Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 731 คน
ธุรกิจไม่เคยมีคำว่า “พอเพียง” มีแต่ “รุ่งเรือง”
วารสาร ThaiAppraisal มีนาคม-เมษายน 2550 หน้า 20

ร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>

          ตอนนี้คำว่า “พอเพียง” ถูกใช้กันจนเปรอะ ทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดไป ผมจึงขอทวนกระแส ด้วยการตอกย้ำให้ชัดเจนว่า สำหรับธุรกิจนั้น ไม่เคยมีคำว่า “พอเพียง” (แบบที่เข้าใจผิด) มีแต่คำว่า “รุ่งเรือง” หรือเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทั้งนี้ผมขอเสนอกรณีศึกษาหมู่บ้านอุมะจิ <3> ซึ่งทำธุรกิจบนพื้นฐานที่เป็นจริงแบบไม่เพ้อฝัน ไม่มีคำว่า “พอเพียง” แต่เป็นการประกอบธุรกิจอย่างมืออาชีพและแสวงหากำไร ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อทั่วไปในเรื่องความพอเพียง

ควรถูกลบไปนานแล้ว
          อุมะจิเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล มีประชากรเพียง 1,117 คน หมู่บ้านนี้เคยมีประชากรสูงสุดถึง 3,500 คนในสมัยอุตสาหกรรมป่าไม้รุ่งเรือง แต่พอไม้ใหญ่หมดไป ประชากรก็ทยอยย้ายออก อย่างไรก็ตามหมู่บ้านแห่งนี้ก็ยังมีคนเหลืออยู่ด้วยการทำหัตถกรรมไม้แปรรูปส่งขายต่างประเทศ การผลิตน้ำส้มสำเร็จรูปส่งขายทั่วประเทศ และมีการตั้งโรงแรมน้ำแร่ร้อนในหมู่บ้าน
          ผลิตภัณฑ์น้ำส้มของหมู่บ้านนี้แม้จะไม่ใช่อันดับหนึ่งของญี่ปุ่น เป็นเพียงอันดับต้น ๆ ของจังหวัดแต่ก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ก็เพราะความเป็นมืออาชีพในการบริหารธุรกิจโดยแท้ สินค้าที่จะประสบความสำเร็จ จึงไม่จำเป็นต้องมีรสชาติอันดับหนึ่ง แต่อยู่ที่การบริหารที่ดีเยี่ยมต่างหาก

การทำธุรกิจที่ไม่เพ้อฝัน
          หมู่บ้านนี้ไม่ได้ท่องคาถา “พอเพียง” ความสำเร็จของหมู่บ้านนี้ไม่ใช่มาจากความพยายามแบบมวยวัดแต่เป็นการหยั่งรู้จริงของการบริหารและจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบที่ควรค่าแก่การศึกษายิ่ง
          1. กลยุทธ์สำคัญในการจำหน่ายสินค้า ที่เน้นการติดต่อตรงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคเพื่อให้สามารถขายได้กำไรสูงสุดโดยผ่านคนกลางให้น้อยที่สุด
          2. การวิจัยเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอยู่เสมอ เช่น แต่เดิมแถบนี้ก็มีการผลิตน้ำส้ม แต่เป็นแบบเข้มข้นที่ต้องละลายน้ำ ผู้ซื้อเองก็อาจกะปริมาณน้ำที่จะผสมไม่ถูก รสชาติก็อาจเปลี่ยนไป หมู่บ้านนี้จึงคิดสูตรน้ำส้มแบบพร้อมดื่ม ซึ่งเป็นผลจากการวิจัยอย่างหนัก
          3. การลงทุนส่งเสริมการขายด้วยการออกร้าน ทำใบปลิว โปสเตอร์ การลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ออกหนังสือพิมพ์เอง ฯลฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของสินค้า ไม่ใช่การแบมือขอเอาจากทางราชการหรือรอใครมาส่งเสริม
          4. การลงทุนว่าจ้างมืออาชีพมาดำเนินการ ไม่ใช่ไปขอแรงฟรี ทั้งการออกแบบฉลากและหีบห่อการออกแบบสิ่งพิมพ์ก็ควรใช้บริการมืออาชีพที่มีหลักวิชาที่ถูกต้องเช่นกัน
          5. การสร้างความทันสมัย ทันโลก ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยี รู้จักใช้คอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังสร้างโฮมเพจเผยแพร่ข่าวสารไปได้ทั่วโลกอีกด้วย
          6. การสานสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า เช่น การส่งบัตรอวยพร การให้ความรื่นรมย์แก่ลูกค้าด้วยการพาไปตกปลา
          7. กลยุทธ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการหาเครื่องหมายรับรอง เช่น การล่ารางวัลมาช่วยเสริมบารมีสินค้าและสร้างแบรนด์
          8. การเปลี่ยนจุดอ่อนเป็นจุดแข็ง กล่าวคือ ใช้ความเป็น “บ้านนอก” ที่ใสซื่อเป็นจุดขายนั่นเอง
          หมู่บ้านนี้ยังสอนว่าผู้ประกอบธุรกิจที่ดีต้องพิจารณาการขยายตลาดอยู่เสมอ ไม่ใช่อ้าง “พอเพียง” อย่างหลับหูหลับตา การรู้จักลงทุนด้วยตัวเองคือการรู้จักพึ่งตนเองนั่นเอง

ธุรกิจไม่มีคำว่า “พอเพียง” 
          ถ้าความพอเพียงหมายถึงไม่ละโมบ ก็น่าจะเขียนว่า “ไม่ละโมบ” ไม่ใช่ “พอเพียง” ความล่มสลายของธุรกิจ SMEs หรือแม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ล้วนมาจากสาเหตุ 2 ประการคือ ประการแรกการขาดการศึกษาวิจัยที่ดี โดยมักใช้ลางสังหรณ์แทนข้อมูลที่ผ่านการสังเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และประการที่สองการลงทุนเกินตัว ซึ่งแสดงถึงความละโมบและขาดความพอดีกับความสามารถในการจ่ายคืนหนี้หรือการบริหารของตน
          ธุรกิจต้องก้าวหน้า พัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไปตลอดเวลา เราจึงต้องนึกอยู่เสมอว่า เราจะพัฒนาธุรกิจให้เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นได้อย่างไร และเพราะมีความรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้น จึงมีความยั่งยืน ความยั่งยืนไม่ใช่ความตายซากที่ดำรงอยู่ในตัวมันเอง แต่ความยั่งยืนเกิดจากความเจริญต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้งด้วยผลการศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโลกที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดหย่อนอยู่ทุกวันคนละเรื่องกับไทยเลย
          ประสบการณ์ของญี่ปุ่นเทียบกับไทยแล้ว มันคนละเรื่องกันเลย ชาวบ้านในหมู่บ้านไทย ๆ หรือแม้แต่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในไทย ยังไม่รู้จักการวางแผนธุรกิจด้วยซ้ำ แล้วอย่างนี้เราจะก้าวไปอย่างไรกัน เราต้องสอนกันใหม่แล้วว่าธุรกิจที่เป็นธรรมคืออะไร ไม่ใช่เอะอะก็อ้างแต่พอเพียง หรือไม่แสวงหากำไร การอ้างเช่นนี้อาจมีวาระชั่วร้ายซ่อนเร้นเพื่อปกปิดความไร้สมรรถนะของผู้บริหารว่าไม่สามารถทำกำไรได้ดีเช่นญี่ปุ่น
          การบริหารธุรกิจระดับหมู่บ้านญี่ปุ่นแห่งนี้ ไม่ได้ยืนอยู่บนระบบอุปถัมภ์หวังผลประโยชน์ซ่อนเร้นต่างตอบแทน และก็ไม่ใช่ประเภทบริษัทเท่าทุน-ขาดทุนแต่มุ่งเน้นผลกำไรอย่างชัดเจนและการขยายตัวอยู่เสมอ
          การอ้างความพอเพียง อาจเป็นการสร้างความยอมจำนน ไม่ใฝ่เรียนรู้ ไม่ศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เมื่อประชาชนเคยชินกับความยอมจำนนทางเศรษฐกิจ ต่อไปเราก็จะถูกทำให้เคยชินหรือยอมจำนนต่อความไม่ถูกต้องชอบธรรมอื่น ๆ ได้ โดยถือว่าธุระไม่ใช่ ประเทศไทยจึงเต็มไปด้วยคนดีที่ทนดูคนอื่นทำชั่วได้โดยไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย
          อย่ามาอ้างความดีกันส่งเดชเลยครับ ความดีไม่ได้อยู่โดด ๆ ความดีต้องอยู่คู่ความสามารถด้วย มรรคผลจากความสามารถล้วนเกิดจากความเพียร การใฝ่ศึกษา วิจัยหาความรู้และนำความรู้มาปฏิบัติอย่างไม่ย่อท้อ ไม่สะดุดกับคำว่า “พอเพียง” ความดีโดด ๆ ที่ไม่สร้างสรรค์นั้นไร้ค่าต่อส่วนรวม

 

หมายเหตุ
<1>

ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ยังเป็นกรรมการหอการค้าไทย สาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย และกรรมการบริหาร ASEAN Association for Planning and Housing  Email: sopon@thaiappraisal.org

<2>

มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiappraisal.org

<3> ท่านที่สนใจหมู่บ้านนี้ ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หนังสือ “ประสบการณ์ยิ่งใหญ่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ” ซึ่งเขียนโดยคุณมาซาฮิโกะ โอโตชิ และได้รับการแปลถ่ายทอดเป็นไทยโดยคุณมุทิตา พานิช สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา มีนาคม 2549
Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่