Eng
ไทย
เกี่ยวกับมูลนิธิ
หลักการและจรรยาบรรณ
ราคาประเมินค่าก่อสร้าง
บทความความรู้ข้อแนะนำ
เว็บบอร์ด
ติดต่อมูลนิธิ
ประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนเพื่อพัฒนาชาติ

นายธนาวุฒิ ระลึกมูล

รางวัลชมเชย ประเภทประชาชนทั่วไป

 

                 ตามหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ชาติมีหลายความหมาย ชาติในความหมายหนึ่ง  หมายถึง ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ  พัฒนา หมายถึง ทำให้เจริญ  การพัฒนาชาติ จึงควรจะหมายถึงการทำให้ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศมีความเจริญ  นั่นคือประชาชนอยู่ดีมีสุขขึ้น  การพัฒนาชาติมีมาหลายยุคหลายสมัย  บางสมัยการพัฒนาชาติมีผู้ที่ได้ต่อสู้หรือเสียสละชีวิตเพื่อสร้างหรือรักษาทรัพยากรและสิ่งที่มีค่าของชาติไว้  ส่งผลให้ประชาชนในรุ่นต่อๆ มาได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและสิ่งที่มีค่าเหล่านั้น  การเวนคืนทรัพย์สินเพื่อพัฒนาชาติจึงเกี่ยวข้องกับประชาชนในอดีต ประชาชนในปัจจุบัน และประชาชนที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต ตราบใดที่ประชาชนในชาติยังไม่มีความสุข การพัฒนาชาติคงจะต้องดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด
                 เมื่อมีโครงการพัฒนาชาติต่างๆ เกิดขึ้นมา เงินและทรัพยากรของชาติเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับนำมาใช้ลงทุนในโครงการ บางโครงการจำเป็นที่จะต้องมีการเวนคืนทรัพย์สินที่ประชาชนครอบครองอยู่ต้องนำเงินของชาติซึ่งก็คือเงินของประชาชน ที่มาจาก ภาษี ค่าธรรมเนียม ที่รัฐเป็นผู้จัดเก็บ รายได้ที่รัฐเป็นผู้ลงทุนเองหรือได้รับมากรณีต่างๆ  และยังต้องรวมถึงรายได้ที่เกิดขึ้นมาจากสิ่งที่ประชาชนของชาติรุ่นก่อนๆ ได้สร้างหรือรักษาไว้  มาจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ถูกเวนคืน ค่าชดเชยให้ผู้ถูกเวนคืนเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งจากต้นทุนทั้งหมดที่ใช้ในโครงการ ถ้าค่าชดเชยมาก ต้นทุนของโครงการจะมากตามไปด้วย  เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนทั้งหมดที่ใช้ในโครงการกับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการ  ถ้าไม่คุ้มค่าการลงทุนแต่มีการดำเนินโครงการย่อมไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่เป็นเจ้าของเงิน  ถึงแม้จะคุ้มค่าการลงทุนแต่ถ้าชดเชยให้ผู้ถูกเวนคืนมากเกินไปย่อมไม่เป็นธรรมอีกเช่นกัน เพราะยังจะต้องมีโครงการพัฒนาชาติอื่นๆ อีก ที่จำเป็นต้องใช้เงินและทรัพยากรของชาติมาลงทุน 
                 ทางด้านผู้ถูกเวนคืนทรัพย์สินนอกจากจะต้องสูญเสียทรัพย์สินจากการถูกเวนคืน บางครั้งการเวนคืนยังส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในอนาคตอีกด้วย  อาจจะแบ่งกลุ่มผู้ถูกเวนคืนเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
                 กลุ่มที่ 1 ผู้ถูกเวนคืนที่ไม่ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ได้แก่ประชาชนที่มีทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยการทำกิน เมื่อถูกเวนคืนทรัพย์สินจะไม่กระทบกระเทือนต่อการประกอบอาชีพที่มีอยู่ รายได้ที่เคยหาได้ยังมีตามเดิม และอยู่อาศัยได้ตามปกติ
                 กลุ่มที่ 2 ผู้ถูกเวนคืนที่การดำเนินชีวิตเปลี่ยนไปบางอย่างได้แก่ประชาชนที่มีทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนบางส่วนเกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยการทำกิน เมื่อถูกเวนคืนทรัพย์สินจะมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพที่มีอยู่  การประกอบอาชีพยังคงเป็นแบบเดิม แต่รายได้ที่เคยมีอาจจะน้อยลงหรือเพิ่มขึ้น เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ อาจจะทำให้ผู้ถูกเวนคืนเสียที่ดินการเกษตรไปบางส่วน แต่จะมีน้ำไว้ใช้สำหรับการเกษตร  ซึ่งจะมีผลต่อผลผลิตการเกษตรที่อาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้
                 กลุ่มที่ 3  ผู้ถูกเวนคืนที่การดำเนินชีวิตเปลี่ยนไปสิ้นเชิง ได้แก่ประชาชนที่มีทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนเกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยการทำกิน เมื่อถูกเวนคืนทรัพย์สินไป ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังเดิม ต้องเปลี่ยนการประกอบอาชีพใหม่  และยังอาจจะต้องย้ายที่อยู่อาศัยใหม่ด้วย
                 สำหรับกลุ่มที่ 2 และ กลุ่มที่ 3 หากการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางแย่ลง มีชีวิตที่ลำบากขึ้น ค่าชดเชยอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ยังอาจจะต้องมีการพัฒนาและให้ความรู้แก่ผู้ถูกเวนคืนตามมาด้วย เพื่อให้ผู้ถูกเวนคืนสามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไป 
                 โครงการบางโครงการ อาจจะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้ใช้ประโยชน์จากโครงการมากกว่าผู้อื่น ประโยชน์ที่จะได้มานี้บางครั้งจะมีการประเมินค่าเพื่อนำมาหักออกจากค่าชดเชยที่ได้รับจากการถูกเวนคืนทรัพย์สิน เพราะเงินลงทุนที่ใช้ในโครงการเป็นเงินของชาติ  จึงต้องดำเนินการด้วยความเป็นธรรม เช่น โครงการทำถนนที่ต้องผ่านที่ดินที่ไม่มีทางเข้าออกหรือเรียกว่าที่ดินตาบอดของประชาชน เจ้าของที่ดินตาบอดที่สูญเสียที่ดินของตนเองบางส่วนหากพิจารณาแล้วว่าได้ผลประโยชน์จากการมีถนนมากกว่าที่ต้องสูญเสียที่ดินไป  อาจจะไม่จำเป็นต้องได้รับค่าชดเชยในการถูกเวนคืน เป็นต้น
                 การพัฒนาชาติ บางครั้งยังส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามมา เช่น การสร้างเขื่อน การทำอ่างเก็บน้ำ  การสร้างถนน เป็นต้น ที่นอกจากจะต้องมีการเวนคืนทรัพย์สิน แล้วยังอาจจะต้องมีการทำลายทรัพยากรของชาติ เช่น ป่าไม้ แม่น้ำ ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์บางชนิด ต้นไม้ที่มีส่วนช่วยฟอกอากาศ ช่วยลดสภาวะโลกร้อน ต้นไม้บางประเภทที่มีสรรพคุณเป็นยา อาจจะต้องสูญเสียไปด้วย ประชาชนที่แม้จะไม่ได้ถูกเวนคืนทรัพย์สินแต่มีการดำเนินชีวิตหรือทำกินอยู่อาศัยผูกพันกับทรัพยากรของชาติที่สูญเสียไป อาจจะต้องเปลี่ยนการทำกินหรือที่อยู่อาศัย  การพัฒนาชาติจึงควรจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ศึกษาข้อมูลและผลกระทบให้เพียงพอและต้องดำเนินการให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย อาจจะต้องมีการประเมินค่าทรัพย์สินที่จะเวนคืนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ นอกจากที่จะต้องประเมินค่าทรัพย์สินที่จะถูกเวนคืนสำหรับใช้ในโครงการเท่านั้น
                 การประเมินค่าทรัพย์สินมีหลายสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เช่น สภาพของทรัพย์สิน ราคาซื้อขายกันจริง ราคาซื้อขายทรัพย์สินที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน  การใช้ประโยชน์ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์จะพิจารณาทำเล ที่ตั้ง  ความสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย  ทรัพย์สินบางอย่างสามารถสร้างรายได้ในอนาคต เช่น ห้องเช่า  ต้นไม้ผล ต้นยางพารา   การประเมินควรจะต้องคำนึงถึงรายได้ที่จะเกิดขึ้น ปัจจัยที่จะมีผลต่อรายได้ในอนาคต เช่น ตลาด เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย เป็นต้น หากผลการประเมินค่าทรัพย์สินออกมาไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ถูกเวนคืน  ถึงแม้จะมีกฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้ถูกเวนคืนได้อุทธรณ์ ถ้าเห็นว่าค่าชดเชยจากการถูกเวนคืนทรัพย์สินไม่เป็นธรรม แต่ก็เป็นการเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และเสียความรู้สึก จึงจำเป็นที่ผู้ประเมินจะต้องหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้เพียงพอและวิเคราะห์พิจารณาอย่างรอบคอบ
                 การเปิดโอกาสให้ผู้ถูกเวนคืนหรือประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น น่าจะมีส่วนช่วยให้ทางผู้ประเมินได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์  โดยที่ข้อมูลนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ผู้ประเมินไม่ได้คาดคิด  และยังอาจจะเป็นแนวทางนำไปสู่การหาวิธีประเมินร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางหนึ่งที่มีการนำไปใช้ติดต่อสื่อสารกันอย่างแพร่หลาย มีความรวดเร็ว โต้ตอบกันได้ น่าจะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สินที่จะถูกเวนคืน เพื่อจะได้แจ้งข่าวสารให้ผู้ถูกเวนคืนและประชาชนทั่วไปได้รับทราบ และสามารถแสดงความคิดเห็นของตนได้
                 ผู้ถูกเวนคืนทรัพย์สินจะได้รับค่าชดเชยเท่าใด จะต้องมีวิธีประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรม  วิธีการประเมินที่เป็นสากลมีหลายวิธี ตัวอย่างเช่น
                 วิธีวิเคราะห์มูลค่าจากต้นทุน  หลักสำคัญคือ “มูลค่าของสิ่งหนึ่ง = ต้นทุนในการหาสิ่งอื่นที่เทียบเคียงได้มาทดแทน”  วิธีการก็คือ เริ่มที่การประมาณการต้นทุนในการสร้างอาคารทดแทนตามราคาปัจจุบัน แล้วหักลบด้วยค่าเสื่อม (ถ้ามี) บวกด้วยมูลค่าตลาดของที่ดิน ก็จะได้มูลค่าของทรัพย์สินนั้น 
                 ในภาวะที่ราคาทรัพย์สินตกต่ำ แต่ต้นทุนวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น บางครั้งต้นทุนที่คำนวณได้อาจจะแพงกว่ามูลค่าตลาด ทำให้การประเมินด้วยวิธีนี้ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงได้
                 วิธีเปรียบเทียบตลาด  หลักก็คือ “มูลค่าของทรัพย์สินของเรา=ราคาของทรัพย์สินเทียบเคียงที่คนอื่นขายได้” แนวทางคือ เริ่มที่การหาทรัพย์สินเทียบเคียงที่มีการซื้อขายหรือเรียกขาย มาดูว่ามีลักษณะคล้ายหรือต่างจากทรัพย์สินที่ต้องการประเมินอย่างไร โดยหาให้เพียงพอ จากนั้นตรวจสอบเพื่อคัดเลือกนำทรัพย์สินที่เทียบเคียงได้จริงเท่านั้นมาวิเคราะห์แล้วสรุปหามูลค่าที่สมควร วิธีนี้หัวใจอยู่ที่การหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างเพียงพอมาใช้ในการเปรียบเทียบ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดชัดเจนที่สุด
                 วิธีการตั้งสมมติฐานในการพัฒนา เป็นแนวทางประเมินที่ดินเปล่า โดยสมมติให้มีการพัฒนาที่ได้ประโยชน์สูงสุดและดีที่สุด ตามภาวะตลาดขณะนั้น และลดทอนค่าพัฒนาทั้งหลายรวมทั้งค่าอาคารออกให้เหลือแต่ค่าที่ดินเปล่าในที่สุด เขียนเป็นสูตรคือ “มูลค่าโครงการ - ต้นทุนค่าก่อสร้าง - ต้นทุนอื่น ๆ = มูลค่าที่ดิน” โดยสมมติฐานที่ตั้งขึ้นต้องสอดคล้องกับข้อกฎหมาย การเงิน ตลาด และสภาพกายภาพของที่ดินนั้น
                 วิธีแปลงรายได้เป็นมูลค่า  หลักก็คือ “มูลค่าวันนี้ = ผลรวมของรายได้สุทธิที่จะได้ในอนาคตจนสิ้นอายุขัย” ทรัพย์สินมีค่าเพราะมันสร้างรายได้ ทรัพย์ที่สร้างรายได้สูงกว่ามักมีมูลค่าสูงกว่า มีขั้นตอนเป็นดังนี้
                 1)  ประมาณรายได้ของทรัพย์สินจากทุกแหล่ง โดยพิจารณาจากการเปรียบเทียบตลาด และรายได้จริงของทรัพย์ที่ประเมินโดยตรง
                 2)  ลบด้วยการไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือหนี้สูญจากข้อเท็จจริง และจากการเปรียบเทียบหรือแนวโน้มในตลาด ก็จะได้รายได้ที่เป็นจริง
                 3)  จากนั้นก็หักด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าดำเนินการ ภาษี ประกัน จัดการ ค่าบำรุงรักษา เป็นต้น ก็จะได้รายได้สุทธิ
                 4)  นำรายได้สุทธิมาเข้าสูตร V = I / R โดยที่ V คือ มูลค่าทรัพย์สิน  I คือ รายได้สุทธิ และ R คืออัตราผลตอบแทน  อัตราผลตอบแทน มักใช้อัตราขั้นต่ำปลอดภัยที่สุดที่ใช้ให้เงินทำงานแทนเรา โดยที่เราไม่ต้องลงแรงไปนั่งลงทุนหรือเสี่ยงเอง เช่นการฝากเงินไว้ในสถาบันการเงินหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น รายได้สุทธิก็เปรียบเสมือนดอกเบี้ยหรือผลตอบแทน มูลค่าทรัพย์สินก็เปรียบเสมือนเป็นเงินฝากหรือพันธบัตรรัฐบาลนั่นเอง
                 วิธีวิเคราะห์กระแสเงินสด  เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการแปลงรายได้เป็นมูลค่า เป็นวิธีการที่ปรับใช้มาจากการวิเคราะห์เพื่อลงทุน ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยจะประมาณการรายได้ที่มาจากการลงทุนในอนาคตตามอายุขัยของทรัพย์สินและคิดลดเป็นมูลค่าปัจจุบัน หัวใจสำคัญก็คือ รายได้ในอนาคตที่เราประมาณการนั้น จะขึ้นๆ ลง ๆ ไม่หยุดนิ่งตามภาวะตลาด เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ดังนั้นเราจึงต้องประมาณการรายได้ในอนาคตให้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด การจะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องอาศัยการศึกษาวิจัย ลึกซึ้ง และชัดเจน
                 การประเมินค่าทรัพย์สินต้องเลือกใช้วิธีที่เหมาะสม บางครั้งอาจจะต้องใช้หลายวิธี  เพื่อให้ได้ราคาประเมินที่ทุกฝ่ายยอมรับได้
                 การประเมินค่าทรัพย์สิน นอกจากจะมีวีธีการสำหรับใช้ในการประเมินแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ความรู้ทางวิชาการ และเวลาที่เพียงพอ  บางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายในการสนับสนุนบุคลากร ข้อมูลและความรู้ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ  ประชาชนและอื่นๆ
                 มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยเป็นมูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นมาตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการศึกษาวิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สิน ค้นคว้า ศึกษา วิจัย ความรู้และความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆ ด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน และการสำรวจ วิจัยอสังหาริมทรัพย์    สนับสนุนศึกษา วิจัยทางด้านการเปลี่ยนแปลงมูลค่าทรัพย์สิน การพัฒนาที่ดิน ที่อยู่อาศัย ชุมชนเมือง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่ความรู้และวิทยาการใหม่ๆด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน และอสังหาริมทรัพย์ เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนในรูปแบบการอบรมและการสัมมนา รวมถึงเป็นศูนย์รวมการแลกเปลี่ยนข่าวสารและความคิดเห็นสำหรับผู้สนใจทั่วไป จึงเป็นแหล่งข้อมูลความรู้แห่งหนึ่งในประเทศไทยที่เป็นประโยชน์ต่อการประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรม  ที่จะช่วยให้ผู้ประเมินได้นำไปใช้ในการพัฒนาชาติ
                 ปัจจุบันมีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาชาติ  การประเมินค่าทรัพย์สินก่อนการเวนคืนเพื่อพัฒนาชาติจึงน่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความพอเพียงประกอบไปด้วย ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว โดยมีคุณธรรมและความรู้ช่วยกำกับ  ผู้ประเมินจึงอาจจะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาช่วยเป็นแนวทางได้ดังนี้ 
                 ความพอประมาณ ไม่ประเมินค่าทรัพย์สินมากไปหรือน้อยไป เงินของชาติใช้อย่างคุ้มค่า ผู้ถูกเวนคืนไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือถ้าจะเดือดร้อนก็ให้น้อยที่สุด
                 มีเหตุผล ประเมินค่าทรัพย์สินโดยใช้การพิจารณาด้วยเหตุผล มีวิธีการประเมินที่มีหลักการเชื่อถือได้
                 มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว มีการคาดการณ์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ เพื่อจะได้หาวิธีการชดเชยให้เหมาะสมเพียงพอ
                 ความรู้  ผู้ประเมินจะต้องแสวงหาข้อมูลความรู้ให้เพียงพอ สำหรับใช้ในการประเมิน มีการพิจารณาอย่างระมัดระวังรอบคอบ
                 คุณธรรม ผู้ประเมินจะต้องมีความซื่อสัตย์ อาจจะมีความยากลำบากในการประเมิน ก็ต้องอดทน พยายาม เพื่อให้การประเมินเป็นไปด้วยความยุติธรรม
                 ชาติเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรมีส่วนร่วมช่วยกันพัฒนา ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะแบบใด หากประชาชนอยู่ได้แบบพอเพียง  ไม่เบียดเบียนกัน ไม่โลภ  มีการแบ่งปันกัน ช่วยเหลือกัน สามัคคีกัน เพื่อให้ชาติมีความเจริญ  จะช่วยให้ประชาชนได้อยู่ดีมีสุขและยังเป็นเกราะป้องกันอันตรายต่างๆ จากปัจจัยภายนอกที่มากระทบ หรือมุ่งหวังจะทำลาย 
                 การประเมินค่าทรัพย์สินก่อนการเวนคืนเพื่อพัฒนาชาติ หากทุกคนในชาติให้ความร่วมมือ มีการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ไม่โลภเห็นแก่ตัว  มีคุณธรรม ยึดประโยชน์ของชาติ การประเมินค่าทรัพย์สินจะเป็นไปอย่างราบรื่น และมีความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย  มีสิ่งหนึ่งที่ผู้ประเมินและประชาชนทั่วไปควรจะตระหนักไว้ ความยินดีเสียสละเพื่อพัฒนาชาติ  เป็นสิ่งที่น่ายกย่อง และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะประเมินค่าเป็นจำนวนเงินได้เลย

.................................................................
 

 
Area Trebs FIABCI
 
10 ถนน.นนทรี กรุงเทพมหานคร 10120 โทรศัพท์:66 2295 3171: โทรสาร: 66 2295 3994 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่