Eng
 
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
กลับหน้าแรก

ดอนเมือง: แนวทางการใช้ประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติ

นางสาวรุ่งนภา ธูปหอม
ระดับมัธยมศึกษา

          วงการบินเป็นอุตสาหกรรมที่กว้างใหญ่ เกี่ยวข้องกับกิจการต่าง ๆ ในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของชาติและปากท้องของคนไทยทุกระดับชั้น ในอดีตสนามบินดอนเมืองก็สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันสนามบินดอนเมืองกลับถูกทิ้งให้ว่างเปล่า เมื่อเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ
          ท่าอากาศยานดอนเมืองหรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าสนามบินดอนเมือง เปิดดำเนินการเพื่อเป็นสนามบินของชาติเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2457 ในอดีตสนามบินดอนเมืองเคยเป็นปัจจัยสำคัญของระบบการผลิตและการพาณิชย์ของประเทศไทย เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ระดับภาค จนถึงระดับชาติ สนามบินดอนเมืองได้ก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการบินทุกประเภทโดยรอบท่าอากาศยาน เช่น การผลิตและการกระจายสินค้าที่มีความต้องการเร่งด่วน ศูนย์ขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ต การคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว ทำให้ผู้คนเดินทางไปมาหาสู่กันแบบข้ามทวีปในเวลาไม่มากนัก และที่สำคัญ คือ เกิดธุรกิจการท่องเที่ยวที่นำรายได้เข้ามาสู่ประเทศไทยได้อย่างมหาศาล ด้านการแพทย์ เกิดความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งการรับ - ซื้อขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือจะเป็นการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อไปรักษาในต่างประเทศที่เจริญก้าวหน้าทางการแพทย์มากกว่า โดยดำเนินการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เป็นต้น เมื่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการบินขยายตัวเพิ่มมากขึ้น พื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานและตามแนวเส้นทางการคมนาคมขนส่งหรือบริเวณเขตดอนเมือง ตลอดจนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก็กลายเป็นชุมชนที่เรียกว่าย่านธุรกิจศูนย์กลางการบิน และส่งผลให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต นำรายได้เข้าประเทศมากขึ้น  และได้เปรียบในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ต้องพึ่งพาความเร็วและเชื่อมโยงทั้งโลก
          สนามบินดอนเมืองต้องปิดลง เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ เนื่อง จากรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และกิจกรรมธุรกิจดังกล่าวข้างต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 7,8 และ 9 นอกจากนั้นยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบการขนส่งและท่าอากาศยาน เพื่อความสะดวกในการเชื่อมโยงการขนส่งในหลายรูปแบบ ทั้งทางรถ ทางเรือ ทางรถไฟและทางท่อเข้าด้วยกัน โดยให้ความสำคัญ แก่สนามบินสุวรรณภูมิในด้านที่สามารถเชื่อมโยงสู่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเป็นประตูสู่ตลาดโลกได้ ซึ่งจะลดขั้นตอนการกระจายสินค้า ช่วยให้การขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพ และสะดวกรวดเร็วทันเวลา ดังนั้น สนามบินสุวรรณภูมิจึงถูกสร้างให้เป็นเมืองศูนย์กลางการบิน โดยยังไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากสนามบินดอนเมืองต่อไปอย่างไร แต่นี่คือการเสียโอกาสของประเทศไปแล้ว
          ปัจจุบันสนามบินดอนเมืองถูกใช้เฉพาะในกิจการของกองทัพอากาศ การบินพาณิชย์เฉพาะเครื่องบินเที่ยวพิเศษเช่าเหมาลำ เครื่องบินส่วนบุคคล เครื่องบินสินค้าทั้งลำ และจำกัดการใช้สนามบินดอนเมืองเพื่อการบินในประเทศเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสไปอีกมาก
ดิฉันขอเสนอความเห็นสองแนวทาง เพื่อการใช้สนามบินดอนเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ
          แนวทางที่หนึ่ง การเปิดใช้สนามบินดอนเมืองอย่างเต็มรูปแบบเช่นในอดีตควบคู่กับสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องมาจากการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นศูนย์กลางการบินเพียงแห่งเดียวนั้น ทำให้การจราจรทางอากาศและทางพื้นดินแออัดเครื่องบินที่จะมาลงจอดหรือวิ่งขึ้นต้องใช้เวลานาน ผู้โดยสารทางภาคตะวันตกที่จะเดินทางมาสนามบินสุวรรณภูมิหรือผู้โดยสารที่จะเดินทางระยะใกล้ต้องใช้เวลาในการเดินทางนานเกินควร ดังนั้น เพื่อลดความแออัดของการจราจรในอากาศและการคมนาคมภาคพื้น รวมทั้งให้ประชาชนมีทางเลือกและเพิ่มความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น อย่างเช่นผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดทางภาคตะวันตกและกรุงเทพมหานครตอนเหนือ หรือผู้ที่จะเดินทางในระยะใกล้ สามารถเลือกใช้สนามบินดอนเมือง ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดทางภาคตะวันออกหรือฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ก็เลือกใช้สนามบินสุวรรณภูมิได้ ช่วยให้ใช้เวลาเดินทางน้อยลง ระบบเศรษฐกิจและธุรกิจบริเวณรอบ ๆ สนามบินดอนเมืองจะยังคงอยู่ได้และค่อย ๆ ปรับตัวให้ดีขึ้น เสมือนกับเป็นการสร้างย่านธุรกิจให้เกิดขึ้นและเติบโตได้ถึงสองแห่ง เป็นการบรรเทามลภาวะทางเสียงจากการใช้สนามบินเดียว และที่สำคัญ คือ เพื่อใช้เป็นสนามบินสำรองในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินบางประการกับสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงแม้ข้อเสนอในแนวทางนี้จะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในบางส่วน รวมทั้งเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบของแต่ละสายการบินในบางกรณี แต่จากปัจจุบันที่สนามบินสุวรรณภูมิยังมีความพร้อมไม่เพียงพอ จึงควรเปิดใช้สนามบินดอนเมืองอย่างเต็มรูปแบบควบคู่กันไป แนวทางนี้น่าจะที่ส่งผลดีมากกว่าผลเสียดังกล่าว
          แนวทางที่สอง คือ การเปิดใช้สนามบินดอนเมืองเป็นมหาวิทยาลัยสอนหลักสูตรการบินแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับการบิน เนื่องจากปัจจุบันในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเกี่ยวกับหลักสูตรการบินอย่างครบวงจรทั้งการจัดการธุรกิจการบิน เทคโนโลยีการบินหรือวิศวกรรมการบินเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น จากการสำรวจพบว่าความต้องอาชีพนักบิน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังปี 2554 จากการเกษียณอายุของนักบินในปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สายการบินได้ยืดเกษียณอายุนักบินออกไปจนถึงอายุ 65 ปี ปัจจุบันสายการบินในประเทศก็ซื้อเครื่องบินเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีวิธีคิด คือเครื่องบิน 1 ลำ ต่อนักบิน 7-8 คน ด้วยเหตุปัจจัยที่สนามบินดอนเมืองเคยเป็นศูนย์กลางการบินของประเทศ อาคารสถานที่ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมใช้งาน จึงเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ทำให้ผู้เรียนเห็นสภาพจริง ฝึกปฏิบัติได้จริง ส่งผลให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยเปิดสอนได้ในหลายสาขาวิชาดังกล่าว รวมทั้งการเปิดพิพิธภัณฑ์การบินควบคู่ไปกับมหาวิทยาลัยสอนหลักสูตรการบินแห่งชาติด้วย เพื่อให้สนามบินดอนเมืองเป็นสถานที่เก็บรวบรวมประวัติความเป็นมาของสายการบินและธุรกิจการบินในประเทศไทยทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ให้เป็นมรดกล้ำค่าเพื่อการเรียนรู้ของลูกหลานเราสืบต่อไป เพราะการศึกษาของเด็กคืออนาคตของชาติ สำหรับข้อเสียในแนวทางนี้ คือ การเพิ่มค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากร การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือการเพิ่มเติมในบางส่วน และการบริหารงานส่วนต่าง ๆ ในการเปิดมหาวิทยาลัยสอนหลักสูตรการบินแห่งชาติอย่างครบวงจร แต่ดิฉันเชื่อว่าน่าจะได้ผลคุ้มทุน เพราะปัจจุบันธุรกิจการบินกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งในระดับประเทศไทย ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติทั่วโลก เพราะต่างก็ใช้การขนส่งและการโดยสารทางอากาศกันมากขึ้น หลายประเทศมีการขยายธุรกิจการบิน เช่น ประเทศจีน เพิ่มสายการบินภายในประเทศอีกกว่า 50 สายการบิน ส่วนประเทศไทยโอกาสที่ดีอยู่แล้ว จึงควรพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการขยายตัวทางธุรกิจการบินอย่างต่อเนื่องสืบไป
          ถึงแม้สนามบินดอนเมืองจะต้องปิด ไม่ได้เป็นศูนย์กลางการบินแห่งชาติ แต่ด้วยสภาพอาคารสถานที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็มิได้เสียหายแต่อย่างใด ยังคงอยู่ในยังคงมีสภาพสมบูรณ์ พร้อมใช้งาน จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะปล่อยให้สูญเสียไปอย่างไร้ประโยชน์ แนวทางเลือกการเปิดใช้สนามบินดอนเมืองอย่างเต็มรูปแบบเช่นในอดีตควบคู่กับสนามบินสุวรรณภูมิ และการเปิดใช้สนามบินดอนเมืองเป็นมหาวิทยาลัยสอนหลักสูตรการบินแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับการบิน ดังที่เสนอข้างต้นจึงน่าจะสามารถตอบสนองความต้องการเป็นศูนย์กลางการบินของโลกได้เป็นอย่างดี อันจะส่งผลดีต่อผลประโยชน์ของชาติโดยรวม

..................................

 

Area Trebs
 
อาคาร @area เลขที่ 5/15 ซอยนนทรี 5 ถนนนนทรี เขตยานนาวา กทม. 10120
Tel: 0-2295-3171 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่