ข้อแนะนำการซื้อบ้าน จากงานสัมมนาซื้อบ้านอย่างรอบรู้ครั้งที่ 6 วันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2545
“แหล่งขายบ้านราคาถูกและดีมีที่ไหนบ้าง”

คุณพัลลภ กฤตยานวัช
ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัย
ธนาคารอาคารสงเคราะห์


1. บ้านราคาถูกและดี หมายถึงอะไร?
     ก่อนอื่น ผมขอเรียนว่าคำว่า “บ้าน” นั้น หมายถึงที่อยู่อาศัยทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ตึกแถว ทาวน์เฮ้าส์ หรือห้องชุด ในการเลือกซื้อบ้านนั้น ทุกคนคงอยากได้บ้านที่ถูกใจที่สุด ที่สำคัญได้แก่ “ราคาถูก” และ “ดี” แต่คำว่า “ถูก” และ “ดี” นั้นหมายความว่าอย่างไร ?

1.1 บ้านราคาถูก (Cheap House)
        คำว่า “บ้านราคาถูก” นั้น มิได้หมายความว่า เป็น “บ้านราคาต่ำ” สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (low income Housing) เท่านั้น แต่หมายถึง บ้านในทุกระดับราคา ทุกประเภทอาคาร และในทุกกลุ่มรายได้ ทั้งระดับราคาต่ำ ราคาปานกลาง และราคาสูง ที่เข้าเงื่อนไข ดังนี้
       1) บ้านที่ขายต่ำกว่าราคาทั่วไปของตลาด หรือต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นตามปกติ (Below market price) ตัวอย่างเช่น บ้านเดี่ยวราคาทั่วไป ขาย 2 ล้านบาท แต่หลังนี้ในทำเล รูปแบบและคุณภาพใกล้เคียงกัน ขายเพียง 1.8 แสนบาท จึงถูกว่าราคาตลาดถึง 2 แสนบาท
หรือห้องชุดในอาคารเดียวกัน ทั่วไป ขาย 5 แสนบาท แต่ห้องนี้ ขายเพียง 4 แสนบาท อย่างนี้จึงเรียกว่าราคาถูก
       2) บ้านที่ขายต่ำกว่าราคาประเมินของธนาคาร เช่น ประเมิน 1 ล้านบาทแต่ท่านซื้อเพียง 8 แสนบาท เป็นต้น
       3) บ้านที่มีศักยภาพในการทำรายได้หรือกำไรสูง แม้ว่าจะขายในราคาตลาด เจ้าของขายในราคาที่ปรกติ แต่เป็นบ้านที่ลงทุนซื้อแล้ว สามารถจะขายต่อได้กำไรในภายหลังได้มาก หรือให้เช่าก่อรายได้คุ้มกว่าการฝากเงินหรือลงทุนอื่น
       ทั้งนี้ เหตุผลของการขายราคาถูก อาจจะมีมากมาย เช่น ผู้ขายเดือดร้อนเงิน ต้องการใช้เงินด่วนพิเศษ เนื่องจาก คนในครอบครัวเจ็บป่วย ต้องรักษาพยาบาลพิเศษ หรือต้องส่งลูกเรียนหนังสือ ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ตกงานไม่สามารถผ่อนส่งเงินงวดธนาคารได้ ถูกหมายศาลบังคับจำนองขายทอดตลาด หรือผู้ขายไม่ทราบราคาตลาดแท้จริงหรือแนวโน้มการทำกำไรในอนาคต เป็นต้น

1.2 บ้านดี (Good House)

       คำว่า “บ้านดี” นั้น มีความหมายที่กว้างขวาง ลึกซึ้ง มิใช่เพียงแต่ตัวบ้าน หรือ “ตัวอาคาร” เท่านั้น หากขยายไกลไปถึงทำเลที่ตั้ง และสภาพแวดล้อมทั้งหมดทั้งด้านกายภาพและสังคมจิตวิทยา “ บ้านดี” จึงรวมความตั้งแต่
       1) ตัวบ้านดี - ออกแบบดี มีความสวยงาม – ปลูกสร้างดี ใช้วัสดุดี ฝีมือก่อสร้างดี โครงสร้างดี มีความมั่นคงแข็งแรง และตกแต่งดี
       2) ทำเลดี – ใกล้ที่ทำงาน ใกล้ศูนย์การค้า โรงเรียน มหาวิทยาลัย ตลาด ธนาคาร ฯลฯ เดินทางไปไหนมาไหน สะดวกรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายต่ำ
       3) สาธารณูปโภคดี - ถนน ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ระบายน้ำ เป็นต้น ที่ครบถ้วน ไร้ปัญหา
       4) บริการชุมชนดี - ขยะ ยามรักษาความปลอดภัย ความสะอาด การคมนาคมขนส่งที่ดี สโมสร หรือศูนย์บริการชุมชน ฯลฯ
       5) สิ่งแวดล้อมธรรมชาติดี - อากาศ สระน้ำ ริมบึง สวนสาธารณะ วิวทิวทัศน์ ไร้เสียงรบกวน
       6) สภาพสังคมจิตวิทยาดี - เพื่อนบ้านดี สังคมดี มีอัธยาศรัยไมตรี ไม่ก่อความเดือดร้อนรบกวน

2. แหล่งขายบ้านราคาถูกและดีมีที่ไหนบ้าง
     โดยปรกติบ้านที่ดีอย่างครบถ้วน หรือดีในหลายด้านมากท่าใด ก็มักจะมีราคาที่สูงมากเท่านั้น
การพิจารณาบ้านที่ถูกและดี นั้น จึงเป็นเพียงการเปรียบเทียบบ้านในประเภทบ้านและในระดับราคากลุ่มเดียวกัน เช่น กลุ่มบ้านเดี่ยว หรือห้องชุด และ บ้านราคาถูกและดีนั้น อาจเป็นได้ทั้งบ้านมือหนึ่ง บ้านมือสอง บ้านราคาถูกและดีนั้น อาจกล่าวได้ว่ามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทุกเขตของเมือง ทั้งศูนย์กลางเมือง เขตต่อเมือง เขตชานเมือง
อย่างไรก็ตาม บ้านที่ราคาถูกและดีด้วยนั้น มักจะมีจำกัด จำเป็นต้องแสวงหา หรือรอคอยโอกาสซื้อในจังหวะเวลาที่เหมาะสม บ้านราคาถูกนั้น อาจหาได้จากทุกแหล่ง
    1) บ้านในโครงการบ้านจัดสรร ได้แก่ บ้านที่ผู้ซื้อเดิมทิ้งดาวน์ บ้านที่เจ้าของโครงการสร้างเสร็จเหลือขายน้อยยูนิตแล้ว บ้านที่สร้างเสร็จจากโครงการปรับโครงสร้างหนี้
    2) บ้านมือสองทั่วไป ที่ผู้ขายร้อนเงินด้วยเหตุผลพิเศษต่างๆ ทั้งที่ขายโดยตรงและผ่านตัวแทนนายหน้า
    3) บ้านในครอบครองของสถาบันการเงิน ได้แก่ บ้านที่ธนาคารและสถาบันการเงินเป็นเจ้าของ ซึ่งได้มาจากการโอนทรัพย์ชำระหนี้ หรือโดยการไปประมูลซื้อมาจากการขายทอดตลาด และนำมาประกาศขายต่อด้วยการเจรจาต่อรอง และการขายโดยการประมูล
    4) บ้านที่มีการขายโดยการประมูล ทั้งจากการบังคับจำนองขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี หรือการจัดประมูลโดยหน่วยงานเอกชนจัดขึ้น
จากการสังเกตและติดตามข้อมูลด้านราคาบ้านของ ธอส พบว่า ราคาบ้านที่มีการประกาศขายในท้องตลาด มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในปี 2540 ที่ผ่านมา โดยราคาที่อยู่อาศัยใหม่ที่ขายโดยผู้ประกอบการจัดสรร หรือสถาบันการเงินนั้น ในปัจจุบันก็มีการปรับราคาลดลงจากช่วงบูม ปี 2540 เฉลี่ย 15 – 30%
     บ้านที่ราคามาก มักเป็นบ้านมือสองหลุดจำนองจากสถาบันการเงิน มีราคาเฉลี่ยต่ำกว่าราคาบ้านใหม่ที่ขายในตลาด 30 – 60% รองลงมาเป็นบ้านมือสองขายผ่านบริษัทตัวแทนและนายหน้า มีราคาเฉลี่ยต่ำกว่าราคาบ้านใหม่ในตลาด 8 – 45%

3. จะหาข้อมูลจากไหน….ในการเลือกซื้อบ้าน
     การเลือกซื้อหาบ้านสักหลังในปัจจุบัน ผู้ซื้อสามารถค้นหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบายกว่าในอดีตมาก เนื่องจากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย และมีการแข่งขันกันมากระหว่างบริษัทที่ให้บริการรวบรวบข้อมูลซื้อขายบ้านกันมากขึ้น สำหรับช่องทางในการหาข้อมูล เพื่อการเลือกซื้อหาบ้านในปัจจุบัน ผู้ซื้อสามารถเลือกได้หลายช่องทาง ได้แก่
    1) ไปดูข้อมูลที่แหล่งขายโดยตรง เช่น สำนักงานขายของโครงการจัดสรร สถาบันการเงินที่ประกาศขาย กรมบังคับคดี สำนักงานขายของบริษัทตัวแทนนายหน้า บริษัทประมูล หรือแม้แต่ไปพบเจ้าของบ้านที่ต้องการขายโดยตรง ทั้งนี้ โดยผ่านแหล่งข้อมูลทั้งจากสื่อต่างๆ พนัก-งานขาย หรือการบอกเล่าต่อของเพื่อนฝูง และญาติพี่น้อง
    2) งานมหกรรมบ้าน หรืองานออกบู้ทขายบ้าน ซึ่งสมาคมอสังหาริมทรัพย์ หรือหน่วยงานต่างๆจัดขึ้นเป็นครั้งคราว ซึ่งผู้ซื้อสามารถรวบรวม โบรชัวร์ ได้เห็นแบบบ้าน โมเดลบ้านได้จากหลายบริษัท ทำให้สามารถพิจารณาเปรียบเทียบเบื้องต้นได้ง่ายขึ้น
    3) โฆษณาย่อยในหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารซื้อขายบ้านโดยเฉพาะ เช่น วัฎจักรอาคารที่ดิน, วัฎสารอาคารที่ดิน Home buyer guide (ซึ่งจะเป็นนิตยสารที่เน้นการให้ข้อมูลโครงการจัดสรรใหม่) นิตยสารบ้านพร้อมอยู่ (ที่เน้นการให้ข้อมูลบ้านมือสอง) นับเป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็วและประหยัดสำหรับประชาชนทั่วไป โดยที่ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบข้อมูล และเปรียบเทียบราคาได้ โดยจะมีข้อมูลบ้านฝากขายเป็นจำนวนมากเช่นกัน มีรายละเอียดที่ตั้งอาคาร และเบอร์ติดต่อผู้ขาย ซึ่งบางข้อมูลอาจมี หรือไม่มีรูปภาพประกอบก็ได้
     4) เว็บไซท์ศูนย์รวมข้อมูลซื้อ-ขายบ้าน บนระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันมี web เพื่อการขายบ้านนับร้อยแห่ง ที่จัดทำโดยทั้งผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน บริษัทขายบ้านมือสอง บริษัทประมูล จึงนับเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุด สะดวกที่สุด สำหรับผู้มีคอมพิวเตอร์ เพราะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถเลือกดูและเปรียบเทียบข้อมูลเบื้องต้นในรูปแบบ ประเภทบ้าน ราคา และทำเลที่ผู้ซื้อสนใจ จากคอมพิวเตอร์ใกล้ๆ ตัวได้อย่างรวดเร็ว


ภาคผนวก 1 การค้นหาข้อมูลซื้อบ้านจากอินเทอร์เน็ต

    ระบบอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน ได้รับความนิยมอย่างมากในการเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ไร้ขอบเขต เราสามารถรับและส่งข้อมูลข่าวสารไปยังทุกประเทศทั่วโลกภายในเวลาไม่ถึงเสี้ยววินาที ดังนั้น จึงมีผู้ประกอบการ บ้านจัดสรร และอาคารชุด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นิยมจัดทำเว็บไซท์ของหน่วยงานของตน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระบบอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง
    ในช่วงที่ประเทศไทยยังขาดแคลนแหล่งข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร ในการซื้อบ้านสักหลัง ประชาชนจะต้องใช้วิธีเดินทางไปเสาะหาข้อมูล และตรวจสอบถึงที่ตั้งอาคาร ซึ่งเป็นวิธีที่เสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลามาก กว่าจะเลือกตัดสินใจเลือกซื้อบ้านได้สักหลังหนึ่ง ดังนั้น จึงมีหลายบริษัทมองเห็นลู่ทางการค้า จัดทำเว็บไซท์ที่รวบรวมข้อมูลเพื่อการซื้อ-ขายบ้านเผยแพร่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
    เว็บไซท์เพื่อการซื้อ-ขายบ้านนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถเลือกดูและเปรียบเทียบข้อมูลเบื้องต้นในรูปแบบ ประเภทบ้าน ราคา และทำเลที่ผู้ซื้อสนใจ จากคอมพิวเตอร์ใกล้ๆ ตัวแล้ว ในเว็บไซท์ส่วนใหญ่จะมีข้อมูล “แนะนำการเตรียมตัวก่อนการซื้อบ้าน, ข้อแนะนำในการขอสินเชื่อ, ข้อแนะนำหลังการเข้าอยู่อาศัย, ข้อมูลราคาวัสดุก่อสร้าง และข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับบ้านอีกด้วย
    ในปี 2543 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้เปิดตัวเว็บไซท์ “ศูนย์ที่อยู่อาศัยครบวงจร ธอส.” บนระบบอินเทอร์เน็ต http://www.ghbhomecenter.com ซึ่งเป็นเว็บไซท์ที่รวบรวมข้อมูลบ้านจัดสรรใหม่ และบ้านมือสอง ข้อมูลทรัพย์บังคับจำนองของ ธอส. และข้อแนะนำต่างเกี่ยวกับบ้าน ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป ซึ่งสำหรับแหล่งรวบรวมข้อมูลในการซื้อหาบ้านบนระบบอินเทอร์เน็ตนี้ มีผู้จัดทำในเชิงการค้าแล้วกว่า 100 เว็บไซท์ ซึ่งผู้จัดทำประกอบด้วยหน่วยงานหลายประเภท ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการด้าน E-Commerce โดยตรง, บริษัทผู้ประกอบการจัดสรรที่ดิน หรือ อาคารชุด, สถาบันการเงิน, หน่วยงานรัฐ , บริษัทตัวแทนนายหน้าซื้อขายบ้าน, บริษัทรับจัดงานประมูลขายบ้าน ฯลฯ

ศูนย์ที่อยู่อาศัยครบวงจร ธอส. - www.GHBHomeCenter.com
ศูนย์ที่อยู่อาศัยครบวงจร ธอส. www.GHBHomeCenter.com ประกอบด้วยเนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อ-ขาย และให้เช่าที่ครบถ้วน ได้แก่
1. รายละเอียดข้อมูลที่อยู่อาศัยเพื่อการซื้อขาย/ให้เช่า ได้แก่ บ้านยึดทรัพย์บังคดีของ ธอส., บ้านเช่า ธอส., แฟลตให้เช่า, โครงการบ้านจัดสรรสร้างใหม่ ฯลฯ
2. ระบบค้นหาที่อยู่อาศัยตามประเภท ระดับราคา และทำเล
3. สาระน่ารู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เช่น แนวทางการตัดสินใจเลือกซื้อบ้าน, ซื้อบ้านใหม่หรือบ้านมือสองดีกว่า ?, ค่าธรรมเนียมและภาษีอากรในการซื้อขาย-เช่าอสังหาริม ทรัพย์, คำแนะนำของ สคบ. เกี่ยวกับการซื้อที่ดิน ที่อยู่อาศัย ฯลฯ
4. สาระน่ารู้เกี่ยวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย เช่น ธนาคารแข่งขันกันปล่อยกู้มาก ควรจะเลือกกู้ซื้อบ้านจากธนาคารไหนดี ?, ปัจจุบันธนาคารต่างๆ คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัย แตกต่างกันอย่างไร เป็นช่วงเวลาที่น่ากู้หรือไม่ ?, ธนาคารให้กู้ได้นานตั้งแต่ 10-15-20-25-30 ปี ควรจะกู้นานที่สุดดีหรือไม่ ? ฯลฯ
5. สาระน่ารู้หลังซื้อบ้าน เช่น คำแนะนำเกี่ยวกับการกู้เพิ่ม, กรณีชำระหนี้ไม่ได้ตามกำหนด, คำแนะนำการไถ่ถอนจำนองเมื่อย้ายธนาคาร, กรณีถูกฟ้องศาลบังคับจำนอง, การบำรุงรักษาที่อยู่อาศัย, การขายที่อยู่อาศัยต่อในตลาดมือสอง, การบำรุงรักษาที่อยู่อาศัย ฯลฯ
6. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธอส. ประเภทต่าง ๆ
7. เครื่องคำนวณความสามารถในการซื้อ และการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย
8. ธอส. ไขปัญหา (FAQ)
9. รายชื่อและสถานที่ติดต่อ บริษัทและสมาคมวงการที่อยู่อาศัย เช่น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, บริษัทรับสร้างบ้าน, ร้านค้าเฟอร์นิเจอร์, ผู้รับทำสวน – ตกแต่ง, บริษัทร้านค้าวัสดุ-ผู้รับเหมาก่อสร้าง, บริษัทตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์, บริษัทประเมินค่าทรัพย์สิน, สมาคมวงการที่อยู่อาศัย (8 สมาคม) 10. เว็บไซต์วงการที่อยู่อาศัย เช่น กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, กลุ่มซื้อขาย-ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์,กลุ่มข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ของสมาคมและหน่วยงานต่าง ๆ, กลุ่มรับออกแบบ ปลูกสร้างบ้านและให้คำแนะนำ, ศูนย์รวมเว็บอสังหาฯ ไทย ฯลฯ
11. กฎหมายที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ เช่น กฎหมายจำนอง, กฎหมายตัวแทนนายหน้า,กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค, กฎหมายจัดสรรที่ดิน ฯลฯ

ภาคผนวก 2: การค้นหาข้อมูลซื้อบ้านจากหนังสือพิมพ์ หรือ นิตยสารซื้อขายบ้าน

     โฆษณาย่อยในหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารเพื่อการซื้อขายบ้านโดยเฉพาะนั้น จะมีข้อมูลบ้านฝากขายเป็นจำนวนมากเช่นกัน มีรายละเอียดที่ตั้งอาคาร และเบอร์ติดต่อผู้ขาย ซึ่งบางข้อมูลอาจมี หรือไม่มีรูปภาพประกอบก็ได้ ตัวอย่างรายชื่อหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่มีโฆษณาขายบ้าน อาทิ

  • หนังสือพิมพ์ ในหน้าโฆษณาย่อย เช่น ประชาชาติธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ วัฎจักร ไทยรัฐ ฯลฯ

  • ในหนังสือรายสัปดาห์เพื่อการซื้อขายบ้าน เช่น วัฎจักรอาคารที่ดิน, วัฎสารอาคารที่ดิน ฯลฯ

  • นิตยสารเพื่อการซื้อขายบ้านโดยเฉพาะ เช่น Home buyer guide ซึ่งจะเป็นนิตยสารที่เน้นการให้ข้อมูลโครงการจัดสรรใหม่, นิตยสารบ้านพร้อมอยู่ จะเป็นนิตยสารที่เน้นการให้ข้อมูลบ้านมือสอง ฯลฯ

ภาคผนวก 3: การค้นหาข้อมูลซื้อบ้านโดยอาศัยบริษัทตัวแทนนายหน้า

    สำหรับผู้ที่ไม่ถนัดการใช้ระบบอินเทอร์เน็ต และไม่ต้องการค้นหาข้อมูลจากนิตยสาร ก็สามารถใช้บริการจากบริษัทตัวแทนนายหน้าซื้อ-ขายบ้านได้ บริษัทตัวแทนนายหน้าเหล่านี้จะมีข้อมูลรายละเอียดบ้านที่มีผู้ฝากขายไว้จำนวนมาก ท่านเพียงแต่แจ้งรายละเอียดประเภทบ้าน ทำเล และระดับราคาที่ท่านต้องการ บริษัทจะมีพนักงานคอยบริการพาท่านไปเลือกชมบ้านตามรายละเอียดที่ท่านแจ้งไว้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการให้บริการ เนื่องจากบริษัทตัวแทนนายหน้าเหล่านี้จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมบริการจากเจ้าของบ้านที่มาฝากขายบ้าน หลังจากบ้านหลังนั้นมีผู้ซื้อไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันบริษัทตัวแทนนายหน้ามีให้เลือกหลายบริษัท โดยดูรายละเอียดได้ใน www.ghbhomecenter.com