Eng
ไทย
เกี่ยวกับมูลนิธิ
หลักการและจรรยาบรรณ
ราคาประเมินค่าก่อสร้าง
บทความความรู้ข้อแนะนำ
เว็บบอร์ด
ติดต่อมูลนิธิ
ประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนเพื่อพัฒนาชาติ

นายเกรียงไกร ฮ่องเฮงเส็ง

รางวัลชมเชย ระดับอุดมศึกษา

 

                 ตามสัจธรรมเรายอมรับโดยดุษณีว่า “ทรัพย์สิน” มีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้น สิทธิในทรัพย์สินจึงมีความจำเป็น ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้บัญญัติถึงความสำคัญของสิทธิในทรัพย์สินไว้ในมาตรา ๔๘ ว่า “สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง” และในมาตรา ๔๙ ว่า “การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์  ต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรม”  ทั้งนี้เมื่อกล่าวถึง “การเวนคืน” ประชาชนส่วนใหญ่คงเกิดความวิตก เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่การเวนคืนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการพัฒนาความเจริญ จำเป็นต้องปรับปรุงการใช้ที่ดินใหม่  ดังนั้น เราจึงควรตระหนักถึงความจำเป็นในการเวนคืนทรัพย์สินเพื่อพัฒนาประเทศให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ควบคู่กับความรู้ในการประเมินค่าทรัพย์สิน เพื่อใช้ประกอบการคิดค่าทดแทนการเวนคืนให้เป็นธรรมต่อประชาชนผู้ถูกเวนคืนและต่อสาธารณชนผู้เสียภาษีอากรมาบำรุงประเทศ สอดรับกับคำกล่าวที่ว่า“ประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนเพื่อพัฒนาชาติ”
                 โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเวนคืนนั้น สามารถจำแนกได้หลายประการ ดังต่อไปนี้
                 ประการแรก ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในการประเมินค่าทรัพย์สินและการเวนคืน จึงไม่ยอมรับราคาค่าทดแทนที่ประเมินได้ แม้อาจเป็นมูลค่าที่เหมาะสมแล้วก็ตาม จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า หากถูกเวนคืน เราในฐานะพลเมืองที่ดีของชาติ ต้องพร้อมปฏิบัติตาม จะดื้อแพ่งหรือปฏิเสธไม่ได้ ทั้งนี้ ในประเทศสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา ได้มีการเวนคืนมากมายเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติการเวนคืนเพื่อปกป้องสิทธิ ประกอบกับให้ความช่วยเหลือผู้ถูกเวนคืนและได้แก้ไขให้สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างต่อเนื่อง ในอีกมิติหนึ่ง บรรดาอารยประเทศแทบไม่ได้ใช้การเวนคืนเลย แต่เป็นการว่าจ้างบริษัทเอกชนให้สำรวจทรัพย์สิน กำหนดค่าทดแทน ตลอดจนเจรจากับเจ้าของที่ดินด้วยความเข้าอกเข้าใจกัน เพื่อให้เจ้าของยินดีขายที่ดินหรือทรัพย์สินในแนวเวนคืนเพื่อการพัฒนาสาธารณูปโภคตามที่สมควร การเวนคืนจะใช้ก็ต่อเมื่อถึงคราวจำเป็นและเร่งด่วนจริงๆเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม กรณีของประเทศไทย ปรากฏว่า ในกรุงเทพมหานครที่ได้ประเมินค่าทดแทนของทรัพย์สินเป็นอย่างดี เจ้าของที่ดินถึงร้อยละ๙๐ กลับไม่เห็นด้วยกับราคาค่าทดแทนที่ได้ประเมินไว้ อาจเป็นเพราะ ผู้ไม่เห็นด้วยส่วนหนึ่งได้ราคาค่าทดแทนที่ต่ำเกินจริง แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การขาดความรู้ความเข้าใจในการประเมินทรัพย์สินและการเวรคืนที่ถูกต้อง
                 ประการต่อมา หน่วยงานราชการหลายแห่งใช้ราคาประเมินทางราชการซี่งเป็นไปเพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมากำหนดค่าทดแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นราคาที่ไม่สะท้อนมูลค่าตลาด แต่ก็เป็นราคาอย่างเป็นทางการที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถอ้างอิงได้ ซึ่งอาจเกิดผลเสียต่อเจ้าของที่ดินเพราะอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมในการรับค่าทดแทน
                 ประการสุดท้าย ประชาชนขาดจิตใต้สำนึกต่อส่วนรวม มุ่งผลประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การพัฒนาประเทศชาติจะสามารถเจริญก้าวหน้าได้ ก็ด้วยความร่วมมือจากคนทุกภาคส่วนในสังคม ดังนั้น เราจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของการประเมินค่าทรัพย์สินและการเวรคืน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศชาติ
                 ดังนั้น การประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืน จึงเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนควรตระหนักรู้ โดยคำว่า “เป็นธรรม” ครอบคลุมความหมายถึงการประเมินค่าทรัพย์สินอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับมูลค่าที่แท้จริง ปราศจากการเอารัดเอาเปรียบและมุ่งผลประโยชน์เพื่อพัฒนาชาติเป็นสำคัญ สำหรับแนวทางในการบรรลุประวัตถุประสงค์ดังกล่าว ควรปรับปรุงที่สาเหตุหลักสามประการ กล่าวคือ “การประเมินค่าทรัพย์สิน การเผยแพร่ความรู้และการแก้ไขระบบการเมือง” ดังแยกพิจารณาได้ ต่อไปนี้
                 “การประเมินค่าทรัพย์สิน” มีวิธีการที่ถือเป็นมาตรฐานสากลอยู่สามรูปแบบ ประกอบด้วย  วิธีวิเคราะห์มูลค่าจากต้นทุน (Cost Approach to Value) วิธีเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Comparison Approach) และวิธีแปลงรายได้เป็นมูลค่า (Income Approach) นอกจากสามวิธีหลักแล้ว ในปัจจุบันยังมีวิธีการที่อิงหลักการของวิธีในข้างต้นมาปรับใช้เพิ่มเติม คือ วิธีการตั้งสมมติฐานในการพัฒนา  วิธีวิเคราะห์กระแสเงินสด และวิธีประเมินโดยการสร้างแบบจำลอง ทั้งนี้ หากการประเมินค่าทรัพย์สินดังกล่าวได้รับการยอมรับจากประชาชนว่ามูลค่าที่ประเมินได้นั้นมีความน่าเชื่อถือ การเวนคืนก็จะมีความเป็นไปได้ มีความราบรื่นและประสบความสำเร็จในที่สุด แต่ในกรณีประเทศไทย กลับไม่เป็นเช่นนั้น จึงเกิดหลายคำถามตามมาว่า เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าบริษัทผู้ประเมินเชื่อถือได้หรือไม่? เพราะอาจถูกว่าจ้างให้ประเมินสูงหรือต่ำเกินจริง ราคาซื้อขายในท้องตลาดที่อ้างอิงกันเชื่อถือได้หรือไม่? เพราะบางทีอาจเป็นการสร้างราคาขึ้นมาเพื่อนำมาอ้างอิงให้ได้ค่าทดแทนที่สูงหรือต่ำเกินจริง ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า วิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินของไทยขาดความน่าเชื่อถือ เราสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าค่าทดแทนที่เหมาะสมคิดได้อย่างไร จากการสำรวจข้อมูลที่เพียงพอ การวิเคราะห์ข้อมูลทั่วทุกด้าน และการนำเสนอที่เป็นมืออาชีพ อย่างไรก็ตามการประเมินค่าทรัพย์สินก็ต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ เพราะเราไม่มีระบบการแจ้งราคาซื้อขายจริงตามท้องตลาด แต่ถ้าแจ้งจริง ก็มักสูงกว่าราคาประเมินของทางราชการ ประชาชนจึงต้องเสียภาษีสูงเป็นพิเศษ ทำให้ประชาชนมักพยายามหลีกเลี่ยง ดังนั้นเราจึงต้องพยายามสร้างฐานข้อมูลการซื้อขายที่เป็นจริง วิธีการสร้างก็อาจใช้มาตรการลงโทษผู้ที่ไม่แจ้งตามจริง ด้วยการปรับเพิ่มขึ้น หรือมาตรการลดภาษีและค่าธรรมเนียมลง ทั้งนี้ อาจต้องกำหนดให้ทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกินกว่าระดับหนึ่ง ต้องทำการประเมินค่าทรัพย์สินทุกครั้งก่อนการโอน โดยทางราชการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง เพราะเกิดความคุ้มค่าที่จะสามารถเรียกเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมโอนได้สูงขึ้นกว่าราคาประเมินของทางราชการ
                 เมื่อมีฐานข้อมูลการซื้อขายที่เป็นจริงแล้ว ก็ต้องสามารถเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบด้วย เพื่อผู้ที่คิดจะซื้อ ขาย จำนองหรือแบ่งแยกมรดก สามารถใช้เป็นฐานในการประมาณมูลค่าทรัพย์สินด้วยตนเองในทางหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ประเมินเพื่อการเวนคืนจะสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการประเมินค่าทดแทน โดยการเปิดเผยข้อมูลเช่นนี้  ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้เปิดเผย เพราะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งที่ในอารยประเทศได้อนุญาตให้เผยแพร่ได้ ดังนั้น จึงสมควรแก่การเผยแพร่ เพื่อความโปร่งใส และอาจถือเป็นการป้องกันการฟอกเงินอีกทางหนึ่งด้วย การมีระบบฐานข้อมูลนี้จึงถือเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการเวนคืน โดยเฉพาะระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
                 ปัจจุบันในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน จะประเมินจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยในส่วนของภาครัฐได้แก่ สำนักงานประเมินราคาทรัพย์สิน สังกัดกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และภาคเอกชน ได้แก่ บริษัทรับประเมินราคาต่างๆ ที่มีอยู่หลายบริษัท ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็จะใช้วิธีการดังที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นมาตรฐานในการประเมิน เพื่อให้ผลการประเมินถูกต้องและเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังมีองค์กรต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาการประเมินมูลค่าทรัพย์สินและวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน เพื่อให้การประเมินมีประสิทธิภาพ และวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินเป็นที่ยอมรับในประเทศไทย เช่น มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย สมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย และสำนักงานประเมินราคาทรัพย์สิน เป็นต้น แต่สิ่งที่แปลกก็คือ เราไม่มีระบบการตรวจสอบและลงโทษผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าไม่การควบคุมคุณภาพที่ดี ไม่มีการออกสุ่มสำรวจผลการทำงานของบริษัทประเมินต่างๆ ไม่มีการลงโทษอย่างตรงไปตรงมาและเด็ดขาด ก็อาจมีบริษัทประเมินหรือผู้ประเมินที่กระทำการทุจริตฉ้อฉลได้ โดยผลเสียจะตกแก่วิชาชีพและผู้ใช้บริการโดยรวม
                 “การเผยแพร่ความรู้” เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเวนคืนพร้อมทั้งให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงความจำเป็น สิทธิและค่าทดแทนที่ตนควรได้รับด้วยความเป็นธรรม การเผยแพร่ความรู้เหล่านี้จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ บทเรียนจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้สอนให้เรารู้ว่า กฎหมายเวนคืนที่ดีต้องแก้ไขปรับปรุงได้บ่อยครั้งให้สอดคล้องกับความเป็นจริง หากระบบกฎหมายของเรายังตายตัว แก้ไขหรือปรับปรุงเพื่อประโยชน์ของมหาชนอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ การเวนคืนทรัพย์สินก็อาจกลายเป็นการสร้างปัญหาความไม่เป็นธรรมให้เกิดเพิ่มมากขึ้นในสังคม ทั้งนี้ คนไทยเรายังไม่เข้าใจเลยว่า การเวนคืนเพื่อมาสร้างเมืองใหม่นั้นทำได้ จะคิดว่ารัฐบาลเวนคืนที่ดินแล้วเอามาแบ่งสรรทำเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมเป็นการผิดกฎหมายไม่ได้ การตีความกฎหมายโดยยึดถือหลักสิทธิของปัจเจกบุคคลอย่างสุดโต่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม กีดขวางความเจริญของส่วนรวม สิ่งเหล่านี้ควรส่งเสริมความเข้าใจแก่ประชาชนเช่นกัน โดยการเผยแพร่ความรู้นั้นควรเริ่มจากตนเอง แล้วขยายผลสู่ครอบครัว สถานศึกษาและสังคม ตามลำดับ การเผยแพร่ความรู้ในครอบครัว ครอบครัว ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ การสร้างความรู้ความเข้าใจในการประเมินค่าทรัพย์สินและการเวนคืนให้เกิดขึ้นในแต่ละครอบครัวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวด้วย การเผยแพร่ความรู้ในสถานศึกษา ควรมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการประเมินค่าทรัพย์สินและการเวนคืนผ่านวิธีสอดแทรกเนื้อหาดังกล่าวในหลักสูตรและจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เยาวชนตระหนักถึงความจำเป็นในการเวนคืน การเผยแพร่ความรู้ในสังคม  รัฐบาลต้องช่วยส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สินให้เจริญก้าวหน้า ทั้งในด้านวิชาการ งบประมาณ บุคลากร พร้อมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สิน ส่วนองค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องระบบการประเมินและจรรยาบรรณวิชาชีพ พร้อมกระตุ้นให้ประชาชนนำความรู้ไปใช้ในการประเมินค่าทรัพย์สินอย่างจริงจัง
                 “การแก้ไขระบบการเมือง” ข้าราชการส่วนใหญ่มักคิดว่า ตนอาจเสียผลประโยชน์จากการริเริ่มสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งใหม่เพื่อการเวนคืนหรือกิจการอื่นใดของประเทศ ประกอบกับการที่ระบบกฎหมายต่างๆของเราเปลี่ยนแปลงช้า ทำให้ผลประโยชน์ของประชาชนเสียหาย เข้าทำนองที่ว่า“กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้” อาจเป็นเพราะระบอบการเมืองที่ผู้มีอำนาจไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปรารถนาให้ระบบบริหาร ระบบรัฐสภาอ่อนแอเช่นทุกวันนี้ เพื่อให้คงสถานะของที่ผู้ได้เปรียบในสังคม เจ้าของที่ดินรายใหญ่ จึงจะได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องเพราะไม่อยากถูกเวนคืน ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาระบบการเมืองที่ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ให้ประชาชนมีอำนาจผ่านฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เพื่อผลักดันและบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่ประชาชนโดยรวม ทั้งนี้ ต้องเริ่มต้นที่ประชาชน ทำให้ประชาชนรากหญ้ารู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตน เพื่อให้เห็นว่า คนยากจนกับคนร่ำรวยต่างมีสิทธิเท่าเทียมกัน พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าตนนั้นคือเจ้าของประเทศที่แท้จริง ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนได้
                 หากทุกภาคส่วนในสังคมมีจิตสำนึกร่วมกันในการประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวรคืนอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว แล้วก็ก่อให้เกิดคุณูปการในหลายมิติด้วยกัน ทั้งในส่วนของประชาชน องค์กรและประเทศชาติ ดังแยกพิจารณาได้ ต่อไปนี้ “ในส่วนของประชาชน” ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืน ทำให้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยกดราคาให้ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง “ในส่วนขององค์กร” เป็นการส่งเสริมวิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สินให้พัฒนาก้าวหน้า เพราะการประเมินจะต้องนำวิธีการประเมินที่เป็นมาตรฐานสากลมาใช้ เท่ากับเป็นการพัฒนาระบบการประเมินค่าทรัพย์สินให้มีมาตรฐาน นับได้ว่าเป็นการส่งเสริมวิชาชีพการประเมินให้เจริญก้าวหน้าและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนทั่วไป“ในส่วนของประเทศชาติ” ประเทศชาติเกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านคุณภาพของทรัพยากรบุคคล องค์กรถึงพร้อมด้วยศักภาพ ต่อยอดไปสู่การพัฒนาประเทศชาติในที่สุด เหล่านี้ ล้วนเป็นผลมาจากการประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวรคืนเพื่อพัฒนาชาติทั้งสิ้น
                 ถึงเวลาแล้วที่ชาวไทยทุกคนจะใช้หนึ่งสมองและสองมือ ผนวกกับหัวใจที่ปรารถนาให้ประเทศชาติเกิดความเจริญวัฒนา ด้วยการตระหนักรู้ ตระหนักคิดและตระหนักกระทำโดยส่งเสริมให้มีการประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวรคืน เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ส่งผลให้ชาติไทยเราเท่าเทียมนานาอารยะประเทศ ธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติได้อย่างมีเอกราช  เอกลักษณ์  เอกสิทธิ์ มีภราดรภาพ มีเกียรติและมีศักดิ์ศรี สอดรับกับคำประพันธ์ที่ว่า

 
ประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรม ก่อนจะนำเวรคืนเพื่อพัฒน์ชาติ
ทุกภาคส่วนในสังคมรู้บทบาท

ทั้งรัฐราษฎร์ร่วมตระหนักพิทักษ์ไทย

สร้างความรู้ความเข้าใจไม่ห่างเหิน การประเมินล้วนถูกต้องและโปร่งใส
ความเป็นธรรมเกิดขึ้นได้ในทันใด ชาติก้าวไกลชนก้าวหน้าสถาพร
.................................................................
 

 
Area Trebs FIABCI
 
10 ถนน.นนทรี กรุงเทพมหานคร 10120 โทรศัพท์:66 2295 3171: โทรสาร: 66 2295 3994 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่