Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 717 คน
ถ้าไม่โกงกิน ประเทศชาติจะเจริญยิ่ง
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 10-13 ธันวาคม 2549 หน้า 37

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>

          “Earth provides enough to satisfy every man's need, but not every man’s greed” <3> คำกล่าวของท่านมหาตมะ คานธี แปลว่า โลกมีทรัพยากรเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการจำเป็นของทุกคนแต่ไม่พอสำหรับความโลภของคน
          คำกล่าวข้างต้นเป็นสัจธรรมที่จริงแท้แน่นอน และสะท้อนให้เห็นว่าการโกงกินโดยข้าราชการและผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ต่าง ๆ ด้วยความโลภนั้น ทำให้ประเทศและประชาชนทั่วไปยากจน หาใช่ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรไม่ เราจึงควรหันมาหาพิจารณาปัญหาการโกงกินกันอย่างจริงจังเพื่อทำให้ประเทศชาติของเราเจริญสถาพร

ดูที่อสังหาริมทรัพย์
          ผมเคยเขียนไว้ว่า เมื่อ 50 ปี ที่แล้วประเทศที่เจริญพอ ๆ กับประเทศไทยหรืออาจจะก้าวหน้ากว่าด้วยซ้ำก็คือ พม่า และ ฟิลิปปินส์ แต่วันนี้ประเทศทั้งสองกลับล้าหลังกว่าไทยมาก <4> แม้ราคาอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มขึ้นในระยะยาวอยู่เสมอจริง แต่ในประเทศที่มีปัญหาทางการเมืองการเพิ่มขึ้นก็คงขึ้นช้ากว่าประเทศที่ไม่มีปัญหา โดยจะเห็นได้ว่าราคาที่ดินวันนี้ของกรุงย่างกุ้ง ย่อมแพงกว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่ถ้าเทียบอัตราการเพิ่มขึ้นกับกรุงเทพมหานครแล้ว ย่อมช้ากว่าอย่างแน่นอน
          สาเหตุแห่งความวิบัติก็เป็นเพราะการมีรัฐบาลเผด็จการที่ไร้การตรวจสอบ จึงมีการโกงกินกันมากมาย ทรัพยากรต่าง ๆ แทนที่จะตกถึงประชาชนทั่วไป กลับถูกกอบโกยไปโดยผู้มีอำนาจหรือเหล่าผู้มีประโยชน์ร่วมเพียงส่วนน้อย จนทำให้ประเทศล้าหลัง ประชาชนยากไร้ จนชาวพม่าต้องอพยพมาอยู่ประเทศไทยนับล้านคน ส่วนชาวฟิลิปปินส์ที่มีอยู่ประมาณ 90 ล้านคนนั้น ประมาณ 10-12 ล้านออกไปขายแรงงานอยู่ต่างประเทศ <5> ถ้าเป็นคนพอมีฐานะก็ถือสองสัญชาติไว้ คงเผื่อจะได้หนีทันหากประเทศล่มสลาย

ยิ่งโกงกิน ประชาชนยิ่งยากไร้
          แผนภูมิข้างต้นเป็นการสรุปให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความมั่งคั่งของประเทศกับการโกงกิน  โดยนำผลการสำรวจ พ.ศ.2548 ว่าด้วยดัชนีการโกงกิน (ตัวเลขยิ่งน้อย ยิ่งโกง) มาวางไว้ในแกนนอน และรายได้ประชาชาติต่อหัว (per capita income in US$) ของประเทศทั่วโลกมาวางเป็นแกนตั้ง ผลการทดสอบค่าทางสถิติด้วยการวิเคราะห์พหูคูณถดถอย <6> พบว่าตัวแปรทั้งสองมีความสัมพันธ์กัน โดยมีค่า R-square อยู่ที่ 0.763189412 (ยิ่งใกล้ 1 ยิ่งน่าเชื่อถือ) ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า ประเทศที่มั่งคั่งกว่า จะมีการโกงกินน้อยกว่าประเทศที่ยากจนกว่า หรืออาจกล่าวได้ว่า ประเทศที่ยิ่งมีการโกงกินกันมาก ประชาชนยิ่งยากจน
          สำหรับอันดับและระดับการโกงกินและระดับรายได้ประชาชาติของประเทศในอาเซียนนั้น โดยรวมแล้วถือว่ายังมีการโกงกินกันทั่วไปแทบทุกประเทศยกเว้นสิงคโปร์ ในกรณีประเทศไทยก็ยังถือว่ามีการโกงกินกันมาก (ดัชนีการโกงกินอยู่ใกล้เลข 0 มากกว่าใกล้เลข 10) แต่ก็ยังดีกว่าอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้ และในทำนองเดียวกัน จึงทำให้รายได้ต่อหัวของไทยดีกว่าประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนด้วยกัน (แพ้แต่สิงคโปร์ มาเลเซียและบรูไนด้วย แต่กรณีบรูไนไม่มีข้อมูลดัชนีโกงกิน จึงไม่ได้ใส่ไว้) จากตารางสามารถสรุปได้ดังนี้:

ลำดับที่ ประเทศ ดัชนีการโกงกิน รายได้ประชาชาติ/หัว
3 พม่า 1.8 1,693
18 อินโดนีเซีย 2.2 4,459
37 ฟิลิปปินส์ 2.5 4,923
43 เวียตนาม 2.6 3,025
44 กัมพูชา 2.3 2,399
73 ลาว 3.3 2,118
89 ไทย 3.8 8,368
110 มาเลเซีย 5.1 11,201
142 สิงคโปร์ 9.4 28,368

กลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
          การป้องกันและปราบปรามปัญหาการโกงกินนั้น จะอาศัยการพร่ำสอนทางศาสนา เพื่อให้ทำความดีคงไม่ได้ เพราะธรรมชาติของการทำดีนั้นเป็นการทำด้วยใจสมัคร ไม่ใช่การบังคับกะเกณฑ์กัน ยิ่งกว่านั้นการมุ่งพร่ำพูดถึงความดีงามนั้น คนชั่วก็สามารถพูดได้ และอาจใช้เป็นดั่งอาภรณ์ในการทำชั่วก็ได้ ดังนั้นการมีกติกาหรือกฎหมายที่เข้มงวด และที่สำคัญการมีกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพต่างหาก ที่จะทำให้การโกงกินลดทอนลงไปอย่างเห็นได้ชัด
          แนวคิดสำคัญในการลดทอนการโกงกินก็คือ ประการแรก บทลงโทษที่หนักหน่วงทำให้ต้นทุนการโกงกินสูงจนกระทั่งไม่คุ้มที่จะโกง เพราะอาจถูกยึดทรัพย์หรือถูกจำคุก การปฏิบัติตามกฎหมายย่อมได้รับประโยชน์แก่ตนมากกว่า ประการที่สอง “ผีมักกลัวแสงสว่าง” นั่นคือกลไกการตรวจสอบการโกงกินที่มีประสิทธิภาพ ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องปรามการโกงกิน

กรณีศึกษาในวงการอสังหาริมทรัพย์
          ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 สถาบันการเงินหลายแห่งประสบปัญหาเพราะการอำนวยสินเชื่อที่ฉ้อฉล <7> ดังนั้นจึงควรมีมาตรการตรวจสอบ ลงโทษทั้งสถาบันการเงินและผู้บริหารสถาบันการเงินอย่างเด็ดขาดและรวดเร็วทันการ จะสังเกตได้ว่าในการล่มสลายของสถาบันการเงินนั้น ลูกค้าทั้งหลายไม่สามารถทำให้สถาบันการเงินเกิดปัญหาได้ ผู้ที่สร้างความวิบัติจริง ๆ มักเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินนั้น ๆ เอง
          ในวงราชการที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า มีการโกงกินกันอย่างเอิกเกริกกึ่งเป็นทางการในกระบวนการติดต่อราชการแต่ละขั้นตอน อย่างไรก็ตามเรื่องเช่นนี้อาจไม่มี “ใบเสร็จ” และเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหว แต่ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือในประเทศหรือในวงการที่มีการโกงกินมาก ขั้นตอนการติดต่อราชการมักจะยืดยาวมาก ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้มีการโกงกินกันอย่างทั่วถึง การรวมศูนย์ให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพแบบ one-stop service centre มักเกิดขึ้นได้ยาก
          สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ตัวแทนนายหน้าหรือนักพัฒนาที่ดินนั้น ในแทบทุกวงการก็ย่อมมี “แกะดำ” อยู่จำนวนหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่ามี “แกะดำ” หรือ “แกะขาว” เป็นส่วนใหญ่  อาจกล่าวได้ว่า สาเหตุหนึ่งที่ยี่ห้อของธุรกิจหรือบริการวิชาชีพเหล่านี้ของประเทศที่มีการโกงกินสูง ไม่สามารถ “go inter” หรือไปแข่งขันในตลาดโลก หรือสู้ยี่ห้อระดับโลกได้ ก็คือการขาดความน่าเชื่อถือ ความน่าเชื่อถือนี้มักสร้างขึ้นจากความโปร่งใสที่มีการโกงกินในระดับต่ำสุดนั่นเอง
          ผมคงไม่จบด้วยการเรียกร้องให้ร่วมใจกันขจัดการโกงกินหรอกครับ แต่เพียงแต่อยากตั้งข้อสังเกตว่า การที่ปัญหานี้ยิ่งพอกพูน แสดงว่า “ผู้หลักผู้ใหญ่” ที่น่าเคารพทั้งหลายอาจจะไร้สามารถ “มะเขือเผา” จอมปลอมหรือกระทั่งเป็นคนเลวในเบื้องหลังเอง หาไม่แล้วการโกงกินคงไม่งอกงามไปได้เลย

หมายเหตุ
<1>

ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ยังเป็นกรรมการหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย กรรมการบริหาร ASEAN Valuers Association และกรรมการสภาที่ปรึกษาขององค์การประเมินค่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org

<2>

มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiappraisal.org

<3>

คัดจาก http://www.quotedb.com/quotes/3512 (คำกล่าวของท่านมหาตมะ คานธี)

<4> โปรดอ่านบทความ “การเมืองกับอสังหาริมทรัพย์วันนี้” หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 15-18 ตุลาคม 2549 หน้า 37 ใน http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market127.htm
<5> โปรดดูรายละเอียดที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Overseas_Filipino
<6> การวิเคราะห์พหุคูณถดถอย อ่านรายละเอียดได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Regression_analysis
<7> ดูรายละเอียดผลการศึกษาเรื่องสถาบันการเงินได้ที่ Renaud, Bertrand (2000).  “Chapter 9: How Real Estate Contributed to the Thailand Financial Crisis.  In Mera, Koichi and Renaud, Bertrand (ed.) (2000).  Asia’s Financial Crisis and the Role of Real Estate.  New York, M.E.  Sharp, p.195
Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่