ข้อแนะนำการซื้อบ้าน จากงานสัมมนาซื้อบ้านอย่างรอบรู้ครั้งที่ 6 วันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2545
ทักษะการวางแผนการเงิน


อ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์
ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


การเปรียบเทียบข้อเสนอของสถาบันการเงินและเทคนิคการวิเคราะห์
1. อัตราดอกเบี้ย
     สินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินต่างๆ ที่ให้บริการอยู่ในขณะนี้มีรูปแบบการคิดอัตราดอกเบี้ย 3 วิธีด้วยกันคือประเภทแรกเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ตลอดสัญญากู้ โดยอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นลงตามตลาด ประเภทที่สองเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดอายุสัญญา และประเภทที่สามเป็นประเภทผสม โดยอาจกำหนดให้ช่วง 1-3 ปี แรกเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ส่วนปีที่เหลือกำหนดให้เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว

คำถาม : อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ห่างกัน 1-2% มีความหมายมากน้อยเพียงใด ?
ตอบ  :




ในปัจจุบัน เงินกู้ที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินต่างๆจะแตกต่างกัน โดยอัตราดอกเบี้ยลอยตัว มีตั้งแต่ 7.00 - 9.00% และอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปี ประมาณ 5.5- 6.5% ประเด็นคำถามมีว่าอัตราดอกเบี้ยห่างกันเพียง 1-2% จะมีความหมายหรือไม่ จะช่วยให้ผู้กู้ประหยัดเงินได้มากน้อยเพียงใด อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ นับว่ามีผลกระทบโดยตรงต่อเงินงวดหรือค่าผ่อนชำระต่อเดือนอย่างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากถ้าวงเงินกู้เท่ากัน ระยะเวลาผ่อนชำระเท่ากัน เงินงวดที่จ่ายก็จะแปรผันโดยตรงกับอัตราดอกเบี้ย ถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงเงินงวดก็จะสูงตามไปด้วย ผู้กู้ส่วนใหญ่ มักจะคิดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่างกัน เพียง 1-2 % คงจะมีผลต่อเงินงวดไม่มากนัก แต่ที่จริงนับว่ามีผลมากพอสมควร การที่อัตราดอกเบี้ยห่างกัน เพียง 1% จะทำให้ค่าผ่อนชำระต่างกันประมาณ 5 - 7 %
ตัวอย่างเช่น:


กู้เงิน 1,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 8% ระยะเวลา 20 ปี ค่าผ่อนเดือนละ 8,364 บาท หากอัตราดอกเบี้ย
เปลี่ยนเป็น 9.0% ค่าผ่อนจะเพิ่มเป็นเดือนละ 8,997 บาท หรือค่าผ่อนเพิ่มขึ้น 633 บาท หรือต่างกันถึง 7.6% หากอัตราดอกเบี้ยห่างกัน 2% เช่น เพิ่มจาก 8.0% เป็น 10.0% ค่าผ่อนจะเพิ่มเป็นเดือนละ 9,650 บาท เพิ่มจากเดิมเดือนละ 1,286 บาท หรือค่าผ่อนต่างกันถึง 15.4% ซึ่งนับว่าสูงมากทีเดียว
 

2. วงเงินกู้
การคำนวณวงเงินกู้เป็นการคำนวณความสามารถในการกู้เงินที่สถาบันการเงินจะอนุญาตให้กู้ได้ โดยคำนวณจากยอดชำระต่อเดือนที่ท่านสามารถผ่อนได้ อัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาการผ่อน หากวงเงินที่สามารถกู้ได้น้อยเกินไป ท่านสามารถเพิ่มระยะเวลาการกู้ได้อีก จะทำให้ได้วงเงินเพิ่มขึ้น โดยทั่วไปเป็นดังนี้
     2.1 ให้กู้ในวงเงินไม่เกิน 80% ของราคาประเมิน และ ไม่เกิน 80% ของราคาซื้อ-ขาย
     2.2 กรณีซื้ออาคารพาณิชย์ ให้กู้ได้ไม่เกิน 70% ของราคาประเมิน และไม่เกิน 70% ของราคาซื้อขาย
    2.3 กู้ได้ไม่เกิน 30-35 เท่าของเงินเดือนผู้กู้ และอีก 15 เท่าของรายได้อื่น ๆ หรือไม่ เกิน 20 เท่าสำหรับอาชีพอิสระ (โดยประมาณ)

3. ระยะเวลาการกู้ หลักเกณฑ์ทั่วไปคือ
     1.ระยะเวลาให้กู้สูงสุด 30 ปี
     2.อายุของผู้กู้รวมกับจำนวนปีที่ขอกู้จะต้องไม่เกิน 70 ปี

คำถาม : ธนาคารให้กู้ได้นานตั้งแต่ 10-15-20-25-30 ปี ควรจะกู้นานที่สุดดีหรือไม่ ?
คำตอบ :
















บ้านคิดจะกู้เงิน มักคิดตั้งคำถามกับตนเองเสมอว่าจะกู้นานกี่ปีดี จะกู้สั้นหรือจะกู้ยาวดีกว่า โดยหลักแล้ว ควรจะถือตามพุทธสุภาษิตว่า"การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ" เพราะการเป็นหนี้หมายถึงการมีภาระผูกพัน ต้องจ่ายคืนหนี้และต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ให้กู้ ดังนั้น หากผู้กู้มีความสามารถที่จะชำระคืนเงินกู้ได้เร็วที่สุด ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะจะทำให้ผู้กู้เป็นอิสระ หลุดพ้น จากความเป็นหนี้เร็วขึ้น และจะเป็นเจ้าของบ้านที่มีความภาคภูมิใจอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ผู้กู้บางท่านที่ต้องการวงเงินกู้ค่อนข้างสูง ในขณะที่ความสามารถในการผ่อนชำระค่อนข้างต่ำ ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็จำเป็นต้องขยายเวลากู้ออกไปให้นานที่สุด เป็น 25-30 ปี เพื่อที่จะให้เงินงวดลดลงจนถึงจุดที่สามารถผ่อนชำระได้ ทั้งนี้ เพราะในวงเงินกู้เท่ากัน อัตราดอกเบี้ยเท่ากัน ยิ่งใช้เวลาผ่อนนานมากขึ้น เงินงวดก็จะยิ่งลดลง อนึ่ง สำหรับผู้ที่ปัจจุบันมีกำลังจะผ่อนเงินงวดได้ในระยะเวลา 15 ปี หรือ 20 ปี แต่หากเล็งเห็นว่า ในอนาคตอันใกล้ตนเองอาจมีภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวสูงขึ้น เช่น อาจมีบุตรเพิ่มขึ้น เป็นต้น อาจจะทำให้การเงินฝืดเคืองหรือมีปัญหาการผ่อนชำระได้ หากรู้สึกเช่นนี้ เพื่อความสบายใจ และปลอดภัยไว้ก่อน จึงอาจขยายระยะเวลาการกู้ออกไปให้นานที่สุดคือเป็น 25 - 30 ปี ก็ได้ เพื่อจะได้ผ่อนเงินงวดให้น้อยที่สุดก่อน และหากต่อมาในภายหลัง ตนเองและครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็สามารถอนชำระเงินงวดเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้เดิมก็ได้ เช่น แทนที่จะผ่อนเดือนละ 7,718 บาท ก็อาจจะผ่อนเดือนละ 10,000 บาท หรือมากกว่าก็ได้ ซึ่งจะทำให้หนี้เงินกู้หมดเร็วขึ้น ดังนั้น เงินกู้ตามสัญญาเดิม 25 ปี ก็อาจจะผ่อนหมดในเวลาสั้นลง เช่นเหลือเพียงประมาณ 10 ปี เท่านั้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า ผู้กู้ส่วนใหญ่จะนิยมกู้ระยะเวลา 15-20 ปี มีผู้ที่กู้นาน 25 - 30 ปี จำนวนไม่มากนัก ทั้งนี้ อาจจะเป็นความรู้สึกที่ว่า กู้ 25 ปี กับ 30 ปี ค่าผ่อนชำระต่างกันไม่มากนัก อนึ่ง การกู้ได้นานสูงสุดกี่ปีนั้น ยังขึ้นกับอายุของผู้กู้ด้วย เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์กำหนดว่า อายุของผู้กู้ เมื่อรวมกับระยะเวลากู้ ต้องไม่เกิน 70 ปี ด้วย เช่น ถ้าผู้กู้อายุ 50 ปี จะสามารถกู้ได้ยาวที่สุดเพียง 70-50 = 20 ปี เท่านั้น

โดยสรุป จะกู้สั้นหรือยาวดีกว่า ขึ้นอยู่กับความสามารถในการผ่อนชำระหนี้เป็นหลัก หากกู้ระยะเวลาสั้น ผู้กู้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยมาก แต่ต้องจ่ายเงินงวดต่อเดือนสูง อย่างไรก็ตามหากผู้กู้มีรายได้น้อยในปีแรกๆ หรือต้องการผ่อนสบายๆ เมื่อมีรายได้มากขึ้น ก็ค่อยโปะภายหลังก็ได้ ดังนี้ ก็อาจขอกู้ระยะเวลานานไว้ก่อนก็ดีกว่า

4. ค่าใช้จ่าย ค่าจดจำนองที่ดิน
     เป็นค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กรมที่ดิน เมื่อมีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยจะคิดตามราคาที่จำนอง คือ 1% แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

     ค่าธรรมเนียมการโอน    เป็นเงินค่าธรรมเนียมที่เสียให้กรมที่ดิน เมื่อมีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ส่วนใครจะเป็นผู้จ่ายระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายก็แล้วแต่จะตกลงกัน ตามกฎหมายกำหนดให้เรียกเก็บจำนวน 2% ของราคาซื้อขายที่คู่สัญญาแจ้งไว้ ยกเว้นราคาที่ซื้อขายนั้นแจ้งต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน ก็จะเรียกเก็บตามราคาประเมินของกรมที่ดินเป็นหลัก สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านพร้อมที่ดินทุกประเภท หรือห้องชุดในโครงการที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน เมื่อมีการโอนตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง31 ธันวาคม 2545 จะเสียค่าธรรมเนียมการโอนเพียง 0.01% เท่านั้น เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐและในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ยังต้องเสีย ค่าอากรแสตมป์ และ ค่าภาษี กฎหมายกำหนดให้ผู้ขายมีหน้าที่ต้องเสีย แต่ในทางปฏิบัติคู่สัญญามักจะมีการเจรจาต่อรองให้ฝ่ายผู้ซื้อมีส่วนรับผิดชอบ หรือชำระแทน คือ คิดค่าอากรแสตมป์ จำนวน 0.50 % ของราคาทรัพย์สิน รวมถึงค่า

     ภาษีธุรกิจเฉพาะ (รวมภาษีท้องถิ่น)  เดิมการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ให้จัดเก็บในอัตรา 3.3% ของราคาประเมินของกรมที่ดินหรือราคาซื้อขาย แล้วแต่โดยยึดเอาราคาที่สูงกว่า แต่ในปัจจุบันได้มีการประกาศลดอัตราการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ให้จัดเก็บในอัตรา 0.1% สำหรับรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ จากกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรเฉพาะการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำ ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2543 ถึงวันที่31 ธันวาคม พ.ศ.2545 และบวกกับภาษีท้องถิ่นอีกจำนวน 0.01% รวมเป็น 0.11% ภาษี-ค่าธรรมเนียม ค่าธรรมเนียมในการโอนอสังหาริมทรัพย์สำหรับโครงการที่อยู่ภายใต้กฎหมายจัดสรรที่ดิน และโครงการของการเคหะแห่งชาติ คิดที่อัตรา 0.01% ภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.11% ภายในปี 2545 นี้เท่านั้น

     ภาษีเงินได้บุคคล  ภาษีที่จะหัก ณ ที่จ่ายในขณะที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดิน โดย ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลต้อง ชำระเหมือนกันแต่มีข้อแม้แตกต่างกัน คือ วิธีการคำนวณอัตราภาษีที่จะหักและขั้นตอนการปฏิบัติในภายหลังโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยการคำนวณคือ ให้นำราคาขาย (ถือตามราคาประเมิน) หักค่าใช้จ่ายตามจำนวนปีที่ถือครองเหลือเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายเอามาหารด้วยจำนวนปีที่ถือครอง เป็นเงินได้เฉลี่ยต่อปี แล้วจึงนำมาคำนวณภาษีโดยนำมาคูณกับอัตราภาษีร้อยละตามขั้นเงินได้สุทธิคูณด้วยจำนวนปีที่ถือครอง จะได้จำนวนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย

     สรุป
     1 ค่าจดจำนองที่ดิน 1.00 %
     2 ค่าธรรมเนียมการโอน 0.01 %
     3 ค่าอากร 0.50 %
     4 ภาษีธุรกิจเฉพาะ (รวมภาษีท้องถิ่น) 0.11 %
     5 ภาษีเงินได้บุคคล (อัตราภาษีก้าวหน้า)
     ค่าใช้จ่ายอื่น เช่นค่าประเมินหลักประกัน 1,500 บาท กรณีที่ กู้ไม่เกิน 500,000 บาท หรือ 1,900 บาท กรณีที่ ขอกู้เกิน 500,000บาท ชำระในวันยื่นกู้
ท ค่าตรวจสอบผลการก่อสร้าง ต่อเติม หรือ ซ่อมแซม ครั้งละ 500 บาท
ท ค่าดำเนินการเพื่อขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจำนอง รายละ 300 บาท. ชำระในวันนัดทำนิติกรรม

     มาตรการด้านภาษีเงินได้  หากซื้อบ้านด้วยเงินสด จ่ายครั้งเดียว และไม่ได้นำบ้านที่ซื้อไปจำนอง นำตัวเลข 2 แสนบาทไปหักลดหย่อนภาษีรายได้ส่วนบุคคลเป็นเวลา 2 ปี ๆ ละครึ่งหนึ่ง แต่ถ้ามีการผ่อนงวดแม้แต่งวดเดียว นำไปหักลดหย่อนได้ 1 แสนบาท มีผลตั้งแต่ 7 กันยายน พ.ศ. 2544 ถึง 6 กันยายน พ.ศ. 2545