Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 593 คน
คิดตามคุณบัณฑูร ล่ำซำ


ที่มา: http://pics.manager.co.th/Images/550000012549301.JPEG

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการบริหาร บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) <2>

          ผมเชื่อว่า คำว่า CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบของวิสาหกิจต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders: ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนและสังคม) ได้ถูกบิดเบือนไปเป็นอันมากในปัจจุบัน ด้วยการพยายามแปลงให้เป็นการ “ทำดี” หรือการให้ (แบบ “ลูบหน้าปะจมูก”) มากกว่าที่จะกล่าวถึงความสำนึกรับผิดชอบโดยไม่ละเมิดต่อ Stakeholders ซึ่งเป็นประเด็นหลักของ CSR ผมยังเชื่อว่าการบิดเบือนนี้กระทำโดยมุ่งหวังที่จะไม่รับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า
          เมื่อวันจันทร์ที่ 24 กันยายน ศกนี้ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคมได้เชิญคุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ไปแสดงปาฐกถาเนื่องในโอกาสเปิดสถาบันฯ ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผมได้มีโอกาสไปฟังปาฐกถาที่ดียิ่งนี้ จึงขออนุญาตถอดความตามที่ผมพอจับความได้และขอแสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อการพัฒนา CSR ในประเทศไทย

การให้-การไถ
          การให้หรือการบริจาคเพื่อการกุศล เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการสร้างภาพพจน์ที่ดี ยิ่งถ้าเป็นบริษัท ห้างร้านขนาดใหญ่ หรือสถาบันการเงิน ยิ่งเป็นเป้าของการ “ไถ” คุณบัณฑูรให้ข้อสังเกตว่า “ต้องให้บ้าง หากไม่ให้เลยก็กลายเป็นว่าไม่มีน้ำใจ” ยิ่งทำให้เสียภาพพจน์ไป อย่างไรก็ตามในปัจจุบันวิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่งได้พัฒนาจากการให้มาเป็นการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยตนเอง
          ผมเคยคำนวณไว้ว่าคนไทยบริจาคเงินเพื่อการทำบุญและเสีย “ภาษีสังคม” เป็นเงิน 2.69% ของรายได้ต่อครัวเรือนต่อปี รวมเป็นเงินประมาณ 96,361 ล้านบาทต่อปี <3> ท่านทราบหรือไม่ว่ายอดขายของบริษัทมหาชนทั้งหลายในตลาดหลักทรัพย์นั้นคาดว่าจะเป็นเงินประมาณ 5,768,036 ล้านบาท (อนุมานจากการคูณ 2 ต่อรายได้ครึ่งแรกของปี 2550) <4> หากบริษัทมหาชนทั้งหลายบริจาค 2.69% เท่ากับประชาชนทั่วไป ก็จะเป็นเงินสูงถึง 155,160 ล้านบาท ซึ่งคงจะสร้างคุณูปการได้มหาศาล แต่แน่นอนว่าบริษัทมหาชนเหล่านี้คงบริจาคน้อยกว่านี้ยิ่งนัก

ขีดขั้นของการทำดี
          คุณบัณฑูรกล่าวว่าการทำดีนั้น เราย่อมหวังให้คนยกย่อง เราจะทำดีได้ก็ต่อเมื่อเราช่วยตัวเองได้แล้ว ธุรกิจที่ยังปริ่มน้ำอยู่คือยังไม่รู้ว่าจะรอดหรือไม่ ก็คงมีโอกาสทำดีได้ยาก ข้อจำกัดของการทำดีก็คือผลการประกอบการที่ดีของวิสาหกิจ ถ้าเราทำดี ทำ green marketing แต่งบการเงินติดลบหรือตกต่ำ หรือผลประกอบการแย่ลง ก็คงทำดีต่อไปไม่ได้ แม้แต่ผู้บริหารก็ยังอาจตกงานได้
          ผมเชื่อว่าการให้เป็นการบำบัดจิตอย่างหนึ่ง มีผลต่อผู้ให้มากกว่า คือทำให้ผู้ให้สบายใจ หรือได้หน้า (มีน้อยคนนักที่คิดจะ “ปิดทองหลังพระ”) สำหรับคนรับนั้น ก็คงได้รับการบรรเทาปัญหา แต่คงไม่ได้ดีขึ้น เช่น คงไม่มีขอทานคนใดขอจนรวย แต่กฎทุกกฎก็มีข้อยกเว้น เช่น ชูชกในวรรณคดีหรืออาจมีชูชกในชีวิตจริงของ พ.ศ. นี้อยู่บ้าง

ให้แล้วสังคมดีขึ้นไหม
          คุณบัณฑูรตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจยิ่งว่า การทำดี เช่น การปลูกป่า การรณรงค์เรื่องโลกร้อน ฯลฯ นั้นทำให้สังคมดีขึ้นหรือไม่ ข้อนี้ไม่มีเครื่องชี้วัดที่ชัดเจน แต่หากดูข่าวจากหนังสือพิมพ์จะเห็นว่าสังคมตกต่ำลง แสดงนัยว่าการให้ที่ทำมาเนิ่นนานแล้วนั้น ไม่ได้ทำให้สังคมดีขึ้น บริษัทเอกชนย่อมไม่สามารถช่วยให้สังคมดีขึ้นด้วยการบริจาค เช่นเดียวกับสลัมที่แต่เดิมมีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง เดี๋ยวนี้หดหายไปมาก เพราะเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ประชาชนจึงสามารถลืมตาอ้าปาก ไม่ใช่มาจากการสงเคราะห์ของหน่วยงานใด ผมเคยเขียนไว้ว่า “หนึ่งพันแม่ชีเทเรซาก็ช่วยให้สลัมลดลงไม่ได้” <5>
          “เรากำลังเล่นลิเก” คุณบัณฑูรให้ข้อคิดและยังกล่าวว่าเราไม่ควรหลอกตัวเอง อย่างพูดถึงสิ่งแวดล้อม นักการเมือง ผู้ประกอบการต่างก็พูดถึง แต่หากทำไปแล้ว ทำให้เสียฐานคะแนนเสียง หรือกำไรหด ก็คงไม่มีใครทำ
          โดยนัยของการทำความดีนี้ ผมเห็นผู้คนไปร่วมงานนี้จนล้นห้องประชุมใหญ่ จนต้องจัดการถ่ายทอดสดที่ชั้น 1 และ ชั้น 11 ดูแล้วก็น่าชื่นใจในความสำเร็จแทนผู้จัด แต่อีกนัยหนึ่ง งานนี้ก็อาจเป็นเช่นงานอื่นที่ผู้คนไปกันมากมายเพราะมีรัฐมนตรีมาเปิดงาน และจัดโดยตลาดหลักทรัพย์ ทำให้บริษัทมหาชนทั้งหลายและผู้สนใจไปร่วมงานกันมาก หากเป็นหน่วยงานเล็ก ๆ จัดโดยไม่เก็บค่าลงทะเบียนใด ๆ เช่นนี้ ก็ใช่จะหาคนไปฟังได้มากมาย

กฎหมายกับคุณธรรม
          ถ้าเรายึดถือแต่ความดีลอย ๆ โดยไม่ยึดกฎหมาย ก็อาจตีความเลยเถิดไปว่า “แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดจริยธรรม” การบังคับให้คนทำในสิ่งที่ไม่ใช่ “หน้าที่ตามกฎหมาย” อาจเป็นการตัดสินคนอื่นตามอำเภอใจ ในโลกนี้ อาจมีคนเล็ดรอดจากช่องโหว่ของกฎหมายเพียงน้อยนิดบ้าง ซึ่งคงต้องยกประโยชน์ให้จำเลย ในขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องเร่งออกกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
          ในทางตรงกันข้ามทุกวันนี้กลับมีคนอ้างคุณธรรม แต่ละเมิดกฎหมายเป็นอาจิณ ผมเคยเขียนไว้ว่า ปัญหาสังคมทุกวันนี้ ไม่ใช่อยู่ที่คนทำดีน้อยไป แต่อยู่ที่คนละเมิดกฎหมายมากกว่า <6> วิสาหกิจหลายแห่งอาจดูแลแต่ผลประโยชน์ของ stakeholders ที่เป็นผู้ถือหุ้น แต่กลับละเมิดต่อลูกจ้าง คู่ค้า ลูกค้า ชุมชนหรือสังคม

ไม่มีคำตอบ
          คุณบัณฑูรยอมรับว่าท่านเองก็ไม่มีคำตอบว่าความพอดีอยู่ตรงไหนระหว่างผลประโยชน์ทางธุรกิจและสังคม ผมจึงขออนุญาตแบ่งปันความเห็นดังนี้:
          1. ผมเห็นว่า ก่อนอื่นเราควรแยกให้ออกระหว่างการอาสาทำดีกับความรับผิดชอบตาม CSR การอาสาทำดีเป็นโดยความสมัครใจและไม่อาจให้ใครมากะเกณฑ์ ย่อมไม่แปลกที่วิสาหกิจขนาดเล็กไม่อาจอาสาทำดีได้ แต่ความรับผิดชอบต่อทั้งผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง คู่ค้า ลูกค้า ชุมชนและสังคมโดยรอบ เป็นสิ่งที่วิสาหกิจไม่ว่าขนาดใดก็ไม่อาจปฏิเสธได้ ไม่อาจเบียดเบียนผู้อื่นด้วยการละเมิดกฎหมาย
          2. บริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่ง โฆษณาส่งเสริมการทำความดี (ที่ใช้เงินไม่มาก) กันยกใหญ่ แต่ไม่ได้ดูว่ามีความรับผิดชอบจริงหรือไม่ ถ้าจะดู CSR ของบริษัทมหาชน ก็ควรดูว่าวิสาหกิจเหล่านี้อยู่อย่าง “ฟู่ฟ่า” เอาเงินประชาชนมาปรนเปรอผู้บริหารอย่างเหลือล้น โดยขัดกับหลักความพอเพียงหรือไม่ ผู้บริหารใช้สถานะของวิสาหกิจขนาดใหญ่ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ หากเฉพาะเจาะจงในกรณีสถาบันการเงิน ก็ต้องดูที่ความโปร่งใส มีการเรียกรับเงินใต้โต๊ะหรือไม่ แอบปล่อยกู้แก่เครือญาติหรือไม่ ขโมยความคิดทางธุรกิจ หรือฉ้อฉลต่อคู่ค้าหรือลูกค้าหรือไม่ เราควรสังเกตว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ประกอบกิจการที่หมิ่นเหม่ต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม ชอบ “ชูธง” CSR นัยว่าเพื่อปกปิดการกระทำผิดกฎหมายของตนหรือไม่
          3. คุณบัณฑูรยังกล่าวว่า บางทีเราไม่กล้าพูดเพราะกลัวผู้มีอำนาจซึ่งคงหมายถึงอำนาจทางการเมือง และทางการเงินนั่นเอง เข้าทำนอง “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” เจ้าหน้าที่ภาครัฐเองก็อาจไม่บังคับใช้กฎหมายเพราะเกรงกลัวอำนาจ ตกลงทุกฝ่ายจึงได้แต่ “เล่นลิเก” ส่งเสริมการทำความดีกันยกใหญ่ โดยไม่มีโภคผลที่มีนัยสำคัญต่อสังคมโดยรวม

ทำธุรกิจอย่างไรให้สง่างาม
          แน่นอนว่าวิสาหกิจยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ที่รอดและกลับเติบโต ชูคอในสังคมได้ ก็เพราะโกงเขามา หรืออาศัยเส้นสายทางการเมืองจึงผูกขาดเติบโตได้ เราควรส่งเสริมจริยธรรมให้ถูกทางว่า เราไม่ควรยกย่องหรือเห็นแก่อำนาจของวิสาหกิจเหล่านี้
          สิ่งที่เราควรส่งเสริมก็คือ การทำธุรกิจให้สง่างาม ไม่ฉ้อโกงคนอื่นเพื่อความอยู่รอด ไม่ปลิ้นปล้อนหลอกลวงเพื่อความสำเร็จ เราควรส่งเสริมจริยธรรมที่ว่า เราไม่ควรทำธุรกิจประเภท “พายเรือให้โจรนั่ง” หรือ “ให้โจรพายเรือให้เรานั่ง” (ประสบความสำเร็จโดยไม่เลือกวิธีที่ใช้)
          เราควรส่งเสริมให้ผู้ริเริ่มประกอบธุรกิจ เลือกธุรกิจที่ไม่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย เรายังควรส่งเสริม CSR ด้วยการส่งเสริมให้วิสาหกิจทั้งหลายดำเนินงานตามครรลองของกฎหมาย ไม่ละเมิดกฎหมายเฉพาะในอุตสาหกรรมนั้น ๆ หรือไม่ละเมิดกฎหมายทั่วไป เช่น การฉ้อโกง เป็นต้น ที่สำคัญ เราควรส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรตรวจสอบทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อป้องปรามการละเมิดกฎหมายโดยเคร่งครัด

          โปรดส่งเสริมจริยธรรมให้ถูกทาง

หมายเหตุ
<1>

ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ยังเป็นกรรมการหอการค้าไทย สาขาจรรยาบรรณ และสาขาเศรษฐกิจพอเพียง และยังเป็นที่ปรึกษาสาขาอสังหาริมทรัพย์ ที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สินสหรัฐอเมริกาที่จัดตั้งโดยอำนาจของสภาคองเกรส และกรรมการบริหาร ASEAN Valuers Association  Email: sopon@area.co.th

<2>

AREA หรือ Agency for Real Estate Affairs เป็นศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำการสำรวจข้อมูลตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภาคสนามอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 เป็นที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์แห่งแรกและแห่งเดียวที่ได้รับมาตรฐาน ISO 9001 ทั้งระบบ และยังได้รับรางวัลบริษัทจรรยาบรรณดีเด่นของหอการค้าไทย โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.area.co.th

<3>

ประมวลใหม่จากฐานตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โปรดดู ดร.โสภณ พรโชคชัย ในบทความ “CSR คือหน้าที่ใช่อาสา” ในบิสิเนสไทย ฉบับวันที่ 11-17 ธันวาคม 2549 หน้า 23 ที่ http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market130.htm

<4>

โปรดดูรายละเอียดได้ที่ http://www.set.or.th/th/info/statistics/files/overall_Q2_50.xls

<5>

เพราะการช่วยเหลือชาวบ้านสลัม มักเป็นการบรรเทาคามเดือดร้อน ไม่ได้แก้ที่สาเหตุของความยากจน โปรดอ่าน ดร.โสภณ พรโชคชัย ในบทความ “หนึ่งพันแม่ชีเทเรซาก็ช่วยสลัมไม่ได้!” ที่ http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market161.htm

<6>

โปรดอ่านเพิ่มเติม ดร.โสภณ พรโชคชัย ในบทความ “มีจริยธรรมแต่ละเมิดกฎหมาย!” ในวารสาร Construction & Property มกราคม 2550 ที่ http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market140.htm

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่