หลักการเลือกซื้อบ้าน
 
อ.วสันต์ คงจันทร์
กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย


สำหรับท่านที่กำลังมองหาซื้อบ้าน จะซื้อไว้อยู่ หรือเพื่อการลงทุน (เพราะฝากเงินแบ้งค์ ก็ดอกเบี้ยต่ำเหลือเกิน) อาจกำลังมีคำถามในใจว่าซื้อได้หรือยัง ตอนนี้ราคาต่ำสุดหรือยัง หรือราคาบ้านจะขึ้นหรือยัง

สถานการณ์ ราคาบ้าน ณ วันนี้
จากช่วงวิกฤติเป็นต้นมา ปี 2541 - 2544 บ้านลดราคาลงประมาณ 20-30% เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเฉพาะอาคารชุดราคาถูกที่ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ราคาอาจลดต่ำลงไปกว่าครึ่งต่อครึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม ภาวะขณะนี้ ราคาบ้านถือว่าค่อนข้างนิ่งแล้ว ภาพรวมคือไม่ขึ้นราคาแต่ก็ไม่ลด ยกเว้นอาคารชุดที่มีการดูแลไม่ดีนักและราคาค่อนข้างถูก ยังลดลงต่อเนื่อง แต่กลับกัน บ้านในโครงการใหม่ ๆ บางโครงการ ก็อาจมีการปรับราคาขึ้นบ้างแล้ว โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวราคาแพง ประกอบกับปัจจุบัน ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านต่ำมาก (4-7% เท่านั้น) เมื่อเทียบกับเมื่อก่อน รวมทั้งนโยบายรัฐบาล ในเรื่องการลดหย่อนค่าธรรมเนียม (ภายในปี 45 นี้) คือ ค่าโอน จาก 2.0% เหลือ 0.01% ภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 3.3% เหลือ 0.11 % ค่าจดจำนองจาก 1.0% เหลือ 0.01% และยังสามารถนำดอกเบี้ย ไปหักค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มขึ้นได้อีก เป็นต้น

เหตุผลควรซื้อบ้าน ?
» ซื้อเมื่อจำเป็น : ต้องใช้สอย เช่น แต่งงานแยกครอบครัว ย้ายบ้านให้ใกล้ที่ทำงาน ลูกโตขึ้น-ขยาย จนลงเลยย้ายไปอยู่บ้านถูกลง ฯลฯ มีความจำเป็นทั้งทางบวกหรือลบ ก็จะต้องซื้อ แต่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ความจำเป็นต้องเป็น "จำเป็นจริง ๆ ๆ" เพราะเงินมีน้อย การซื้อจึงต้องพิจารณาเป็นพิเศษ ในอีกแง่หนึ่ง ในกรณีเศรษฐกิจเฟื่องฟู การซื้อก็อาจไม่พิจารณาถึงความจำเป็นนัก จึงเป็นการซื้ออย่างประมาทไป เมื่อจำเป็น ก็จะมี ความต้องการในการซื้อ
» ซื้อเมื่อสามารถ : คือมีเงินเพียงพอที่จะซื้อ โดยสามารถวางแผนได้ว่า เรามีเงินมากน้อยเพียงใดที่จะซื้อ เพราะถ้ามีน้อย หรือเห็นท่าจะผ่อนไม่ไหว ก็อย่า... เพราะซื้อไปแล้ว อาจเสียทั้งต้นทั้งดอก!!
» ซื้อเมื่อมีโอกาส : ราคาถูกเป็นพิเศษ พิจารณาในแง่การลงทุน กรณีนี้ เราอาจซื้อเพื่อเก็บ-เก็งกำไร เช่น บ้านหลังหนึ่ง ราคาควรเป็น 1 ล้านบาท แต่เจ้าของบอกขายเพียง 7 แสนบาท ถ้าเราคิดว่าเอาเงิน 7 แสนฝากธนาคารไว้ 5 ปี ณ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5% ก็จะเป็นเงิน 893,397 บาท แต่เราเก็งว่า ใน 5 ปีข้างหน้า ราคาที่เราซื้อ 7 แสนบาท คงจะงอกเงยเป็น 1.1 ล้าน กรณีนี้เราก็จะซื้อ เพราะได้ผลตอบแทนมากกว่าฝากธนาคาร เป็นต้น
» ซื้อเมื่อคิดให้ถ้วนถี่ มีวิจารณญาณในการซื้อ "อย่างรอบรู้"
ผู้ซื้อต้องศึกษาข้อมูลให้มาก ไม่เช่นนั้นจะ "เสียค่าโง่" เช่น รัฐบาลก่อน ๆ (ไหนก็ไม่รู้ - แต่ไม่ใช่รัฐบาลนี้แน่นอน!! -)


ซื้อบ้านใหม่ หรือเก่าดี ?

ปกติแล้วคนไทยมักจะชอบบ้านใหม่ แน่นอนว่าของใหม่คงจะดี แต่ไม่แน่เสมอไป การซื้อบ้านใหม่สิ่งสำคัญ คือ ต้องดูคุณภาพการก่อสร้างว่าเป็นอย่างไร อยู่ไปแล้วจะมีแตกร้าว ทรุดหรือไม่ หลังคาจะรั่วหรือไม่ เป็นต้น ถ้าอยู่ในโครงการจัดสรร สาธารณูปโภคต่างๆ ที่บอกว่าจะมีทำหรือยัง ทำครบมั้ย แล้วอาจยังเสี่ยงว่า เข้าอยู่แล้วจะใช้ได้หรือไม่ จะบำรุงรักษาต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งส่วนนี้ต้องพิจารณาจากชื่อเสียง ประวัติเจ้าของโครงการเป็นสำคัญ (ถามจากคนที่เข้าอยู่แล้ว หรือจากโครงการอื่น ๆ ที่เคยทำมา) ส่วนบ้านเก่า หรือบ้านมือสอง นั้นจากช่วงปี 2541 เป็นต้นมา จำนวนบ้านที่สร้างเสร็จไม่มีคนอยู่มีมากขึ้นถึง 350,000 หน่วย ทำให้เกิดการขายบ้านมือสองกันมากขึ้น บ้านพวกนี้อาจไม่ใช่บ้านเก่าที่มีคนอยู่แล้ว แต่เปลี่ยนมือโดยไม่มีคนเข้าอยู่ก็ได้ รวมทั้ง บ้านเก่า ที่มีคนอยู่แล้วก็น่าลอง เนื่องจากบ้านที่มีคนอยู่แล้ว ถ้าเทียบกับบ้านใหม่ ๆ มักจะราคาถูกกว่า ตั้งอยู่ใกล้แหล่งชุมชน หรือใกล้เมืองมากกว่า (บ้านใหม่ ๆ มักตั้งอยู่ไกลเมืองออกไปเรื่อย ๆ ต้องเดินทางมาทำงานในเมืองไกล) บ้านเก่า อย่ากลัวโทรม คนไปดูบ้านเก่า ที่สภาพไม่ดี อาจเห็นประตูรั้วพัง ๆ ไฟเปิด/ปิดเสีย เฟอร์นิเจอร์เก่าหญ้ารกรุงรัง สีทาผนังซีด ฯลฯ ท่านเชื่อไหม สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความเสื่อมโทรมในส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งหากเราซ่อมแซมไปแล้ว ซึ่งมักจะใช้เงินไม่มาก

นัก ก็จะทำให้บ้านกลับมามีชีวิตชีวาใหม่ และหากขายก็ได้ราคา เช่น ถ้าเราซื้อบ้านเก่าราคา 1,000,000 บาท มาซ่อมแซมอีก 200,000 บาท จะกลายเป็นบ้านเก่าที่ขายได้ถึง 1,400,000 บาทก็ได้ เพราะสภาพมันดีขึ้นมาก

แล้วซื้อทำเลไหนดี ?
โดยหลักขึ้นอยู่กับความชอบใจเฉพาะบุคคล ไม่มีที่ใดที่ทุกคนอยากอยู่เหมือนกันหมด (ยกเว้นหากให้เลือกหมู่บ้านดีกับหมู่บ้านแย่ ใคร ๆ ก็ย่อมเลือกหมู่บ้านดี) แต่อีกนัยหนึ่ง คนมักไม่ชอบย้ายไปไกลจากเดิม ซี่งมักมีญาติอยู่ใกล้ ๆ ประเภทย้ายจากบางแค ไปบางชัน จากบางพลี ไปบางบัวทอง ฯลฯ มีน้อยมาก และนี่คือเคล็ดของการขายบ้านให้กับเพื่อนบ้าน เพราะเขาเห็นคุณค่าของสินค้าเสนอขาย ได้กว่าคนภายนอก ปัจจัยพิจารณาหลักในการเลือกทำเลน่าจะเป็นความสะดวกใน การคมนาคม สำหรับเมืองที่มีปัญหาการจราจรอย่างกรุงเทพฯ ถ้าจะเลือกก็น่าจะเลือกทำเลที่มีความสะดวกในการคมนาคม เช่น ทางด่วน สุดทางด่วน เหมาะสำหรับคนรวย เพราะค่าทางด่วน ค่าน้ำมันวันละ 500 ไม่ยี่หระ และคนจนก็ไม่ท้อ เพราะมักขึ้นรถประจำทางทางด่วน แต่ชนชั้นกลางไปอยู่กันยากเพราะสู้ค่าทางด่วนไม่ได้ รถก็ยังอาจผ่อนอยู่ บ้านก็เช่นกัน ฯลฯ ใกล้สถานีรถไฟ ปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากใช้บริการรถไฟ ชานเมืองเข้ามาทำงาน ทั้งด้านเหนือ และด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ และปัจจุบันเราก็มีรถไฟฟ้า (ปีหน้าก็มีอีกสาย-ใต้ดิน) หรือระบบขนส่งมวลชนลักษณะนี้ แต่การเดินทางที่ผู้คนอาจลืมไปแล้ว คือ ทางน้ำ หรือทางเรือ ปัจจุบันการใช้การเดินทางทางเรือ ใช้เวลาน้อยมากเมื่อเทียบกับรถ แต่สิ่งที่ต้องระวัง อย่าไป "ซื้ออนาคต" โดยทั่วไปเรามักเล็งทำเลที่อนาคตจะดี เช่น กำลังจะตัดถนน แต่ต้องระวังว่าบางทีไม่ตัด หรือกว่าจะตัดนานมาก (จนรอไม่ไหว) การไปอยู่ชานเมืองเพื่อรอความเจริญนั้น เราอาจ "ช้ำหนัก" เพราะต้องออกจากบ้านแต่เช้า รถติดตั้งแต่ปากทางหมู่บ้าน ฯลฯ ทำเลดีเกี่ยวกับอนาคต ทำเลที่ดีนั้น อนาคตจะดีไหม มีสาธารณูปโภคเพียงพอไหม หรืออนาคตจะทรุดโทรมลงไปกว่านี้ เป็นต้น

เราจะซื้อบ้านได้ในราคาเท่าไร ?
กรณีที่ไม่มีเงินสด ต้องผ่อนแบงค์ เราจะมาดูกันว่า ถ้าเรามีเงินเดือนเท่านี้ จะซื้อบ้านได้ในราคาเท่าไร ต้องพิจารณาดังนี้
1. ต้องดูว่าเรามีรายได้ที่แน่นอนเท่าไหร่
2. กำลังในการผ่อนโดยทั่วไปคือ 25% ของรายได้ (เงินเดือน) แต่อย่างมากที่สุดไม่ควรเกิน 35% เพราะเราจะ "ตึงมือ" จนทำให้บ้านหลุดมือไปได้ หากผ่อนต่อไม่ไหว
3. เราต้องดูอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และระยะเวลาผ่อน ตลอดจนเงินดาวน์ที่มี
4. จากนั้นเราก็คำนวณค่าสัมประสิทธิ์ ตามสูตรในข้อ 10 (ตาราง) โดยการคำนวณตามหมายเหตุข้างท้าย โดยอย่าลืมว่าทำตัวเลขให้เป็นต่อเดือน ไม่ใช่ต่อปี และผลการคำนวณนี้อาจจะต่ำกว่าที่สถาบันการเงินคำนวณเล็กน้อยเพราะสถาบันการเงินอาจบวกค่าอย่างอื่นเพิ่มเติมเข้าไปบ้าง
5. เมื่อเราได้วงเงินผ่อน (โดยการนำเงินผ่อนที่เป็นไปได้ของเราต่อเดือนตามข้อ 6 (ตาราง) หารด้วยค่าสัมประสิทธิ์ ตามข้อ 10) เราก็จะสามารถหาราคาบ้านที่เราสามารถซื้อได้ โดยสมมติว่า วงเงินผ่อนเท่ากับ 80% ของราคาบ้าน (เพราะเราดาวน์ไปแล้ว 20%)
6. อย่าลืมว่าในกรณีนี้ เป็นการคำนวณราคาบ้านที่เป็นไปได้สูงสุดที่ควรจะซื้อได้ แต่ถ้าเราคิดว่า เราไม่มีเงินดาวน์เลย ไม่มีเงินตกแต่ง ซ่อมแซมต่อเติม หรือมีภาระหนี้สินมากในด้านอื่น เราก็คงจะสามารถซื้อบ้านในราคาที่ต่ำกว่านี้ ซึ่งอาจเพียงครึ่งหนึ่งก็ได้
ตาราง 1 : การคำนวณ ความสามารถในการซื้อบ้าน
A
B
C
D
2
การคำนวณราคาบ้านที่สามารถซื้อได้ตามรายได้ของแต่ละคน
3
รายการ
ตัวเลข
หมายเหตุ
4
รายได้ที่แท้จริงต่อเดือน
10,000
สมมติ
5
% ของรายได้ที่ใช้เพื่อการผ่อนบ้านได้
35%
อัตราสูงสุดที่ควรจะเป็น
6
เงินผ่อนต่อเดือน
3,500
ข้อ 4 x ข้อ 5
7
อัตราดอกเบี้ยต่อปี
6%
ประมาณการตามท้องตลาด
8
ระยะเวลาผ่อน (ปี)
20
ทั่วไปในปัจจุบัน
9
เงินดาวน์บ้าน
20%
ประมาณการ
10
ค่าสัมประสิทธิ์ที่ประมาณการได้
0.007164311
=(C7/12)/(1-(1/((1+(C7/12))^(C8*12))))
11
วงเงินผ่อน
488,533
=C6/C10
12
ราคาบ้านที่สามารถซื้อได้
610,666
=C11/(1-C9)

เป็นการประมาณการขั้นสูงสุดที่เป็นไปได้คือประมาณ 61 เท่า แต่ถ้าจะกู้ 100% ไม่ต้องมีเงินดาวน์ (ข้าราชการ) ก็จะซื้อบ้านได้ในราคาประมาณ 48 เท่า (C11)

ถึงตรงนี้ เรื่องของการซื้อบ้านยังไม่จบ คงต้องขอต่อฉบับหน้า (ในตอนที่ 2) ซึ่งจะว่าถึง เรื่องของการกู้เงินแบงค์ จะกู้แบบไหนดี เราจะหาซื้อบ้านได้จากแหล่งใดบ้าง แล้วเมื่อคิดว่าได้หลังที่ถูกใจแล้ว จะต้องดูอะไรต่อ และนักประเมินจะช่วยท่านได้อย่างไรบ้าง

กรณีต้องกู้แบงค์เพื่อซื้อ
การเก็บหอมรอมริบจนมีเงินสดพอซื้อบ้านทั้งหลังหรือห้องชุดหน่วยหนึ่งนั้น มันเสี่ยง เพราะอนาคตราคาอาจขึ้นจนเราซื้อไม่ทัน และเพื่อให้เราสามารถเข้าอยู่ได้ซึ่งอาจคุ้มกว่าเช่า เราก็ควรจะกู้เงินมาซื้อบ้าน การใช้สินเชื่อของสถาบันการเงินจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ในการกู้เงินแบงค์นั้น ต้องเข้าใจว่า เงินผ่อนช่วงแรก ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นดอกเบี้ย เงินต้นจะลดลงเพียงนิดเดียว ต่อเมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ เข้า เงินต้นก็จะค่อย ๆ ถูกหัก จนดอกเบี้ยกลับเป็นน้อยลง ส่วนของเงินต้นจึงจะเพิ่มขึ้น ชี้ให้เห็นสัจธรรมอย่างหนึ่งว่า การเป็นหนี้ ไม่ควรเป็นนาน เพราะดอกเบี้ยกินหมด ดังนั้นถ้าในช่วงแรก สามารถ "โปะ" ได้จง "โปะ" เพื่อจะลดเงินต้นได้มาก ๆ ต้องให้เป็นไทแก่ตัวโดยไว ดังนั้นมีโอกาส "เท" ก็ควร "เท" ดูตาราง 2
ตาราง 2 : เงินผ่อนต่อเดือนของคุณไปไหน?
A
B
C
D
E
F
2
โครงสร้างเงินที่ผ่อนต่อปี
3
ปี
เงินต้นที่กู้ยืม
เงินที่ผ่อนต่อเดือน (บาท)
4
ที่
มา (บาท)
รวม
เป็นดอกเบี้ย
เป็นเงินต้น
5
1
500,000
43,592
30,000
13,592
6
2
486,408
43,592
29,184
14,408
7
3
472,000
43,592
28,320
15,272
8
4
456,728
43,592
27,404
16,189
9
5
440,539
43,592
26,432
17,160
10
6
423,379
43,592
25,403
18,190
11
7
405,190
43,592
24,311
19,281
12
8
385,909
43,592
23,155
20,438
13
9
365,471
43,592
21,928
21,664
14
10
343,807
43,592
20,628
22,964
15
11
320,843
43,592
19,251
24,342
16
12
296,501
43,592
17,790
25,802
17
13
270,699
43,592
16,242
27,350
18
14
243,349
43,592
14,601
28,991
19
15
214,357
43,592
12,861
30,731
20
16
183,627
43,592
11,018
32,575
21
17
151,052
43,592
9,063
34,529
22
18
116,523
43,592
6,991
36,601
23
19
79,922
43,592
4,795
38,797
24
20
41,125
43,592
2,467
41,125

ผ่อนช่วงแรก ๆ ดอกเบี้ยเอาไปหมด
ในการผ่อนเงินแบงค์ เช่น ระยะ 20 ปี ข้างต้น เงินผ่อนในช่วงแรก ๆ จะเป็นดอกเบี้ยเสียส่วนใหญ่ เงินต้นลดลงเพียงนิดเดียว ต่อเมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ เข้า เงินต้นก็จะค่อย ๆ ถูกหัก จนดอกเบี้ยกลับเป็นน้อยลง ส่วนของเงินต้นจึงจะเพิ่มขึ้น

C5 = วงเงินกู้ที่กู้มา
D5 = เงินผ่อนต่อปี ณ อัตราดอกเบี้ย 6%, 20 ปี
E5 = ดอกเบี้ยที่พึงเสียสำหรับเงิน C5 ต่อปี คือ 500,000 x 6%
F5 = ส่วนที่เป็นเงินต้น โดยเอา D5-E5
C6 = C5-E5 คือเงินต้นก็ถูกลดลงไป
D6 = คงที่ทุกปีเท่า D5 และ D7..D24 (20 ปีเท่ากัน)
E6 = ดอกเบี้ยที่พึงเสียสำหรับเงิน C6 ต่อปี
F6 = D6 - E6


เป็นเครื่องยืนยันว่า การเป็นหนี้ ไม่ควรเป็นนาน เพราะดอกเบี้ยกินหมด ดังนั้นถ้า "โปะ" ได้จง "โปะ"

อีกประการ ถ้าเป็นหนี้ อย่าเป็นหนี้หลายทาง ถ้าเราจะวางแผนการเงินในการกู้เงินซื้อบ้าน คงต้องดูความพร้อมของเรา แต่สิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาก็คือ อย่า "เปิดศึกหลายด้าน" ไม่ใช่ผ่อนทั้งบ้าน ทั้งรถ ทั้ง CD VCD VDO ฯลฯ "กฎแห่งกรรม" ของการเป็นหนี้หลายทางก็คือ "มักไม่รอด"

เลือกผ่อนแบบไหนดี ?
ปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่มักมีทางเลือก 2 ทาง คือ ดอกเบี้ยลอยตัว กับดอกเบี้ยคงที่ (ระยะหนึ่ง 1-3 ปี จากนั้นค่อยลอยตัว) ซึ่งดอกเบี้ยคงที่มักจะต่ำกว่าดอกเบี้ยลอยตัว โดยดอกเบี้ยคงที่เองหลายแบงค์ใช้เพื่อเป็นการโฆษนา ว่าถูกกว่าที่อื่น แต่ประเด็นพิจารณา ประการแรก คือ ช่วงเวลาในการใช้ดอกเบี้ยคงที่ได้นานกว่า น่าจะดีกว่า ประการทีสอง คือ หลังจากเป็นดอกเบี้ยลอยตัวแล้ว แบงค์ไหนจะถูกกว่ากันมากกว่า นอกจากนี้เรื่องระยะเวลาในการผ่อน ขณะนี้สามารถผ่อนได้นานขึ้นถึง 30, 35 หรือ 40 ปี ซึ่งการนี้ ในแง่หนึ่งจะทำให้เรามีภาระการผ่อนต่องวดน้อยลงก็จริง (แต่ลดลงไม่มาก) เมื่อเทียบกับการต้องขยายเวลาอีกไปเป็น 10 ปี ทำให้ไม่เป็นประโยชน์และตัดโอกาสการลงทุนที่คุ้มค่าอื่นที่อาจเวียนเข้ามาในอนาคต

มองหาบ้านได้จากแหล่งใดบ้าง ?
ปัจจุบันท่านสามารถเลือกซื้อบ้านได้จากหลายช่องทาง นอกจากการเดินทาง หรือขับรถไปสำรวจดูเอง หรือหาตาม วารสาร หนังสือพิมพ์ ตามแผงหนังสือต่าง ๆ ซึ่งมีจำนวนมาก รวมทั้งการประมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐ (กรมบังคับคดี ฯลฯ) และเอกชน และสำหรับโลกยุคนี้ในอินเตอร์เนต ปัจจุบันก็มีการประกาศขายบ้าน ใน WEBSITE ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นของบริษัทนายหน้าขาย ธนาคาร หน่วยงานต่าง ๆ มากมาย สามารถเข้าไปดูได้

อย่างไรก็ตาม เป็นการช่วยในเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อท่านไม่ต้องใช้เวลาในการออกไปสำรวจมากนัก แต่เมื่อพิจารณาแล้วสนใจ ก็คงต้องออกไปดูด้วยตา จับต้องด้วยมืออยู่แล้ว

การสำรวจเพื่อเลือกซื้อบ้าน สำรวจอะไรบ้าง ?
1. ทำเลที่ตั้งทรัพย์สิน ที่ตั้ง ถนนและทางเข้าออก สภาพแวดล้อม
2. สิ่งก่อสร้าง รายละเอียด วัสดุ โครงสร้างอาคาร การใช้ประโยชน์ปัจจุบัน อายุอาคาร การปรับปรุง
3. สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ น้ำประปา ไฟฟ้า โทรคมนาคม การขนส่ง
4. ผังเมืองและข้อกำหนดตามกฎหมาย การใช้ที่ดิน การก่อสร้าง
5. ที่ดิน ขนาด/รูปร่างความสูงต่ำ การใช้ประโยชน์
6. เอกสารสิทธิ์ ประเภท ถือครอง เจ้าของ เงื่อนไข ภาระผูกพัน ต่าง ๆ
7. ราคาขาย และเงื่อนไขการจ่ายเงิน (เทียบราคาบ้านแบบเดียวกัน กับโครงการอื่น ๆ หรือที่อื่น ๆ)

นักประเมินช่วยท่านได้อย่างไร
ถ้าจะซื้อบ้าน แน่นอนว่าในการตัดสินใจซื้อบ้าน ราคาเป็นประเด็นสำคัญ ในการตัดสินใจซื้อ ท่านอาจจะไม่แน่ใจว่า ราคาที่จะซื้อเป็นอย่างไร เหมาะสมมั้ย แพงไปมั้ย แม้แต่กรณีถูกไป ก็อาจไม่แน่ใจว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ซื้อไปแล้ว แถวนี้จะถูกเวนคืนมั้ย โฉนดมีปํญหามั้ย มีภาระติดพันอะไรมาหรือไม่ ถูกอายัดไว้หรือเปล่า การเข้าออกมีปัญหาหรือไม่ ข้อกฎหมายที่มีผลกระทบมีอะไรบ้าง บ้านมีปัญหาหรือไม่ มากมายเหลือเกินครับ ประเด็นที่ท่านแคลงใจอยู่นี้ นักประเมินช่วยท่านได้ เนื่องจากในการทำการประเมินนั้น นักประเมินจะต้องตรวจสอบให้ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ไม่ใช่ว่าตีราคา อย่างเดียว

ถึงตรงนี้ข้อมูลข้างต้น น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับผู้มองหาบ้าน หรือเริมคิดหาซื้อบ้าน ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่ง ต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง สักหลังหนึ่งไว้อยู่อาศัย พร้อมครอบครัว แต่เนื่องจากซื้อบ้านสักหลังหนึ่งอาจต้องผ่อนเกือบทั้งชีวิต ข้อมูลข้างต้นช่วยในการตัดสินใจได้ซื้อบ้านได้อย่างรอบรู้ และมั่นใจมากขึ้น มากขึ้น

Back