Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 711 คน

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการบริหาร บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส <2>

          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA)ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน และนักวิจัยอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาเมือง และการใช้ที่ดินมาตั้งแต่ปี 2525 โดยไม่เป็นนายหน้า/พัฒนาที่ดินเอง เพื่อความเป็นกลางทางวิชาชีพโดยเคร่งครัด เคยเป็นผู้เชี่ยวชาญในโครงการ ESCAP, UN-CHS, ADB, World Bank, FAO และ ILO เรียกได้ว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่มีชื่อเสียงในฐานะที่ปรึกษาทั้งในและต่างประเทศ

          ชีวิตการศึกษา ดร.โสภณ นั้นจบวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology) ได้รับประกาศนียบัตร การพัฒนาที่อยู่อาศัย มหาวิทยาลัยคาทอลิกลูแวง (Katholieke Universiteit Leuven) เบลเยียม รวมทั้ง ประกาศนียบัตร การประเมินค่าทรัพย์สิน สถาบันนโยบายที่ดินลินคอล์น (LRTI-Lincoln Inst. Land Policy) บอสตัน

          ดร.โสภณ กล่าวอีกว่า ชีวิตที่ประสบความสำเร็จมาได้ทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่าการอ่านมีส่วนสำคัญอยู่ไม่น้อย โดยสนใจอ่านหนังสือประเภทธุรกิจประเมินสินทรัพย์ อ่านแล้วทำให้เราได้เข้าใจ เมื่อเราเข้าใจแล้วก็ทำให้เราลงมือปฏิบัติได้อย่างไม่ผิดพลาด ซึ่งหนังสือที่อ่านแล้วมีความประทับใจคือ หนังสือ อะไรนะ? ความมั่นคงของมนุษย์ เขียนโดย อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งหนังสือ ประสบการณ์ ยิ่งใหญ่ ในหมู่บ้านเล็กๆ เขียนโดย มาซาฮิโกะ โอโตชิ และมุทิตา พานิช เป็นผู้แปล

          หนังสือเล่มนี้ของ มาซาฮิโกะ โอโตชิ มีสาระดีให้เห็นบรรยากาศพื้นถิ่นและความเป็นบ้านนอก (แบบญี่ปุ่น) คือ จุดขายของบ้าน 'อุมะจิ' สะท้อนออกมาทาง 'ผลิตภัณฑ์แปรรูปยูสุ' ซึ่งชักนำความสนใจของผู้คนมาสู่หมู่บ้านกลางหุบเขา เรื่องราวผลสำเร็จของชาวบ้านที่สร้างรายได้เลี้ยงตัวเองโดยไม่ต้องรอพึ่ง เงินหรือโครงการจากรัฐ เป็นการ 'พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน' ที่เริ่มต้นจากคนในพื้นที่อย่างแท้จริง อ่านแล้วมีการเล่าเรื่องให้เราได้ติดตามดี

          ดร.โสภณ บอกด้วยว่า ผู้เขียนได้เริ่มต้นจากความรู้ผ่านการใช้ชีวิต การค้นหาศักยภาพและคุณค่าของทรัพยากรชุมชน สั่งสมกรองกลั่นเป็นวิธีปฏิบัติที่สอดคล้องกับธรรมชาติและผู้คนในท้องถิ่น แม้ประชากรในหมู่บ้านจะเบาบางเนื่องจากหนุ่มสาวออกไปทำงานตามเมืองใหญ่ แต่ยังมีความพยายาม ความหวัง ปนเปอยู่ในความยากลำบากของการ 'เริ่มต้น' ที่จะทำ แล้วพลังของคนในหมู่บ้านก็ปรากฏออกมา

          วิธีการเล่าเรื่องของผู้เขียนได้ช่วยเน้นย้ำให้คนอ่านใส่ใจต่อข้อมูลของหมู่บ้านที่เขาพยายามนำเสนอ และบริบทขยายข้อมูลเดิมที่เล่าซ้ำนั้นก็ต่างกันไปในแต่ละช่วง อาจเป็นความจงใจของผู้เขียนหรือเป็นเพราะวิธีการเล่าแบบเล่าซ้ำอีกต่อหนึ่ง ท้ายที่สุด ก็ยังนับว่าเป็นเรื่องเล่าที่ชวนขันและน่าติดตามเพื่อลงลึกในเชิงเนื้อหา กว่าจะมาเป็น 'หนึ่งผลิตภัณฑ์' ที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามากกว่าสองแสนรายหรือเกือบสองร้อยเท่าของประชากรในหมู่บ้าน มีโจทย์น่าสนใจหลายอย่างอยู่เบื้องหลังผลสำเร็จ

          "พอได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้วก็รู้สึกว่า ทำให้เรามองชีวิตที่เป็นจริงของชีวิตแบบพอเพียง แล้วญี่ปุ่นเองจะมีชีวิตแบบพอเพียงอย่างเดียวไม่พอเขาเองจะต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจจริงๆ ว่าจะต้องหาเงินมาได้อย่างไร ไม่ใช่ทำแบบพอเพียง หรือทำเป็นบริษัทเท่าทุน บริษัทขาดทุน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องอุดมคติไม่ใช่ของแท้ และของแท้จริงๆ ต้องเป็นคนที่หาเงินได้เยอะๆ เพื่อนำมาจุนเจือหมู่บ้านในการพัฒนาชุมชนเขามองว่าเป็นเรื่องสำคัญ" ดร.โสภณ กล่าว

          พร้อมกันนี้ ดร.โสภณ ยังบอกด้วยว่า สิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ถ้าพูดถึงเรื่องธุรกิจว่าทำอะไรแล้วจะต้องมีการวางแผน และจะต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างลึกซึ้ง ในหนังสือเล่มนี้เป็นหมู่บ้านที่ผลิตชาที่กว่าจะนำมาผลิตขายจะต้องมีการทดสอบอยู่หลายครั้ง จนได้ชาที่ดีที่สุดออกมาค้าขาย และนี่ไม่ใช่ชาที่ดีที่สุดแห่งเดียวของญี่ปุ่นเท่านั้น ยังมีอีกหลายแห่ง แต่หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นถึงระบบการจัดการที่ดีเยี่ยมของชุมชน โดยเขาไม่ได้มองที่รสชาติของชาเพียงอย่างเดียว

          หากใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะได้เรียนรู้ถึงการทำธุรกิจขนาดย่อม เราจะเห็นว่า มีร้านแมคโดนัลด์ กับร้านอาหารพื้นเมืองอยู่ด้วยกัน คนส่วนใหญ่ก็จะเลือกกินแมคโดนัลด์แทน เพราะทุกคนยังติดในรสชาติและการจัดการที่ดี นี่เป็นแบบอย่างให้กับทุกคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้

          อย่างไรก็ตาม ดร.โสภณ ได้พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "คนเราอ่านหนังสือจะต้องคิดเสมอว่าเป็นการเสริมสร้างความรู้ ถ้าเราไม่อ่านเราก็จะไม่มีความรู้ เช่น ทำธุรกิจเกี่ยวกับทัวร์ก็ยิ่งต้องอ่านถ้าไม่อ่านก็จะอธิบายไม่ได้ ยิ่งคอมพิวเตอร์เราก็ต้องเรียนรู้เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยี ดังนั้น การอ่านยังมีความจำเป็นต่อสังคมโลกเราอยู่เสมอ อยากฝากถึงเยาวชนทุกคนการอ่านอะไรบ่อยๆจะทำให้เราจำ

          และสิ่งสำคัญจะต้องอ่านในเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ด้วย" 0

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่