Eng
ไทย
เกี่ยวกับมูลนิธิ
หลักการและจรรยาบรรณ
ราคาประเมินค่าก่อสร้าง
บทความความรู้ข้อแนะนำ
เว็บบอร์ด
ติดต่อมูลนิธิ
ประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนเพื่อพัฒนาชาติ

นายเศรษฐชัย ปานศรี

รางวัลชมเชย ระดับอุดมศึกษา

 

                 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ปี พ.ศ.๒๕๓๐ มาตรา ๔ ได้ให้ความหมายของคำว่าเวนคืนไว้ว่า “เวนคืนหมายความว่าบังคับเวนคืนที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นตามเงื่อนไขแห่งพระราชบัญญัตินี้” และในหมวดที่ ๑ ว่าด้วยการเวนคืนสังหาริมทรัพย์ มาตรา ๕ กล่าวไว้ว่า “เมื่อรัฐมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการใดๆอันจำเป็น เพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค หรือการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ  หรือเพื่อการผังเมือง หรือเพื่อพัฒนาการทางการเกษตร หรือการอุตสาหกรรม หรือเพื่อการปฏิรูปที่ดิน หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น”
                 การประเมินค่าทรัพย์สินตามที่พระราชบัญญัติ ได้กำหนดไว้นั้น หากรัฐต้องการที่จะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อการอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เป็นต้นว่าการเวนคืนเพื่อการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้า คลองชลประทานเพื่อการเกษตร ถนนหนทางเพื่อความสะดวกในการคมนาคม สนามบิน พื้นที่ทหารเพื่อการรักษาความมั่นคงของชาติ หรือสาธารณูปโภคอันเกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่แล้ว  เป็นที่แน่นอนว่าจำเป็นจะต้องส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีอสังหาริมทรัพย์ในเขตพื้นที่นั้น แต่เมื่อความจำเป็นต้องสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาให้เกิดคุณค่าอย่างสูงสุดต่อแผ่นดินและต่อสาธารณชนแล้ว บุคคลควรพึงต้องเสียสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน  แต่อย่างไรก็ตามภาครัฐก็ย่อมเล็งเห็นซึ่งความเดือดร้อนและต้องชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากผลกระทบแห่งการเวนคืนนั้นตามสมควรและชอบด้วยกฎหมาย
                 ในมาตรา ๑๘  ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ปี พ.ศ.๒๕๓๐  ได้กำหนดผู้ที่ต้องได้รับค่าทดแทน ความโดยรวมว่า ต้องเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นเจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่รื้อถอนมิได้ เป็นผู้เช่าที่ดิน  โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในที่ดินเวนคืน เป็นเจ้าของต้นไม้ที่ยืนต้นในที่ดิน เป็นเจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่รื้อถอนได้ และเป็นผู้เสียสิทธิในการใช้ทาง  ในการอื่นที่รัฐได้ดำเนินการผ่านยังที่ดินต้องเวนคืนเช่นวางสายโทรศัพท์ ท่อระบายน้ำ สายไฟ เป็นต้น
                 จากประมวลกฎหมายที่ยกมาดังกล่าวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเวนคืนทรัพย์สินอยู่ด้วยกันสองฝ่ายคือหน่วยงานของรัฐและประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน  สิ่งที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการประเมินค่าทรัพย์สินที่ ทั้งสองฝ่ายต้องยึดเป็นหัวใจหลักในการยึดเหนี่ยวใจคือคุณธรรมที่ว่าความซื่อสัตย์สุจริต  ดังจะขออัญเชิญกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ๒๓ พฤษภาคม  ๒๔๙๖  ความว่า   “....ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายจงมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตถือเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง  เพราะคุณธรรมอันนี้เป็นมูลฐานอันสำคัญที่จะยังความเจริญ  และความเป็นปึกแผ่นแก่สังคม  เป็นบ่อเกิดแห่งความสามัคคีกลมเกลียว  ความซื่อสัตย์ที่ว่านี้  หมายถึงความสุจริต ซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน  ต่อตนเองและต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง  มีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่เอารัดเอาเปรียบ  สำหรับท่านที่ใช้วิชากฎหมาย  ย่อมกินความถึงการรักษาความเป็นธรรม  ไม่บิดเบือนความหมายของตัวบทกฎหมาย  เพื่อประโยชน์ของตนเองด้วย  ความซื่อสัตย์สุจริตจะเป็นเสมือนหนึ่งเกราะคุ้มภัยแก่ท่านตลอดไป  ดังบทพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า “สุจริตคือเกราะบัง  ศาสตร์พ้อง” ...”
                 จากกระแสพระราชดำรัสที่อัญเชิญมาจะเห็นได้ว่าหากการประเมินค่าทรัพย์สินนั้นทั้งเจ้าหน้าที่ของภาครัฐและผู้ถูกเวนคืนต้องประกอบด้วยความสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง   หากเจ้าหน้าที่ของรัฐขาดคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว  ความอยุติธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่การประเมินคุณค่าของทรัพย์สินเป็นแน่นอน  เป็นต้นว่าทรัพย์สินนั้นมีมูลค่ามากหากแต่ประเมินค่าให้น้อยกว่าความเป็นจริงเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบโดยใช้อำนาจหน้าที่ของตนมาปฏิบัติต่อการประเมินค่าก็ดี   หรือทรัพย์สินมีค่าน้อยแต่กลับประเมินค่ามากโดยสมรู้ร่วมคิดกับเจ้าของทรัพย์เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันเป็นต้น การประเมินค่าก็ย่อมเกิดผลเสียหายให้แก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรง การปฏิบัติหน้าที่ของภาครัฐจึงต้องยึดมั่นในความถูกต้องเป็นหลัก  การใช้กฎหมายจำเป็นจะต้องประกอบด้วยคุณธรรม ฉะนั้นในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างสูงสุด หากแม้ขาดคุณธรรมนี้แล้วฝ่ายผู้ที่เสียหายจากการประเมินค่าทรัพย์สินก็ย่อมได้รับความเดือดร้อน  เกิดความไม่พอใจจนกลายเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้แล้ว การประค่าทรัพย์สินก็จะก่อให้เกิดความเสียหาย  ส่งผลกระทบต่อภาครัฐต้องทำให้การดำเนินการล่าช้าส่งผลเสียต่อการพัฒนาประเทศชาติ และที่สำคัญที่สุดคือต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงของหน่วยงาน  ขาดการไว้วางใจของคนทั่วไป 
                 ในส่วนของฝ่ายประชาชนหรือผู้ที่เสียหายจากการเวนคืนทรัพย์สินนั้น ก็ต้องจำเป็นต้องประกอบด้วยคุณธรรมข้อแห่งการเสียสละเป็นที่ตั้ง  ก็เป็นเรื่องปกติของผู้เสียหายย่อมเสียดายในทรัพย์สินนั้น  แต่หากเล็งเห็นอันประโยชน์ที่เกิดจากการเวนคืนในภายภาคหน้าแล้ว  ผู้ถูกเวนคืนย่อมเกิดความภาคภูมิใจว่าได้เสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง  แม้ว่าคุณค่าของทรัพย์ที่สูญเสียไปนั้นจะมีค่าสูงกว่าค่าทดแทนที่ได้รับ ซึ่งทรัพย์สินบางอย่างมิอาจที่จะประเมินค่าออกมาในรูปของทรัพย์สินได้  หากแต่มากด้วยคุณค่าทางจิตใจของผู้ถูกเวนคืน  แต่หากความเสียสละประโยชน์ส่วนตนนี้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้วความภาคภูมิใจนั้นก็ย่อมเกิดแก่ผู้ถูกเวนคืนได้และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบอื่นตามมาแน่นอน  จึงขออัญเชิญกระแสพระราชดำรัส  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันขึ้นปีใหม่  วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๐  ความว่า  “...ความเสียสละและช่วยเหลือกันที่ประชาชนทั้งชาติได้แสดงให้ปรากฏนั้น เป็นหลักประกันความมั่นคงของบ้านเมืองของเราอย่างแท้จริง...”
                 ในส่วนหนึ่งของผู้ถูกเวนคืนที่ต้องยึดมั่นในการปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้มีหน้าที่ประเมินค่าทรัพย์สินนั้นคือคุณธรรมในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต  การดำเนินงานประเมินทรัพย์สินของผู้ถูกเวนคืนนั้นแม้บางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐกระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว  แต่ยังมีผู้ที่มากด้วยจิตละโมบในทรัพย์เกินกว่าสิทธิที่ตนพึงได้ เป็นต้นว่าการเข้ายึดครองพื้นที่สาธารณะหักร้างถางพงเพื่ออ้างสิทธิเป็นของตนเพื่อเรียกร้องสิทธิต่อภาครัฐ   บางรายก็เร่งซื้อต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่มาปลูกในพื้นที่ตนซึ่งเดิมนั้นไม่ได้ปลูกเพื่อเพิ่มมูลค่าของการประเมินค่าให้สูงขึ้น  หรือการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการทุจริตโดยการประเมินค่าทรัพย์สินที่ไม่เป็นไปตามความจริงเพื่อประโยชน์ร่วมกันเป็นต้น   เช่นนี้แล้วการประเมินค่าทางทรัพย์สินอันเป็นธรรมเพื่อประโยชน์ของชาติย่อมเกิดขึ้นไม่ได้   หากแม้แต่พลเมืองในชาติยังขาดความเสียสละและซื่อสัตย์ต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า ประเทศชาติ ก็ไม่อาจจะก้าวหน้าไปได้อย่างแน่นอน  สมดังกระแสพระราชดำรัส  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑    ความว่า  “...ถ้าคนเราพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ...”  
                การดำเนินการประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมนั้น เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐที่ต้องดำเนินการต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพย์นั้น  จึงจำเป็นจะต้องดำเนินการด้วยความมีคุณธรรมเพื่อให้การพัฒนาชาติ บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าไปได้ด้วยความเป็นปกติและควรเป็น  หากการพัฒนาสะดุดลงเหตุด้วยเพราะบุคคลคนที่มุ่งหวังเพียงประโยชน์อันน้อยนิดแล้ว ก็ย่อมเกิดความเสียหายอันใหญ่หลวงต่อการพัฒนาของชาติ  แล้วเช่นนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นต้องตระหนักในความสำคัญอันเกิดแก่ชาติบ้านเมืองเป็นหลักและเทิดไว้เหนือประโยชน์อื่นใด

 
ประเมินค่า  ด้วยคุณค่า หน้าที่รัฐ
ทรัพย์สิน  จัดให้สมควร ล้วนหลักฐาน
ให้เป็นธรรม  ด้วยคุณธรรม  นำดวงมาน
ก่อนการ  ตัดสินใจ ให้มวลชน

เวนคืน  ทรัพย์นับคณา มาเพื่อชาติ

เพื่อ   รัฐราษฎร์ ประโยชน์ยิ่ง สิ่งนำผล

พัฒนา  ให้ก้าวไกล ไทยสากล
ชาติ   ของตน เจริญล้ำ ตามครรลอง
.................................................................
 

 
Area Trebs FIABCI
 
10 ถนน.นนทรี กรุงเทพมหานคร 10120 โทรศัพท์:66 2295 3171: โทรสาร: 66 2295 3994 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่