Eng
 
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
กลับหน้าแรก

ดอนเมือง: แนวทางการใช้ประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติ

นายสมเกียรติ รองประโคน
ระดับประชาชนทั่วไป

          ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพหรืออีกนามที่กล่าวขานกันติดปากว่า“สนามบินดอนเมือง” เป็นท่าอากาศยานที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อมีการยกเลิกสนามบินสระปทุม ซึ่งมีเนื้อที่อันจำกัด มีภูมิทัศน์และภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมาะสม หน่วยงานราชการผสานองค์กรเอกชนได้ระดมสมองสรรหาสถานที่ใหม่ เป็นดอนใหญ่ น้ำไม่ท่วม ไม่ห่างไกลจากเส้นทางสัญจรทางบกของพระนคร และสามารถพัฒนาให้เจริญเติบโตสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคเอเชียได้ในอนาคต รากฐานของกิจการการบินของไทยได้เริ่มต้นขึ้นอย่างมั่นคง โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ๓,๘๘๑ไร่ (สำรวจปี ๒๕๓๘) จวบกระทั่งวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ สนามบินดอนเมืองที่เคยมีชีวิต ด้วยเสียงเครื่องยนต์ ผู้คนนานาภาษา เครื่องบินหลายลำละลานตา ร้านค้ามากมายจำหน่ายของที่ระลึก บัดนี้หลับใหล คงเหลือเพียงความทรงจำที่ย้ำการบริการอย่างอบอุ่น เมื่อรัฐบาลเล็งเห็นว่าไม่สามารถพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศได้แล้ว จึงก่อเกิด “สุวรรณภูมิ” ท่าอากาศยานแห่งใหม่มาให้บริการแทน แต่ทว่า ตลอดระยะเวลาจวบปัจจุบัน เกือบ ๔ ปี ที่สนามบินดอนเมืองมิได้สร้างประโยชน์อย่างเต็มที่  ทั้ง ๆ ที่มีเนื้อที่อันมหาศาลซึ่งสามารถยังประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติ “เราจึงควรปลุกสนามบินดอนเมืองให้กลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่อีกครั้งเพื่อยังประโยชน์สูงสุดแก่ชาติไทย”
          การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของสิ่งที่เป็นอยู่มานานย่อมกระทำได้ยาก จึงจำเป็นต้องไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน แต่หากไตร่ตรองแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะยังประโยชน์สูงขึ้น พัฒนาขึ้นได้อีกในอนาคตแล้ว เราต้องพยายามร่วมมือเพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  มิให้เสียโอกาสและประโยชน์ส่วนรวมของชาติ การปลุกสนามบินดอนเมืองให้กลับมีชีวิตอีกครั้งเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดเพื่อชาตินั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์บางส่วน ปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อสร้างมูลค่าที่สูงขึ้น ตลอดจนรักษาคุณค่าบางส่วนของความเป็นท่าอากาศยานในความทรงจำอันแสนอบอุ่นของคนไทยและชาวต่างชาติ แต่การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงนั้น ๆ ต้องยังประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติ คำว่า ประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติ นั้น จำแนกได้ ๒ ประการ คือ ประการที่ ๑ ประโยชน์ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อประเทศชาติ  และประการที่ ๒ ประโยชน์ต่อการสร้างคุณค่าต่อคนในชาติ  แนวทางที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงสนามบินดอนเมืองจะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของการยังประโยชน์ทั้ง ๒ ประการ ดังนี้
          แนวทางที่ ๑. เปิดโอกาสให้องค์กรเอกชนและต่างชาติมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์ โดยการเปลี่ยนสนามบินดอนเมืองจากธุรกิจการขนส่งทางอากาศ สู่การเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและอุปกรณ์การบินต่าง ๆ อาทิเช่น ศูนย์ซ่อมบำรุงล้อเครื่องบิน (แลนดิงเกียร์) ศูนย์ซ่อมอะไหล่อากาศยานในรูปแบบฟรีโซน ศูนย์ซ่อมบำรุงและดูแลรักษาอากาศยานขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นต้น การเปิดศูนย์ซ่อมดังกล่าวโดยมีองค์กรเอกชนและต่างชาติเข้าร่วมลงทุน นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้สร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นแก่สนามบินดอนเมืองแล้ว ยังจะสร้างประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนและการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคเอเชียของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีกด้วย กล่าวคือ เมื่อมีศูนย์ซ่อมบำรุงที่ได้มาตรฐาน การพัฒนาด้านการบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็ย่อมมีมาตรฐานและลดพื้นที่การใช้งานด้านการซ่อมบำรุงตามไปด้วย แนวทางดังกล่าวข้างต้นนี้ทำให้เกิดโอกาสในอนาคตว่า “คนไทยมีความสามารถและศักยภาพด้านระบบและบุคลากรไม่น้อยหน้าชาวต่างชาติ” ดังนั้น การเปิดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน จะเสริมสร้างความเข้มแข็งในการประกาศตัวเป็น Hub แห่งเอเชียได้ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะยังประโยชน์สูงสุดในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชาติไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
          แนวทางที่ ๒. เมื่อมีศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่ได้มาตรฐาน การพัฒนาการบินในเชิงพาณิชย์ย่อมต้องทำอย่างต่อเนื่องตามไปด้วย กล่าวคือ ใช้พื้นที่บางส่วนในสนามบินดอนเมือง เพื่อการฝึกฝนและพัฒนาการบินให้ได้มาตรฐาน เช่น เปิดศูนย์ฝึกซ้อมการบิน เพื่อพัฒนาบุคลากรการบินของไทยและต่างประเทศ ให้มีมาตรฐานระดับสากล รวมถึงการสร้างศูนย์วิจัยทางการบินในเชิงธุรกิจ (Flight Research Center) เพื่อพัฒนาระบบการบริการทางอากาศยานและระบบป้องกันภัยต่าง ๆ ในธุรกิจการบิน อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นในการใช้บริการระบบอากาศยานของไทย เช่น การวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการบิน การลดการใช้พลังงาน การลดต้นทุนในระบบธุรกิจการบิน การพัฒนาเทคโนโลยีการบินที่ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-Cost Airlines) ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่ดีในการแข่งขันด้านธุรกิจการบิน เป็นต้น แนวทางในข้อที่ ๒ นี้ นอกจากจะยังประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังสร้างประโยชน์ในระยะยาวแก่ชาติไทยอีกประการหนึ่งด้วย กล่าวคือ เมื่อพัฒนาบุคลากรที่บริการด้านการบินให้มีสมรรถภาพและคุณภาพระดับมาตรฐาน โดยลดต้นทุนลง ก็จะส่งผลให้ชาวต่างชาติสนใจมากขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนให้ตัดสินใจลงทุนในธุรกิจการบินของไทย วิธีนี้จะส่งผลต่อการพัฒนามาตรฐานการบินไทยสู่ความเป็นสากลในอนาคต นอกจากก่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์แล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประกาศได้ว่าประเทศไทยมีมาตรฐานสากลในด้านการบินอีกด้วย
          แนวทางที่ ๓. คือ การใช้ประโยชน์โดยการรักษาคุณค่าของท่าอากาศยานในความทรงจำอันแสนอบอุ่นของคนไทยและชาวต่างชาติ ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพ หรือสนามบินดอนเมืองอยู่คู่กับชีวิตแห่งการสัญจรทางอากาศของไทยกว่า ๙๐ ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับพัฒนาการของมนุษย์แล้ว ย่อมอยู่ในวัยชราภาพที่สั่งสมความกล้าแกร่งด้านประสบการณ์ ชำนาญด้วยวิชา และมีคุณค่าต่อสังคม ท่าอากาศยานแห่งนี้จึงเป็นภาพจำที่งดงามอยู่ในหัวใจคนไทยมิรู้ลืม ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่บางส่วนสำหรับเป็นพิพิธภัณฑ์ทางการบิน จัดแสดงนิทรรศการประวัติการบินของไทยและต่างประเทศ จัดแสดงพัฒนาการของอากาศยาน วิวัฒนาการของเทคโนโลยีทางการบิน ตลอดถึงการพัฒนาระบบการบินจากอดีตจวบจนปัจจุบัน เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยและต่างประเทศเก็บภาพคุณค่า ความทรงจำ ความประทับใจของท่าอากาศยานแห่งนี้ไว้ พิพิธภัณฑ์นี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย แม้ว่าสนามบินดอนเมืองจะถูกเปลี่ยนแปลงจากเดิมเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติ แต่แนวทางการสร้างประโยชน์ในส่วนที่ ๓ นี้ จะยังเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและชาวต่างชาติอย่างยิ่งยวดในด้านความรู้ ทั้งยังให้โอกาสและเอื้อประโยชน์ในการสร้างรายได้สู่ประเทศในระดับสากลได้อีกด้วย กล่าวคือ จัดเป็นสถานที่แสดงเทคโนโลยีต่าง ๆ ทางการบิน ในรูปแบบงานเอ็กซ์โป (EXPO) เช่น การแสดงและจำหน่ายอุปกรณ์เทคโนโลยีการบินฝีมือคนไทยที่มีมาตรฐาน เปิดโอกาสให้ทั่วโลกนำเทคโนโลยีด้านการบินมาจัดแสดง ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศแล้ว ยังช่วยเปิดโลกทัศน์ของผู้ประกอบการด้านธุรกิจการบินของไทย ให้ศึกษาและเร่งพัฒนาให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับโลก ส่วนประโยชน์ทางอ้อม คือ การสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยว การสร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์นี้ถือว่าเป็นไปได้และคุ้มค่า ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันธุรกิจการบินมีการแข่งขันกันมาก ดังนั้น ทั่วโลกย่อมสนใจที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของตนเองให้มีมาตรฐาน การที่ประเทศไทยใช้จัดพื้นที่บางส่วนในสนามบินดอนเมืองเป็นศูนย์แสดงนิทรรศการและเทคโนโลยีทางการบิน ย่อมได้รับความสนใจจากต่างชาติ รวมถึงเป็นการประกาศให้ทั่วโลกทราบมาตรฐานด้านเทคโนโลยีและการบินของไทยอีกทางหนึ่งด้วย
          แนวทางที่ ๔ เป็นแนวทางที่สามารถใช้แนวทางที่ ๑ แนวทางที่ ๒ และแนวทางที่ ๓ มาร่วมสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศในทางอ้อมได้ กล่าวคือ  การจัดพื้นที่บางส่วนเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าของที่ระลึกของไทย เพราะการใช้ประโยชน์ในแนวทางที่ ๑ แนวทางที่ ๒ และแนวทางที่ ๓ ย่อมสามารถกระตุ้นและดึงดูดชาวไทยและชาวต่างชาติให้เข้ามาที่สนามบินดอนเมืองมากขึ้น ดังนั้น การจัดจำหน่ายสินค้าหรือของที่ระลึก ซึ่งมีราคาเหมาะสมกับคุณภาพ ก็จะเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ จะต้องมีระบบการควบคุมราคาและมาตรฐานคุณภาพของสินค้า ห้ามเอาเปรียบผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ เพื่อรักษาความประทับใจในการใช้บริการตามแนวทางการสร้างประโยชน์ทั้ง ๓ แนวทางข้างต้น หากเราร่วมกันตระหนักว่า ทั้งสามแนวทางแรกเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยแล้ว ก็เชื่อแน่ว่าแนวทางที่ ๔ ก็จะช่วยผสานสร้างประโยชน์เหล่านั้นอย่างลงตัว  สินค้าของไทยไม่แพ้ชาติใด หากคนไทยไม่ค้ากำไรเกินงาม
          แนวทางการใช้ประโยชน์เพื่อชาติทั้ง ๔ แนวทาง สามารถผสานประโยชน์ร่วมกันอย่างมีเอกภาพ กล่าวคือ การใช้พื้นที่บางส่วนสร้างศูนย์วิจัยทางการบินในเชิงธุรกิจ (Flight Research Center) เพื่อพัฒนาระบบการบริการทางอากาศยาน ก็จะสร้างประโยชน์ให้แก่ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน กล่าวคือ ผลการวิจัยทางการบินจากศูนย์วิจัยจะช่วยพัฒนาระบบการซ่อมบำรุงอากาศยานให้สมบูรณ์ขึ้น ทั้งในระบบและกระบวนการการซ่อมบำรุง การวิจัยทางการบินและการซ่อมบำรุงยังเกี่ยวข้องกับศูนย์ฝึกการบินเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของนักบิน กล่าวคือ บุคลากรทางการบินจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจทางการบิน โดยสามารถศึกษาองค์ความรู้ต่างๆ ได้จากศูนย์วิจัย ต้องมีความรู้เกี่ยวกับระบบการซ่อมบำรุงเพื่อสร้างความมั่นใจและปฏิบัติการบินอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ การใช้พื้นที่บางส่วนสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์และที่จัดแสดงเทคโนโลยีด้านการบินยังมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ การจัดแสดงเทคโนโลยีทางการบิน วิวัฒนาการการบิน และอากาศยานต่างๆ เป็นองค์ความรู้ส่วนหนึ่งซึ่งอาจจัดแสดงด้วยข้อมูลหรือวัตถุจริง แต่ข้อมูลบางส่วน เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีทางการบินในปัจจุบันและในอนาคต จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องจากศูนย์วิจัย รวมถึงการศูนย์ฝึกบินต้องสาธิตการบินให้รู้เช่นเห็นชัด ประจักษ์ต่อสายตา อีกทั้งการแสดงการซ่อมบำรุงเครื่องบิน ก็ควรเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการและการจัดแสดงเทคโนโลยีทางการบินต่าง ๆ ในรูปแบบงานเอ็กซ์โป (EXPO)  วิธีนี้จะเป็นการผสานประโยชน์เพื่อชาติอย่างลงตัว
          รวมความว่า สนามบินดอนเมืองที่เคยหลับใหลจะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาเพื่อการสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ชาติ และประกาศความเป็นไทยสู่สากลในด้านกิจการการบินได้ ด้วยแนวทางการใช้ประโยชน์ ๔ แนวทางผสานกันดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม แนวทางเหล่านั้นเพียงนามธรรมที่เกิดจากจินตภาพ บนพื้นฐานการพิจารณาความเป็นไปได้  อย่างมีเหตุผล การมีแนวทางจะช่วยกำกับสร้างความสำเร็จในเบื้องต้นเท่านั้น แต่การกำกับให้เป็นรูปธรรมด้วยการกระทำย่อมสำคัญยิ่งกว่าในการสร้างค่าล้ำแก่แผ่นดิน ดังนั้น คนไทยทุกหมู่เหล่าจึงควรผสานใจผสานความร่วมมือ เพื่อใช้ประโยชน์จากสนามบินดอนเมืองในการสร้างประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติต่อไป

ปลุกดอนเมืองที่หลับใหลให้สร้างค่า              เพื่อประโยชน์นานามหาศาล
        พื้นที่ว่างสร้างคุณค่าหลายประการ               เกิดผลงานเพิ่มมูลค่าพัฒนาไทย
      มีแนวทาง กำกับนำ ย้ำชี้ชัด                ปฏิบัติถูกทางอย่างสดใส
                ผสานความร่วมมือสร้างอย่างมั่นใจ                ประโยชน์ยิ่งใหญ่จากดอนเมืองเฟื่องฟูงาม

------------------------------------

Area Trebs
 
อาคาร @area เลขที่ 5/15 ซอยนนทรี 5 ถนนนนทรี เขตยานนาวา กทม. 10120
Tel: 0-2295-3171 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่