Eng
ไทย
เกี่ยวกับมูลนิธิ
หลักการและจรรยาบรรณ
ราคาประเมินค่าก่อสร้าง
บทความความรู้ข้อแนะนำ
เว็บบอร์ด
ติดต่อมูลนิธิ
"ทำไมจึงต้องรู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของเราเอง"
นายประยูร เบญจวงศ์
(ระดับประชาชนทั่วไป) รางวัลชมเชย
                         
          "…คนเราทุกคนต้องการปัจจัยสี่ หรือจตุปัจจัย หมายความว่าสิ่งที่อาศัยใช้หรือสิ่งที่มนุษย์ต้องมีใช้ 4 อย่าง คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคถ้าไม่มีอาหารก็ผอม ไม่มีแรงและตายไป ไม่มีเครื่องนุ่งห่มก็ไม่มีสิ่งปกปิดป้องกันร้อนหนาว ไม่มีบ้านอยู่ ก็ต้องอยู่กลางแจ้ง กลางแดด กลางฝน ซึ่งอยู่ไม่ได้ ไม่มียารักษาโรคก็ถูกโรคภัยเบียดเบียนเอาชีวิต นอกเหนือจากนั้นก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า ส่วนเกินหรือสิ่งที่มีมากขึ้น จึงมีหลักอยู่ว่า เรามีปัจจัยครบสี่แล้วเป็นการดี…"
          ความข้างต้นนี้ คือพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปัจจัย 4 อันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคนเรา สำหรับในที่นี้จะขอกล่าวถึงที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เป็นที่ยอมรับกันว่าในปัจจุบันคนที่มีบ้านและที่ดินเป็นของตนเองนับว่าโชคดีมาก เพราะนอกจากจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ถ้าได้รู้ถึงมูลค่าที่แท้จริงว่ามากน้อยเท่าใด ก็สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านต่างๆ ได้อีกมากมาย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ถึงมูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของตนเอง เพราะไม่เคยมีการประเมินเอาไว้ ดังนั้น ในโอกาสนี้จึงขอเสนอสาระสำคัญที่ว่า "ทำไมจึงต้องรู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของเราเอง"้
ทำไมจึงต้องรู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของเราเอง
          บ้านและที่ดินจัดเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่นอกจากจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยแล้วยังมีมูลค่า ประเด็นสำคัญที่จะนำมาพิจารณาก็คือ ทำไมจึงต้องรู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของเราเอง ซึ่งก่อนที่จะชี้แจงถึงประเด็นนี้ คงต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า "มูลค่าที่แท้จริง" นั้น คืออะไร เพื่อจะได้เข้าใจตรงกัน กล่าวคือ ในการประเมินค่าทรัพย์สินนั้น เราเรียกมูลค่าที่ประเมินว่า "มูลค่าตลาด" ซึ่งมีคำจำกัดความว่า "เป็นราคาประมาณการสูงสุด ณ วันที่ประเมินค่า ซึ่งทรัพย์สินนั้นสามารถขายได้ในตลาดเสรีทั่วไป ในระยะเวลาที่พอเพียง และสมเหตุสมผลในการหาผู้ซื้อ และผู้ซื้อขายมีความรอบรู้ในการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นได้อย่างเต็มที่ในสภาพที่เป็นอยู่ และโดยมีสมมุติฐานว่าราคานี้ไม่ได้มีผลกระทบจากความมิชอบหรือสภาพพิเศษใดๆ"
          ดังนั้น "มูลค่าที่แท้จริง" ก็คือ "มูลค่าตลาด" โดยคำว่า "มูลค่าตลาด" จะแตกต่างกับคำว่า "ราคาตลาด" คือ "มูลค่าตลาด" เป็นมูลค่าตามความเห็นของผู้ประเมินต่อทรัพย์สินที่ประเมิน โดยการเปรียบเทียบจาก "ราคาตลาด" ซึ่งหมายถึง ราคาทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีการซื้อขายหรือประกาศขายอยู่ในบริเวณนั้น หรือหมู่บ้านนั้น ซึ่งมีมากมายหลายราคา โดยการประเมินผู้ประเมินจะต้องนำราคาตลาดที่สืบหาได้ มาทำการวิเคราะห์มูลค่าตลาดอีกทีหนึ่งเพื่อหามูลค่าที่แท้จริง ส่วนวิธีการประเมินจะมีวิธีอะไรบ้างและวิธีใดที่เหมาะสมกับการประเมินบ้านและที่ดินของเราจะได้กล่าวในโอกาสต่อไป
          เมื่อได้ทราบว่ามูลค่าที่แท้จริงคืออะไรแล้ว ต่อไปก็จะชี้ให้เห็นว่า "ทำไมจึงต้องรู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของเราเอง" คำตอบก็คือ เพราะจะได้ทราบว่า ณ เวลานี้บ้านและที่ดินของเรามีมูลค่ามากน้อยเท่าใด เมื่อถึงคราวจำเป็นที่จะต้องนำไปใช้เพื่อการใดก็ตามจะได้สามารถนำไปใช้ได้ทันทีอย่างมั่นใจ และที่สำคัญก็คือ การรู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของเราเอง จะเกิดประโยชน์มากมายหลายประการ กล่าวคือ้
          ประการแรก ทำให้เรารู้ถึงฐานะของตนเอง ทั้งฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม กล่าวคือ ทำให้เรารู้ว่า เรามีหลักทรัพย์ซึ่งเป็นบ้านและที่ดินมีมูลค่าอยู่เท่าใด จะได้เตรียมการหรือวางแผนได้อย่างถูกต้องถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ ขณะเดียวกันก็ทำให้เราเกิดความภูมิใจและพยายามที่จะบำรุงรักษาเอาไว้ให้ดีที่สุด สำหรับฐานะทางสังคม ก็จะช่วยให้เราได้รับความเชื่อถือจากสังคม เพราะค่านิยมคนไทยเรามักจะให้การยอมรับคนโดยดูจากหลักทรัพย์ที่มีเป็นสำคัญ ยิ่งถ้าใครมีบ้านใหญ่โต มีที่ดินมากๆ คนก็จะยิ่งยอมรับนับถือมากขึ้น และนี่ก็คือประโยชน์เบื้องต้นจากการที่เราได้รู้ถึงมูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของเราเอง
           ประการที่สอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการซื้อขายได้อย่างมั่นใจและยุติธรรม กล่าวคือ ผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินที่มีความประสงค์ที่จะขาย เมื่อรู้ถึงมูลค่าที่แท้จริง ก็สามารถที่จะตัดสินใจเสนอขายได้อย่างรวดเร็วและมั่นใจว่าจะขายเท่าใด ทำให้ไม่เสียเวลาที่จะต้องรอคอย ยิ่งถ้าจำเป็นจะต้องขายโดยรีบด่วนก็อาจจะขายได้ทันที ในขณะเดียวกัน ถ้ามีผู้ที่ต้องการจะซื้อ เราก็สามารถเสนอราคาขายได้ทันทีเช่นเดียวกัน ผู้ที่จะซื้อก็ไม่ต้องเสียเวลารอคอย อาจจะตกลงซื้อขายกันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าเราไม่รู้มูลค่าที่แท้จริง จะต้องมีการประเมินกันก่อน ผู้ซื้อต้องเสียเวลารอคอย อาจจะเปลี่ยนใจไม่ซื้อก็ได้ ทำให้พลาดโอกาสอย่างน่าเสียดาย
          ประการที่สาม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการลงทุนหรือการร่วมทุน ในการลงทุนหรือร่วมทุนในการทำธุรกิจกับผู้อื่น เราอาจจะไม่มีเงินหรือมีไม่เพียงพอ ถ้าเรารู้ถึงมูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของเราว่าเท่าใด เราก็สามารถนำบ้านและที่ดินไปเป็นหลักทรัพย์หรือแปลงเป็นทุนเพื่อร่วมทุนหรือลงทุนกับเขาได้ ซึ่งเชื่อว่าผู้ร่วมลงทุนกับเราคงไม่ขัดข้อง เพราะบ้านและที่ดินเป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าและมีความมั่นคงอยู่แล้ว
          ประการที่สี่ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการจำนองหรือจำนำ ในบางครั้งเราจำเป็นต้องกู้เงินจากแหล่งการเงินต่างๆ เช่น จากธนาคาร หรือบริษัทเงินทุน ถ้าเรารู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดิน ก็จะสามารถที่จะกำหนดวงเงินกู้ได้ถูกต้อง และสามารถนำบ้านและที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ไปจดจำนองเพื่อค้ำประกันเงินกู้ได้ตามวงเงินกู้ ซึ่งจะทำให้การกู้สะดวกและรวดเร็วอีกทั้งทำให้เกิดความมั่นใจทั้งสองฝ่าย้
          ประการที่ห้า เพื่อนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการประเมินเสียค่าธรรมเนียมและภาษี ผู้ที่มีบ้านและที่ดินเป็นของตนเอง เมื่อจำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือเสียภาษีไม่ว่าด้วยเหตุประการใด ถ้ารู้มูลค่าที่แท้จริงก็สามารถที่จะประเมินได้ว่าจะต้องเสียเท่าใด จะได้เตรียมการได้ถูกต้อง โดยเฉพาะในต้นปี พ.ศ. 2548 นี้ จะมีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็ยิ่งจำเป็นที่ทุกคนจะต้องรู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดิน เพราะกฎหมายฉบับนี้แทบจะไม่มีการยกเว้นภาษีแก่ใครที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
          ประการที่หก เพื่อนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการทำประกันอัคคีภัย ถ้าเรารู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดิน โดยเฉพาะบ้าน เมื่อเราประสงค์หรือจำเป็นต้องทำประกันอัคคีภัย เราก็สามารถที่จะกำหนดวงเงินการทำประกันอัคคีภัยได้อย่างถูกต้อง นอกจากนั้น ถ้าเรารู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของเราเอง เราก็สามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกันในเรื่องอื่นๆ ได้อีก เช่น ค้ำประกันเงินกู้จากนายทุนหรือสหกรณ์ค้ำประกันผู้ต้องหา หรือค้ำประกันการยืมสิ่งของ เป็นต้น
          ประการที่เจ็ด นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการแบ่งมรดก ในกรณีที่มีการแบ่งมรดกให้แก่ทายาท ถ้าเรารู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของเราเอง เมื่อมีการแบ่งมรดกให้กับทายาทหรือลูกหลาน ซึ่งอาจจะมีหลายคน เราก็สามารถที่จะดำเนินการจัดสรรหรือจัดแบ่งได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมแก่ทุกคน
          ประการที่แปด นำไปใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการเวนคืน ในกรณีที่บ้านและที่ดินของเราจะต้องถูกเวนคืนด้วยเหตุใดก็ตาม ถ้าเรารู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของเราแล้ว เราก็สามารถที่จะเรียกร้องค่าเวนคืนได้อย่างถูกต้อง ไม่ถูกเอาเปรียบ นั่นก็คือจะได้รับค่าเวนคืนอย่างยุติธรรมนั่นเอง
          ประการที่เก้า นำไปใช้ประโยชน์เพื่อแจ้งบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย สำหรับผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมือง เช่น เป็นผู้บริหารประเทศในตำแหน่งต่างๆ กฎหมายกำหนดให้ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินทั้งก่อนเป็นและเมื่อพ้นจากตำแหน่ง ดังนั้น ถ้ามีบ้านและที่ดินเป็นของตนเอง ก็จำเป็นต้องรู้ถึงมูลค่าที่แท้จริง เพื่อจะได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินได้ถูกต้อง เป็นการแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
          ประการที่สิบ นำไปใช้ประโยชน์สำหรับการแลกเปลี่ยน เช่น ถ้าเราต้องการแลกเปลี่ยนบ้านและที่ดินกับผู้อื่นซึ่งไม่ใช่การซื้อขาย เป็นต้นว่า แลกบ้านกับบ้าน หรือบ้านกับรถ ถ้ามีการยินยอมกันทั้งสองฝ่าย ก็สามารถแลกกันได้ และยิ่งถ้าเรารู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของเราเองว่ามากน้อยเท่าใด ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจและตกลงกันง่ายขึ้น เพราะต่างก็รู้และยอมรับในมูลค่าทรัพย์สินที่จะแลกเปลี่ยนกัน
          ประการที่สิบเอ็ด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการเช่า เช่น ผู้ที่มีบ้านและที่ดินของตนเอง อาจจะให้ผู้อื่นมาเช่าอยู่อาศัย หรือมาทำประโยชน์ต่างๆ ถ้าเรารู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของเราเองแล้ว เราก็สามารถที่จะเรียกร้องค่าเช่าได้ตามราคาที่เหมาะสมกับมูลค่าที่แท้จริงได้ โดยที่ผู้เช่าจะไม่รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ
          ประการสุดท้าย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการชำระหนี้ เช่น ในกรณีที่เราเป็นหนี้ผู้อื่นอยู่ แต่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ แต่ถ้าเรามีบ้านและที่ดินเป็นของเราเองและรู้มูลค่าที่แท้จริง เราก็สามารถนำบ้านและที่ดินไปชำระหนี้แทนเงินได้ นอกจากนั้นยังสามารถนำไปปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้อีกด้วย
          จากที่กล่าวมา คือเหตุผลที่ว่า "ทำไมจึงต้องรู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของเราเอง" ดังนั้น ผู้ที่มีบ้านและที่ดินเป็นของตนเอง ควรจะได้ทำการประเมินเพื่อให้รู้มูลค่าที่แท้จริงเอาไว้ สำหรับวิธีการประเมินก็จะใช้วิธีการเดียวกับการประเมินค่าทรัพย์สินทั่วไป ซึ่งมีวิธีการที่ถือเป็นมาตรฐานสากลอยู่ 3 วิธีหลักๆ คือ
          วิธีที่หนึ่ง วิธีวิเคราะห์มูลค่าจากต้นทุน (Cost Approach to Value) หลักสำคัญของวิธีนี้ก็คือ
          "มูลค่าของสิ่งหนึ่ง = ต้นทุนในการหาสิ่งอื่นที่เทียบเคียงได้มาทดแทน" วิธีนี้ก็คือ การประมาณการต้นทุนในการสร้างอาคารทดแทนตามราคาปัจจุบัน แล้วหักลบด้วยค่าเสื่อม (ถ้ามี) บวกด้วยมูลค่าของที่ดิน ก็จะได้มูลค่าของทรัพย์สินนั้น ซึ่งวิธีนี้ส่วนมากใช้สำหรับโรงงานหรืออาคารที่สร้างขึ้นเฉพาะ กรณีบ้านจัดสรรใช้วิธีการเปรียบเทียบตลาดจะเหมาะสมกว่า และในภาวะที่ราคาทรัพย์สินตกต่ำ แต่ต้นทุนวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น บางครั้งต้นทุนที่คำนวณได้อาจจะแพงกว่ามูลค่าตลาด ทำให้การประเมินด้วยวิธีนี้ผิดไปจากความเป็นจริงได้
          วิธีที่สอง วิธีเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Comparison Approach) เป็นวิธีที่ดีที่สุดชัดเจนที่สุด
          หลักก็คือ "มูลค่าของทรัพย์สินของเรา = ราคาของทรัพย์สินเทียบเคียงที่คนอื่นขายได้" แนวทางก็คือ เริ่มที่การหาทรัพย์สินเทียบเคียงที่มีการซื้อขาย/เรียกขาย มาพิจารณาว่ามีลักษณะคล้าย/ต่าง จากทรัพย์สินที่ประเมินอย่างไรบ้าง เมื่อได้ข้อมูลมาเพียงพอแล้ว ก็ตรวจสอบเพื่อคัดเลือกนำทรัพย์สินที่เทียบเคียงได้จริงเท่านั้นมาทำการวิเคราะห์ โดยระบุถึงเงื่อนไขในการเปรียบเทียบของทรัพย์สินที่ประเมินกับแปลงเปรียบเทียบ เช่น คุณภาพอาคาร ขนาดที่ดิน-อาคาร เป็นต้น แล้วจึงสรุปหามูลค่าที่สมควรโดยวิเคราะห์เปรียบเทียบ
          หัวใจของวิธีนี้อยู่ที่การหาข้อมูล ผู้ประเมินต้องละเอียดรอบคอบ ในทุกที่ล้วนมีข้อมูลเพียงพอ ขึ้นอยู่กับการหา ต้องระวังการสร้างหลักฐานข้อมูลเท็จ จะทำให้การวิเคราะห์ผิดพลาดและไม่น่าเชื่อถือ
          วิธีที่สาม วิธีแปลงรายได้เป็นมูลค่า (Income Approach) หลักก็คือ
          "มูลค่าวันนี้ = ผลรวมของรายได้สุทธิที่จะได้ในอนาคตจนสิ้นอายุขัย" ทรัพย์สินมีมูลค่า เพราะสามารถสร้างรายได้ ทรัพย์ที่สร้างรายได้สูงกว่า มักมีมูลค่าสูงกว่า เช่น ทำเลคุณภาพดีกว่า เป็นต้น ขั้นตอนคือ
          1) ประมาณรายได้ของทรัพย์สินจากทุกแหล่ง โดยพิจารณาจากการเปรียบเทียบตลาดและรายได้ จริงของทรัพย์สินที่ประเมินโดยตรง
          2) ลบด้วยการไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือหนี้สูญจากข้อเท็จจริง และจากการเปรียบเทียบหรือแนวโน้มใน ตลาด ก็จะได้รายได้ที่เป็นจริง
          3) หักด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าดำเนินการ ภาษี ค่าบำรุงรักษา เป็นต้น ก็จะได้รายได้สุทธิ นำราย ได้สุทธิมาเข้าสูตร V=I/R V คือมูลค่าทรัพย์สิน I คือรายได้สุทธิ R คืออัตราผลตอบแทน (อัตราผลตอบแทน มักใช้อัตราขั้นต่ำปลอดภัยที่สุดที่ให้เงินทำงานแทนเรา เช่น ฝากธนาคาร หรือซื้อพันธบัตร)
          นอกจาก 3 วิธีหลักแล้ว ในปัจจุบันยังมีวิธีการที่อิงหลักการของวิธีทั้ง 3 ข้างต้นมาปรับใช้เพิ่มเติม คือ วิธีการตั้งสมมติฐานในการพัฒนา เป็นแนวทางในการประเมินที่ดินเปล่า โดยสมมติให้มีการพัฒนาที่ได้ประโยชน์สูงสุดและดีที่สุดตามภาวะตลาดขณะนั้น อีกวิธีหนึ่งก็คือ วิธีวิเคราะห์กระแสเงินสด เป็นการแปลงรายได้เป็นมูลค่า เป็นวิธีการที่ปรับใช้มาจากการวิเคราะห์เพื่อลงทุน ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยจะประมาณการรายได้ที่มาจากการลงทุนในอนาคตตามอายุขัยของทรัพย์สินและคิดลดเป็นมูลค่าปัจจุบัน และวิธีสุดท้าย คือ วิธีประเมินโดยการสร้างแบบจำลอง ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของการประเมินโดยวิธีเปรียบเทียบตลาด โดยใช้การสร้างแบบจำลองทางสถิติแบบ MRA (Multiple Regression Analysis) มาช่วย ใช้มากในการประเมินเพื่อการเวนคืนจัดรูปที่ดิน โดยใช้ประเมินทรัพย์สินนับร้อยนับพันแปลงที่ตั้งอยู่ติดกัน
          สำหรับการประเมินบ้านและที่ดินที่เป็นของเราเองนั้น ถ้าในกรณีที่มีที่ดินและสร้างบ้านเอง ควรจะใช้วิธีวิเคราะห์มูลค่าจากต้นทุน เนื่องจากหาบ้านแบบเดียวกันมาเปรียบเทียบยาก หรือถ้าพอหาได้ก็ใช้วิธีเปรียบเทียบราคาตลาด แต่สำหรับกรณีประเมินบ้านในหมู่บ้านจัดสรร ควรจะประเมินด้วยวิธีเปรียบเทียบราคาตลาดจะเหมาะสมและดีที่สุด เพราะสามารถจะสืบหาข้อมูลตลาดประเภทเดียวกันที่คล้ายคลึงกันในบริเวณใกล้เคียงมาเปรียบเทียบได้เพียงพอ เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ หรืออาคารพาณิชย์ เป็นต้น หรือการประเมินราคาที่ดินก็ควรใช้วิธีการนี้ ซึ่งวิธีการนี้จะพิจารณามูลค่าตามสภาพราคาตลาดเป็นสำคัญ โดยจะต้องสำรวจทรัพย์สินที่ประเมินคือ บ้านของเรา เช่น ทำเลที่ตั้ง ประเภทของบ้าน ขนาดของที่ดินและบ้าน วัสดุที่ใช้และคุณภาพ อายุการใช้งาน เป็นต้น ต่อจากนั้น ก็สืบหาบ้านประเภทเดียวกันที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันที่เรียกว่า "ข้อมูลตลาด" มาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ปรับแก้ เพื่อให้ได้มูลค่าที่แท้จริง การประเมินด้วยวิธีนี้ความสำคัญอยู่ที่ข้อมูลตลาด การหาข้อมูลผู้ประเมินต้องใช้ประสบการณ์และความละเอียดรอบคอบ ต้องระวังข้อมูลเท็จ ซึ่งจะทำให้การวิเคราะห์ผิดพลาดและไม่ได้มูลค่าที่แท้จริง
          ปัจจุบัน ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน จะดำเนินการประเมินโดยทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ภาครัฐได้แก่ สำนักงานประเมินราคาทรัพย์สิน (สปท.) สังกัดกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และภาคเอกชน ได้แก่ บริษัทรับประเมินราคาต่างๆ ซึ่งมีอยู่หลายบริษัท ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็จะใช้วิธีการดังที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นมาตรฐานในการประเมิน เพื่อให้ผลการประเมินถูกต้องและเป็นธรรม นอกจากนั้น ยังมีองค์กรต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาการประเมินมูลค่าทรัพย์สินและวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน เพื่อให้การประเมินมีประสิทธิภาพ และวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินเป็นที่ยอมรับในประเทศไทย เช่น มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย สมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย และสำนักงานประเมินราคาทรัพย์สิน เป็นต้น
          จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดคงเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า "ทำไมจึงต้องรู้มูลค่าที่แท้จริงของบ้านและที่ดินของเราเอง" พร้อมกันนั้นก็คงจะทราบดีว่าในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินซึ่งรวมถึงบ้านและที่ดินนั้น มีวิธีการที่เป็นมาตรฐานสากล และจะต้องมีองค์กรและบุคลากรที่เชื่อถือได้ เป็นผู้ประเมินจึงจะได้มูลค่าที่แท้จริง ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ผู้ที่มีบ้านและที่ดินเป็นของตนเองจะต้องประเมินมูลค่าทรัพย์สินของท่าน เพราะนอกจากจะอำนวยประโยชน์อย่างมากมายแก่ตัวท่านแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรและวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินของไทยให้เจริญก้าวหน้า อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชาติให้มีเสถียรภาพ และในที่สุดก็จะส่งผลให้ประชาชนและประเทศชาติมีความสุขความเจริญ ชาติไทยของเราก็จะสามารถดำรงความเป็นชาติอยู่ได้อย่างมีเอกราช มีเอกลักษณ์ มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีสมเป็นมนุษยชาติตราบชั่วนิจนิรันดร์
“ทั้งบ้านและที่ดิน คือทรัพย์สินที่มีราคา ต้องประเมินอย่าเนิ่นช้า เพื่อให้รู้มูลค่าที่แท้จริง”
Area Trebs FIABCI
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel:66 2295 3171 Fax: 66 2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org สถานที่ตั้ง: แผนที่