Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 566 คน
เราได้อะไรจากงาน FIABCI 2006 World Congress

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
รองประธานกรรมการ สมาคมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ และ
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>

          เมื่อวันที่ 26-31 พฤษภาคม ศกนี้ ได้มีการจัดงาน 2006 World Congress ของ FIABCI <3> โดยสมาคมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ <4> งานประชุมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก จะจัดขึ้นในเมืองไทยในช่วงวันที่ 26-31 พฤษภาคม 2549 ขอให้ทุกท่านโปรดเตรียมลงนัดไว้ได้เลย โปรดจองคิวตัวเองไว้เสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อร่วมงานนี้ ขอบอกว่า “พลาดไม่ได้”

โอกาสดีได้เชื่อมโลก
          การประชุมประจำปี (Annual World Congress) มักจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมของทุกปี เวียนไปแต่ละประเทศ ในกรณีประเทศไทยที่ได้เป็นเจ้าภาพในปี 2549 นี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศประมาณ 700 คน จาก 50 ประเทศ นอกจากนี้ยังมีคนไทยอีกจำนวนประมาณ 200 คน และหากนับเฉพาะในวันพิธีเปิดการประชุมที่ได้เชิญแขกผู้มีเกียรติในวงการอสังหาริมทรัพย์และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมล้นห้องประชุมรวมแล้วนับพันคน นับเป็นงานประชุมอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นโอกาสดีที่เชี่ยมวงการอสังหาริมทรัพย์ระดับนานาชาติกับวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย
          การที่ไทยเราได้จัดงานในครั้งนี้นับว่าเป็น “โชคช่วย” โดยแท้ หาไม่แล้วก็คงต้องรอไปอีก 60 ปี กว่าจะมีโอกาส ความจริงปีนี้จะต้องจัดขึ้นที่กรุงโซล เกาหลีใต้ แต่ปรากฏว่าสมาคมอสังหาริมทรัพย์ที่นั่นเกิดแตกคอกัน เลยจัดไม่ได้ ผมจำได้ว่า เมื่อเดือนกันยายน 2548 ตอนไปนำเสนอบทความวิชาการในงานประชุมอสังหาริมทรัพย์เอเซียแปซิฟิก ซึ่งจัดขึ้น 2 ปีหน ณ นครโอซาก้า (FIABCI เอเซียเป็นเจ้าภาพ) ทางเกาหลียังไป “promote” งานนี้อยู่เลย แต่ “ข่าววงใน” แจ้งว่าคงทำไม่ได้แน่ ผมเลยพกหนังสือขอจัดงานแทนไปนำเสนอต่อคณะกรรมการ FIABCI ซึ่งจัดประชุม ณ นครโอซาก้าในขณะนั้น เสนอตัวว่าประเทศไทยขอเป็นเจ้าภาพแทน (ในกรณีที่ทางเกาหลี) ไม่อาจจัดได้ ซึ่งก็โชคดีคณะกรรมการ FIABCI ได้พิจารณาว่าเกาหลีทำไม่ได้แน่ และก็ไม่มีชาติใดกล้ารับจัดงานที่เตรียมตัวกระชัดชิดอย่างนี้ ประเทศไทยเราจึงได้งานนี้มา

ผลดีต่อประเทศไทยของเรา
          สิ่งแรกที่ได้จากการจัดประชุมนี้ก็คือ การที่ประเทศไทยได้มีโอกาสเผยแพร่ชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักและประทับใจไปทั่วโลก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว เศรษฐกิจและภาพพจน์ทางสังคมของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ ทางคณะผู้จัดงานได้จัดเตรียมอย่างยิ่งใหญ่ให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกได้เห็นถึงวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองและอัตลักษณ์ที่แท้จริงของประเทศไทย และถือเป็นการดึงดูดให้มาลงทุนในประเทศไทยทางหนึ่ง
          นอกจากภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศแล้ว ผู้เข้าประชุมยังได้เห็นนวัตกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ในไทย โครงการอสังหาริมทรัพย์สำคัญที่อาจถือเป็น “แบบอย่าง” แก่ประเทศอื่นทั่วโลก เช่น ศูนย์การค้าสยามพาราก้อน คริสตัลพาร์ค (บ้านจัดสรรราคา 1-3 ล้านเหรียญ) ตลอดจนโครงการในภูมิภาคเศรษฐกิจตะวันออก (พัทยา) และ “windshield survey” คือการตระเวนบรรยายตลาดอสังหาริมทรัพย์บนรถปรับอากาศขนาดใหญ่ในเขตกรุงเทพมหานคร

 สมานมิตรเป็นเรื่องสำคัญ
          ในระหว่างการร่วมประชุม พวกเราในฐานะคณะผู้จัดงานพยายามเปิดโอกาสให้มีการสมานมิตร (สร้าง connection) กับผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ มีตั้งแต่เวลาพักที่ค่อนข้างยาว การจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำหลายโอกาส การดูงาน การจัดการประชุมกลุ่มย่อยตามสาขาวิชาชีพ ตามภูมิภาค และตามหัวข้อที่น่าสนใจ ตลอดจนการจัดประชุมนอกรอบต่าง ๆ อีกด้วย ผมเองในฐานะเจ้าภาพคนหนึ่ง ยังต้องเดินทางไปเป็นประธานมอบถ้วยชนะเลิศการแข่งขันกอล์ฟระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมอีกด้วย ทั้งหมดนี้มุ่งหวังให้ผู้เข้าประชุมได้มีโอกาสสานสัมพันธ์และสมานมิตรกันอย่างกว้างขวางเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจในอนาคต
          การผูกมิตรทางธุรกิจอย่างโปร่งใส มีอารยะธรรมและมีหลักธรรมาภิบาลที่ถูกต้อง คงไม่ใช่การพาไปในสถานที่ “อโคจร” ต่าง ๆ หรือไปดื่มกินให้ “ได้ใจ” อย่างรีบเร่ง แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ได้เห็น ได้พิจารณาและที่สำคัญได้แลกเปลี่ยนกัน อันเป็นการสมานมิตรที่มีความยั่งยืน เป็นคู่ค้าทางธุรกิจที่โปร่งใส ซึ่งต่างจากธุรกิจประเภท “สีเทา” ต่าง ๆ

สาระความรู้ที่ได้รับ
          ในงานการประชุมนี้มีทั้งการประชุมรวม การประชุมกลุ่มย่อยโดยได้เชิญผู้รู้จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมานำเสนอเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับสาระเต็มที่ โดยประเด็นสำคัญที่ได้พูดถึงก็คือ การฟื้นตัวของอสังหาริมทรัพย์หลังพิบัติภัยธรรมชาติ ผลกระทบของราคาน้ำมันต่ออสังหาริมทรัพย์ มูลค่าอสังหาริมทรัพย์กับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เป็นต้น
          โดยเฉพาะในหัวข้อแรก เรื่องการฟื้นตัวของอสังหาริมทรัพย์หลังภัยพิบัติธรรมชาติ ได้คุณภูมิศักดิ์ หงส์หยก นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตเป็นประธานประชุม มีนายกสมาคมนายหน้าสหรัฐอเมริกามาพูดถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ และท่านอื่น ๆ ผมเองก็ได้นำเสนอบทความเเกี่ยวกับการฟื้นตัวของภูเก็ตหลังสึนามิ <5> โดยชี้ให้เห็นว่า สึนามิเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง (รอบร้อยปีในพื้นที่นี้) แม้จะมีผู้คนเสียชีวิตนับพัน ๆ คน แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาว
          ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะมีทั้งคนไทยและคนต่างประเทศบางคนเชื่อว่าราคาอสังหาริมทรัพย์จะตกต่ำลง หวังจะมา “ช้อนซื้อ” ในราคาถูก แต่ความจริงผมได้นำเสนอให้เห็นว่า จากการสำรวจราคาที่ดิน ปรากฏว่า ราคาที่ดินฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ตไม่ได้ตกต่ำลงเลย ส่วนราคาฝั่งตะวันออกที่คลื่นสึนามิไปไม่ถึง ราคากลับเพิ่มขึ้น ผมยังได้พบว่าในเมืองอาเจห์ของอินโดนีเซีย มูลค่าที่ดินกลับเพิ่มขึ้น เพราะผลของการพัฒนาสาธารณูปโภคขนานใหญ่หลังสึนามิ ดังนั้นบทบาทสำคัญของนักวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพียงไปช่วยบรรเทาทุกข์ชาวบ้าน แต่ต้องอาศัยความรู้ของตนชี้ให้เห็นว่า ภัยธรรมชาติเหล่านี้ไม่ได้ทำให้มูลค่าทรัพย์สินตกต่ำลงในระยะยาวแต่อย่างใด เพื่อไม่ให้ชาวบ้านหลงเชื่อคำกล่าวเท็จที่หวังจะซื้อที่ดินในราคาถูก อันถือเป็นการ “ช่วยเถือ” มากกว่า “ช่วยเหลือ” ชาวบ้าน
          นอกจากการประชุมตามหัวข้อสำคัญแล้ว ยังมีการประชุมที่น่าสนใจอีกหลายรายการ เช่น การประชุมเฉพาะสาขาอาชีพ เช่น นักวิจัย-ข้อมูล นักพัฒนาที่ดิน นายหน้า ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ผู้บริหารทรัพย์สินจากทั่วโลก เป็นต้น โดยเฉพาะในส่วนของนักวิจัย-ข้อมูล ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รับเป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยทางศูนย์ฯ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมากมายเข้าร่วม และผมก็ได้นำเสนอบทความเรื่อง “Materializing Real Estate Information Centre in Thailand” <6>
          ในส่วนของผู้ประเมินค่าทรัพย์สินซึ่งผมเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายและนำเสนอบทความเรื่อง “Thailand's Property Value and Valuation in FIABCI 2006” <7> ซึ่งนำเสนอไว้ ณ ที่นี้เผื่อจะได้ “click” ไปดู ซึ่งน่าจะสามารถใช้อ้างอิงได้พอสมควร ในวงการบริหารทรัพย์สิน คุณประยูร ดำรงชิตานนท์ อุปนายกอีกท่านหนึ่งและนายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ได้นำการอภิปรายเช่นกัน และในการอภิปรายในวงการอื่น ๆ ก็เช่นกัน ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องจากทั่วโลกมานำเสนอสาระที่เป็นประโยชน์ต่อนักวิชาชีพทางด้านนี้

ต้องร่วมงานนานาชาติจึงจะเจริญ
          ประเด็นสำคัญส่งท้ายก็คงเป็นเรื่องของการเข้าร่วมงานนานาชาติ ผมมักส่งเสริมให้นักวิชาชีพได้ไปศึกษาประสบการณ์ในต่างประเทศ <8> การที่เราจะเป็นนักวิชาชีพด้านอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาที่ดิน ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน นายหน้า ผู้บริหารทรัพย์สิน ฯลฯ อย่างเป็นมืออาชีพจริง ๆ เราสมควรเข้าร่วมการสัมมนาอย่างนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทุกครั้งที่มีโอกาสมาจัดในประเทศไทย จะมาอ้าง (excuse) ว่า ค่าจัดแพง คงไม่ได้ โดยเฉพาะงานนี้สำหรับคนไทยเพียง 9,000 บาท ในขณะที่ชาวต่างประเทศที่เสียค่าเครื่องบินมาเอง ต้องจ่ายเงินถึง 24,000 บาท
          การติดต่อกับต่างประเทศนั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นประโยชน์เฉพาะคนที่สนใจร่วมทุนกับต่างชาติ แต่ยังได้ศึกษาบทเรียนและแบบอย่างไว้ด้วย เราจะอ้างว่าเราทำมาหากินเฉพาะที่ทำอยู่ก็เพียงพอนั้นเป็นการแสดงออกที่สะท้อนการขาดวิสัยทัศน์เป็นอย่างยิ่ง

          อย่าลืมนะครับ ต้องไปนอก จึงจะมีวิสัยทัศน์ที่กว้างขวาง

 

หมายเหตุ
<1> ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ยังเป็นกรรมการหอการค้าไทย สาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย และกรรมการบริหาร ASEAN Association for Planning and Housing  Email: sopon@thaiappraisal.org
<2>

มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรด้านเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiappraisal.org

<3>

FIABCI เป็นคำย่อภาษาฝรั่งเศส แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า International Real Estate Federation (www.fiabci.org) ก่อตั้งมา 58 ปีแล้ว ในประเทศไทยขณะนี้มีมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรสมาชิกหลัก FIABCI มีฐานะศูนย์กลางของผู้เกี่ยวข้องกับแวดวงอสังหาริมทรัพย์ในทุกวิชาชีพ (multi-disciplinary) เป็นตัวแทนให้กับผู้ประกอบวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ในระดับนานาชาติ ซึ่งแม้แต่องค์กรสำคัญ (เช่น องค์การสหประชาชาติ สหภาพยุโรป) ยังรับฟัง ลักษณะพิเศษของ FIABCI คือ มีความเป็นสากลโดยแท้ โดยองค์กรวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ทุกสาขาจากทุกประเทศทั่วโลก มีโอกาสเข้ามีส่วนร่วมบนพื้นฐานหลักประชาธิปไตยโดยไม่มีการครอบงำโดยหน่วยงานใหญ่หรือประเทศใหญ่ ประกอบด้วยนักวิชาชีพที่หลายหลายในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ เช่น นักพัฒนาที่ดิน นายหน้า ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ผู้บริหารทรัพย์สิน สถาปนิก วิศวกร นักการธนาคาร นักกฎหมาย ฯลฯ มีสมาชิกจาก 60 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วยสมาคมวิชาชีพประมาณ 150 แห่งจากแต่ละประเทศเป็นสมาชิก โดยสมาชิกของสมาคมเหล่านี้มีจำนวนรวมกันทั้งหมดถึง 2.0 ล้านคน

<4> สมาคมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ หมายถึง FIABCI Thailand Chapter ซึ่งได้จดทะเบียนเสร็จแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 สมาคมนี้มี รศ.มานพ พงศทัต “เสาหลัก” หรือผู้ทรงคุณวุฒิในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย เป็นนายกสมาคม และมีอุปนายก 2 คนคือ คุณประยูร ดำรงชิตานนท์ นายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (ในขณะนั้น) และ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และสถานที่ของสมาคมบริหารทรัพย์สินอย่างเป็นทางการ ตั้งอยู่ ณ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
<5> โปรดดูรายละเอียดเอกสารของผม “Property Prices of Phuket after Tsunami” ที่ http://www.thaiappraisal.org/pdfNew/2006-05-29.pdf และ
<6> ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaiappraisal.org/English/ThaiRealEstate/ThaiRealEstate.htm
<7> ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaiappraisal.org/pdfNew/2006-05-30.pdf
<8>

โปรดดูบทความ “ต้องไปนอก จึงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างขวาง: ข้อคิดสำหรับคนวงการอสังหาริมทรัพย์” http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market50.htm

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่