CSR คือหน้าที่ใช่อาสา
วารสาร Thai Appraisal Vol.5,No.5 กันยายน-ตุลาคม 2549 หน้า 18-19
CSR Journal ฉบับเดือน ตุลาคม/October 2006 หน้า 25
ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>
ความดีนั้น ใคร ๆ ก็อยากได้ยิน อยากเอ่ยถึง (แต่อยากทำหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แม้แต่คนไม่ดีก็อยากพูดเพื่อให้ตนดูดี นี่จึงเป็นข้อพึงสังวร หาไม่อาจถูกลวงให้เสียหายได้ CSR ซึ่งเป็นเรื่อง ฮิต ในขณะนี้ก็เป็นกรณีตัวอย่างหนึ่ง
ตอนนี้ CSR (Corporate Social Responsibility) หรือพันธกิจต่อผู้มีส่วนได้เสียกับวิสาหกิจ <3> กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึง ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) นั้นหมายถึงตั้งแต่ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า (supplier) ชุมชนที่วิสาหกิจนั้นตั้งอยู่ ตลอดจนสังคมโดยรวม อย่างไรก็ตามวิสาหกิจทั่วไปมักนึกถึงผู้ถือหุ้นเป็นอันดับแรกโดยไม่คำนึงถึงกลุ่มอื่น ซึ่งแสดงว่าขาด CSR นั่นเอง และก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคม
อย่างไรจึงถือว่ามี CSR
การที่เราจะมี CSR นั้น ย่อมหมายถึงการเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเหมาะสมโดยไม่ไปเบียดเบียนฝ่ายใด วิสาหกิจที่มี CSR ย่อมไม่ขูดรีดแรงงานลูกจ้าง ไม่ฉ้อโกงลูกค้า ไม่เอาเปรียบคู่ค้า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือทำร้ายชุมชนโดยรอบที่ตั้งของวิสาหกิจด้วยการก่อมลพิษ วิสาหกิจที่ขาด CSR ย่อมสะท้อนถึงการขาดซึ่งความโปร่งใส ผู้บริหารในแทบทุกระดับมักหาผลประโยชน์เข้าตัวเองหรือฉ้อโกง <4>
แท้จริงแล้ว การมี CSR เป็นการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย (แต่ถ้าใครจะทำให้ดีเกินมาตรฐานกฎหมายหรือจะบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมเพิ่มเติมก็อีกเรื่องหนึ่ง) หรืออีกนัยหนึ่งคือการไม่ทำผิด หมิ่นเหม่หรือหลบเลี่ยงกฎหมายแรงงาน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญาในกรณีต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้การทำ CSR จึงต้องมีกรอบกฎหมายบังคับ
คำสอนทางศาสนา?
ที่ผ่านมาเราเคยเห็นเจ้าของธนาคารโกงธนาคารตัวเองจนร่ำรวย บ้างก็ขโมยความคิดทางธุรกิจของลูกค้ามาทำเสียเองหรือปล่อยกู้ให้เครือญาติอย่างหละหลวม เห็นเจ้าของธุรกิจใหญ่โตล้มบนฟูก เห็นผู้บริหารวิสาหกิจมหาชนใช้จ่ายดั่งราชาหรือไม่ก็ใช้ตำแหน่งหน้าที่ตั้งวิสาหกิจลูกขึ้นมาเหมาช่วงงานไปแบบผูกขาด แต่ทุกวันนี้คนเหล่านี้ก็ยังอยู่หลอกลวงสังคมในภาพลักษณ์ของคนดูดี ยังชูคอท่องมนต์ CSR ธรรมาภิบาล หรือ จรรยาบรรณ อยู่อย่างไม่กระดากปาก
บ่อยครั้งที่ CSR ถูกทำให้แปลกแยก (alienated) ไปจากความเป็นจริงที่ถือเป็น พันธกิจ ที่ต้องทำตามกฎหมาย จนกลายเป็นเสมือนคำสอนทางศาสนาที่เน้นว่า ควร ทำโน่นทำนี่ กลายเป็นการท่องคัมภีร์ลวงโลก หรือเป็นเรื่อง คิขุ หน่อมแน้ม ความแปลกแยกนี้เกิดขึ้นเพราะความไม่อยากทำ CSR ในเชิงเนื้อหา แต่ต้องการทำแบบจัดฉากหรือเพียงผักชีโรยหน้ามากกว่า
วิสาหกิจที่หมิ่นเหม่มักชอบ CSR
วิสาหกิจที่มีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อม (หากไม่จัดการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด) มักจะชูธง CSR เป็นพิเศษ เช่น วิสาหกิจวัสดุก่อสร้าง พลังงาน แร่ธาตุ เป็นต้น CSR มีความจำเป็น ภาคบังคับ เป็นอย่างยิ่งสำหรับวิสาหกิจเหล่านี้หาไม่จะยังความเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพของชุมชนโดยรอบ และย่อมหมายถึงคุกสำหรับผู้บริหารและการพังทลายทางธุรกิจของผู้ถือหุ้น
วิสาหกิจเหล่านี้อาจจัดกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดูคล้ายการให้เปล่าด้วยความใจกว้าง แต่ความจริงถือเป็นการลงทุนเพียงน้อยนิดที่คุ้มค่ายิ่งในการสร้างภาพพจน์ซึ่งจะช่วยให้วิสาหกิจนั้นสามารถประกอบการได้โดยสะดวกราบรื่น และที่สำคัญหากวันหลังเกิดพลาดพลั้งทำลายชีวิตและสิ่งแวดล้อม ก็อาจได้รับความปรานี ผ่อนหนักเป็นเบา ไม่ถูกชุมชนและสังคมลงโทษรุนแรงนั่นเอง
ช่วยคู่ค้า, ช่วยสร้างความคุ้มทุน
การที่วิสาหกิจบางแห่งที่ทำธุรกิจประเภทพืชไร่ ปศุสัตว์ ผลไม้ ฯลฯ ส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่จัดหาวัตถุดิบให้พร้อมกับจัดกิจกรรมพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องที่จะมา ทวงบุญคุณ กับชาวบ้าน การดำเนินการเช่นนี้ถือเป็นกลยุทธทางธุรกิจที่ดีและชาญฉลาดเพื่อช่วยในการกระจายความเสี่ยงไปยังคู่ค้า ประหยัดการลงทุน ได้วัตถุดิบในราคาที่ถูกกว่า ควบคุมได้และมีคุณภาพมากกว่า
ประเด็นความคุ้มทุนทางธุรกิจเช่นนี้เป็นสิ่งที่เราควรพูดกันให้ชัดเจนและก็ไม่ใช่เรื่องแปลก บาปหรือเลวร้ายอะไร แต่เป็นเรื่องจริงที่ควรเปิดเผยโดยไม่บิดเบือน ชาวบ้านจะได้เข้าใจและเรียนรู้การประกอบธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ส่วนเมื่อวิสาหกิจนั้นมีผลประกอบการดี ก็อาจ คืนกำไร แก่สังคมบ้างตามระดับจิตสำนึก ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่พึงชื่นชม
เอาเปรียบคู่ค้า=ขาดจริยธรรม
วิสาหกิจหลายแห่งเอาเปรียบคู่ค้าโดยขาดจริยธรรมอย่างเด่นชัด เช่น การยัดเยียดขายพ่วงสินค้า หรือการที่ห้างสรรพสินค้าบังคับให้วิสาหกิจสินค้าอุปโภคบริโภคแปะยี่ห้อของห้าง (house brand) แทนการให้โอกาสวิสาหกิจเหล่านั้นแจ้งเกิดยี่ห้อของเขา นอกจากนี้ยังมีการบีบคู่ค้าให้จัดหาสินค้า-บริการแก่ตนในราคาที่ต่ำสุดเพื่อเพิ่มโอกาสการเอาชนะในสงครามราคาเพื่อการครอบงำตลาดในอนาคต
จริยธรรมเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอยที่จะร้องขอความเมตตาจากวิสาหกิจรายใหญ่ที่ยืนอยู่ฐานะที่ได้เปรียบ แต่เป็นประเด็นความไม่เป็นธรรมที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยกฎหมายเพื่อประโยชน์ของวิสาหกิจส่วนใหญ่และโดยเฉพาะเพื่อประชาชนโดยรวม <5> เช่น การออกกฎหมายป้องกันการผูกขาด กฎหมายป้องกันการทุ่มตลาด กฎหมายผังเมืองที่ห้ามการตั้งห้าง/ร้านค้าปลีกส่งเดช กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ห้ามการก่อสร้างอาคารที่ขาดซึ่งมาตรการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น
อย่างอ้างความเป็นไทย
ความรักชาติเป็นจิตสำนึกที่พึงมีของพลเมืองของประเทศนั้น ๆ แต่การอ้างว่าคนไทยต้องใช้สินค้าไทยอาจเป็นตรรกหลอกลวงได้ คนไทยใจทาสต่างชาติก็มี คนต่างชาติที่รักเมืองไทยก็มี อย่าลืมว่าในยามที่สินค้าขายได้มีกำไรมาก ๆ นั้น ผู้ที่ตักตวงประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำและเป็นรายแรกก็คือผู้ถือหุ้นในวิสาหกิจนั้นเป็นสำคัญ ไม่ใช่ประชาชนผู้บริโภคหรือประเทศชาติ
วิสาหกิจที่พึงได้รับการต้อนรับจากลูกค้าต้องมีสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพดีทัดเทียมกับคนอื่นแต่ราคาควรถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ ถ้าสินค้าไทยมีคุณภาพต่ำกว่าและกลับราคาแพงกว่าก็ไม่รู้จะให้ชาวบ้านทนอุดหนุนได้อย่างไร ไม่สงสารประชาชนตาดำ ๆ บ้างหรือไร อย่าลืมว่าการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการนั้นไม่ใช่การบริจาคเงินให้มูลนิธิ ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงความ ประหยัดยอด ประโยชน์เยี่ยม
ใช้ CSR เอาเปรียบโลกที่สาม
CSR ยังเป็นประเด็นสงครามการค้าระหว่างประเทศ ในอนาคตการกีดกันการค้าโดยภาษีศุลกากร จะหมดไป ทั้งนี้เป็นไปตามกรอบข้อตกลงการค้า WTO หรือ FTA ทวิภาคีต่าง ๆ <6> มาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ที่รุนแรงแต่ดูดีกว่าก็คือ CSR โดยจะได้รับการพัฒนาเป็นกติกาการค้าใหม่ของโลก ซึ่งถ้าประเทศไทยไม่เร่งปรับตัวและรู้เท่าทัน ก็จะไม่สามารถต่อสู้ในตลาดโลกได้และจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนไทยโดยตรง
ดังนั้นการที่ประเทศตะวันตกยก CSR ขึ้นมาอ้าง หน้าฉากก็ดูคล้ายเป็นการแสดงออกของความเป็นธรรมทั้งต่อลูกค้า คู่ค้า ลูกจ้าง ชุมชน สิ่งแวดล้อมโดยรวมทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย แต่เบื้องหลังก็คือการใช้ CSR ในฐานะอาวุธหรือเครื่องมือในการกีดกันการค้า ทำให้วิสาหกิจไทยเสียเปรียบในเชิงการแข่งขันและต้นทุนสูงขึ้นเกินความจำเป็น หนำซ้ำยังมีหน้ามาสอน CSR แก่ประเทศโลกที่สาม เข้าทำนอง ปีศาจคาบคัมภีร์ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าคนไทยคงไม่ เห็นขี้ฝรั่งหอม
มี CSR ต้องบำรุงผู้ใช้แรงงาน
วิสาหกิจหลายแห่งที่ชู CSR กันหราอยู่นี้ไม่ได้ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานเลยเพราะมักว่าจ้างกันตามค่าแรงขั้นต่ำที่แทบไม่เคยขยับเป็นหลัก (บางแห่งอาจ ใจดี จ้างสูงกว่าเล็กน้อยเพื่อดึงดูดแรงงานและลดความปวดห้วในการจ้างคนใหม่บ่อย ๆ) ถ้าคิดจะช่วยผู้ใช้แรงงานจริง ค่าแรงขั้นต่ำก็ต้องเพิ่มตามภาวะเงินเฟ้อ หาไม่ผู้ใช้แรงงานจะไม่มีวัน ได้ผุดได้เกิด แต่สำหรับนายจ้างและผู้ถือหุ้น แม้จะถูกกีดกันทางการค้าอย่างไร ก็ยังรวยขึ้นทุกวัน ดังนั้นวิสาหกิจใดที่ผู้ใช้แรงงานไม่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นทั้งที่ทำงานมาชั่วชีวิต (ถ้าไม่ใช่เพราะข้อจำกัดหรือความโชคร้ายของตัวเอง) วิสาหกิจนั้นย่อมไม่อาจถือได้ว่ามี CSR จริง
พึงสังเกตว่าวงจรชีวิตของแรงงานไร้ฝีมือนั้นสั้นนัก มักอยู่เฉพาะในช่วงหนุ่มสาว จึงมีการรุเก่ารับใหม่บ่อย ๆ คนหนุ่มสาว ลงจากหลังควาย/หลังเขา มาเป็น สาวฉันทนา ทำงานสัก 10 ปี พอร่างกายหรือสายตาทรุดโทรม กอปรกับมีครอบครัวก็กลับไปอยู่ชนบท การที่แรงงานเหล่านี้สามารถมีชีวิตอยู่จนสิ้นอายุขัยก็เพราะประเทศไทยมีเศรษฐกิจชนบทแบบพอเพียง (subsistent economy) หากไม่มีป่าไม้และชนบทอันอุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าว (อย่างน้อยก็พอกิน) จับกุ้ง หอย ปู ปลา กบ ไข่มดแดง หรือกระทั่งกระปอม (กิ้งก่า) กินได้ ป่านนี้ไทยก็ไม่ต่างไปจากประเทศยากจนในแอฟริกาแต่อย่างใด
ถ้าทำการกุศลจริง, บ้านเมืองจะดีกว่านี้
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของทางสำนักงานสถิติแห่งชาติ <7> ครัวเรือนหนึ่ง ๆ ของไทยใช้จ่ายเงินเพื่อการบริจาคเป็นเงินเดือนละ 422 บาท หรือ 2.69% ของรายได้ต่อเดือนของครัวเรือน เชื่อว่าแทบไม่มีวิสาหกิจใดทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์จะบริจาคเงินถึง 2.69% ของรายได้ของตนเป็นแน่ เพราะถ้าทำจริง ผลงานสร้างสรรค์คงมีมากกว่านี้ และสังคมคงดีงามผาสุกอย่างมีนัยสำคัญกว่านี้
การที่วิสาหกิจหลายแห่งไม่แสดงตัวเลขการบริจาคชัดเจน ก็คงเป็นเพราะใช้เงินไปเพียงน้อยนิด จึงกระดากที่จะเปิดเผย การที่วิสาหกิจบางแห่งคุยเขื่องว่าตนแทบไม่ใช้เงินในการทำ CSR เลย ก็คงเป็นเพราะวิสาหกิจนั้นอาศัยแรงงานฟรีของพนักงานไปทำอะไรนิดหน่อยให้พอได้ออกข่าวตามความเกรงใจของสื่อมวลชน และในที่สุด CSR ก็กลายเป็นกิจกรรมคุณหญิงคุณนายในรูปแบบใหม่ สัมฤทธิผลของ CSR จึงไม่อาจพิจารณาจากจำนวนกิจกรรมที่ได้ทำ เพราะเป็นอาจแค่การ ลูบหน้าปะจมูก
CSR สร้างอาชีพให้คนบางกลุ่ม
เราเห็นมูลนิธิ สมาคม ชมรม หรือเอ็นจีโอเกิดเพิ่มขึ้นทุกวัน องค์กรเหล่านี้ย่อมตั้งขึ้นมาด้วยความปรารถนาดีซึ่งสมควรอนุโมทนาด้วย แต่ก็ใช่ว่าจะช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์ได้อย่างมีนัยสำคัญ จำนวนที่เพิ่มขึ้นขององค์กรเหล่านี้อาจกลับมีความสัมพันธ์เชิงผันแปรกับความผาสุกของสังคมก็ได้ กล่าวคือยิ่งมีองค์กรเหล่านี้มากเท่าไหร่ ยิ่งแสดงถึงความยุ่งเหยิงในสังคมและความทุกข์ของประชาชน
ในอีกแง่หนึ่งการมีองค์กรเหล่านี้เพิ่มขึ้นก็ยิ่งสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งทำงานโดยได้ ทั้งเงินทั้งกล่อง บุคคลกลุ่มนี้หลายคนสามารถดำรงตนได้อย่างยั่งยืนชั่วชีวิต สั่งสมประสบการณ์ และกลายเป็นอาจารย์ผู้ประสิทธิประสาทวิชา CSR ในภายหลังได้อีก และนอกจากนี้ยังมีโอกาสผันตนเองไปทำงานการเมืองจากฐานมวลชนหรือจากภาพพจน์ที่สร้างขึ้นด้วยงาน CSR ในที่สุด
ร่วมกันผลักดัน CSR ที่ ต้องทำ
โดยสรุปแล้ว CSR เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดให้มีให้ทำโดยมีมีกรอบกฎหมายชัดเจน ทำธุรกิจต้องยึดหลัก ซื่อกินไม่หมด คดคิดไม่นาน โดยเคร่งครัด หาไม่จะติดคุก CSR จึงไม่ใช่ไปเน้นเรื่องอาสาสมัครหรือการทำบุญ การพูดถึง CSR ประหนึ่งคำสอนทางศาสนา เป็นการเบี่ยงประเด็นให้กลายเป็นการลวงโลก กลายเป็นว่าวิสาหกิจที่ทำ CSR มีบุญคุณต่อสังคมไปเสียอีก นอกจากนี้ยังต้องทำให้ชัดเจนว่า CSR นั้นคือการลงทุนอย่างหนึ่ง ซึ่งคุ้มค่าทางการเงิน การตลาด และการรักษากฎหมายเป็นอย่างยิ่ง
เราต้องทำให้ CSR ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่วิสาหกิจต้องทำ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผิดกฎหมาย
หมายเหตุ |
|
<1> |
ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ยังเป็นกรรมการหอการค้าไทย สาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย และกรรมการบริหาร ASEAN Association for Planning and Housing Email: sopon@thaiappraisal.org |
<2> |
มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรด้านเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiappraisal.org |
<3> |
คำแปลของ CSR โดย ห้องสมุด Wikipedia คือ is an expression used to describe what some see as a companys obligation to be sensitive to the needs of all of the stakeholders in its business operations |
<4> |
โปรดดูตัวอย่างเพิมเติมในบทความ โสภณ พรโชคชัย. ธรรมาภิบาลกับผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ประจำวันที่ 13-16 กรกฎาคม 2549 หน้า 14 หรือดูที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market113.htm |
<5> |
ตัวอย่างดูได้จากข่าว เสียงร้อง"ค้าปลีก-ส่ง"พันธุ์ไทย โดนยักษ์ข้ามชาติเบียดตกขอบ มติชน 18 สิงหาคม 2549 หน้า 20 http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01eci01180849&day=2006/08/18 |
<6> |
บทสัมภาษณ์ของคุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย http://elib.fda.moph.go.th/default.asp?page=news_detail&id=1564 |
<7> |
โปรดดูรายละเอียดในตารางต่อไปนี้: |
|
|
|
|
|