คุณธรรมในธุรกิจ
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ประชาชาติธุรกิจ 12 กุมภาพันธ์ 2550 (หน้า 38) และ 19 กุมภาพันธ์ 2550 (หน้า 42)
ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>
ผมได้รับมอบหมายจากเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) <3> และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรมให้เป็นผู้ให้ความเห็นงานวิจัยและร่วมอภิปรายเรื่อง รวมพลังขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมตามบริบทกลุ่มธุรกิจ ในงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและตลาดนัดคุณธรรม ครั้งที่ 2 ในวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2550 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผมจึงขอนำเสนอสิ่งที่ผมพอเก็บความไว้ได้เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับองค์กรใดครับ
งานวิจัยคุณธรรมในธุรกิจ
งานวิจัยที่นำเสนอในที่ประชุมชิ้นนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเพราะมุ่งศึกษาคุณธรรมกับธุรกิจในกรณีของ บมจ.บางจากปิโตรเลียม (บางจากฯ) งานในลักษณะนี้มีน้อยและสมควรส่งเสริมให้มีการศึกษามากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเผยแพร่ให้กว้างขวางเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของสังคม
อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้มีข้อควรปรับปรุงบางส่วน ประการแรกคือเรื่องการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีทัศนคติเชิงบวกกับบางจากฯ จึงทำให้ 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่ารู้ถึงการทำความดีของบางจากฯ เป็นสำคัญ การทำวิจัยควรกระจายกลุ่มตัวอย่างให้ดี ไม่ควรสัมภาษณ์นักศึกษาฝึกงานของบางจากฯ ถึง 46 รายจาก 132 ราย (35%) ไม่ควรเจาะจงเลือกผู้ที่คุ้นเคยกันถึง 45 ราย (34%) ประการที่สองคือการนำเสนอที่จำกัดเพียงตารางเดียวทั้งที่ได้สัมภาษณ์ไว้มาก และที่มักอ้างอิงเพียงคำพูดของผู้ตอบมาสนับสนุนความคิดของผู้วิจัย ประการที่สามคือการที่ผู้วิจัยใช้ความเชื่อของศาสนาพุทธ (แนวสันติอโศก) มาเป็นหลักวิเคราะห์ ผู้นับถือศาสนาอื่นหรือศาสนาพุทธแนวอื่นอาจเห็นต่างได้ ในรายงานอาจนำเสนอคำสอนไว้มากเกินผลการสำรวจ และประการสุดท้ายคือความเกี่ยวพันระหว่างผู้เขียนกับบางจากฯ และสันติอโศกจนกลายเป็นการมองเฉพาะจากมุมภายใน
ตัวตนของบางจากฯ มีความดีเด่นอยู่พอสมควร แต่งานวิจัยเป็นการศึกษาที่ควรยึดถือจรรยาบรรณแห่งความตรงไปตรงมา (objectivity) ด้วยเครื่องมือที่เป็นกลาง ไม่ใช่การสัมภาษณ์จากคนกันเอง โดยขาดความเห็นที่เป็นอิสระ ซึ่งทำให้ขาดน้ำหนักในการพิสูจน์แนวคิดที่เป็นเค้าโครงงานวิจัย
ประเด็นคำถามในงานวิจัย
ในงานวิจัยระบุว่าปั๊มชุมชนบางจากฯ 500 แห่ง มีเงินหมุนเวียนปีละ 3,500 ล้านบาท และเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนถึง 1 ล้านครัวเรือน (4-5 ล้านคน) ข้อนี้แสดงว่าแต่ละปั๊มขายน้ำมันได้เฉลี่ย 600,000 บาท/เดือน ในขณะที่ปั๊มน้ำมันทั่วไปขายน้ำมันได้เดือนละเฉลี่ย 8-10 ล้านบาท (ปั๊มเจ็ตที่ขายดีกว่าอาจได้เฉลี่ย 20 ล้านบาท) <4> ปั๊มทั่วไปอาจจ้างแรงงาน 10-20 คน 500 ปั๊มย่อมสร้างงานได้ 5,000 10,000 คน ดังนั้นการระบุว่าปั๊มชุมชนจะเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนถึง 4-5 ล้านคน จึงอาจสูงเกินไป นอกจากนี้การวิจัยยังควรประเมินประสิทธิภาพการบริหารปั๊มชุมชนดังกล่าวด้วย
สิ่งที่ควรศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในอนาคต ได้แก่ การศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นว่าคุณภาพ/คุณธรรมของพนักงานบางจากฯ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับพนักงานในวิสาหกิจเทียบเคียงจริงหรือไม่ หรือการศึกษาความคิดเห็นของประชาชนรอบโรงกลั่นโดยการสุ่มตัวอย่างสัก 500 รายจากครัวเรือนนับหมื่นโดยรอบ (ไม่ใช่ถามเพียง 4 รายเช่นที่ผ่านมา) เพื่อประเมินภาพพจน์และผลกระทบของบางจากฯ รวมทั้งการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของบางจากฯ กับวิสาหกิจเทียบเคียงทั้งในภาพองค์รวม รายได้ต่อหัว กำไรสุทธิต่อหัว และงบโฆษณา เป็นต้น
ธุรกิจกับคุณธรรม
ในการสัมมนาผมได้เรียนรู้ด้วยความชื่นชมว่า ในวงการธุรกิจเสื้อผ้าซึ่งกำลังย่ำแย่ ก็กลับดีขึ้นได้ด้วยอานิสงส์จากการทำเสื้อเหลืองสำหรับงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และแม้วิสาหกิจแห่งหนึ่งจะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผลิตเสื้อเหลืองเป็นรายแรก ๆ แต่ก็ไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นความน่าชื่นชม (หากฉวยโอกาสก็อาจเสียชื่อเสียงไปได้) วิสาหกิจดังกล่าวชื่อ สยามแฮนดส ซึ่งหมายถึงการผลิตโดยมือคนไทย อย่างไรก็ตามด้วยความจำเป็นของธุรกิจซึ่งต้องใช้โควต้าส่งออกของลาวและแรงงานราคาถูก วิสาหกิจดังกล่าวจึงขยายไปตั้งที่นั่น (ต่อไปคงเป็นลาวแฮนดสเช่นกัน) วิสาหกิจดังกล่าวยังไปสอนให้แม่บ้านบางส่วนของหมู่บ้านชาวมุสลิมแห่งหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตัดเย็บเสื้อเหลือง และในอนาคตกำลังจะขยายไปอีกแห่งหนึ่ง นี่เป็นความพยายามช่วยชาติของวิสาหกิจเอกชนแห่งนี้ แต่น่าเสียดายที่ปัญหาชายแดนภาคใต้ยิ่งลุกลามขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ผมยังได้เรียนรู้ว่าเครือสหพัฒน์เป็นวิสาหกิจไทยขนาดใหญ่ที่จ้างพนักงานถึง 40,000 กว่าคน ด้วยค่าจ้างเดือนละ 300 กว่าล้านบาท ใหญ่เท่ากับกระทรวงหนึ่งทีเดียว ผิดกันเพียงว่ารัฐบาลไม่ต้องอุ้มชูด้วยงบประมาณแผ่นดิน ทั้งยังได้รับภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากวิสาหกิจนี้ จากตัวเลขข้างต้น วิสาหกิจแห่งนี้จ่ายค่าตอบแทนราว 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน ถ้าไม่เอารายได้ของพนักงานระดับกลางและสูงมาเฉลี่ยด้วย ค่าตอบแทนของพนักงานระดับล่างซึ่งเป็นพนักงานส่วนใหญ่ก็อาจไม่สูงนักเมื่อเทียบกับวิสาหกิจเทียบเคียงอื่น แต่กระนั้นวิสาหกิจแห่งนี้ก็สามารถสร้างงานได้มหาศาลแก่สังคมอย่างน่าชื่นชม
การเปลี่ยนคนด้วยศาสนา
โดยทั่วไปมีการรณรงค์ให้ประชาชนยึดมั่นในศาสนา งบประมาณการรณรงค์เพื่อการนี้อาจสูงขึ้น กิจกรรมรณรงค์อาจมากขึ้น แต่การเข้าถึงศาสนาก็กลับน้อยลง หลายท่านคงเคยได้ทราบผลการศึกษาหนึ่ง (จำแหล่งอ้างอิงไม่ได้) ว่าในโลกนี้ศาสนาที่มีผู้นับถือเพิ่มขึ้นคือศาสนาอิสลาม ศาสนาที่มีผู้นับถือคงที่ก็คือคริสต์ ส่วนศาสนาพุทธมีผู้นับถือน้อยลงตามลำดับ การนี้ผู้เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ศาสนาพุทธอาจโทษกระแสโลกาภิวัฒน์เป็นแพะรับบาป แต่สิ่งที่ควรฉุกคิดก็คือการโทษปัจจัยภายนอกเช่นนี้อาจทำให้ละเลยการตรวจสอบว่าการรณรงค์ทางศาสนาที่ใช้งบประมาณมากมายนั้นอาจขาดการวางแผนที่ดี ดำเนินการขาดประสิทธิภาพและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงจนกลายเป็นความสูญเปล่าไปหรือไม่
สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ การยกศาสนาหรือความดีมานำเสนอนั้น คนที่ได้ดีเพิ่มขึ้นอาจไม่ใช่คนฟังแต่เป็นคนพูดที่อย่างน้อยได้หน้า ได้ภาพพจน์ ยิ่งถ้าพูดหรือสรรหาคำคมได้ประทับใจเพียงใด ยิ่งได้ผลเพียงนั้น ในวงการศาสนา ทุกท่านก็คงเคยได้ยินว่าพระรูปใดที่มีน้ำเสียงการเทศน์ที่ไพเราะก็มักเป็นที่นิยมของญาติโยม การนี้แสดงว่าเรายังยึดติดอยู่ในเปลือกหรือรูปแบบมากกว่าแก่นหรือสาระ
การอธิบายบนหลักการที่เข้าใจได้
ในการอธิบายการทำดีนั้นแทนที่จะเอาความเชื่อทางศาสนามาอ้างอิง เราควรจะอธิบายบนพื้นฐานที่เป็นจริง เช่น ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้านั้นไม่ใช่การทำดีตามที่บัญญัติในหลักศาสนา แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำในภาคบังคับตามกฎหมาย คือหากไม่ซื่อสัตย์ ฉ้อโกงลูกค้า ก็อาจถูกลูกค้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ทำให้เสียชื่อเสียง ความเชื่อถือหมดไป การยึดถือความซื่อสัตย์จึงทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน ได้รับการต้อนรับจากลูกค้าและเติบโตต่อไปด้วยบริการหรือสินค้าที่มีคุณภาพสมราคา การอธิบายเช่นนี้จะเข้าใจได้ง่ายและชัดเจนโดยไม่ต้องอาศัยบทบัญญัติของศาสนาใดมากล่าวอ้าง
ในอีกแง่หนึ่ง เราจะปฏิเสธหลักการ ความเข้าใจตามมาตรฐานสากล เช่น CSR หรือ ISO ไม่ได้ เรามาคุยกันในเรื่อง CSR เราจะบอกว่าเราไม่รู้จักไม่ได้ เราจะบอกว่าเราไม่ชอบเพียงเพราะว่าเป็นสิ่งที่ฝรั่งกำหนดมา ก็คงไม่ได้ เพราะทั่วโลกยอมรับ เราจะบอกว่าหลักศาสนาของเราครอบคลุมกว้างขวางกว่า CSR หรือ ISO ก็ไม่ได้เพราะเท่ากับเราไม่ยึดถือกติกา ตีรวน การพูดเช่นข้างต้นนี้ล้วนเป็นการ discredit ผู้พูดเอง การไม่อธิบายบนหลักการที่ถูกต้องย่อมเท่ากับบิดเบือน เช่น CSR หมายความรับผิดชอบ (ไม่ใช่อาสาทำดี) ของวิสาหกิจต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนและสังคมโดยรอบอย่างเหมาะสมคือไม่ไปละเมิดหรือเบียดเบียนฝ่ายใด <5> เราจะตีความเป็นเพียงกิจกรรมการกุศลแบบคุณหญิงคุณนายสมัยก่อนหรือกลายเป็นเพียงกลยุทธเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อในสมัยใหม่คงไม่ได้
ควรพิจารณาบนฐานความจริง
บางครั้งเราอาจบอกว่าประเทศไทยยิ่งพัฒนายิ่งจน แต่ความจริงคนยากจนได้ลดลงเหลือเพียง 10% ในขณะที่ลาวและกัมพูชามีคนยากจนสูงถึง 40% <6> ประชาชนของเขาก็ยังมีชีวิตคล้ายชนบทดั้งเดิมของไทยและยังมีวัฒนธรรมประเพณีที่เหนียวแน่นกว่าเรา ถามว่าเราอยากแลกสถานะกับเขาไหม อยากไปอยู่อาศัยในประเทศเพื่อนบ้านแทนไหม (ไปเที่ยวคงได้ ไปอยู่คงไม่ไหว)
เราควรมองการลงทุนของต่างชาติอย่างแยกแยะ ถ้ามาเอาเปรียบคนไทย ก็คงยอมรับกันไม่ได้ การที่ต่างชาติมาลงทุนก็แสดงว่าประเทศเรามีศักยภาพดี การลงทุนของต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ประเทศไทยเจริญขึ้น การที่โลกเปลี่ยนแปลงไปก็ย่อมมีปัญหาและโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้น จะมองด้านเดียวไม่ได้ จะหยุดหรือย้อนยุคไปพึ่งตนเองแบบไม่ลืมหูลืมตา ชาวบ้านเขาคงไม่เอา
เราต้องการ คนดี แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าใครดี บางท่านบอกว่าเราวัดได้ด้วยการถามว่า รักแม่ไหม ถ้ารักก็แสดงว่าเป็นคนดี การวัดแค่นี้คงยังไม่เพียงพอ เพราะคงหาคนที่ไม่รักแม่ได้ยากและแม้แต่คนที่ไม่รักก็คงยังต้องบอกว่ารัก ในทางตรงกันข้ามคนที่บอกว่าไม่รัก ก็อาจไม่ใช่คนเลว เพราะอาจมีเหตุผลบางประการ เช่น ไม่เคยพบหน้าแม่ แม่ทอดทิ้ง ฯลฯ จะเห็นได้ว่ายังไม่มีเครื่องวัดที่ชัดเจนว่าใครเป็นคนดี ดังนั้นการที่เราจะตีตราว่าใครดีหรือไม่ดีจึงอาจเป็นอันตรายและเป็นบาป
ตัวเลขเป็นสิ่งสำคัญที่มักจะสะท้อนข้อเท็จจริง การไม่ยึดตัวเลขอาจเป็นเพราะมีวาระซ่อนเร้น เช่น หากวิสาหกิจใดประกอบการไม่ดี ผู้บริหารก็อาจอ้างว่าเราไม่ได้หวังผลกำไรเป็นเป้าหมาย แต่ความจริงอาจเป็นการปกปิดความบกพร่องหรือความผิดพลาดในการบริหารก็ได้ ดังนั้นการละเลยไม่ใช้ตัวเลขหรือเครื่องวัดที่จับต้องได้ในการพิจารณา เป็นอาการที่พึงจะได้รับการตรวจสอบเป็นพิเศษ
ความดีไม่ได้อยู่โดด ๆ
การที่พนักงานระดับล่างในบริษัทหนึ่งย้ายไปสู่บริษัทคู่แข่งที่ให้ค่าจ้างสูงกว่าเล็กน้อย แต่ต่อมาย้ายกลับบริษัทเดิม เราอาจตีความได้ว่าบริษัทเดิมนั้นมีความดีหรือของดีบางประการ ซึ่งสามารถตีค่าได้ว่าคุ้มที่จะย้ายกลับ เช่น มีสวัสดิการที่ดีกว่า มีสิ่งชดเชยที่ไม่ใช่ในรูปตัวเงิน หรือมีสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นดี ดังนั้นการลงทุน (ใช้เงินและแรงงาน) ผลิตกิจกรรมผูกใจพนักงานจึงเป็นเสมือนการจ่ายค่าจ้างในอีกรูปแบบหนึ่ง และไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีผลตอบแทนทางธุรกิจ
การมัดใจพนักงานด้วยสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงินจะได้ผลในระดับหนึ่งโดยเฉพาะกับพนักงานระดับล่างที่มีทางเลือกไม่มากนัก แต่หากมีวิสาหกิจเทียบเคียงใดกล้าจ่ายค่าตอบแทนมากกว่าถึง 20-40% คาดว่าสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงินดังกล่าวก็คงรั้งไว้ไม่อยู่ (แต่คงเป็นไปไม่ได้เพราะแรงงานไร้ฝีมือหาได้ง่าย) ส่วนกรณีพนักงานระดับกลางหรือระดับสูง สวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงินคงไม่มีความหมายนักเพราะในวงการธุรกิจมักมีการซื้อตัวพนักงานโดยเฉพาะพนักงานเหล่านี้ด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่าอยู่บ่อย ๆ
คุณค่าของการโฆษณา
ในบางครั้ง การโฆษณาอาจไม่ใช่มุ่งนำเสนอการขายสินค้าโดยตรง แต่เป็นการสร้างภาพพจน์ของวิสาหกิจ โดยการรณรงค์ส่งเสริมการทำความดี (บริษัทน้ำเมาก็ชอบใช้วิธีนี้) โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้อาจเน้นการเทิดพระเกียรติในหลวง การโฆษณาเช่นนี้เหมาะกับสินค้าหรือยี่ห้อซึ่งมีคนรู้จักกว้างขวางพอสมควรแล้ว เช่น แตงโม หรือแอโรว์ แม้การโฆษณาเช่นนี้อาจไม่มีผลต่อการเร่งยอดขายในระยะสั้น แต่ก็เป็นการสร้างความภักดีต่อยี่ห้อในระยะยาวซึ่งถือเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนที่แน่นอน
เราจะตีค่าการโฆษณาเช่นนี้เป็นการทำความดีของวิสาหกิจหรือผู้บริหารวิสาหกิจคงไม่ได้ เพราะถ้าเป็นการบริจาคโดยไม่ได้ผลตอบแทนเลย ผู้ถือหุ้นอาจได้รับความเสียหายได้ (เว้นแต่ได้รับฉันทานุมัติจากผู้ถือหุ้นทุก) การบริจาคที่ทำเพื่อหวังความสุขใจของเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ควรเป็นการบริจาคจากเงินได้ของคนเหล่านี้โดยตรง จะเป็นกุศลมากกว่าและไม่ถือเป็นการเบียดเบียนผู้ถือหุ้นอื่น
กรณีศูนย์การค้าต่างชาติ
ผมได้เสนอในที่ประชุมว่า การกล่าวอ้างว่าคนไทยต้องใช้สินค้าไทยนั้น อาจเป็นตรรกที่ต้องทบทวน เพราะวิสาหกิจไทยจะกล่าวอ้างเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อสามารถขายสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพที่ทัดเทียมหรือดีกว่าต่างชาติแต่ในราคาที่ถูกกว่า หาไม่แล้วการรณรงค์ก็เป็นเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนไทย ไม่ใช่เพื่อประชาชนไทย การที่เราไปพยายามส่งเสริมให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยอยู่แล้วให้เจียดเงินไปซื้อสินค้าและบริการไทยที่แพงกว่า ก็เท่ากับเป็นการรีดเลือดกับปู และอาจถือเป็นความผิดบาปได้
การที่ศูนย์การค้าต่างชาติมีผลประกอบการที่ดีกว่า เราต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า เขามีภูมิรู้หรือทรัพย์สินทางปัญญาด้านการบริหารที่ดีกว่า ส่วนกรณีที่ศูนย์การค้าต่างชาติบีบบังคับให้คู่ค้า (suppliers) ขายสินค้าในราคาถูกเพื่อจะได้ตั้งราคาให้ถูกกว่าที่อื่นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะศูนย์การค้าต่างชาติดังที่เข้าใจ แต่เกิดขึ้นกับศูนย์การค้าไทยมาช้านานแล้ว บางครั้งในสายตาของคู่ค้า ศูนย์การค้าต่างชาติยังจ่ายค่าสินค้าตรงกำหนดและเชื่อถือได้กว่าศูนย์การค้าไทยบางรายด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามกรณีการกดราคาสินค้านี้ขึ้นอยู่กับการต่อรองของกลุ่มคู่ค้าเองเป็นสำคัญ การโทษต่างชาติอาจทำให้เรามองข้ามข้อบกพร่องของเราเอง หรือละเลยความเข้าใจต่อธรรมชาติของการต่อรองทางธุรกิจ เป็นต้น
คุณธรรมธุรกิจคืออะไรแน่
ป่วยการที่จะมาพร่ำพูดว่าเราควรทำดี (เพิ่มขึ้น) อย่างไร ปัญหาทุกวันนี้ไม่ใช่อยู่ที่ทำดีน้อยไปแต่อยู่ที่การละเมิดกฎหมายกันอย่างแพร่หลายซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกลับเอาเอาหูไปนาตาไปไร่ต่างหาก เราจึงควรรณรงค์ไม่ให้ทำผิดกฎหมาย ส่วนช่องโหว่ของกฎหมายที่มีบางคนเล็ดรอดได้ประโยชน์เป็นเพียงส่วนน้อยนิดซึ่งต้องหาทางอุดหรือปรับปรุงเป็นระยะ ๆ โปรดสังวรว่าการรณรงค์ให้ทำความดีบางครั้งอาจเป็นไปเพื่อซ่อนเร้นการทำชั่วจนเข้าทำนองมีจรรยาบรรณแต่ละเมิดกฎหมาย <7>
ยิ่งกว่านั้นเราควรรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักปกป้องและหวงแหนสิทธิของตนเองตามกฎหมายและไม่เฉยชาต่อการกระทำผิดกฎหมายที่ส่งผลต่อตนเอง ชุมชนและสังคม เช่น ในที่สัมมนานี้มีผู้นำเสนอว่าปีหนึ่งมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากสารก่อมะเร็งในอาหารถึง 273 คน ถ้าข้อมูลนี้เป็นจริง ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องห้ามการใช้สารดังกล่าวอย่างเคร่งครัด จะมัวมารณรงค์กันไม่ได้ เพราะเท่ากับปล่อยให้วิสาหกิจที่เกี่ยวข้องละเมิดกฎหมาย ก่ออาชญากรรมทำร้ายชีวิตของประชาชน
ที่ผ่านมานับว่าน่าแปลกที่เราอ้างอิงตัวเลขทำนองข้างต้น แต่ไม่ค่อยมีมาตรการที่เป็นรูปธรรม ปล่อยให้เป็นเพียงการรณรงค์แบบไฟไหม้ฟาง นี่เท่ากับเราปล่อยให้มีการละเมิดกฎหมายกันอย่างโจ่งแจ้ง รัฐบาลใดเพิกเฉยก็เท่ากับไม่ได้ทำหน้าที่รับใช้ประชาชน การเพิกเฉยต่อหน้าที่ยังถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง การเพิกเฉยเท่ากับการเอื้อประโยชน์ต่อผู้หาผลประโยชน์โดยมิชอบ รัฐบาลที่เพิกเฉยเช่นนี้เท่ากับเป็นรัฐบาลที่อยู่ข้างอาชญากรหรืออาจเป็นหัวหน้าอาชญากรเสียเอง
อย่าลืมนะครับ ปัญหาทุกวันนี้ไม่ใช่อยู่ที่ประชาชนเราทำดีน้อยไป แต่อยู่ที่มีการละเมิดกฎหมายมากไปต่างหาก เราจึงควรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักปกป้องและหวงแหนสิทธิ์ หยุดเพิกเฉยกับการละเมิดกฎหมาย และให้รัฐบาลรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด
หมายเหตุ |
|
<1> |
ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ยังเป็นกรรมการเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) กรรมการหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ในไทย และกรรมการบริหาร ASEAN Valuers Association Email: sopon@thaiappraisal.org |
<2> |
มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiappraisal.org |
<3> |
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.svnasia.org |
<4> |
จากประสบการณ์สำรวจวิจัยของผู้เขียนเอง ไม่มีแหล่งอ้างอิง |
<5> |
คำจำกัดความ CSR ดูได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Corporate_social_responsibility |
<6> |
ดูรายละเอียดของแต่ละประเทศได้ที่ www.cia.gov/cia/publications/factbook |
<7> |
โปรดดูรายละเอียดในบทความ มีจริยธรรมแต่ละเมิดกฎหมาย! วารสาร Construction & Property ฉบับเดือนมกราคม 2550 หรือที่ www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market140.htm |
|