฆษณาชวนเชื่อที่ขาดจรรยาบรรณ ทำให้สังคมขาดความรอบรู้และเกิดการคิดอย่างไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เราควรมีเวทีการถกเถียงเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนในวงกว้าง เป็นการส่งเสริมสังคมอุดมปัญญา มีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่สังคมที่สักแต่เชื่อกันด้วยศรัทธาอย่างมืดบอดอันถือเป็นอันตรายต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและปัญญา-ความรู้ของประชาชนในระยะยาว
          การใช้อวิชชาหลอกล่อให้คนเชื่อ เป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประหนึ่งเห็นชาวบ้านเป็นวัวควายที่อธิบายกันดีๆ ไม่ได้ ต้องหลอกล่อด้วยความกลัวถึงผลร้ายของภาวะโลกร้อนจนเกินจริง และด้วยการใช้ความน่ารัก-น่าสงสารของคน สัตว์และสิ่งของเพื่อให้คล้อยตาม โปรดสังเกตว่า “หมัดเด็ด” ในการปิดปากผู้สงสัยเรื่องโลกร้อนก็คือการป้ายสีพวกเขาว่าเป็นผู้ไม่หวังดีต่อโลก เราจึงควรมีการวินิจฉัยด้วยตนเองให้ชัดเจนตามหลักธรรมกาลมสูตร <21> ก่อนที่จะเชื่ออะไรง่าย ๆ
          ผู้ที่กล้าพูดความจริงบางส่วนเพื่อเอาประโยชน์ใส่ตนนับเป็นผู้ที่น่ากลัว สังคมพึงทราบว่าบ้านของนายอัล กอร์เองกลับใช้ไฟฟ้ามากกว่าคนอเมริกันทั่วไปถึง 20 เท่า ใช้เงินค่าไฟฟ้าและแก๊สรวมกันปีละเกินกว่า 1 ล้านบาท <22> คนทำดีพูดดีเรื่องโลกร้อนอาจสั่งสมบารมีจนได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา บางคนได้อาชีพเป็นนักอนุรักษ์ นักประท้วง นักแบกป้ายเพื่อ “กู้โลก” หาเลี้ยงชีพไปได้ชั่วชีวิต เป็นต้น
          การบิดเบือนความจริงเคยส่งผลเสียหายมากมายมาแล้ว เช่น การที่ NGO บางแห่งเคยให้ข้อมูลที่เป็นเท็จอย่างร้ายแรงว่า ประเทศไทยมีโสเภณี 2 ล้านคน ทำให้พจนานุกรมลองแมน เคยให้คำจำกัดความของกรุงเทพมหานครว่าเป็นนครแห่งโสเภณีในปี 2536 <23> จะสังเกตได้ว่านักเคลื่อนไหวทางสังคมมักพยายามโฆษณาว่าปัญหาที่ตนเกี่ยวข้องอยู่มีขนาดใหญ่ ด้วยหวังให้สังคมให้ความสนใจ แต่น่าเสียดายที่ทุกคนก็ใช้วิธีเดียวกันจนเฝือ สังคมเลย “มึน” และกลับคิดว่าปัญหาทั้งหลายนั้นสุดแก้ไข กลายเป็นปัญหาโลกแตกไป
          ทางออกสุดเท่ห์ของการแก้โลกร้อนก็คือการปลูกป่า (ซึ่งถือเป็นรูปแบบการทำดีที่นำสมัยและมีระดับ ไม่ใช่พื้น ๆ แบบการบริจาคให้มูลนิธิการกุศล) โดยไม่นำพาว่าจะรณรงค์ปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าอย่างจริงจัง ปีหนึ่ง ๆ ป่าไม้ไทยถูกทำลายไปมหาศาลกว่าป่าที่ปลูกใหม่ ต้นไม้ที่ปลูกอย่างลูบหน้าปะจมูกนี้ก็คงตายไปมากกว่าจะอยู่รอดได้ บาปของแฟชั่นการปลูกป่านี้ก็คือการช่วยบิดเบือน ปกปิดไม่ให้อาชญากรรมทำลายป่าได้รับการตระหนักโดยสังคมส่วนรวม
          การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ยังอาจถือเป็นการเบี่ยงประเด็นสาระสำคัญของปัญหาในโลกนี้ อันได้แก่ โรคภัยไข้เจ็บที่เผชิญอยู่ทุกวัน การกดขี่เอารัดเอาเปรียบต่อผู้ด้อยโอกาส สงครามและการก่อการร้าย อำนาจเผด็จการที่ปิดกั้นเสรีภาพประชาธิปไตย ตลอดจนการปล้นสดมภ์ของประเทศมหาอำนาจต่อประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น บางทีถ้าเราเอาเงินรณรงค์เรื่องโลกร้อนไปช่วยคนทุกข์ยากทางอื่น ยังอาจได้ประโยชน์ต่อสังคมมากกว่านี้

          บางที “นักบุญ” ที่พูดกับท่านถึงภาวะโลกร้อนนั้น แท้จริงอาจเป็น “ซาตาน” ผู้ก่ออาชญากรรม ตักตวงประโยชน์ทางการเมือง ฉกฉวยหาประโยชน์เฉพาะตน คนที่กล้า “แหกตา” พวกเราถึงเพียงนี้ น่าจะเป็นบุคคลอันตราย เราควรรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน แต่เราก็ควรส่งเสริมการระดมความคิด ถกเถียงค้นคว้าอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และมีสติ และต่อต้านความงมงายอย่างมืดบอดในทุกรูปแบบ ประเทศชาติจึงจะเจริญด้วยสังคมอุดมปัญญาที่แท้จริง

อ้างอิง
<1> ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นกรรมการที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย และกรรมการสภาที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งก่อตั้งโดยสภาคองเกรสเพื่อการควบคุมการประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org
<2> มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaiappraisal.org
<3> ข่าว “'อัล กอร์'-ไอพีซีซี โนเบลสันติภาพ” ไทยรัฐ 13 ต.ค. 50 http://www.thairath.com/offline.php?section=hotnews&content=64404
<4> รายละเอียดเกี่ยวกับพระติช นัท ฮันห์ http://en.wikipedia.org/wiki/Nhat_Hanh ซึ่งเป็นหนึ่งผู้ได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก
<5> เว็บไซต์เกี่ยวกับภาพยนต์นี้ดูได้ที่ http://www.climatecrisis.net และ http://www.an-inconvenient-truth.com
<6> เพชร มโนปวิตร บทความ “รายงานโลกใบใหญ่ / สิ่งแวดล้อม : An Inconvenient Truth กับภารกิจกู้โลก” ในนิตยสารสารคดี พฤศจิกายน 2549: http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=633
<7> โปรดอ่านบทวิพากษ์ภาพยนต์เรื่อง An Inconvenient Truth ได้ที่ Marlo Lewis  “A Skeptic's Guide to An Inconvenient Truth”: http://www.cei.org/pages/ait_response-book.cfm และ Mary Ellen Tiffany Gilder “Diagnosing Al Gore: Truth in the Balance” http://sitewave.net/news/MaryEllenGilder.htm
<8> ฝ่ายวิเคราะห์และประมวลข่าวสาร สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข 11 ตุลาคม 2550: “ในปี พ.ศ. 2549 . . . ผู้ป่วยโรคปอดบวมที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลอีก 88,841 ราย/ ตาย 765 ราย ซึ่งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นต้นเหตุ สำหรับในปี พ.ศ. 2550 จนถึงสัปดาห์ที่ 39 . . . มีรายงานผู้ป่วย. . . โรคปอดบวมที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลอีก 60,188 ราย ตาย 619 ราย . . . อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของกรมควบคุมโรคในปี 2550 นี้ยังไม่พบผู้ป่วยจากโรคไข้หวัดนก หรือผู้เสียชีวิต” ที่ http://www.moph.go.th/show_hotnew.php?idHot_new=9516
<9> โปรดอ่านข่าว “Gore climate film's nine 'errors'” BBC News, October 11, 2007: http://news.bbc.co.uk/1/hi/education/7037671.stm
<10> โปรดดูรายละเอียดของโครงการนี้ได้ที่ Petition Project http://www.oism.org/pproject/s33p1845.htm
<11> พิธีสารเกียวโต Kyoto ดูรายละเอียดภาค ภาษาอังกฤษฉบับเต็มได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Kyoto_Protocol หรือภาคภาษาไทยได้ที่ http://www.jgsee.kmutt.ac.th/greenhouse/unfccc/unfccc.php#unfccc
<12> ดูรายละเอียดพายุ Katrina ถล่มนครนิวออลีนส์ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Hurricane_Katrina
<13> ผลการศึกษาของ Lawrence Livermore National Laboratory เรื่อง “Plant a tree and save the Earth?” ที่ http://www.llnl.gov/pao/news/news_releases/2006/NR-06-12-02.html และเรื่อง “Models show growing more forests in temperate regions could contribute to global warming” ที่ http://www.llnl.gov/pao/news/news_releases/2005/NR-05-12-04.html
<14> อ่านรายละเอียด Aral Sea ได้ที่ http://unimaps.com/aral-sea/print.html
<15> อ่านรายละเอียดภูเขาไฟกรากะตัวได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/
<16> ราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง “ภัยภูเขาไฟ” http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?Search=1&ID=154
<17> ข้อมูลพายุจากกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ www.tmd.go.th/programs/uploads/cyclones/track-56y.pdf และข้อมูลอุณหภูมิเฉลี่ยต่อเดือนจาก http://service.nso.go.th/nso/nso_center/project/table/files/1100400/2549/000/
00_1100400_2549_000_000000_00500.xls
<18> ข่าว “อัล กอร์ มั่ว น้ำทะเลอ่าวไทยลดลงทุกปี” ไทยรัฐ 17 ตุลาคม 2550 http://www.thairath.com/news.php?section=society03&content=64807 และข่าว “อย่าตระหนก โลกร้อนไม่ทำให้กรุงเทพจมบาดาล” http://www.tei.or.th/hotnews/071116-globalwarming1-manager.htm
<19> โปรดดูได้ที่เว็บไซต์วัดขุนสมุทร สมุทรปราการ http://www.khunsamut.com
<20> ปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญา โปรดศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=17
<21> กาลามสูตร 10 คือ อย่าปลงใจเชื่อ 1.ด้วยการฟังตามกันมา 2.ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา 3.ด้วยการเล่าลือ 4.ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ 5.ด้วยตรรก 6.ด้วยการอนุมาน 7.ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล 8.เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน 9.เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ และ 10.เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา เราจะเชื่อก็ต่อเมื่อพิจารณาเห็นด้วยปัญญา (ที่มาคือ http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/002684.htm)
<22> ข่าว “เมื่อกระแสโลกร้อนย้อนมาเล่นงานอัล กอร์” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ 7-15 มีนาคม 2550 โปรดอ่านข่าวภาษาอังกฤษที่ http://www.guardian.co.uk/international/story/0,,2022869,00.html (The Guardian) และ http://www.usatoday.com/news/washington/2007-02-27-gore-house_x.htm (USA Today)
<23> โปรดอ่านข่าวดังกล่าวได้ที่ http://www.prospect-magazine.co.uk/article_details.php?id=6889
   
หมายเหตุ โปรดอ่านเพิ่มเติมในกระทู้ “กระทู้รวมพล คนที่ ‘ไม่เชื่อ’ ว่ามนุษย์ทำให้โลกร้อน” และประจักษ์หลักฐานรวมทั้งความเห็นเพิ่มเติมอื่น ๆ ที่มีต่อกระทู้นี้ http://www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X5912617/X5912617.html
Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่