Eng
ไทย
เกี่ยวกับมูลนิธิ
หลักการและจรรยาบรรณ
ราคาประเมินค่าก่อสร้าง
บทความความรู้ข้อแนะนำ
เว็บบอร์ด
ติดต่อมูลนิธิ
ประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย

นายประยูร เบญจวงศ์

รางวัลชมเชย ประเภทประชาชนทั่วไป


     เป็นที่ยอมรับกันว่า “บ้าน” ไม่เพียงแต่จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตเท่านั้น แต่บ้านยังเป็นจุดกำเนิดของสถาบันครอบครัว เป็นแหล่งพักพิงที่ให้ความอบอุ่นและเป็นศูนย์รวมของสมาชิกใน ครอบครัว คำว่า “บ้าน” มีความหมายครอบคลุมถึงที่อยู่อาศัยทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด อาคารชุด ห้องชุดหรือแม้กระทั่งอาคารพาณิชย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย และโดยที่ทุกคนจำเป็นต้องมีบ้าน ปัจจุบัน “บ้าน” จึงเป็นสินค้าหรือทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่มีการซื้อ-ขาย กันโดยทั่วไป เพราะมีผู้ที่ต้องการซื้อและต้องการขาย ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการซื้อหรือขายบ้าน ก็อยากจะให้ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านหรือขายบ้าน ได้ทำการประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่เสียก่อน เพื่อจะได้ทราบถึง “มูลค่าที่แท้จริง” และก่อให้เกิดประโยชน์ตามมาอีกมากมาย ดังนั้น ในโอกาสนี้จึงขอนำเสนอสาระสำคัญในประเด็นที่ว่า “ประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย”โดยจะกล่าวถึงวิธีการประเมินมูลค่าบ้านตามมาตรฐานสากล วิธีการประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ และประโยชน์ที่จะได้รับ สุดท้ายจะเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สินให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับว่าจะทำอย่างไร 
วิธีการประเมินมูลค่าบ้าน 
     ทุกวันนี้ การวิเคราะห์มูลค่าของทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างถูกต้อง โปร่งใสและเป็นธรรม ถือเป็น “จริยธรรมทางธุรกิจ” ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อโลกธุรกิจปัจจุบัน เพราะจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ผู้ซื้อและผู้ขาย โดยเฉพาะ “บ้าน” ซึ่งจัดเป็นทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่ง จำเป็นที่จะต้องมีการวิเคราะห์หรือประเมินมูลค่าให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย เพราะมีปัจจัยหรือองค์ประกอบหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าที่แท่จริง และก่อนที่จะกล่าวถึงวิธีประเมินมูลค่าบ้าน เพื่อให้ทราบถึงมูลค่าที่แท้จริง ก็อยากจะให้ทุกท่านได้เข้าใจกับคำว่า “มูลค่าที่แท้จริง” เสียก่อน 
     ในการประเมินค่าทรัพย์สิน เราเรียกมูลค่าที่ประเมินว่า “มูลค่าตลาด” ซึ่งมีคำจำกัดความว่า 
     “เป็นราคาประมาณการสูงสุด ณ วันที่ประเมินค่า ซึ่งทรัพย์สินนั้นสามารถขายได้ในตลาดเสรีทั่วไปในระยะเวลาที่พอเพียง และสมเหตุสมผลในการหาผู้ซื้อ และผู้ขายมีความรอบรู้ในการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นได้อย่างเต็มที่ในสภาพที่เป็นอยู่ โดยมีสมมุติฐานว่าราคานี้ไม่ได้มีผลกระทบจากความมิชอบหรือสภาพพิเศษใด ๆ”
     ดังนั้น “มูลค่าที่แท้จริง” ก็คือ “มูลค่าตลาด” โดยคำว่า “มูลค่าตลาด” จะแตกต่างจากคำว่า “ราคาตลาด” กล่าวคือ “มูลค่าตลาด” เป็นมูลค่าตามความเห็นของผู้ประเมินต่อทรัพย์สินที่ประเมิน โดยการเปรียบเทียบจาก “ราคาตลาด” ซึ่งหมายถึง ราคาทรัพย์สินอื่น ๆ ที่มีการซื้อขายหรือประกาศขายในบริเวณนั้น หรือหมู่บ้านนั้น ซึ่งมีมากมายหลายราคา 
      ในการประเมินนั้น ผู้ประเมินจะต้องนำราคาตลาดที่สืบหาได้ มาทำการวิเคราะห์มูลค่าตลาดอีกทีหนึ่งเพื่อหา “มูลค่าที่แท้จริง”
      สำหรับวิธีการประเมินมูลค่าของ “บ้าน” จะใช้วิธีเดียวกันกับการประเมินค่าทรัพย์สินทั่วไป ซึ่งมีวิธีการที่ถือเป็นมาตรฐานสากลอยู่ 3 วิธีหลัก ๆ คือ 
วิธีที่หนึ่ง วิธีวิเคราะห์มูลค่าจากต้นทุน (Cost Approach to Value) 

หลักสำคัญของวิธีนี้คือ “มูลค่าของสิ่งหนึ่ง = ต้นทุนในการหาสิ่งอื่นที่เทียบเคียงได้มาทดแทน”

     วิธีการก็คือ เราเริ่มที่การประมาณการต้นทุนในการสร้างอาคารทดแทนตามราคาปัจจุบัน แล้วหักลบด้วยค่าเสื่อม (ถ้ามี) บวกด้วยมูลค่าตลาดของที่ดิน ก็จะได้มูลค่าของทรัพย์สินนั้น

     ข้อสังเกตที่สำคัญของการประเมินมูลค่าวิธีนี้ ก็คือ ส่วนมากใช้สำหรับโรงงาน อาคารหรือบ้านที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ และในภาวะที่ราคาทรัพย์สินตกต่ำ แต่ต้นทุนวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น บางครั้งต้นทุนที่คำนวณได้อาจจะแพงกว่ามูลค่าตลาดเสียอีก ทำให้การประเมินด้วยวิธีนี้ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงได้
วิธีที่สอง วิธีแปลงรายได้เป็นมูลค่า ( Income Approach )
 

หลักก็คือ มูลค่าวันนี้ = ผลรวมของรายได้สุทธิที่จะได้ในอนาคตจนสิ้นอายุขัย

 

ทรัพย์สินมีค่าเพราะมันสร้างรายได้ ทรัพย์สินที่สร้างรายได้สูงกว่า มักมีมูลค่าสูงกว่า (ทำเล-คุณภาพดีกว่า)

ขั้นตอนของวิธีนี้มีดังต่อไปนี้
1 )

ประมาณรายได้ของทรัพย์สินจากทุกแหล่ง โดยพิจารณาจากการเปรียบเทียบตลาดและรายได้จริงของทรัพย์สินที่ประเมินโดยตรง

2 )

ลบด้วยการไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือหนี้สูญจากข้อเท็จจริง และจากการเปรียบเทียบหรือแนวโน้มในตลาดก็จะได้รายได้ที่เป็นจริง

3 )

จากนั้นก็หักด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าดำเนินการ ค่าประกัน ค่าภาษี เป็นต้น ก็จะได้รายได้สุทธิ

4 )

นำรายได้สุทธิมาเข้าสูตร V=I / R โดยที่ V คือ มูลค่าทรัพย์สิน , I คือ รายได้สุทธิ และ R คือ อัตราผลตอบแทน (อัตราผลตอบแทน มักใช้อัตราขั้นต่ำปลอดภัยที่สุดที่ใช้เงินทำงานแทนเรา โดยที่เราไม่ต้องไปลงทุนเสี่ยงเอง เช่น ฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น

วิธีแปลงรายได้เป็นมูลค่านี้ เหมาะสำหรับที่อยู่อาศัยที่เป็นหอพักหรือบ้านเช่า ดังนั้น ผู้ที่จะซื้อจะขายหอพักหรือบ้านเช่า ก็ควรจะนำวิธีนี้มาใช้ในการประเมินจะเหมาะสมที่สุด

วิธีที่สาม วิธีเปรียบเทียบตลาด ( Market Comparision Approach )

 

เป็นวิธีที่ดีที่สุดและชัดเจนที่สุด หลักก็คือ

  มูลค่าของทรัพย์สินของเรา = ราคาของทรัพย์สินเทียบเคียงที่คนอื่นขายได้
     แนวทางก็คือ เริ่มที่การหาทรัพย์สินเทียบเคียงที่มีการซื้อขาย / เรียกขาย มาดูว่ามีลักษณะคล้าย / ต่างจากทรัพย์สินที่ประเมินอย่างไรบ้าง เมื่อได้ข้อมูลมาเพียงพอแล้ว ก็ตรวจสอบเพื่อคัดเลือกนำทรัพย์สินที่เทียบเคียงได้จริงเท่านั้นมาทำการวิเคราะห์ โดยระบุถึงเงื่อนไขในการเปรียบเทียบของทั้งทรัพย์สินที่ประเมินกับทรัพย์สินที่เปรียบเทียบ เช่น คุณภาพอาคาร ขนาดของที่ดิน-อาคาร เป็นต้น แล้วจึงสรุปหามูลค่าที่สมควรโดยวิเคราะห์เปรียบเทียบ
     นอกจาก 3 วิธีหลักดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันยังมีวิธีการที่อิงหลักการของ 3 วิธีหลักมาปรับใช้เพิ่มเติม ได้แก่ วิธีการตั้งสมมุติฐานในการพัฒนา วิธีวิเคราะห์กระแสเงินสด และวิธีการประเมินโดยการสร้างแบบจำลอง ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

การประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย

     โดยทั่วไปแล้ว บ้านที่มีการซื้อ-ขายกันส่วนใหญ่จะมี 2 ลักษณะ คือ บ้านที่สร้างขึ้นเองและบ้านที่บริษัทหรือโครงการต่าง ๆ จัดสรรขึ้นมาสำหรับซื้อขาย ไม่ว่าจะเป็นบ้านลักษณะใดก็ตาม ก่อนที่จะมีการซื้อ-ขายกัน ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องใช้วิธีการประเมินให้เหมาะสมและละเอียดถ้วนถี่ ในกรณีที่เป็นบ้านสร้างเอง ซึ่งมีรูปแบบหลากหลายและหาแบบบ้านเทียบเคียงยาก ก็ควรจะใช้ วิธีวิเคราะห์มูลค่าจากต้นทุน และนำองค์ประกอบต่าง ๆ มาวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริง เช่น แบบบ้าน รั้วบ้าน พื้นที่ใช้สอยในบริเวณบ้าน วัสดุที่ใช้ก่อสร้าง อายุการใช้งาน สภาพการใช้งาน การดูแลรักษา ระบบสาธารณูปโภค และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นต้น

     แต่ถ้าเป็นบ้านในโครงการจัดสรร ควรจะใช้ วิธีเปรียบเทียบตลาดที่ว่า “ มูลค่าบ้านที่เราจะซื้อหรือขาย ควรเท่ากับราคาของบ้านอื่น ๆ ที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันที่คนอื่นซื้อ-ขายได้ ” วิธีนี้สามารถสืบหาข้อมูลตลาดประเภทเดียวกัน ที่คล้ายคลึงกันในบริเวณใกล้เคียงมาเปรียบเทียบได้เพียงพอ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ ห้องชุด หรืออาคารพาณิชย์สำหรับอยู่อาศัย ในหมู่บ้านจัดสรร (เพราะมีบ้านแบบเดียวกันนี้อีกมากในหมู่บ้านเดียวกัน) โดยวิธีการนี้จะพิจารณามูลค่าตามสภาพราคาตลาดเป็นสำคัญ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

    ขั้นแรก ต้องทำการสำรวจบ้านที่ประเมินก่อนในองค์ประกอบต่อไปนี้

 

•  ทำเลที่ตั้ง เช่น อยู่ติดถนนหลัก หรือถนนซอย ความกว้างของถนน รวมทั้งระบบสาธารณูปโภค

 

•  ประเภทของบ้าน เช่น บ้านเดี่ยว อาคารชุด ห้องชุดหรืออาคารพาณิชย์

 

•  ขนาดของบ้านและที่ดิน พื้นที่ใช้สอยตัวบ้าน บริเวณบ้าน โรงรถ รั้ว สวนหย่อม สนามหญ้ามีหรือไม่

 

•  วัสดุที่ใช้ก่อสร้างมีคุณภาพอย่างไร อายุการใช้งาน สภาพการใช้งาน และการดูแลรักษา

 

•  สภาพแวดล้อมอื่น ๆ เป็นต้นว่าอยู่ใกล้หรือไกลแหล่งความเจริญหรือแหล่งท่องเที่ยว เช่น ศูนย์การค้า ตลาด โรงเรียน โรงพยาบาล ทะเล แม่น้ำ ภูเขา สนามกอล์ฟ เป็นต้น

 

•  โอกาสในอนาคต เช่น บริเวณใกล้บ้านที่เราจะซื้อหรือขายในอนาคตจะมีถนนตัดผ่าน จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างศูนย์การค้า ศูนย์กีฬา ศูนย์ราชการ จะสร้างโรงเรียนหรือโรงพยาบาล เป็นต้น

 

•  ภาพลักษณ์ของโครงการ เช่น เป็นโครงการที่มีชื่อเสียง น่าเชื่อถือ เป็นต้น

     ขั้นที่สอง สืบหาบ้านประเภทเดียวกันที่คล้ายคลึงกัน ที่เรียกว่า “ ข้อมูลตลาด ” มาเปรียบเทียบกับบ้านที่จะประเมิน ว่ามีองค์ประกอบคล้ายกันหรือแตกต่างจากบ้านที่เราประเมินในเรื่องใดบ้าง แล้วนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ถ้าเรื่องใดเหมือนกันหรือคล้ายกัน ก็ไม่ต้องปรับแก้ แต่ถ้าเรื่องใดแตกต่างกัน ก็ทำการปรับแก้ เช่น ข้อมูลเป็นบ้านเดี่ยวเหมือนกัน แต่มีโรงรถ ขณะที่บ้านที่เราประเมินไม่มีโรงรถ ก็ต้องปรับแก้ในเรื่องราคา เป็นต้น

     ขั้นที่สาม สรุปมูลค่าตลาดที่ประเมิน โดยพิจารณาข้อมูลที่มีความคล้ายคลึงกับบ้านที่ประเมินมากที่สุดและเชื่อถือได้มากที่สุด ซื้อขายใกล้เคียงกับวันประเมินมากที่สุด ในการประเมินมูลค่าบ้านที่จะซื้อหรือขายด้วยวิธีนี้ ความสำคัญอยู่ที่ข้อมูลตลาด การหาข้อมูล ผู้ประเมินต้องละเอียดรอบคอบ เพราะในทุกที่ล้วนมีข้อมูลเพียงพอ แต่ขึ้นอยู่กับการหา ต้องไม่เพียงหาข้อมูลเรียกขาย แต่ให้มีข้อมูลซื้อขายจริงด้วย และต้องระวังการสร้างหลักฐานการซื้อขายเท็จลวงผู้ประเมินด้วย ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การประเมินที่มีข้อมูลเปรียบเทียบน้อยหรือไม่สอดคล้องกันหรือได้ข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง จะทำให้การวิเคราะห์หามูลค่าผิดพลาด ไม่น่าเชื่อถือ

     เพื่อให้การประเมินมีความละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น ก็ขอแนะนำให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมาประเมิน เช่น วิศวกรผู้รับเหมาก่อสร้าง สถาปนิก หรือบริษัทที่รับประเมินค่าทรัพย์สินซึ่งมีมากกว่า 70 บริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่รับประเมินค่าทรัพย์สินจะดีที่สุด เพราะถือว่าเป็น “ มืออาชีพ ” เนื่องจากมีคุณภาพ มีมาตรฐานและมีจรรยาบรรณเป็นที่ยอมรับและเชี่ยวชาญโดยตรงในเรื่องนี้ แต่ถ้าผู้ซื้อหรือผู้ขายมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วก็สามารถประเมินเองได้
     กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้ที่ต้องการจะซื้อหรือขายบ้าน ก่อนที่จะซื้อก็ต้องมีการประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ ละเอียดรอบคอบ โดยนำข้อมูลตลาดมาวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อหามูลค่าที่แท้จริง มิใช่ว่าต้องการจะซื้อบ้านหลังใด ก็ตัดสินใจซื้อทันที หรือ ไม่ใช่ว่าจะขายบ้านหลังใด ก็กำหนดราคาตามใจชอบ อย่าลืมว่าปัจจุบัน ผู้ที่จะซื้อบ้านฉลาดพอที่จะรู้ว่าบ้านที่จะซื้อน่าจะมีมูลค่าเท่าใด สำหรับผู้ที่จะประเมินมูลค่าบ้าน ก็ควรจะให้บริษัทที่รับประเมินมาดำเนินการให้จะดีที่สุด

ประโยชน์ของการประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย

     การประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย ก่อให้เกิดประโยชน์มากมายหลายประการ ที่สำคัญมีดังนี้

     ประการที่หนึ่ง ทำให้ทราบมูลค่าที่แท้จริงของบ้านที่จะซื้อหรือขาย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ซื้อได้รู้ว่าต้องเตรียมเงินสำหรับซื้อไว้เท่าไร หรือถ้าจะไปขอกู้เงินมาซื้อบ้าน ก็สามารถนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินไปเป็นหลักฐานในการขอกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ ส่วนผู้ขายก็สามารถที่จะประกาศให้ผู้ที่จะซื้อได้รู้ว่าบ้านที่จะขายมีราคาเท่าไร่ นอกจากนั้น การรู้มูลค่าก่อนที่จะซื้อหรือขาย ทำให้มีอำนาจต่อรองเมื่อถึงเวลาที่ซื้อหรือขายกันจริง ๆ

     ประการที่สอง ป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ การที่ผู้จะซื้อได้ประเมินมูลค่าบ้านก่อนที่จะซื้อจนทราบว่ามีมูลค่าที่แท้จริงเท่าไร เมื่อถึงเวลาไปซื้อก็จะไม่ถูกหลอกหรือถูกเอารัดเปรียบ สามารถจะซื้อได้ในราคายุติธรรม ส่วนผู้ขายก็เช่นเดียวกัน ก่อนที่จะขายได้ทำการประเมินจนทราบถึงมูลค่าที่แท้จริงแล้ว ก็จะไม่ถูกผู้ซื้อเอาเปรียบโดยกดราคาให้ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง สรุปก็คือ ทำให้การซื้อหรือขายบ้านเป็นไปอย่างยุติธรรมนั่นเอง
     ประการที่สาม ทำให้มีการซื้อขายกันรวดเร็วและง่ายขึ้น เมื่อรู้อยู่ก่อนแล้วบ้านที่จะซื้อหรือขายมีมูลค่าเท่าไร การตัดสินใจซื้อหรือขายก็เร็วขึ้น เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลารอการเวลาประเมิน
     ประการที่สี่ เป็นการสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ให้กับผู้ประกอบการ เช่น บริษัทหรือโครงการบ้านจัดสรรใดที่มีการประเมินมูลค่าบ้านไว้ก่อนที่จะมีการขาย และแจ้งให้ผู้ที่จะซื้อทราบอย่างตรงไปตรงมา ก็จะได้ชื่อว่าดำเนินธุรกิจตามหลัก “ บรรษัทภิบาล ” ( Corporate Governance ) คือ ยึดหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใสตรวจสอบได้ หลักความรับผิดชอบ หลักการมีส่วนร่วมและหลักการคุ้มค่า ซึ่งช่วยให้บริษัทหรือโครงการมีภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือ
     ประการที่ห้า เป็นการส่งเสริมวิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สินให้พัฒนาก้าวหน้า เพราะการประเมินจะต้องนำวิธีการประเมินที่เป็นมาตรฐานสากลมาใช้ และจะนำไปสู่การประเมินค่าทรัพย์สินอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากบ้าน ซึ่งเท่ากับเป็นการพัฒนาระบบการประเมินค่าทรัพย์สินให้มีมาตรฐาน นับได้ว่าเป็นการส่งเสริมวิชาชีพการประเมินให้เจริญก้าวหน้าและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนทั่วไป
     ประการที่หก ช่วยในการคุ้มครองผู้บริโภค ถ้าผู้บริโภคคือผู้ที่ซื้อบ้านทุกคนมีความรู้ในเรื่องการประเมินรู้มูลค่าบ้านที่จะซื้อ ก็จะไม่ถูกหลอก หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการช่วยคุ้มครองผู้บริโภคนั่นเอง
     ที่กล่าวมานี้คงประจักษ์ชัดแล้วว่า ถ้ามีการประเมินมูลค่าบ้านก่อนที่จะมีการซื้อหรือขายแล้ว ก็จะเกิดประโยชน์ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอย่างมากมาย ที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำให้การซื้อการขายบ้านเป็นไปอย่างโปร่งใสและบริสุทธิ์ยุติธรรม

การส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นที่ยอมรับในประเทศไทย

     ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินการประเมินค่าทรัพย์สิน ภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานประเมินค่าทรัพย์สิน (สปท.) สังกัดกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง สำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินแห่งชาติ สังกัดกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ภาคเอกชนได้แก่ บริษัทรับประเมินค่าทรัพย์สิน ซึ่งมีอยู่มากมายหลายบริษัท นอกจากนั้น ยังมีองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรทำหน้าที่ส่งเสริมวิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สิน เช่น มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นต้น องค์กรดังกล่าวได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้วิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สินเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้วิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สินมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น จึงขอเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้

     ประการที่หนึ่ง รัฐต้องช่วยส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพการประเมินให้เจริญก้าวหน้า เช่น จัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาเกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สินในสถาบันการศึกษาทุกระดับชั้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้เกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สินอย่างถูกต้อง จะได้นำไปใช้ในอนาคต ขณะเดียวกัน ก็ตองช่วยส่งเสริมสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สินให้เจริญก้าวหน้า ทั้งในด้านวิชาการ งบประมาณ บุคลากร พร้อมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ่ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สินและนำไปใช้

     ประการที่สอง องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินค่าทรัพย์สินที่กล่าวมา จะต้องช่วยกันทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการประเมิน มาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ ขณะเดียวกัน ก็ต้องร่วมมือกับรัฐในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สินให้ประชาชนทั่วไปได้มีความรู้และเข้าใจ เกี่ยวกับ การประเมินค่าทรัพย์สินอย่างถ่องแท้และทั่วถึง พร้อมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนนำไปใช้ในการประเมินค่าทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างจริงจัง

     ประการที่สาม องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สิน จะต้องร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพการประเมินฯ ให้เจริญก้าวหน้า มีมาตรฐานวิชาชีพและเป็นที่ยอมรับ โดยมีแนวทางดังนี้ คือ
 

•  จัดการศึกษา เช่น จัดให้มีสถาบันที่สอนเกี่ยวกับการประเมินเพื่อเพิ่มจำนวนนักประเมินมืออาชีพ รวมทั้งจัดอบรม สัมมนาให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการประเมินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

 

•  ควบคุมมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณ เพื่อให้การประเมินมีมาตรฐานและตั้งมั่นในจรรยาบรรณ

 

•  จัดให้มีองค์กรควบคุมทางวิชาชีพ เพื่อควบคุมการประกอบวิชาชีพการประเมินให้เป็นไปอย่างถูกต้อง

 

•  จัดให้มีฐานข้อมูลเพื่อการประเมินค่าทรัพย์สิน

     ประการที่สี่ ขอให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประเมินค่าทรัพย์สิน โดยพยายามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวิธีการประเมินค่าทรัพย์สินจากแหล่งต่าง ๆ เช่น จากสื่อต่าง ๆ หรือจากผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้ และขอให้นำความรู้ไปใช้อย่างจริงจังเมื่อมีโอกาส ถ้าไม่สามารถประเมินเองได้ ก็จ้างให้บริษัทประเมินฯ มาช่วยประเมินให้

     ข้อเสนอแนะทั้งสี่ประการ เชื่อว่าเป็นแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ และมีส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมวิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สินให้พัฒนาก้าวหน้ามีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในสังคมไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในเชิงสังคมและธุรกิจตามแบบนานาอารยะประเทศ

     บัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่ชาวไทยทุกคนจะต้องตระหนักถึงคุณค่าของการประเมินค่าทรัพย์สิน โดยเฉพาะ “ บ้าน ” ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีความสำคัญกับทุกคน ก่อนที่จะซื้อหรือขาย ต้องประเมินให้ถ้วนถี่ เพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย สาระสำคัญที่ได้กล่าวมาคงจะช่วยให้ทุกท่านได้มองเห็นแนวทางว่าจะมีวิธีการประเมินมูลค่าบ้านอย่างถ้วนถี่ได้อย่างไรและผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร เมื่อทุกท่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประเมินค่าทรัพย์สินแล้ว ก็ขอให้ร่วมมือกันส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สินให้เจริญก้าวหน้าและมีมาตรฐาน เพื่อจะได้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจไทยให้มีความสุขความเจริญ ซึ่งจะส่งผลให้ชาติไทยเราเท่าเทียมนานาอารยะประเทศ และสามารถธำรงความเป็นชาติอยู่ได้อย่างมีเอกราช มีเอกลักษณ์ มีเอกสิทธิ์ มีภราดรภาพ มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีสมเป็นมนุษยชาติทุกประการตราบนานเท่านาน

 

ประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ ก่อนที่จะซื้อขาย เกิดประโยชน์มากมาย การซื้อขายเป็นธรรม

 

 
 
Area Trebs FIABCI
 
10 ถนน.นนทรี กรุงเทพมหานคร 10120 โทรศัพท์:66 2295 3171: โทรสาร: 66 2295 3994 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่