Eng
 
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
กลับหน้าแรก

ดอนเมือง: แนวทางการใช้ประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติ

นางสาวสุจิตรา เจริญขวัญ
ระดับประชาชนทั่วไป

          สรรพสิ่งบนโลกนี้ เมื่อมีเกิดก็ย่อมมีดับ เมื่อรุ่งเรืองจนถึงจุดสูงสุด ก็ย่อมร่วงโรยไป บางสิ่งเมื่อร่วงโรยแล้ว อาจรุ่งเรืองขึ้นมาใหม่ได้ หรือบางสิ่งอาจร่วงโรยแล้วดับไปเลย เป็นวัฏจักรอย่างนี้เรื่อยมา บางสิ่งมีประโยชน์และคุณค่าอย่างมหาศาล แต่ไม่ได้นำประโยชน์และคุณค่ามาใช้เนื่องจากไม่รู้ วิธีใช้ประโยชน์ สิ่งนั้นจึงกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่าไปในที่สุด แท้จริงแล้ว คุณค่าและประโยชน์ของสรรพสิ่งมีสิ่งใดเป็นตัวชี้วัด ?
          เป็นที่ทราบกันดีว่าทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ป่าไม้ น้ำ และน้ำมัน มีคุณค่าและมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อมวลมนุษยชาติ มนุษย์ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ในการดำรงชีวิต เช่น การสร้างที่อยู่อาศัย การผลิตกระแสไฟฟ้า และการคมนาคม ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้มีประโยชน์ ก็เพราะมนุษย์รู้จักวิธีการใช้นั่นเอง ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า มนุษย์เป็นตัวชี้วัดคุณค่าและประโยชน์ของสรรพสิ่ง จากประโยชน์ที่มนุษย์สร้างขึ้นนั่นเอง
          ประเทศไทยของเราเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองธรรมชาติ หรือสิ่งที่คนได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาด้วยความภาคภูมิใจ สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้สร้างประโยชน์ให้แก่คนในชาติอย่างมหาศาล ดังเช่น สนามบินดอนเมือง ซึ่งในอดีตนั้นได้ ช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งสร้างรายได้และสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ แต่บัดนี้ สนามบินดอนเมืองได้กลายเป็นเพียงตำนานแสดงความยิ่งใหญ่ที่เคยมีในอดีต ทั้ง ๆ ที่ยังมีศักยภาพอันจะนำความมารุ่งเรืองมาสู่ประเทศได้ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องเป็นตัวชี้วัดประโยชน์และคุณค่าของสนามบินดอนเมือง โดยการเสนอแนวทางการใช้สนามบินดอนเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติ 
          หากย้อนไปในอดีต สนามบินดอนเมือง” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ดอนเมือง” นั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อ ยกเลิกการใช้สนามบินสระปทุม ซึ่งถือเป็นสนามบินแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากคับแคบ มีเนื้อที่จำกัด และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไม่เหมาะสม ทางราชการจึงได้คิดหาสถานที่ใหม่ที่มีบริเวณกว้างขวาง เป็นพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วม ไม่ห่างไกลจากพระนคร และเป็นพื้นที่ที่พัฒนาเป็นสนามบินขนาดใหญ่ต่อไปได้ในอนาคต จากการสำรวจจึงได้พบสถานที่ที่เหมาะสม คือมีลักษณะเป็นที่ดอน และมีรถไฟสายเหนือวิ่งผ่าน อยู่ทางตอนเหนือของอำเภอบางเขน ซึ่งก็คือ ที่ตั้งสนามบินดอนเมืองในปัจจุบัน พื้นที่นี้อยู่ห่างจากสนามบินสระปทุมไปทางเหนือเป็นระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดซื้อ ขอเวนคืนพื้นที่บางส่วน และมีผู้บริจาคให้เป็นประโยชน์แก่ทางราชการบางส่วน จากนั้นจึงได้สร้างเป็นสนามบินแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2457 เรียกชื่อสนามบินนี้ว่า “สนามบินดอนเมือง” เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2457 ในตอนเช้า นายทหารนักบิน 3 นาย นำเครื่องบินจากสนามบินสระปทุมมาลงที่สนามบินดอนเมืองเป็นปฐมฤกษ์ และในวันที่ 27 มีนาคม 2457 กระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่งตั้ง กองบินทหารบก และย้ายไปเข้าที่ตั้งถาวรที่สนามบินดอนเมือง นับเป็นรากฐานที่มั่นคงของกิจการการบินของไทยที่ได้เริ่มต้นขึ้น ณ ที่นี้ ทั้งนี้ กองทัพอากาศจึงได้ถือเอาวันที่ 27 มีนาคม เป็นวันที่ระลึกกองทัพอากาศ
          ในปี 2483 กองทัพอากาศได้จัดตั้งกองการบินพลเรือน เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศ และในปี 2491 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นกรมการบินพลเรือน ได้ปรับปรุงสนามบินดอนเมือง และเรียกชื่อว่า “ท่าอากาศยานดอนเมือง” จัดเป็นท่าอากาศยานสากล จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2498 จึงได้เปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเป็นว่า “ท่าอากาศยานกรุงเทพ” ถือว่าเป็นสนามบินที่เป็นดังจุดศูนย์กลางทางการบินในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เชื่อมโยงการจราจรทางอากาศไปยังจุดต่าง ๆ ของโลกได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะ เป็นการบินภายในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน หรือระหว่างทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย สามารถใช้เป็นจุดแวะลงและเชื่อมต่อในการเดินทางของผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เป็นสถานที่รับส่งพัสดุไปรษณียภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี รวมถึงการขนส่งสินค้าทางอากาศที่สำคัญมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
          ตลอดระยะเวลากว่า 92 ปี ท่าอากาศยานกรุงเทพได้เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับอากาศยาน ผู้โดยสาร และสินค้าอย่างเต็มที่ แต่ก็ด้วยความเจริญเติบโตของการขนส่งทางอากาศเป็นไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับพื้นที่เริ่มแออัด รัฐบาลจึงเล็งเห็นว่า หากท่าอากาศยานกรุงเทพไม่สามารถพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถได้มากกว่านี้ จะทำให้ความเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคนี้เสียไป รัฐบาลจึงมีนโยบายก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขึ้นมาทดแทน โดยตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางการบินของทวีปเอเชีย และพัฒนาคุณภาพการให้บริการของท่าอากาศยานให้ได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 10 ของท่าอากาศยานที่มีคุณภาพการบริการที่ดีที่สุดในโลก ทำให้ท่าอากาศยานกรุงเทพหรือดอนเมืองต้องปิดบทบาทไปโดยปริยาย ในวันที่ 27 กันยายน 2549 คงเหลือไว้แต่เพียงตำนานให้กล่าวขานถึงเท่านั้น
          หลังการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิได้ไม่นาน ก็พบจุดบกพร่องและปัญหาหลายประการ เช่น ปัญหาความไม่พร้อมของระบบมาตรฐานการบินนานาชาติ ซึ่งมีผลต่อการเปิดสนามบิน ปัญหาระบบจราจรและโครงข่ายถนนเพื่อการเข้าถึงสนามบิน ระบบป้ายนำทาง ความสะดวกของผู้ใช้สนามบินในการเดินทางไปยังอาคารผู้โดยสาร การออกแบบที่ยังไม่อำนวยความสะดวกให้คนพิการ ปัญหาหลังคารั่ว ปัญหาจำนวนห้องสุขาไม่ได้มาตรฐานอาคารสาธารณะขนาดใหญ่ แม้ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขในภายหลังแต่ก็มีความจำเป็นต้องกลับมาใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองอีกครั้ง ในวันที่ 25 มีนาคม 2550 และใช้ชื่อว่าท่าอากาศยานดอนเมือง แทนชื่อท่าอากาศยานกรุงเทพดังเช่นเดิม ทั้งนี้ เพื่อซ่อมแซมพื้นที่ในสนามบินสุวรรณภูมิให้ได้มาตรฐาน และเพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์จากท่าอากาศยานดอนเมือง อย่างไรก็ตาม จากนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้มีท่าอากาศยานหลักเพียงแห่งเดียว ซึ่งก็ได้แก่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงทำให้ท่าอากาศยานดอนเมืองถูกลดศักยภาพและขีดความสามารถลง โดยขีดความสามารถในปัจจุบันนั้นคือได้เปิดใช้เฉพาะเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เที่ยวบินของหน่วยงานราชการ เที่ยวบินภายในประเทศ และเที่ยวบินต้นทุนต่ำ ที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ 3 สายการบินเท่านั้นคือ สายการบินแอร์เอเชีย สายการบินโอเรียนท์ไทย และสายการบินนกแอร์
          วงการบินเป็นอุตสาหกรรมที่กว้างใหญ่ เกี่ยวข้องกับกิจการหลายด้าน ตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบิน การซ่อมบำรุง กิจการสายการบิน การท่าอากาศยาน การควบคุมการจราจรทางอากาศ และการผลิตบุคลากรด้านการบิน เป็นต้น กิจการทั้งหมดเหล่านี้นั้นเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของชาติและปากท้องของคนไทยทุกระดับ ท่าอากาศยานดอนเมืองของไทยเราสามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การจำกัดการใช้สนามบินดอนเมืองเพียงเพื่อรองรับเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เที่ยวบินของหน่วยงานราชการ เที่ยวบินภายในประเทศ และเที่ยวบินต้นทุนต่ำ จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสและความสามารถในการเป็นศูนย์กลางการบินของเอเชียหรือการเป็นประตูสู่เอเชียได้
          ด้วยศักยภาพและขีดความสามารถของท่าอากาศยานดอนเมืองที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมนั่นเอง จึงไม่แปลกที่จะเกิดแรงหนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้โดยสาร สายการบิน ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณสนามบินดอนเมือง ตลอดจนคนไทยทั้งชาติ ต่างก็อยากให้สนามบินดอนเมืองกลับมามีชีวิตชีวา หรือกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งอย่างเต็มรูปแบบ ถึงแม้ไม่ใช่การกลับมาเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ  แต่ก็มีแนวทางอื่น ๆ ที่ควรจะให้ความสำคัญ เพื่อทำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ในเรียงความนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ การใช้ประโยชน์จากอาคารสำนักงานที่อยู่ในท่าอากาศยานดอนเมือง และการใช้ประโยชน์จากท่าอากาศยานดอนเมืองในโครงการทางด้านอุตสาหกรรมการบินต่าง ๆ

  1. การใช้ประโยชน์จากอาคารสำนักงานที่อยู่ในท่าอากาศยานดอนเมือง โดยไม่ปล่อยให้รกร้างและขาดการดูแล ทั้งนี้ เพื่อการสร้างรายได้ และทำให้ใช้ประโยชน์จากท่าอากาศยานดอนเมืองได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยการจัดโครงการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
    1.1 โครงการการจัดนิทรรศการ หรือ พิพิธภัณฑ์ ที่แสดงความก้าวหน้าเกี่ยวกับการบินของโลก และการบินของประเทศ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน วิวัฒนาการด้านการบิน อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบิน การซ่อมบำรุง กิจการสายการบิน การท่าอากาศยาน การควบคุมการจราจรทางอากาศ และการผลิตบุคลากรด้านการบิน เพื่อให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ และเป็นสถานที่เก็บร่องรอยประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการบินทั้งในและนอกประเทศ
    1.2  โครงการจัดแสดงเครื่องบินและการบิน เพื่อให้เยาวชนและผู้สนใจมีโอกาสได้ชมศักยภาพของการบินในปัจจุบัน  
    1.3  โครงการอาคารรับรองผู้โดยสารสำหรับอากาศยานส่วนบุคคล พระบรมวงศานุวงศ์ และแขกผู้มาเยือนคนสำคัญของประเทศ ด้วยบรรยากาศที่อบอุ่น  ถ่ายทอดกลิ่นอายของวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก เพื่อให้เกิดความประทับใจอย่างสูงสุด 
    1.4  โครงการคลังเก็บสินค้า โดยให้เอกชนเช่าพื้นที่เก็บสินค้าในรูปแบบของสัมปทาน
    1.5  โครงการจัดแสดงสินค้า เนื่องในโอกาสต่าง ๆ ทั้งสินค้าภายในประเทศและต่างประเทศ
  2. การใช้ประโยชน์จากท่าอากาศยานดอนเมืองในโครงการทางด้านอุตสาหกรรมการบินต่าง ๆ ทั้งนี้เนื่องจากกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินทั้งในและต่างประเทศเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจะเห็นได้จากสายการบินที่เพิ่มขึ้น บริการใหม่ ๆ ด้านการบิน และความต้องการของผู้ใช้บริการด้านการบินเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้อุตสาหกรรมการบินเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และด้วยความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพสูงพอที่จะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินของเอเชียได้มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ โดยการจัดตั้งโครงการดังต่อไปนี้
    2.1 โครงการอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบิน อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินเป็นอุตสาหกรรมที่รวมกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงหลายแขนงเข้าด้วยกัน และต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล ด้วยเหตุผลด้านเงินลงทุน ตลาด และเทคโนโลยี อาจทำให้เกิดข้อจำกัดในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินภายในประเทศ ดังนั้น ในระยะแรกอาจเริ่มต้นด้วยการร่วมมือระหว่างประเทศ โดยให้ประเทศไทยเป็นผู้รับเหมาการผลิตชิ้นส่วนของเครื่องบินบางชนิดก่อน แล้วอาจจะพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของเอเชียได้ในอนาคต
    2.2 โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานครบวงจร ศูนย์เก็บอะไหล่เครื่องบิน รวมถึงการบริหารจัดการอะไหล่สำหรับซ่อมบำรุงอากาศยาน ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า อุตสาหกรรมการบินได้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเอเชีย-แปซิฟิกที่เติบโตขึ้นเร็วที่สุดประมาณ 1 ใน 3 ของความต้องการของโลก โดยอุตสาหกรรมการบินตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยานอยู่เสมอ ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะบูรณะรักษาอากาศยานให้ใช้งานได้นานที่สุด และเกิดความปลอดภัยสูงสุดในการบิน ดังนั้น หากประเทศพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินควบคู่กับการซ่อมบำรุงอากาศยานครบวงจร ก็อาจทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของเอเชียได้
    2.3 โครงการศูนย์แสดงเครื่องบินเพื่อแลกเปลี่ยน ซื้อ – ขาย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยจึงเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน ซื้อ – ขาย เครื่องบิน ของเอเชีย ซึ่งจะทำรายได้ให้ประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น
    2.4  โครงการการขนส่งสินค้าทางอากาศ เนื่องจากสนามบินดอนเมืองเป็นดังจุดศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศ ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังจุดต่าง ๆ ของโลกได้อย่างเหมาะสม ทั้งในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย สามารถใช้เป็นจุดแวะลงและเชื่อมต่อในการขนส่งสินค้าทางอากาศได้เป็นอย่างดี จึงควรประเทศศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศในภูมิภาคนี้ได้
    2.5 โครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน การพัฒนาและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการบินมีประสิทธิภาพได้นั้น จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรทางด้านการบินควบคู่ไปด้วย ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน ทั้งการผลิตนักบิน ฝึกผู้ปฏิบัติการภาคพื้น และการฝึกซ่อมบำรุงอากาศยาน จะทำให้การบริหารงานด้านอุตสาหกรรมการบินเกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและเพื่อการพัฒนาประเทศ
    2.6 โครงการศูนย์ฝึกบินจำลองสำหรับนักบิน นักเรียนการบิน และผู้ฝึกปฏิบัติภาคพื้น ควบคู่ไปกับโครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านการบินได้อีกทางหนึ่ง
    ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นสมบัติของชาติ เป็นสถานที่ที่คนในชาติได้ร่วมกันสร้างขึ้นด้วยความภาคภูมิใจ ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างธรรมดา แต่เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีชีวิต เนื่องจากสร้างความรู้สึกรัก หวงแหน และผูกพันให้คนในชาติได้ ความรุ่งเรืองของท่าอากาศยานดอนเมืองในอดีตได้สร้างประโยชน์ สร้างความมั่นคงและนำความรุ่งเรืองอย่างมหาศาลแก่ประเทศและประชาชนไทยทุกระดับ แม้วันนี้สิ่งปลูกสร้างที่มีชีวิตนี้อาจถูกลดบทบาทลง แต่ก็ไม่ได้ลดศักยภาพที่จะนำความรุ่งเรืองกลับมาเลยแม้แต่น้อย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคนในชาติจะเป็นตัวชี้วัดว่าจะใช้ประโยชน์และศักยภาพของท่าอากาศยานดอนเมืองได้มากน้อยเพียงใด  เมื่อสิ่งปลูกสร้างที่มีชีวิตนี้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือคนในชาตินั่นเอง

                     ดอนเมืองทำไทยให้ก้าวหน้า                            ให้ก้าวไกลพัฒนามหาศาล
                                หาใช่เพียงท่าอากาศยาน                             แต่คือจิตวิญญาณของชาติไทย
                     มาบัดนี้ถูกกำหนดลดบทบาท                            ศักยภาพเพื่อชาติหาลดไม่
                   อยู่ที่คนจะสรรค์สร้างให้ก้าวไกล                           ดอนเมืองยังสร้างไทยให้เจริญ

------------------------------------

Area Trebs
 
อาคาร @area เลขที่ 5/15 ซอยนนทรี 5 ถนนนนทรี เขตยานนาวา กทม. 10120
Tel: 0-2295-3171 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่