ประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนเพื่อพัฒนาชาติ

ด.ญ.ศุภัสชา พงษ์ตุ้ยี

รางวัลชมเชย ระดับมัธยมศึกษา

 
     “ อันทรัพย์สินถิ่นฐานและบ้านช่อง อีกเงินทองไร่นามหาศาล
เป็นสมบัติติดตัวได้ชั่วกาล

จะต้องผ่านจากกันเมื่อวันตาย”

                 จากคำกลอนข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ทั้งสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นของนอกกายคนเราเกิดมาไม่มีอะไรมาด้วย เมื่อตายก็ไม่สามารถเอาอะไรไปด้วย ต่างทิ้งไว้ให้ลูกหลาน ญาติพี่น้องหรือผู้ที่ไม่มีใครสืบทอดมรดกก็ตกเป็นของรัฐ
                 คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของประเทศเหมือนกันหมด แต่ในด้านกฎหมาย คนไทยก็มีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ใครจะละเมิดสิทธิของใครไม่ได้ เช่นเดียวกับการเวนคืนเพื่อการพัฒนาชาติรัฐบาลก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปยึดเอาทรัพย์สินของประชาชนได้ ทุกอย่างต้องทำตามกฎหมาย บางครั้งกฎหมายก็ไม่สามารถบังคับจิตใจของคนได้ จะเห็นว่ามีการประท้วงเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็เพราะเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเวนคืน ทุกคนมีจิตสำนึกในความรักชาติ แต่หากรัฐขาดการประเมินค่าทรัพย์สินที่เป็นธรรม ประชาชนก็มีความรู้สึกเหมือนกับโดนรังแก การประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนจะต้องอาศัย “คุณธรรม” เข้ามาเกี่ยวข้อง

                 คุณธรรม หมายถึง คุณงามความดี ความยุติธรรม ความถูกต้อง ความบริสุทธิ์ยุติธรรมในสังคมและประเทศชาติ

                 การเวนคืน หมายถึง การโอนคืนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของเอกชนมาเป็นของรัฐเพื่อนำไปทำประโยชน์ต่อส่วนรวม

                ในการพัฒนาประเทศนั้น บางครั้งก็มีความจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปสร้างสิ่งที่เอื้อ
ประโยชน์แก่ประเทศชาติ แต่ผู้ถูกเวนคืนส่วนมากจะมีความรู้สึกว่าตัวเองเสียประโยชน์ หรือโชคร้ายเสียมากกว่า ถึงแม้จะได้ค่าทดแทน แต่ก็ไม่ค่อยเป็นที่พึงพอใจ จะพูดก็ไม่ออก จะบอกก็ไม่ถูก เหมือน
“น้ำท่วมปาก”  จะขัดขืนก็ไม่ได้ เกรงว่าจะถูกตราหน้าว่า “เห็นแก่ตัว” ......... “งก” หรือ “เห็นแก่ได้” 
“ไม่รู้จักเสียสละ” แต่ถ้าเขามาเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนบ้าง เขาจะรู้สึกอย่างไร ก็คงจะเหมือนดังคำที่ว่า “ตกต่าเปิ้นเป็นดีไค่ไค้หัว   ตกต่าตั๋วเป็นดีไค่ไห้” (ถ้าคนอื่นโดนก็น่าหัวเราะเยาะ ถ้าตัวเองโดนเข้าบ้างก็จะเสียใจร้องให้)
ดังนั้นการประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืน ควรมีหลักดังนี้ คือ

  1. รัฐต้องใช้หลักคุณธรรม เดินทางสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา มีความเห็นใจกันทั้งสองฝ่าย ไม่เอาเปรียบกัน
  2. รัฐต้องมุ่งเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และเป็นประโยชน์ที่คุ้มค่าต่อการลงทุนเพื่อประชาชน
  3. ผู้ประเมินต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ เพราะ การประเมินค่าทรัพย์สิน ถือว่าเป็นวิชาชีพที่จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญและเป็นการเสนอความคิดเห็นจากผู้ประเมินที่มีต่อ มูลค่า คุณภาพ หรือคุณลักษณะต่างๆ ของทรัพย์สิน ซึ่งการประเมินนั้นถือว่ามีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อทรัพย์สินทุกๆ ประเภท ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว อพาร์ตเมนต์ อาคารชุด อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า โรงแรม พลาซ่า โรงพยาบาล คลังสินค้า ร้านค้า รีสอร์ต สนามกอล์ฟ บ้านจัดสรร สถานีบริการน้ำมัน ที่ดินว่างเปล่า โรงงานอุตสาหกรรม ที่ดินเพื่อการเกษตร และปศุสัตว์ โดยเหตุผลที่ใช้ในการประเมินนั้นจะมีความแตกต่างกันออกไป เช่น การซื้อหรือขายทรัพย์สิน การตัดสินใจลงทุน การซื้อหรือรวบรวมกิจการ การร่วมทุน การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ การขอสินเชื่อ การประกันภัย การประเมินหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้กับสถาบันการเงิน การเสียภาษี การวัดระดับอัตราความเสี่ยงทรัพย์สินต่อทุนของสถาบันการเงิน ตามมาตรฐานของ Back of International Stettlements (BIS)

                 AREA เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็น “มืออาชีพ” และเป็นองค์กรอิสระที่มีความเชี่ยวชาญด้านการประเมินค่าทรัพย์สินของประเทศไทย ซึ่งดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนด โดยสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และจัดเป็นองค์กรชั้นนำที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นหนึ่งในไม่กี่องค์กร ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านการประเมินค่าทรัพย์สินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) กระทรวงการคลัง กรมการประกันภัย เป็นต้น

                 การประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เป็นต้นมา มีการเวนคืนบ้านเรือน ย่านการค้า โรงงาน โรงนา ฯลฯ มากมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ รัฐบาลก็ออกพระราชบัญญัติการเวนคืนเพื่อปกป้องสิทธิและให้การช่วยเหลือผู้ที่ถูกเวนคืน ตลอดจนมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น แทบจะไม่มีการเวนคืนเลยโดยเขาจะจ้างบริษัทเอกชนทำการสำรวจทรัพย์สิน กำหนดค่าทดแทน และเจรจากับเจ้าของที่ดินโดยใช้หลักมนุษยธรรม ความเมตตา ความเข้าอกเข้าใจกัน ประนีประนอมกัน ให้ยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย ส่วนการเวนคืนนั้น จะใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น

                 ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา หลาย ๆ อย่างที่เราต้องยอมรับว่าเราด้อยกว่าต่างชาติ เช่น การให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เชื่อว่ามีเพียงไม่กี่คนที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงกฎหมาย วัตถุประสงค์ หรือค่าทดแทนต่าง ๆ คนที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ในเขตปริมณฑลหรือคนที่อยู่ในตัวเมือง จะรู้สึกว่าตนเองเสียเปรียบ เพราะราคาที่ดินในความเป็นจริงจะสูงกว่าราคาที่ทางราชการประเมินให้ ส่วนคนที่อยู่ในชนบทส่วนมากจะค่อนข้างพึงพอใจ เพราะราคาประเมินค่อนข้างจะใกล้เคียงกับราคาซื้อขายกันในท้องถิ่นนั้น ๆ บางคนก็ถือว่าตนเองโชคดี เพราะที่ดินที่ยังมีเหลืออยู่และอยู่ในบริเวณนั้น ก็จะทำให้มีราคาสูงขึ้น เช่นถ้ามีการตัดถนนผ่าน หรือมีการสร้างสะพาน ฯลฯ

                 “หัวใจของการประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนเพื่อพัฒนาชาติ” ก็คือผู้เวนคืนต้องรู้จัก “มีคุณธรรมเป็นอำนาจ ประเทศชาติจะร่มเย็น” ต้องเข้าอกเข้าใจกันจึงจะประสบความสำเร็จ ความรักชาติบ้านเมืองนั้น มีฝังลึกอยู่ในจิตใจของคนไทยทุกคน หัวใจของการประเมินค่าทรัพย์สินควรยึดหลักดังนี้คือ

  1. มีบริษัทที่น่าเชื่อถือ มีความซื่อสัตย์ยุติธรรม
  2. มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เช่น สร้างฐานข้อมูลการซื้อขายที่เป็นจริง ไม่ประเมินราคาสูงหรือต่ำเกินไป
  3. มีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ เช่น มีการตรวจสอบบริษัทประเมิน มีการลงโทษหากกระทำการไม่ถูกต้อง ทุจริตฉ้อฉล
  4. มีการศึกษาและเผยแพร่ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะกฎหมายเวนคืนที่ดินต้องมีการแก้ไขบ่อย ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่สร้างปัญหาให้คนในสังคมต้องเดือดร้อน
  5. พัฒนาเทคนิคการประเมินในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ เช่น จัดการอบรมทางวิชา การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ส่งเสริมการทำวิจัย เป็นต้น
  6. พัฒนาระบบการเมืองโดยให้ประชาชนมีอำนาจ ให้เห็นความสำคัญของประชาธิปไตย

                 วิธีการประเมินค่าทรัพย์สิน การจะเลือกใช้วิธีการประเมินค่าทรัพย์สินวิธีใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของทรัพย์สินและวัตถุประสงค์ของการประเมิน ซึ่ง AREA ได้ยึดแนวปฏิบัติในทางสากลของการประเมิน และควรมีการพิจารณาเลือกวิธีที่ใช้ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการมูลค่าทางการตลาดอย่างแท้จริงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ วิธีการประเมินค่าทรัพย์สิน มีหลายวี เช่น วิธี

    1. วิธีเคราะห์มูลค่าจากต้นทุน (Cost Approach)
    2. วิธีเปรียบเทียบตลาด (Market Comparable Approach)
    3. วิธีแปลงรายได้เป็นมูลค่า (Income Approach)
    4. วิธีวิเคราะห์กระแสเงินสด (Discounted Cach Flow Analysis)
    5. วิธีการตั้งสมมติฐานการพัฒนา (Residual Approach)
    6. วิธีการประเมินโดยสร้างแบบจำลองทางสถิติ (Modelling for Mass Appraisal)
    7. นำวิธีต่าง ๆ จากข้อ ๑ – ๖ มาปรับใช้ร่วมกันเพื่อความเหมาะสม

                 เราควรปลูกฝังจิตสำนึกของคนไทยทุกคนว่า ความสุขที่แท้จริงของคนเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับลาภยศสรรเสริญ ทรัพย์สิน เงินทองของมีค่า แต่ความสุขที่แท้จริงมาจากความรู้สึกที่เกิดจากการที่เราได้ทำประโยชน์ต่อผู้อื่นและประเทศชาติมากกว่า ความภาคภูมิใจนั้นจะฝังลึกเข้าไปในจิตใจของคนทุกคนและไม่มีวันลืมแม้เราจะจากโลกนี้ไปแล้ว คุณงามความดีที่เราสร้างไว้เขาจะยังรำลึกถึงตลอดไป
                 ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ว่า...
                 “ความสุขและความเจริญที่แท้จริงอันควรหวังนั้น เกิดขึ้นได้จากการกระทำและความประพฤติที่เป็นธรรม มีลักษณะสร้างสรรค์ คืออำนวยผลที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตัวและแก่ผู้อื่นตลอดจนประเทศชาติโดยส่วนรวมด้วย “
                 การประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนเพื่อพัฒนาชาติ จะเกี่ยวข้องกับคน ๓ ฝ่าย คือ รัฐบาล องค์กรผู้ประเมิน และประชาชนที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ หากทั้ง ๓ ฝ่ายนี้มีความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของตนเอง ก็ไม่ใช่เรื่องยาก หรือไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อผู้หนึ่งผู้ใด เรื่องนี้จะจบแบบมีความสุขเหมือนนิยายบางเรื่องก็ได้ ถ้าหากใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องความสุขสมหวังจะเกิดถ้าเปิดใจให้กันและกัน

     คุณธรรมคือธรรมอันประเสริฐ รักบ้านเกิดรักกษัตริย์ศาสนา
รักชาติไทยให้เร่งรัดพัฒนา

ควรรักษาความเป็นธรรมประจำใจ

จะประเมินค่าทรัพย์สินถิ่นบ้านช่อง ตัวเราต้องครองความเที่ยงและโปร่งใส
ยุติธรรมยึดมั่นขวัญคนไทย ประทับใจสุขสำราญการเวนคืน
.................................................................