CSR กับปาหี่ของวิสาหกิจข้ามชาติ
Construction and Property (March-April 2008 ISSUE 8) น.43-44
ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>
ที่จั่วหัวอย่างนี้เพราะในทุกวันนี้ มีการบิดเบือนความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นการอาสาทำดี กลายเป็นสังคมเป็นหนี้บุญคุณกับธุรกิจไปเสียอีก ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเผื่อมองต่างมุมบ้าง
ผมได้มีโอกาสไปสัมมนาระหว่างประเทศเรื่อง CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบของวิสาหกิจต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders: ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนและสังคม) ที่นครโฮชิมินห์ ประเทศเวียดนาม ในระหว่างวันที่ 27-28 กันยายน ศกนี้ ได้ข้อคิดบางประการมาแบ่งปันสำหรับผู้สนใจ
การสัมมนานานาชาติ
งานสัมมนาที่ผมไปร่วมก็คือ Asian Forum on Corporate Social Responsibility ซึ่งมีผู้เข้าร่วมถึง 550 ท่านจาก 34 ประเทศ มาจากองค์กรต่าง ๆ ถึง 369 แห่ง <3> โดยมีคนไทยเข้าร่วมสัมมนาประมาณ 20 ท่าน ผมเป็นหนึ่งในวิทยากร (Speaker) ที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมนำเสนอข้อคิดในงานนี้
งานสัมมนานี้เก็บค่าเข้าร่วมคนละ 20,000 บาท ด้วยค่าใช้จ่ายสูงเพียงนี้เลยทำให้บางคนไม่อาจเข้าร่วมได้ ผมเชื่อว่า สำหรับงานระดับนี้เก็บค่าใช้จ่าย
คนละ 10,000 บาท ก็เหลือเฟือแล้ว แต่งานนี้ยังมีผู้อุปถัมภ์รายใหญ่หลายต่อหลายราย รวมทั้งยังมีบูธออกงานอีกประมาณ 30 บูธ จึงเชื่อว่างานนี้ผู้จัด ฟัน กำไรไปพอสมควร
ข้อน่าสังเกตก็คือ งานสัมมนาแบบนี้ ผู้อุปถัมภ์รายใหญ่จองคิวเป็นวิทยากรเองแทบทั้งนั้น (แต่พอถึงเวลาบางคนก็ไม่มา) เรียกว่าเป็นงานโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ของวิสาหกิจใหญ่ ๆ ระดับโลกก็ว่าได้ วิทยากรอื่นที่ไม่ใช่ผู้อุปถัมภ์ (รวมทั้งผม) จะได้พูดเฉพาะในช่วงแบ่งกลุ่มย่อยเท่านั้น และแม้ในช่วงกลุ่มย่อย ก็มีกลุ่มวิสาหกิจใหญ่ ๆ จองคิวพูดไว้มากมายหลายแห่งเช่นกัน
ทำไมจัดที่เวียดนาม
ตอบง่าย ๆ ก็เพราะประเทศนี้กำลังเติบใหญ่สุดขีด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะประเทศนี้ค่าแรงถูก ยังมีทรัพยากรอยู่มากมายและที่สำคัญการเมืองมีความมั่นคงนั่นเอง ผมพบเพื่อนวิทยากรจากศรีลังกา ผมถามว่าประเทศเขาเป็นอย่างไร เขาตอบว่าลูก ๆ เขาอยู่สหรัฐอเมริกา เขายังแนะนำไม่ให้ลูกเขากลับประเทศ ส่วนตัวเขาเองแก่แล้ว (อายุ 60 ปี) ยินดีตายบ้านเกิด นี่แสดงขัดว่าความไม่มั่นคงทางการเมืองกีดขวางความเจริญของประเทศ
ดูอย่างบังคลาเทศ มีประชากรที่พูดภาษาอังกฤษได้มากมายไม่น้อยหน้าอินเดีย แต่เจริญน้อยกว่าเพราะขาดความมั่นคงทางการเมือง และยังขาดทรัพยากรอีกต่างหาก ส่วนพม่านั้น แม้ค่าแรงถูก ทรัพยากรก็มาก แต่ก็เป็นเพราะปัญหาทางการเมือง จึงมีคนไปลงทุนน้อย ประเทศจึงไม่เติบใหญ่เท่าเวียดนาม สำหรับประเทศไทยของเราก็มีดีทุกอย่าง ยกเว้นรัฐประหารที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ไทยถอยหลังเข้าคลองไปมากในสายตานานาชาติ <4>
วิเคราะห์วิสาหกิจข้ามชาติรายใหญ่
วิสาหกิจข้ามชาติรายใหญ่ ๆ ที่มาอุปถัมภ์การสัมมนานี้ซึ่งผมขออนุญาตไม่เอ่ยนาม ได้แก่ หนึ่ง วิสาหกิจคอมพิวเตอร์ชื่อดังสุดแห่งหนึ่งที่ผลิตระบบปฏิบัติการและโปรแกรมการใช้งาน (Application) สอง วิสาหกิจคอมพิวเตอร์ที่ผลิตสมองหรือหน่วยประมวลผลสำคัญ สาม วิสาหกิจมือถือและโทรคมนาคม สี่ เครื่องดื่มน้ำอัดลม ห้า วิสาหกิจผลิตเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น
ท่านทราบไหม คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเครื่องหนึ่งราคาประมาณ 13,000 บาท ประกอบด้วยสมองหรือหน่วยประมวลผลเป็นเงินถึงประมาณ 5,000 บาทแล้ว ที่เหลือเป็นตัวเครื่อง จอที่เป็น hardware ต่าง ๆ และถ้าเราอยากได้คอมพิวเตอร์ที่มีระบบปฏิบัติการและโปรแกรมการใช้งานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เราต้องเพิ่มเงินอีกประมาณ 10,000 บาท แม้จะมีการละเมิดลิขสิทธิ์กันมหาศาลในประเทศกำลังพัฒนา แต่ลำพังการขายกับลูกค้าในประเทศพัฒนา ก็ทำให้วิสาหกิจคอมพิวเตอร์เหล่านี้ฟันกำไรจนเจ้าของวิสาหกิจกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีกันหลายรายแล้ว การที่วิสาหกิจเหล่านี้มาทำดีเอาหน้า แต่ค้าขายกึ่งผูกขาดและรีดเลือดกับปูเช่นนี้ มีอะไรน่านับถือหรือ
ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ วิสาหกิจข้ามชาติเหล่านี้ ผลิตสินค้าต้นทุนแสนถูก แต่ขายได้แพงหรือไม่ก็อาศัยการขายจำนวนมาก เช่น ระบบโทรศัพท์มือถือ บางวิสาหกิจยังมีลักษณะกึ่งผูกขาด เช่น วิสาหกิจน้ำอัดลม หรือแม้แต่วิสาหกิจผลิตภัณฑ์คอนกรีตก็เป็นวิสาหกิจกึ่งผูกขาดที่จ่ายค่าสัมปทานย่อยหินเพียงน้อยนิด แต่ผลิตสินค้าขายในราคาแพง วิสาหกิจเหล่านี้จึงมีเงินทองมากมายเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ นัยหนึ่งเพื่อปกปิดการขูดรีด การผูกขาดหรือการทำลายสิ่งแวดล้อม
นิทานของวิสาหกิจยักษ์ใหญ่
ในวงสัมมนานี้ ซึ่งก็คล้ายในวงสัมมนา CSR ระดับโลกอื่น ๆ วิสาหกิจยักษ์ใหญ่เหล่านี้มักจะมาเล่านิทานหรือเรื่องดี ๆ ที่ตนทำ เช่น วิสาหกิจผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค ก็จะมุ่งไปที่การสร้างโอกาสงานแก่ประชาชนในฐานะผู้จำหน่ายสินค้า โดยพูดให้โก้หรูว่า เราเติบโต ท่านก็เติบโต เป็นต้น สำหรับวิสาหกิจโทรคมนาคมใหญ่แห่งหนึ่งก็คุยว่า ตนได้ทำศูนย์ข้อมูลหมู่บ้าน ซึ่งคล้ายกับอินเตอร์เน็ทคาเฟ่ในหมู่บ้าน และนำเสนอว่าชาวบ้านลงทุนเพียง 24,000 บาท จะมีรายได้เดือนละ 5,000 บาท และจะคุ้มทุนใน 2 ปี
วิสาหกิจผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคข้ามชาติในเวียดนามรายหนึ่งคุยว่า ตนวางแผนจะบริจาคเงินเพื่อการกุศลถึง 680 ล้านบาทสำหรับช่วงปี 2549-2553 เงินจำนวนนี้ดูมหาศาล แต่ความจริงเป็นเพียงประมาณ 0.74% ของรายได้ที่คาดการณ์ไว้ในช่วงดังกล่าว (92,240 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าต่ำมากหากเทียบกับข้อมูลการบริจาคของชาวบ้านทั่วไปของไทยที่บริจาคปีละ 2.69% ของรายได้ <5>
มีวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ผลิตสมองหรือหน่วยประมวลผลแห่งหนึ่ง ลงนามกับรัฐบาลเวียดนามว่า ตนจะไม่ทำธุรกิจที่ต้องจ่ายสินบนใด ๆ ให้กับข้าราชการทุกระดับชั้น อากัปกิริยาของวิสาหกิจดังกล่าวนี้ดู กร่าง พอสมควร แต่ผมเชื่อว่านี่เป็นแค่ ข้อยกเว้น ไม่ใช่สรณะเพราะเวียดนามอาจต้องง้อวิสาหกิจนี้ แต่วิสาหกิจใหญ่น้อยในประเทศเวียดนามเอง หากไม่ หยอดน้ำมัน บ้าง อะไร ๆ ก็ติดขัดไปหมด สู้คู่แข่งไม่ได้ จะให้วิสาหกิจเหล่านี้ ยอมตายประชดป่าช้า แล้วใครได้ประโยชน์ ไม่ใช่วิสาหกิจข้ามชาติดอกหรือ รัฐบาลหรือวิสาหกิจข้ามชาติโยนภาระปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงให้กับวิสาหกิจเอกชนทั่วไปตั้งแต่เมื่อไหร่
วิสาหกิจใหญ่กับ NGO
มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่ง ก็คือ วิสาหกิจใหญ่ ๆ อาจทำงานกับ NGO (Non-Governmental Organization หรือองค์กรอาสาสมัครเอกชน) ใหญ่ ๆ โดยเฉพาะ NGO ข้ามชาติ นัยว่าเป็นแบบคู่กัน (Tag team) NGO ก็ได้เงินมาทำงาน บ้างก็เชิญผู้บริหารวิสาหกิจใหญ่ ๆ มาเป็นกรรมการ เพื่อช่วยหาเงิน แต่ในอีกนัยหนึ่ง NGO ก็เป็นเครื่องมือทำดีให้กับวิสาหกิจใหญ่ ๆ ยิ่งกว่านั้นผู้บริหาร NGO ใหญ่ๆ ก็มีโอกาส ลืมตาอ้าปาก บ้างก็อาจมีโอกาสได้เล่นการเมือง เป็นสมาชิกรัฐสภาอันทรงเกียรติ หลังจากที่ได้ทั้งเงิน ทั้งกล่องมานานจากการรับจ้างทำดี
ลักษณะอย่างนี้อาจเรียกตามภาษิตไทยว่า น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า แต่ก็อาจแสดงนัยว่าเป็นภาวะที่ไม่ยั่งยืน กล่าวคือโครงการพัฒนาต่าง ๆ ต้องอาศัยแก่วิสาหกิจใหญ่ ๆ ให้การอุปถัมภ์ NGO เองก็ไม่สามารถหาเงินสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป และแน่นอนว่าวิสาหกิจใหญ่ ๆ ก็ใช่ว่าจะทำดีเป็นสรณะ แต่ทำเพื่อการส่งเสริมการขายเป็นสำคัญ
เราควรมี NGO ประเภทตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบหรือการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นการตรวจสอบวิสาหกิจใหญ่น้อยหรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐ น่าเสียดายที่ NGO ประเภทนี้มีน้อยมากในประเทศไทย
วิสาหกิจใหญ่ควรประชันอะไร
สิ่งที่ควรเป็นการแสดงถึง CSR ของวิสาหกิจใหญ่ ๆ (แต่แทบจะไม่เคยแสดงออกเลย) ก็ได้แก่ การประชันกันว่าวิสาหกิจของตนมีกระบวนการดำเนินงานอย่างไรที่แสดงถึงความโปร่งใสต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย การประหยัดทรัพยากรจริง (โดยไม่ใช่ผู้บริหารอยู่อย่างราชา ใช้จ่ายกันอย่างสุดฟุ่มเฟือย) การไม่เอาเปรียบลูกจ้าง การไม่ร่วมในขบวนการติดสินบนเจ้าพนักงานในงานประมูล การไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
ผมเคยเขียนไว้ว่า ถ้าจะดู CSR ของบริษัทมหาชน ก็ควรดูว่าวิสาหกิจเหล่านี้อยู่อย่าง ฟู่ฟ่า เอาเงินประชาชนมาปรนเปรอผู้บริหารอย่างเหลือล้นโดยขัดกับหลักความพอเพียงหรือไม่ ผู้บริหารใช้สถานะของวิสาหกิจขนาดใหญ่ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ หากเฉพาะเจาะจงในกรณีสถาบันการเงิน ก็ต้องดูที่ความโปร่งใส มีการเรียกรับเงินใต้โต๊ะหรือไม่ แอบปล่อยกู้แก่เครือญาติหรือไม่ ขโมยความคิดทางธุรกิจ หรือฉ้อฉลต่อคู่ค้าหรือลูกค้าหรือไม่ เราควรตั้งคำถามว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ประกอบกิจการที่หมิ่นเหม่ต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม ชอบ ชูธง CSR นัยว่าเพื่อกลบเกลื่อนการกระทำผิดกฎหมายของตนหรือไม่ <6>
นอกจากนี้ควรสังเกตว่าวิสาหกิจข้ามชาติรายใหญ่นั้น มีต้นทุนการผลิตแสนถูก ดังนั้นสิ่งที่ควรประชันเพื่อผู้บริโภคก็คือการคงราคาหรือลดราคามากกว่า เช่น กรณีคอมพิวเตอร์ หรือโทรคมนาคมที่กล่าวถึงในช่วงต้น หรือน้ำอัดลมที่ขายกันลิตรละ 25 บาทนั้น ต้นทุนค่าน้ำประปาเป็นเงินไม่ถึง 1 สตางค์ (ค่าน้ำประปาสำหรับประชาชนทั่วไปคิวละ 7.75 บาท) นี่แสดงว่าความมั่งคั่งไปสะสมอยู่ที่วิสาหกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น ยี่ห้อของเครื่องดื่มน้ำอัดลมรายหนึ่ง มีมูลค่าสูงกว่างบประมาณแผ่นดินไทยถึงเกือบ 2 เท่า <7>
ทำความเข้าใจเสียใหม่
หลายคนพอพูดถึง CSR กลายเป็นเรื่องทำดี เป็นเรื่องธรรมะไปเลย ผมค้านมาตลอด โปรดสังเกตว่าในเวที CSR มันวาดภาพที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เช่น
1. พอเอ่ยถึงธุรกิจ ก็พยายามเข้าใจแต่ด้านดี เป็น สัมมาอาชีวะ ความจริงธุรกิจก็คือ การงานประจําเกี่ยวกับอาชีพค้าขาย หรือกิจการอย่างอื่นที่สําคัญและที่ไม่ใช่ราชการ <8> ซึ่งก็คือกิจอะไรที่ได้เงินมาโดยไม่ได้เลือกวิธี ธุรกิจจึงมีทั้งสีขาว สีเทาหรือสีดำ เช่น เปิดบ่อนการพนัน เปิดสถานบริการทางเพศ ก็เป็นธุรกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตามเราควรส่งเสริมการทำธุรกิจธุรกิจที่ดี
2. ในอีกแง่หนึ่ง การหาประโยชน์ของธุรกิจหรือทำเงินถูกทำให้ดูคล้ายเป็น บาป แต่ความจริงการทำเงิน ไม่ใช่บาปตราบเท่าที่ไม่ได้ดำเนินไปด้วยความละโมบโลภหลง (Greed) หรือดำเนินธุรกิจแบบผิดกฎหมาย การบิดเบือนนี้อาจเห็นได้จากกรณีธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ผู้บริหารทำผิดพลาดจนทุนหายกำไรหด แต่กลับอ้างหน้าตาเฉยว่าเราไม่เน้นกำไร (ไปแสร้งเน้นทำดีเสียนี่)
3. มีความพยายามบิดเบือนความรับผิดชอบ (Responsibility) ให้กลายเป็นการกุศล (Philanthropy) อย่าให้ CSR กลายเป็นการทำบุญของ ไฮโซ (ไฮซ้อ) หรือพวกคุณหญิงคุณนายยุคใหม่ ที่มุ่งจะให้เพื่อการเอาหน้าเป็นสำคัญ และสิ่งที่พึงระวังก็คือการบริจาคเพื่อกลบเกลื่อนการละเมิดกฎหมาย หรือมุ่งหวังให้ผลกรรมของการทำชั่วดูเบาบางลง
4. ยังมีความพยายามที่จะบิดเบือน CSR ให้เป็นการอาสาทำดี (Volunteer) ความจริงธุรกิจที่ถูกกฎหมายจำเป็นต้องปฏิบัติผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนและสังคมโดยรอบตามกรอบของกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นเป็นสำคัญ ส่วนถ้าใครจะทำดี ก็ควรเรียกว่า CSC (Corporate Social Contribution หรือ Donation) ไม่ใช่ CSR (Corporate Social Responsibility)
โดยสรุปแล้ววิสาหกิจทั้งใหญ่และน้อยในประเทศไทย ต้อง มี CSR หรือความรับผิดชอบต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จะละเมิดกฎหมายไม่ได้ ส่วนการอาสาทำดีถือเป็นสิ่งที่ ควร ทำ ภาวะที่มีความรับผิดชอบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีระบบตรวจสอบที่ดีทั้งจากองค์กรอิสระภายใน NGO และสังคมโดยรวม และอย่าลืม อย่าปล่อยให้เกิดภาวะการทำดีเพื่อกลบเกลื่อนความชั่ว
หมายเหตุ |
|
<1> |
ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นกรรมการที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย และกรรมการสภาที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งก่อตั้งโดยสภาคองเกรสเพื่อการควบคุมการประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org |
<2> |
มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากwนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaiappraisal.org |
<3> |
โปรดดูรายละเอียดที่ http://www.asianforumcsr.com สำหรับจำนวนผู้เข้าร่วมสรุปไว้โดยทางสถาบันคีนัน |
<4> |
โปรดอ่าน บทความ ทำอย่างไรจึงจะปลอดรัฐประหาร เผยแพร่ในประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ 21 กรกฎาคม 2550 ที่
http://www.prachatai.com/ |
<5> |
โปรดดูรายละเอียดการคำนวณในบทความ CSR คือหน้าที่ใช่อาสา ในวารสาร Thai Appraisal Vol.5,No.5 กันยายน-ตุลาคม 2549 หน้า 18-19 ที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market130.htm |
<6> |
โปรดดูรายละเอียดใน คิดตามคุณบัณฑูร ล่ำซำ ที่ http://www.give2all.com/writer/view.php?id=656 |
<7> |
ในกรณีนี้ ไม่ต้องการพาดพิงถึงรายใดเป็นพิเศษ จึงไม่ระบุแหล่งอ้างอิง |
<8> |
บัญญัติตามราชบัณฑิตยสถาน โปรดค้นคำนี้ใน http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp |
|